5555 เรื่องแบบนี้ " หมุ่ม บางม๋า " อ่านไม่รู้เรื่องอ่ะ ฮา 555555
( บางม๋า เป็นสำเนียงสุพรรณ ถ้าเรียกต้องบอก " ลาวโซ่ง " อพยพมาจากฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขง นานมาแล้ว อ่ะ ฮา )
ปัจจุบัน " บางม๋า " คืออำเภอ บางปลาม้า ก่อนเข้าเมืองสุพรรณ นั่นแหละ อ่ะ ฮา
มีขนมสาลี่ และ อาหารร้าน ป้าบ้วย เจ้าดัง ทำอร่อย อ่ะ ฮา 55555
5555 " พ่อก็ม๋า แม่ก็ม๋า ม๋าโม๊ดบ้าน " อ่ะ ฮา 55555
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1451897661ทางออกประเทศไทยกับพม่าเพื่อนบ้าน กรณีคดีฆาตกรรมที่เกาะเต่า...โดย นคร พจนวรพงษ์
ทางออกประเทศไทยกับพม่าเพื่อนบ้าน กรณีคดีฆาตกรรมที่เกาะเต่า
เมื่อศาลไทยเชื่อว่าสองแรงงานพม่าเป็นฆาตกรแล้วสั่งประหารชีวิต
โดย นคร พจนวรพงษ์ อดีตทนายความ/อดีตผู้พิพากษาอาวุโส ปัจจุบันทนายความ
การดำเนินคดีฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ที่ศาลจังหวัดเกาะสมุยมีคำพิพากษาตัดสินประหารชีวิตผู้ต้องหาหรือจำเลย 2 คน
คือ นายซอลิน หรือโซเรน และนายเวพิว หรือวิน แรงงานชาวพม่า
ผลของคำพิพากษาก่อให้เกิดปฏิกิริยาส่วนหนึ่งทางฟากฝั่งพม่า กล่าวคือ
ผบ.สส.พม่าขอไทยทบทวน พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า
โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ได้ส่งข้อความอวยพรเนื่องในโอกาสปีใหม่ให้กับ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
และ พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทย
และได้เรียกร้องให้ทางการไทยทบทวนหลักฐานและคำตัดสินในคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า
ส่วนตัวเคารพในกระบวนการยุติธรรมของไทย แต่สิ่งที่สำคัญคือการหลีกเลี่ยงการตัดสินที่อาจลงโทษผู้บริสุทธิ์
และแสดงความหวังว่าความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้บนหลักความร่วมมือทวิภาคี
และหลักการเคารพซึ่งกันและกันระหว่างประเทศไทยกับพม่า
(รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์มติชนวันที่ 29 ธันวาคม 2558)
การเปิดการแถลงข่าวในเรื่องนี้ของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นต้นว่า
"ยืนยันว่ากระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดเหตุเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้
เป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีผู้สังเกตการณ์จากนานาประเทศเข้าร่วม
โดยเฉพาะการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากประเทศอังกฤษ
ซึ่งมีมาตรฐานเรื่องการสืบสวนสอบสวนและเป็นประเทศผู้เสียหายอีกด้วย..."
"ในชั้นพิจารณา จำเลยมีทนายความดูแลคดีตามกฎหมาย
และศาลชั้นต้นได้พิจารณาพยานหลักฐานตามสำนวนครบถ้วน
ขณะที่คำพิพากษาคดียังไม่สิ้นสุดเพียงแค่ศาลชั้นต้นนี้
เพราะตามกฎหมายจำเลยสามารถยื่นอุทธรณ์คดีได้...
