ยุติธรรมของทุกคน
หน้าต่างศาสนา
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ
มีนักพฤติกรรมสัตว์คนหนึ่งเคยศึกษาพฤติกรรมทางสังคม ของสัตว์ ได้นำลิงสองตัวมาทดลองโดยให้พวกมันอยู่ในกรงติดกันและทำภารกิจเดียวกัน แต่รางวัลหรือผลตอบแทนต่างกัน
โดยตัวแรกนั้นจะได้แตงกวาเป็นรางวัล ส่วนอีกตัวนั้นได้องุ่นซึ่งดูแล้วน่าอร่อยกว่าแตงกวา
พอลิงตัวแรกเห็นรางวัลที่แตกต่างกันก็เริ่มแสดงความไม่พอใจ และแสดงพฤติกรรมที่รุนแรงออกมา เช่น ขว้างแตงกวาที่ได้ใส่ ผู้ทดลอง เขย่ากรง ตบพื้น เหมือนกับว่ามันกำลังประท้วงถึงความไม่ยุติธรรมที่มันได้รับ
ขนาดสัตว์เล็กเช่นลิง ยังรับรู้ได้ถึงความไม่เท่าเทียม ไร้ซึ่งความยุติธรรม คงไม่ต้องเทียบกันกับมนุษย์ที่มีความฉลาด และมีความคิดที่ซับซ้อนกว่าลิงหลายเท่านั้นจะไม่รับรู้ได้
จึงไม่แปลกที่อาชีพหนึ่งที่สำคัญอย่างมากคือ
"ตุลาการ" จะช่วยทำให้ภาพความยุติธรรมชัดขึ้น โดยไม่ใช่แค่มีความรู้อย่างเดียวเป็นเครื่องตัดสิน แต่อาศัยความดีไม่ใช่ของใครอื่น ต้องมาจากทุกคนช่วยกันจึงจะทำให้เห็นภาพความยุติธรรมเกิดขึ้นได้
เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์ กำเนิดในชื่อว่า
"มโหสถ" ขึ้นชื่อในเรื่องการตัดสินคดีความ มีครั้งหนึ่งที่การตัดสินเป็นที่เลื่องลืออย่างมากคือ มีหญิงนางหนึ่งพาลูกของตนเดินผ่านสระน้ำเลยต้องการจะล้างหน้า ขณะนั้นก็มีหญิงอีกคน ซึ่งเป็นนางยักษ์แปลงกายมาหวังจะกินเนื้อของเด็กคนนี้ จึงเดินเข้าไปหาและขออุ้มเด็กแล้วรีบหนีไป ขณะที่หญิงนั้นลงไปล้างหน้าที่สระ
พอนางขึ้นจากสระเห็นนางยักษ์วิ่งเอาลูกของตนหนีไปก็เลยวิ่งตาม พอวิ่งทันทั้งสองก็ทะเลาะกันยกใหญ่ มโหสถจึงให้ทั้งคู่มาแจ้งเรื่องให้ฟัง พอรู้เรื่องราวจึงให้ทั้งสองรับปากว่าจะยอมรับคำตัดสิน ทั้งคู่ก็ยอมทำตาม แล้วจึงขีดเส้นบนพื้นดินเอาเด็กมาวาง แล้วให้หญิงที่เป็นแม่จับขา ส่วนนางยักษ์จับที่มือทำเหมือน ชักเย่อ
"ใครสามารถดึงเด็กไปจากอีกฝ่ายได้ คนๆ นั้นจะได้ เด็กไป" มโหสถสั่ง แล้วทั้งคู่ก็ออกแรงดึง
นางยักษ์ดึงเต็มแรงหวังจะได้เด็กนั้น จนเด็กเริ่มส่งเสียงร้องไห้ พอแม่เห็นว่าลูกร้องไห้จึงรีบปล่อยมือทันที มโหสถเห็นอย่างนั้นก็ถามมหาชนที่มาล้อมฟังคำตัดสิน
"ใจของแม่อ่อนหรือแข็งเวลาเห็นลูกร้องไห้""อ่อน เสียงมหาชนเป็นหนึ่งเดียวกัน "แล้วใครสมควรเป็นแม่มากกว่าระหว่างคนที่ดึงเต็มแรงจนเด็กร้องหรือคนที่ปล่อยมือเพราะสงสารเด็ก
" มโหสถถามต่อ "คนที่ปล่อยมือสิครับ" มหาชนลงความเห็น
เราจึงเห็นภาพความยุติธรรมจากเรื่องนี้ว่าไม่ใช่แค่ความคิดหรือเชาวน์ปัญญาอย่างเดียว แต่ประกอบพร้อมไปด้วยความรู้สึกของมหาชนที่มีร่วมกันว่าอะไรถูกอะไรผิดรวมอยู่ด้วย ทั้งหมดเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ทุกคนประสบมา อย่างที่มโหสถใช้ความรู้สึกว่าอะไรดีและชั่วของมหาชนเป็นเครื่องสอบสวนและสร้างความยุติธรรมให้บังเกิดขึ้น
เมื่อเรามองเห็นความยุติธรรมก็จะเห็นการยอมรับของทุกฝ่าย ที่ไม่นำไปสู่การแสดงพฤติกรรมโต้ตอบที่รุนแรงเหมือนลิง มีแต่สันติสุขที่งดงามและยอมรับทั่วกัน
แม้แต่นางยักษ์ที่เป็นฝ่ายผิดก็ไม่สามารถปฏิเสธว่า
"นี่คือความยุติธรรม"คัดลอกจาก http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROaWRXUXdOekkxTVRBMU53PT0=§ionid=TURNd053PT0=&day=TWpBeE5DMHhNQzB5TlE9PQ==