เปิดใจ นายกฯ กระบี่ ผู้สั่งโค่นไม้มะหาดร้อยปี ศิลปะยืนยาวแต่ไม้แก่รอวันตาย!!? ไม้ต้นเดียวต้นนี้มันจะเสียหาย ทำให้ประเทศบ้านเมืองล่มจมเลยเหรอ ผมคิดว่ามันไม่ใช่ นายกเทศมนตรีเมืองกระบี่
เปิดหมดเปลือกเป็นพิเศษกับทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ข้อหาผู้สั่งโค่นไม้มะหาดเก่าแก่
อายุร่วมร้อยปีเพื่อไปใช้สร้างประติมากรรม เสริมจังหวัดให้เป็น เมืองแห่งศิลปะ เต็มรูปแบบ ท่ามกลางเสียงก่นด่าที่ตามติด
ผู้ขายต้นไม้, เจ้าของโปรเจกต์ รวมถึงศิลปินผู้ร่วมก๊วน นี่คือคำตอบที่ชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับประเด็นนี้ อย่างที่ที่อื่นให้ไม่ได้!!
(นายกฯ โพสต์อธิบายต้นสายปลายเหตุบนเฟซบุ๊กส่วนตัว)
โค่นไม้เก่าแก่ผิดกฎหมายหรือไม่? มีสิทธิอะไรสั่งสังหารแหล่งออกซิเจนแบบนั้น? มีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม
บ้างหรือเปล่า? ผลงานศิลปะมีค่ากว่าชีวิตของต้นไม้งั้นหรือ? และอีกหลากหลายคำถามที่เกิดขึ้นในใจ จากกรณีที่
กีรติศักดิ์ ภูเก้าล้วน นายกเทศมนตรีเมืองกระบี่ สั่งโค่น ต้นมะหาด อายุร่วมร้อยปี หั่นออกเป็น 5 ท่อนแล้วยกไปให้
ศิลปินญี่ปุ่น มูไก ฉลุลายได้ตามแต่จะสรรค์สร้าง เพื่อประติมากรรมอันยิ่งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ประติมากรรมร่วมสร้างจากศิลปินแห่งชาติ กมล ทัศนาญชลี
ที่จะทำให้กระบี่ได้ประกาศศักดาเป็น เมืองแห่งศิลปะ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ และบรรทัดต่อจากนี้คือคำอธิบายทุกมุมคิด
จากผู้ถูกสังคมรุมประณามในฐานะเจ้าของโปรเจกต์ ผู้ที่ถูกหาว่าไร้จิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม
ไม้ต้นนี้มันกลวงแล้ว มันพร้อมจะตายอยู่แล้วเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ สมมติมันอยู่ได้อีก 50 หรือ 100 ปีแล้วมันก็ตาย แต่วันนี้
ไม้นี้มันถูกโค่นและเอาไปใช้ประโยชน์ ไปวางเป็นประติมากรรมหน้าลานเมืองได้อีกเป็นร้อยๆ ปี เพราะมันไม่ผุไม่กร่อน
แล้วถามว่ามันอยู่ในป่าอย่างนู้น กับอยู่อย่างนี้และสร้างคุณประโยชน์ทางศิลปะ ดึงดูดใจให้คนมาท่องเที่ยวกระบี่กันมากขึ้น
เงินที่ได้จากตรงนี้จะเกิดประโยชน์กว่าไปยืนต้นอยู่ตรงนู้นมั้ย
(นายกฯ กระบี่ถ่ายผลงาน เก็บเป็นที่ระลึก)
ผมทำให้กระบี่เป็นเมืองแห่งศิลปะมาตลอด ผลที่ผ่านมามันออกมา มันก็ไม่มีอะไรเสียหายเลย ครั้งนี้ผมก็ไม่ได้มองว่า