และถ้าคดีจะถึงที่สุดในชั้นฎีกาตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว
จำเลยอาจยื่นขออภัยโทษต่อไป"
การแถลงข่าวในลักษณะเช่นนี้อาจจะช่วยทำความกระจ่างได้ระดับหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งดีที่ได้กระทำไป
อันเป็นการให้ข้อมูลของรูปคดี หลักปฏิบัติและขั้นตอนของกฎหมายในการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ
การสั่งคดีของฝ่ายอัยการและการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลซึ่งมีอยู่ถึง 3 ศาล
กล่าวคือยังสามารถยื่นอุทธรณ์และยื่นฎีกาได้ รวมทั้งการขอรับพระราชทานอภัยโทษตามหลักกฎหมายไทยด้วย
การดำเนินการตามแนวทางที่กล่าวมานี้ได้กระทำอย่างทั่วถึงและกว้างขวางพอสมควร
แต่สถานการณ์หรือปฏิกิริยาทางฟากฝั่งหรือฝ่ายพม่าก็ยังมิได้ราบรื่นเป็นปกติดังเดิม
ด้วยเหตุนี้เราเองในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง น่าจะมาร่วมมือกันคิดหาวิธีการที่เหมาะสมนุ่มนวล
เพื่อหาทางออกของปัญหานี้กับพม่าซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านอันใกล้ชิดที่สุดของเราต่อไป
ก่อนที่จะไปสู่ ทางออกประเทศไทยกับพม่าเพื่อนบ้าน ที่ผู้เขียนได้ตั้งชื่อเรื่องเอาไว้
โดยจะขออนุญาตยกคดีตัวอย่าง คดีฆาตกรรมเชอร์รี่แอน ดันแคน นำมาเป็น คดีศึกษา
เพื่อที่จะศึกษาหาทางออกให้ประเทศไทยที่มีปัญหากับชาวพม่าเพื่อนบ้านของเรา
ต่อไปนี้เป็นเนื้อหาโดยสรุปของคดีฆาตกรรมเชอร์รี่แอน ดันแคน
(บทความคดีนี้ผู้เขียนเคยเขียนและหนังสือพิมพ์มติชนรายวันลงพิมพ์ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558)
ความเดิม ช่วงเย็นของวันที่ 22 กรกฎาคม 2529 น.ส.เชอร์รี่แอน ดันแคน อายุ 16 ปี
เด็กสาวลูกครึ่งไทย-อเมริกัน หน้าตาดี เคยเป็นนางแบบให้นิตยสารบันเทิงบางฉบับ
ขณะนั้นเชอร์รี่แอนเธอเป็นนักเรียนโรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยา เธอขึ้นรถแท็กซี่หน้าโรงเรียน
เพื่อกลับบ้านแล้วเธอก็หายตัวไปอย่างลึกลับ ต่อมาอีก 3 วัน มีผู้พบศพเธอลอยอยู่ในร่องน้ำในป่าแสมบางสำราญ
ตำรวจชุดสืบสวนใช้เวลาสืบหาฆาตกรประมาณ 1 เดือน ก็จับกุมคนร้ายหรือผู้ต้องหาเป็นชายได้ 5 คน
พร้อมทั้งเปิดแถลงข่าวการจับกุมทันทีว่า มีประจักษ์พยานคือนายประเมิน โภชพลัด อาชีพขับรถสามล้อรับจ้าง
เป็นผู้เห็นเหตุการณ์ ยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้ง 5 คน นั้นเป็นฆาตกร ข่าวแพร่สะพัดออกไปอย่างกว้างขวาง
เป็นที่สะเทือนขวัญ ประชาชนต่างพากันประณามและเรียกร้องให้ประหารชีวิตฆาตกรกลุ่มนี้
ตำรวจผู้เป็นพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้วส่งสำนวนให้อัยการ
อัยการตรวจสำนวนแล้วมีความเห็นสั่งฟ้องและส่งฟ้องผู้ต้องหา 4 คน เป็นจำเลยที่ 1-4 ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ (ศาลชั้นต้น)
ส่วนอีกคนหนึ่งอัยการปล่อยตัวไปเพราะหลักฐานอ่อน จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยทุกคนกระทำความผิดจริง พิพากษาให้ประหารชีวิต จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์จำเลยที่ 1 เสียชีวิต
ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4