มันเป็นความผิดพลาด ผมมองว่าเป็นเรื่องยินดีด้วย อ้าอกรับว่าสิ่งที่ผมทำถูกต้องแล้ว เพราะถ้าผมไม่เอาไม้นี้มา เจ้าของ
เขาโค่นเอาไปสร้างบ้านอยู่ดี แล้วใครจะเห็นล่ะครับ หรือสมมติเจ้าของเขาไม่ได้เอาไปทำอะไรแล้ว แต่ถามว่าถ้าไม่โค่น
ตอนนี้ ไม้ต้นนี้จะอยู่ได้นานอีกเท่าไหร่
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายกเทศมนตรีนายนี้สร้างศิลปะอัดงดงามตบแต่งเมืองรัก แต่เขาทำมาตั้งแต่ดำรงตำแหน่งสมัยแรกๆ
แล้ว มาจนถึงวันนี้ เป็นเวลา 30 ปีที่ทำหน้าที่อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย พูดได้อย่างเต็มปากว่างานศิลปะทุกชิ้นที่สร้างไว้
ต่างกลายเป็นแลนด์มาร์กทางการท่องเที่ยว สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดกระบี่ทั้งสิ้น ซึ่งก่อนจะเกิดประเด็นร้อนนี้ขึ้น
ตัวการ์ตูนม้าลาย แทนสัญลักษณ์ทางม้าลาย คืออีกหนึ่งผลงานที่สร้างสีสันให้เมืองเมืองนี้
ผมไปตีเส้นจราจร วาดม้าลายบนถนนเป็นรูปการ์ตูนตัวม้าลายจริงๆ คนเขาก็ด่าผมว่าเหมือนม้าลายตายแล้วให้
รถมาทับ แต่ผมมองว่าทำไมทางม้าลายต้องมาตีเป็นเส้นสีเหลี่ยมๆ แบบนี้ มันไม่ดึงดูดความสนใจ พอวาดเสร็จ ทุกวันนี้
คนเขามาถ่ายรูป สรยุทธ์ไปออก 2 นาที คนรู้จักมากมาย แถมมีคนบิดเบือนว่าม้าลายของผมตัวละ 40,000 ทั้งที่จริงๆ
แล้วตัวละ 2,500 มีทั้งหมด 12 ตัว ตอนนี้ก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปแล้ว
(ทางม้าลายที่ไม่เหมือนใคร ไอเดียโดยนายกฯ กระบี่)
พูดคุยกับ มูไก (ศิลปินญี่ปุ่น) เอาไว้ตั้งแต่ปี 57 เขาบอกว่าคุณต้องเอาไม้ใหญ่ๆ มานะ ทางเราก็เลยจัดให้เลย 5 ท่อน
ให้เขาทำร่วมกับท่านอาจารย์กมล ซึ่งเป็นงานสแตนเลสทรงกลม จับมาคู่กับไม้แกะสลักตรงนี้ พอคิดกันไว้แบบนี้แล้ว
ผมก็เลยต้องพยายามหาไว้ให้เขามาแกะสลักยังไงดี ก็ไปติดต่อ คุณสุวรรณ มุคุระ เขามีโฉนดที่ดินและมีไม้มะหาดอยู่ใน
ที่ดินผืนนั้น ผมก็พยายามอ้อนวอนขอร้องว่าให้ผมเถอะ ผมจะเอามาทำประติมากรรม ไม่ได้เอาไปทำอะไรอย่างอื่น
เขาบอกว่าเขาจำเป็นต้องเอาไว้เพราะกำลังจะสร้างบ้านหลังใหม่ ไม้ต้นนั้นจะสร้างบ้านหลังใหญ่ได้หนึ่งหลังพร้อม
เฟอร์นิเจอร์ครบ ผมก็พยายามเล่าให้ฟังเรื่องไอเดียการเป็นเมืองศิลปะ ให้เขาช่วยสละไม้เถอะ แล้วเราจะมีศิลปินดังๆ
ของโลกมาช่วยแกะไม้ทำเป็นประติมากรรมตั้งอยู่หน้าเมือง คุยไปคุยมาเขาชอบใจ เขาเลยยอมตกลง เราก็ให้ค่าน้ำใจ
เขาไป 100,000 บาท
พอได้ไม้นี้มา ไม้ที่อยู่ในที่เอกสารสิทธิแบบนี้ การจะขนย้ายไม้ออกมา มันก็ต้องให้ผู้ปกครองท้องที่เป็นผู้รับรองว่า
ไม้ต้นนี้จะเอาไปไหน ตัดแล้วจะได้กี่ท่อน ปลายทางของมันอยู่ตรงไหน ตัดแล้วได้ประโยชน์อะไร ฯลฯ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน
ต้องรับรอง
ไม้ในที่เอกสารสิทธิแบบนี้จะมีอยู่แค่ 2 ไม้ที่เป็นปัญหา จะทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ก่อนคือ
ไม้ยางกับไม้สัก ถึงจะไปขึ้นในที่ดินของใคร การจะตัดจะโค่นนั้นเขาเรียกว่าเป็น ไม้เสนียด ทำอะไรก็ผิดกฎหมายทั้งนั้น
ส่วน ไม้มะหาด เป็นไม้นอกบัญชีของกรมป่าไม้ ดังนั้น เราไม่ต้องไปขออนุญาตก่อนในการจะตัดจะโค่นต่างๆ
ระเบียบปฏิบัติเป็นแบบนี้ เมื่อเจ้าของยินยอมแล้ว เจ้าหน้าที่ประจำท้องที่เซ็นรับรอง และระบุปลายทางชัดเจนแล้วก็
สามารถขนไม้ออกไปได้
ต้นไม้ต้นเดียว ไม่ทำให้ล่มจม? เราเป็นนักการเมืองท้องถิ่นแบบนี้ ก็ย่อมมีฝ่ายที่เป็นฝั่งตรงข้ามซึ่งก็ด่าผมมาตลอด จากกระแสตรงนี้ก็มีคนบางส่วน
ต่อว่าว่า ที่มาทำตรงนี้เพราะอาจารย์กมลอยากตอบสนองอะไรบางอย่าง ตรงนี้ผิดครับเพราะอาจารย์ท่านอยากจะทำ
หรือไม่ทำก็ได้ แต่ท่านกรุณามาแกะให้ รวมขั้นตอนทุกอย่าง ตั้งแต่ขนไม้, ตัดไม้, ตัดโขดหิน กระทั่งขนมาวางในที่ที่
เราต้องการ ใช้เงินไปแค่ 1,200,000
คนอื่นเขาว่าต่อๆ กันไปโดยที่ยังไม่รู้ว่าต้นสายปลายเหตุมันมายังไง เจตนาของผมคือการพัฒนาเมือง เราเอามาใช้
ให้เกิดประโยชน์ เพราะยังไงไม้ต้นนี้มันกลวงแล้ว มันพร้อมจะตายอยู่แล้วเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ส่วนอายุของต้นไม้จริงๆ แล้วไม่ถึง
143 หรอกครับ น่าจะประมาณ 80-90 ปีมากกว่า เพียงแต่ผมหยิบตัวเลขมาเล่น เพราะ พ.ค.นี้จะตรงกับการก่อตั้ง
จังหวัดกระบี่ครบ 143 ปีพอดี เป็นกุศโลบายที่หยิบมาโปรโมตให้คนมาสนใจ
ที่สำคัญ อย่าไปโทษถึงศิลปินเลยว่าเขาต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะว่าผมนี่แหละเป็นคนหามาให้และให้ศิลปิน
เป็นคนจัดการ นี่เขามาทำงาน เป็น 10-20 วัน เขาไม่ได้ค่าตอบแทนอะไร เราให้แค่ค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าอาหาร
แค่นั้นแหละครับ
(นายกฯ กระบี่ และเหล่าศิลปิน)
ส่วนคนที่มองว่าประการแรก ต้นไม้ต้นนี้เจ้าของเขาต้องโค่นอยู่แล้วใช่มั้ยครับ ถึงเราไม่เอามา เจ้าของเขาก็ตัด
ไปสร้างบ้านอยู่ดี แล้วใครจะไปเห็นบ้างว่าต้นไม้ต้นนี้มีคุณค่าอะไร ทำแบบนั้นเจ้าของก็จะเห็นคุณค่ามันอยู่คนเดียว