แต่ยังให้คงขังจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไว้ระหว่างฎีกา
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา (มารดาของผู้ตายเป็นโจทก์ร่วม)
ในที่สุดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2536 ศาลฎีกาพิพากษาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์
และโจทก์ร่วมที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ปล่อยตัวจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 (หลังจากถูกควบคุมหรือขังคุกมานาน 6 ปี 7 เดือนเศษ)
(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 768/2536)
สภาพของจำเลยหลังจากคดีถึงที่สุด กล่าวคือเมื่อปลายปี 2536 ปีที่ถูกปล่อยตัวออกมาจากคุก
จำเลยที่ 2 ที่ติดโรคร้ายมาจากในคุกก็เสียชีวิต ส่วนจำเลยที่ 4 ก็มาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง
หลังจากถูกปล่อยตัวออกมาไม่นาน สำหรับจำเลยที่ 3 คนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่แต่ก็ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก
เพราะกระดูกสันหลังร้าวนอนหงายไม่ได้ เหมือนคนพิการ เนื่องจากถูกซ้อมเพื่อให้รับสารภาพ
ก่อนที่คดีนี้จะถึงที่สุดที่ศาลฎีกา ผู้เสียหาย (ฝ่ายจำเลย) และญาติๆ ได้ร้องเรียนแสดงข้อเท็จจริงต่างๆ
ต่ออธิบดีกรมตำรวจ (ขณะนั้น) เป็นผลให้กองปราบปรามทำการสอบสวนคดีใหม่
หาตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริง คู่ขนานพร้อมๆ ไปกับการพิจารณาคดีของศาลฎีกา
ผลปรากฏว่าจำเลยที่ 1-4 มิใช่คนร้าย แต่เป็นผู้บริสุทธิ์และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในการฆาตกรรม
ตามที่อัยการโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้เลย ข้อเท็จจริงได้ความว่านายประเมิน โภชพลัด
คนขับรถสามล้อพยานโจทก์ปากสำคัญ (ปากเดียว) ที่โจทก์อ้างและนำสืบต่อศาลนั้น
เป็นพยานเท็จที่ตำรวจ สภ.เมืองสมุทรปราการ ว่าจ้างมา (ปั้นพยานเท็จเพื่อจับแพะ)
ผู้รับผิดชอบสอบคดีใหม่จากกองปราบฯท่านอธิบายว่า ผลการสอบออกมาชัดเจนว่าจำเลยทั้งสี่
ในคดีเดิมมิใช่ฆาตกรตัวจริงและได้ตัวฆาตกรชุดใหม่ที่แท้จริงก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาเมื่อ 8 มีนาคม 2536 แล้ว
แต่เกรงว่ารูปคดีจะเป็นการฟ้องซ้ำฟ้องซ้อน และต่อมาเมื่อคดีเดิมศาลฎีกาตัดสินถึงที่สุดแล้ว
จึงนำผลการสอบสวนใหม่มาใช้ดำเนินการเอาตัวฆาตกรผู้ร่วมกระทำผิดตัวจริง
เอาตัวนายตำรวจผู้ปั้นพยานเท็จ เอาตัวพยานเท็จมาดำเนินคดีให้ได้รับโทษทัณฑ์ตามโทษานุโทษ
และฝ่ายจำเลย (ที่ยังมีชีวิตอยู่) ซึ่งเป็นผู้เสียหายและทายาทในคดีเดิมได้เป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเป็นคดีแพ่ง
เรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
กรณีข้าราชการตำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเจตนาทำผิด จับแพะ ให้รับผิดชอบ
ผลจากการดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งดังกล่าวข้างต้น
1.ฆาตกรที่แท้จริง 2 คน ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต
2.นายตำรวจผู้ปั้นพยานเท็จตัวการสำคัญถูกไล่ออกจากราชการและหลบหนียังจับเอาตัวมาลงโทษไม่ได้
3.นายประเมิน โภชพลัด คนขับรถสามล้อพยานเท็จ ถูกศาลพิพากษาจำคุก 8 ปี