แต่พอเอามาทำประติมากรรม เอามาแกะสลัก คนก็เห็นและศิลปินก็บอกว่ามันจะเป็นตัวสร้างจิตสำนึกให้คนรู้จักรัก
ธรรมชาติ ต้องอนุรักษ์ต้นไม้ ต่อไปนี้คุณต้องไปดูแลนะ ถ้ามันโต มันจะใหญ่ขนาดนี้ เพราะฉะนั้น เราต้องไปช่วยดูแล
ต้นไม้ต้นนี้แหละครับจะเป็นเครื่องเตือนใจ
การที่คนออกมาวิจารณ์กันว่าผมทำลายต้นไม้ เสียดาย มันเป็นสิ่งที่ดีที่ถูกต้องครับ แต่ถ้าคุณพูดแบบนี้เมื่อไหร่
คุณต้องกลับไปดูด้วยว่า สิ่งที่อยู่รอบตัวคุณทั้งหมดที่เป็นป่าธรรมชาติ แม้กระทั่งต้นไม้ที่ปลูกไว้บนทางเท้าหน้าบ้าน
ถามว่าทำไมต้องไปตัดมันเพื่อไม่ให้มันบังหน้าบ้านคุณ นั่นก็ไม่เป็นการอนุรักษ์แล้วครับ
ทุกวันนี้ ในเขตป่าสงวน คนไปบุกรุกตัดต้นไม้กันเยอะแยะ และในป่าก็มีต้นไม้ที่ใหญ่ๆ กว่านี้อีก ยังไปตัดต้นไม้
และไปเผาทิ้งกันอยู่เลย เรายังมีไม้อีกเป็นหมื่น-เป็นแสน-เป็นล้านต้นที่อยู่ในป่าไม้ ตรงนั้นแหละที่เราต้องดูแลรักษาให้ดี
แต่ไม่ใช่กับต้นไม้แค่ต้นนี้ที่บอกเสียดาย ถ้ามันยังอยู่โลกนี้จะสดใสนะ มันไม่ใช่ ถึงตอนนี้คนจะต่อต้าน ไม่เห็นด้วย
ผมก็โอเค แต่ถามว่าไม้ต้นอื่นล่ะ เยอะและใหญ่กว่านี้อีกมากมายจะช่วยกันดูแลมั้ย ทำไมไม่ไปโวยกับกรมป่าไม้บ้างล่ะ
ว่าให้ช่วยกันดูแลบ้าง
ผมยืนยันว่าเป็นคนนึงที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแน่นอน ผมมีสวนสาธารณะอยู่ในเขตเมือง 625 ไร่ ผมขอใช้จากกรมป่าไม้
ซึ่งในรอบบริเวณทั้งหมดคนบุกรุกไปหมดแล้ว เหลือแต่พื้นที่ที่เราขอใช้ตรงนี้แหละที่เป็นไม้เบญจพรรณสวยงาม
เพราะฉะนั้น ผมยืนยันได้เลยว่าผมเป็นคนอนุรักษ์ป่าแน่นอน แต่ไม่ได้อนุรักษ์แต่ปาก แต่เราทำ
โลกนี้มันไม่ใช่ของคนใดคนนึง โลกนี้ไม่ได้อยู่ยั่งยืนถาวร วันใดวันหนึ่งโลกอาจจะพังพินาศไป แต่วันนี้คนนี่สิ
ครับสำคัญ ที่คนบอกว่าผมทำลายธรรมชาติและถามว่ามันเกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา มันเกิดประโยชน์แน่ครับ
แล้วเรามาดูกันว่าสิ่งที่บอกว่าไม้ต้นนี้มันสูญเสียไป จะได้อะไรกลับมา ถามว่าไม้ต้นเดียวต้นนี้มันจะเสียหาย ทำให้
ประเทศบ้านเมืองล่มจมเลยเหรอ ผมคิดว่ามันไม่ใช่ เราอยากจะเห็นว่าการสร้างช่วยให้เกิดประโยชน์แก่ใครบ้าง
จะให้รอต้นไม้ตายเองแล้วค่อยเอามาใช้ รออย่างนั้นผมอาจจะตายก่อนก็ได้ ผมอายุตั้ง 64 แล้วนะ รอมันตาย ผมตาย
ก่อนแน่ และถ้าผมไม่ทำ คนอื่นก็ไม่มีใครทำนะ เรากำลังสร้างศิลปะ ถามว่าอาจารย์กมลจะอยู่ได้อีกกี่ปี อาจารย์ก็ 71
เข้าไปแล้ว ถ้าจะรอให้ต้นไม้ตายก่อนก็ไม่รู้ชาติไหน ไม่มีทางได้แกะแน่นอน และที่สำคัญ ต้นไม้ต้นนั้นเจ้าของเขากะจะ
โค่นแน่นอนอยู่แล้ว
ถามว่าทั้งประเทศ มันมีจังหวัดไหนบ้างที่ออกมาทำเรื่องแบบนี้ วันนี้ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เขาบอกเลยว่า
เฮ้ย! คุณทำได้ไง ขอเข้ามาดูงานของเรา จะเอาที่นี่เป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้น เมืองนี้กว่าจะมีศิลปะอย่างทุกวันนี้ได้
มันไม่ใช่ธรรมดานะครับ และศิลปินกว่าจะมารวมกันได้เป็นร้อยๆ คนมาสร้างงานศิลปะให้ได้ มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นะ
นายกเทศมนตรีเมืองกระบี่ทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ
รอ พ.ร.บ.คุ้มครองต้นไม้ใหญ่!(ไม้เก่าแก่ถูกโค่นถอน)
ผมว่าคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เขาอคติมากกว่าครับ ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ อาจารย์สาขา
วิชาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ขอมองประเด็นร้อนนี้ในอีกมุมหนึ่ง
สำหรับตัวผมแล้วผมดูที่เจตนาครับ นายกฯ ท่านหวังดี ศิลปินท่านก็หวังดี หวังที่จะให้บ้านเมืองมีศิลปะ
เข้ามาแทนที่ของวัตถุนิยมที่ไร้ซึ่งสุนทรีย์ ในฐานะคนทำศิลปะคนนึง ผมอยากให้คนที่เป็นนักอนุรักษ์อย่ามองโลกสวย
ในด้านของตัวเอง มองในด้านคนอื่นบ้าง ทุกวันนี้ เรามีเรื่องให้วิจารณ์อีกเยอะในสังคมเราโดยเฉพาะเรื่องที่ไม่ดี
ทั้งการเมือง พวกนายทุน พวกข้าราชการ ตำรวจ ทหาร และอื่นๆ อีกมากมาย บ้านเมืองเรากำลังถึงขั้นวิกฤต
เพราะคนเราขาดการชั่งใจในการวิจารณ์ ใช้อารมณ์ส่วนตัวเป็นใหญ่ ไม่วิเคราะห์สังเคราะห์และแยกแยะว่าอะไรเป็นอะไร
โดยที่ไม่ดูเจตนารมณ์ของผู้สร้างว่ามีความประสงค์อะไร
ทุกอย่างในโลกนี้มันเป็นเรื่องผลประโยชน์ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าใครจะเอามากเอาน้อย และเอาไปสร้างคุณประโยชน์
ให้กับใครที่ไหน เมื่อไหร่ ยังไง ผลประโยชน์ที่มีเจตนาดีหรือเลว สุดท้ายนั้นเป็นผลประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือส่วนตัว
ถ้าส่วนรวมก็ดีไป แต่ถ้าส่วนตัวและพวกพ้องก็บรรลัยไป
แน่นอนว่าความคิดเห็นดังกล่าวย่อมแตกต่างจากมุมมองของ อรยา สูตะบุตร ราวฟ้ากับเหว เพราะเธอคือ