4.ศาลแพ่งพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ฝ่ายจำเลย
ซึ่งเป็นผู้เสียหายและทายาทผู้เกี่ยวข้อง 7 คน พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี รวมแล้วประมาณ 38,000,000 บาท
ทั้งนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีผู้นำรัฐบาลขณะนั้นเห็นใจฝ่ายจำเลย
จึงขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติยุติเรื่อง ไม่อุทธรณ์ฎีกา คดีจึงถึงที่สุด
ขอท่านผู้อ่านช่วยวิเคราะห์จาก คดีศึกษา คดีฆาตกรรมเชอร์รี่แอน ดันแคน ที่ยกมาเป็นอุทาหรณ์
เพื่อเป็นแนวทางหรือหาทางออกที่นุ่มนวล ไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบตามกฎหมายของฝ่ายไทย
และความรู้สึกไม่พอใจของชาวพม่าบางส่วนที่เคลือบแคลงสงสัยซึ่งอาจจะไม่เข้าใจหรือทราบข้อเท็จจริงโดยถ่องแท้
และเป็นการยืนยันรับรองว่า ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้บนหลักความร่วมมือทวิภาคี
และหลักการเคารพซึ่งกันและกันระหว่างประเทศไทยกับพม่า กล่าวคือ
1.การสอบสวนของพนักงานสอบสวนและการดำเนินการของพนักงานอัยการเป็นไปโดยชอบ
การพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดเกาะสมุยก็เป็นไปโดยชอบเช่นเดียวกัน
และเมื่อคดีไปสู่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ศาลอาจจะพิพากษายกฟ้องปล่อยตัวสองแรงงานชาวพม่า
เช่นเดียวกับคดีเชอร์รี่แอน ดันแคน คดีแรกก็อาจจะเป็นได้
2.ดำเนินการสอบสวนใหม่เป็นอีกสำนวนหนึ่ง (มิได้รื้อฟื้นการสอบสวนเดิม ตั้งพนักงานสอบสวนชุดใหม่)
เพื่อหาตัวฆาตกรเพิ่มเติมซึ่งอาจจะมีมากกว่า 2 คน อาจจะเป็นตัวการหรือ
ผู้สนับสนุนก็ได้ หรืออาจจะได้ตัวฆาตกรที่แท้จริงเช่นในคดีเชอร์รี่แอน ดันแคน บ้างก็ได้
ทั้งนี้ กฎหมายมิได้บังคับว่าจะทำการสอบสวนในลักษณะเช่นนี้อีกมิได้
ถ้าการสอบสวนใหม่ไม่มีอะไรคืบหน้าก็ยิ่งเป็นการรับรองการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องตามข้อ 1
แต่ถ้ากลับกันเกิดได้ตัวผู้กระทำความผิดเพิ่มก็ยิ่งดี ก็ยังสามารถยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่อีกคดีหนึ่งได้
สรุปแล้วผู้เขียนขออนุญาตเสนอแนะเป็นทางออกของประเทศไทยว่า เราควรจะยึดหลักการตามข้อ 1
ว่าเราได้ดำเนินการมาถูกต้องสมบูรณ์ตามที่ได้มีการชี้แจงหรือแถลงข่าวทุกประการ
และในขณะเดียวกันเพื่อความร่วมมือทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับพม่า
และเป็นการป้องกันความบกพร่องผิดพลาดซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้บ้างเช่นกรณีคดีเชอร์รี่แอน ดันแคน
เราก็น่าที่จะดำเนินการตามข้อ 2 ด้วย ซึ่งเชื่อว่าน่าจะแก้ปัญหาหรือยับยั้งปัญหามิให้ลุกลามขยายตัวกว้างขวางต่อไปได้
ความเห็นหรือทางออกของปัญหาตามที่ผู้เขียนนำเสนอมานี้อาจจะเป็นเพียงวิธีการหนึ่งเท่านั้น
จะเหมาะสมหรือไม่ประการใด หรืออาจจะมีวิธีการอื่นใดอีก
ขอท่านผู้อ่านได้โปรดช่วยพิจารณาชี้แนะนำเสนอ ซึ่งความคิดของท่านอาจจะสะท้อน
เป็นแนวทางให้ท่านผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนำไปพิจารณาหาทางออกที่ถูกต้องเหมาะสม
เพื่อสร้างความร่มเย็นความสงบสุขของชนชาวไทยและชาวพม่าหรือเมียนมา มิตรประเทศทั้งสองสืบต่อไป