ผู้ประสานงานกลุ่ม Big Tree Project กลุ่มอาสาสมัครที่รณรงค์เกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ ประสานงานไปยังหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้อง และเป็นแรงสนับสนุนให้คนในพื้นที่รวมตัวกันปกป้องพื้นที่สีเขียวที่ถูกทำลาย ซึ่งมองเห็นคุณค่าของ
พื้นที่สีเขียวสำคัญกว่าเรื่องใดๆ
ถ้ามาพูดกันในประเด็นที่ว่า ควรจะให้ต้นไม้มีชีวิตอยู่หรือจะเก็บเป็นงานศิลปะ อันนี้ต้องบอกว่าจริงๆ แล้ว
อ.เทพศิริ สุขโสภา ซึ่งเป็นศิลปินมีชื่อเสียงคนนึงและทำงานเกี่ยวกับไม้เยอะมาก ท่านก็ยังพูดเลยค่ะว่าเวลาเรา
ทำงานเกี่ยวกับไม้ ไม่ใช่เราไปโค่นต้นที่มันดีๆ อยู่ แต่ให้เอาไม้ที่มีการเอาไปใช้งานแล้ว หรือเอาไปที่ไปทำเครื่องเรือน
และถอดออกมาแล้ว เอามาประดิษฐ์เป็นงานศิลปะมันจะเหมาะสมกว่า เพราะยังไงมันก็ถูกแปรรูปมาแล้วขั้นนึง
อีกเหตุผลนึงคือ มันควรจะเป็นต้นไม้ที่ตายแล้วตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเพราะด้วยอายุของมันหรือป่วยตายเพราะโรค
แล้วค่อยเอามาทำงานศิลปะ แต่ถ้าเป็นต้นไม้ที่ดีๆ อยู่ มันยังมีคุณค่าอื่นๆ อีกเยอะแยะ ไม่ใช่ทำได้แค่ไม้แปรรูป ถึงแม้
เอามาแปรเป็นงานศิลปะก็ตาม เรายังมีของที่สามารถเอาไปทำงานศิลปะอีกเยอะแยะไปหมด มันไม่จำเป็นจะต้องลุกขึ้น
โค่นต้นไม้ต้นนึงเพื่อจะมาทำอะไรแบบนี้ มันเหมือนเป็นการตัดสินใจแบบมองด้านเดียวของต้นไม้ค่ะ
มันเป็นวิธีคิดของคนส่วนใหญ่ในสังคมน่ะค่ะ ที่จะชอบมองว่าต้นไม้มีอีกเยอะแยะ จะปลูกเมื่อไหร่ก็ได้ จะล้อม
จะตัดทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้ เดี๋ยวก็ไปหามาใหม่ ซึ่งแสดงว่าขาดความรู้อย่างรุนแรงเลยค่ะ เพราะต้นไม้ต้นหนึ่งกว่ามัน
จะโตขึ้นมาเป็นต้นใหญ่อย่างที่เห็น มันใช้เวลาเป็นร้อยๆ ปี ยิ่งอายุมากเท่าไหร่ ยิ่งถือว่าเป็นส่วนของประวัติศาสตร์
สำหรับคนที่ได้รับประโยชน์จากมัน แค่เราไปยืนใต้ต้นไม้ เราก็ได้รับอากาศสดชื่นจากมันแล้ว
ถ้าเป็นไปได้ ตัวแทนกลุ่ม Big Tree Project ก็อยากให้บ้านเมืองเรามีกฎหมายคุ้มครองต้นไม้ใหญ่เหมือน
ในประเทศที่พัฒนาแล้วกับเขาบ้างเสียที
ถ้าเป็นประเทศในยุโรป รวมมาจนถึงสิงคโปร์, อินโดฯ, มาเลเซีย ซึ่งจะได้รับอิทธิพลจากอังกฤษมา เขาจะมี
กฎหมายคุ้มครองต้นไม้ใหญ่เลยค่ะ ยิ่งในเยอรมนีไม่ได้จำกัดประเภทพันธุ์ต้นไม้เหมือนเราด้วยค่ะว่าพันธุ์นี้เท่านั้น
ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อต้นไม้ที่ได้รับการคุ้มครอง ขอแค่เป็นต้นไม้ใหญ่และมีคนเข้าไปทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ แม้แต่การ
ตัดกิ่ง จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาเลยทันที
จริงๆ แล้ว ทางเราก็อยากให้บัญชีต้นไม้คุ้มครองถูกยกระดับให้ขึ้นมาเป็น พ.ร.บ. มีบทลงโทษที่ชัดเจนและ
ครอบคลุม ไม่ใช่เฉพาะกับต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะหรืออุทยานแห่งชาติ แต่น่าจะรวมถึงพื้นที่เอกชนเหมือนในยุโรป
เขาทำกัน ทางเราเองก็พยายามกระตุ้นสำนึกตรงนี้เกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ หวังว่าวันนึงจะช่วยทำให้มีพลังมากพอที่
จะลุกขึ้นมาเรียกร้องอะไรได้
ที่ผ่านมา กรณีที่ประสบความสำเร็จในการต่อต้านก็เป็นเพราะคนในพื้นที่น่ะค่ะมีความตื่นตัวและช่วยกันออกแรง
ทำอะไรซักอย่างนึง ทำอะไรก็ได้ที่ทำให้เกิดเสียงดังขึ้นมา กระตุกให้คนที่กำลังจะก่อวินาศกรรมตรงนี้ได้หยุดคิด
หรือทบทวนดูก่อน
ก่อนหน้านี้จะมีกรณีของตะกั่วป่า พังงา มีพื้นที่ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ คนผ่านไปมาชอบแวะมาถ่ายรูป จู่ๆ
แขวงการทางที่ตะกั่วป่าก็มาตัด แต่สั่งไม่รู้อีท่าไหน คนมาตัดดันโค่นต้นไม้ทิ้งเลย คนในพื้นที่ก็ไม่ยอม ถ่ายรูปโพสต์
และส่งไปที่สื่อต่างๆ บางคนก็ไปแจ้งความกับตำรวจ ชาวบ้านก็ไปช่วยๆ กันยืนชี้ ฟ้องด้วยภาพ สื่อก็ไปทำข่าว
ทำให้เป็นประเด็นขึ้นมา สามารถระงับการตัดต้นไม้ตรงนั้นไปได้ เพราะฉะนั้น คนในชุมชนสำคัญมาก ถ้าจะหวังสื่อ
อย่างเดียว มันจะไม่รอด
(เจ้าของโปรเจกต์ ถ่ายร่วมกับศิลปิน)
หรือแม้แต่ทาง กทม.เอง ก็มีบ่อยๆ ที่ตัดต้นไม้ทางเท้าออกเหลือแต่ตอ เพราะคนที่มาขอคือโครงการคอนโด-
บ้านจัดสรร รู้สึกว่าเกะกะการก่อสร้างก็เลยตัดต้นไม้ออกมาจนถึงทางเท้าสาธารณะก็มี แต่รู้ว่าถ้าจะตัดต้องขออนุญาต
กทม. เขาก็เลยใช้วิธีจ้าง กทม.ส่วนที่เกี่ยวข้องตัดซะเลย ซึ่งจริงๆ แล้วทาง กทม.ไม่ควรจะยอมให้ตัดง่ายๆ นะ
เพราะตัวเองปลูกมา ดูแลมา และต้นไม้บนทางเท้าริมถนนในกรุงเทพฯ ก็มีน้อยมากอยู่แล้วด้วย บทบาทของคนใน
กทม.ต้องหวงแหนด้วยซ้ำ แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่าทาง กทม.กลับมีรายได้จากตรงนี้แทน
ตรงนี้คงต้องคิดกันใหม่ ปลูกฝังกันใหม่ ทำความเข้าใจกันใหม่ให้เห็นคุณค่าของต้นไม้ค่ะ เพราะไม่งั้น
แทนที่ประชาชนจะอยู่อาศัยได้โดยรับประโยชน์จากต้นไม้ กลับต้องมากลายเป็นหูเป็นตา คอยระแวงว่าเมื่อไหร่
ต้นไม้แถวบ้านของเขาจะโดนตัดทิ้ง
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000020215