เรือดำน้ำเข้าอ่าวไทยได้หรือไม่ได้ มาดูบทเรียนจากประวัติศาสตร์กัน
March 30, 2015 at 9:59pm
สืบเนื่องจากบทความของคนแก่แล้วแก่เลย ไม่พัฒนาตามยุคสมัยที่กล่าวว่า อ่าวไทยน้ำลึก 80 เมตร ตื้น เรือดำน้ำไม่สามารถปฏิบัติได้ แต่ในความเป็นจริง อ่าวไทยน้ำลึกเฉลี่ย ประมาณ 50 เมตร ส่วนที่ลึกที่สุดประมาณ 80 เมตร .... ซึ่งลึกน้อยกว่าที่นายลมเปลี่ยนทิศกล่าวมาอีก แต่มาดูกันว่า เรือดำน้ำสามารถปฏิบัติการในอ่าวไทยได้หรือไม่
เนื่องจากไม่มีเวลาที่จะเขียนบทความ หรือเรียบเรียงขึ้นใหม่ จึงได้นำข้อมูลดิบที่ผมเขียนขึ้นเพื่อทำสารคดี สงครามโลกครั้งที่ 2 มาเผยแพร่เป็นการเร่งด่วน เพราะเห็นความจำเป็นว่าจะต้องรีบนำเสนอข้อเท็จจริงให้ประชาชน อย่างน้อยๆ ก็เพื่อนในเฟซ และคนที่สนใจได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง อย่าไปหลงเชื่อลมปาก ของนายลมเปลี่ยนทิศ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ลมของหมอนี่ มีไว้เปลี่ยนทิศ บิดเบือนข้อเท็จจริง อย่างร้ายกาจ
ดังนั้น บทความนี้จึงเจาะจงไปที่การปฏิบัติการของเรือดำน้ำในทะเลอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เพียงเท่านั้น แต่ก็เยอะพอที่จะบอกได้ว่าเรือดำน้ำจะปฏิบัติการได้หรือไม่ ส่วนในแง่อื่นๆ ผมแนะนำให้ไปอ่านในหนังสือเรื่อง "เส้นทางเกียรติศักดิ์ นักรบแห่งราชนาวี" ตอน เรือดำน้ำ ซึ่งผมได้เขียนถึงความสำคัญของเรือดำน้ำ และการปฏิบัติการของเรือดำน้ำในอ่าวไทยว่าได้หรือไม่ได้ ในแง่มุมต่างๆ กัน
บทความที่อ้างถึง
http://www.thairath.co.th/content/489841 การวางทุ่นระเบิดของเรือดำน้ำสัมพันธมิตร
ในเดือน สิงหาคม ค.ศ. 1942 กลุ่มวิจัยปฏิบัติการสงครามทุ่นระเบิด (Mine Warfare Operational Research Group) ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้แนะนำให้กองทัพเรือวางทุ่นระเบิดในน่านน้ำที่ญี่ปุ่นควบคุมอยู่ และสนามทุ่นระเบิดที่วางทางเรือเป็นที่แรกเกิดขึ้นที่บริเวณพัทยา บริเวณเกาะล้าน และเกาะไผ่ โดยเรือดำน้ำ USS Thresher (SS-200) ได้เข้ามาวางทุ่นระเบิดเป็น 2 แนว แนวละ 16 ลูก รวมเป็นจำนวน 32 ลูก เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 1942 (ในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 15 ต.ค.)
เรือซิดนีย์มารู (Sydney Maru) ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรกับประเทศไทยในเวลานั้น บรรทุกข้าวสารที่เกาะสีชังแล้วเดินทางไปสิงคโปร์ ได้ถูกทุ่นระเบิดสนามนี้ในวันที่ 16 ตุลาคม (วันรุ่งขึ้น) ที่บริเวณท้ายเรือและกลางลำต้องจูงไปเกยตื้นที่เกาะไผ่ ทำให้เรือสินค้าและเรือประมง ไม่กล้าที่จะออกทะเล (หมายเหตุ : นอกจากข้อมูลฝั่งไทยแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานอื่นใดว่าเรือซิดนีย์มารู โดนทุ่นระเบิดในน่านน้ำไทย อีกทั้งเรือชื่อนี้ ซึ่งมีอยู่ 2 ลำในยุคนั้น ลำหนึ่ง ถูกยิงด้วยตอร์ปิโดนอกชายฝั่งเวียดนาม อีกลำถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดที่กัวดาคานาล ดังนั้นข้อมูลนี้จึงถือว่ามีหลักฐานอ่อนมาก)
ทัพเรือ (หน่วยสนามของราชนาวีในขณะนั้น) จึงได้ลงคำสั่งยุทธการให้ ร.ล.จวง(ลำเก่า) ร่วมกับเรือประมงจำนวนหนึ่งเป็นหมู่เรือกวาดทุ่นระเบิด ออกปฏิบัติการระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2485-22 มกราคม 2486 นับเป็นการ "ปฏิบัติการกวาดทุ่นระเบิดครั้งแรก" ที่มีการบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐาน (แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ)
ต่อมาประเทศพันธมิตรได้นำเครื่องบินมาวางทุ่นระเบิดในแม่น้ำเจ้าพระยา ทัพเรือจึงได้ลงคำสั่งจัดตั้งกองกวาดทุ่นระเบิดในแม่น้ำขึ้นเมื่อ 25 มกราคม 2487 และในวันที่ 29 มิถุนายน 2494 ชื่อของ "กองเรือทุ่นระเบิด" ได้ปรากฏเป็นครั้งแรกเมื่อมีการย้ายกองเรือจากกรุงเทพฯ ไปรวมอยู่ที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ในชื่อใหม่ว่า กองเรือยุทธการ
การปฏิบัติการของเรือดำน้ำสหรัฐฯชื่อ USS Gar หมายเลข SS-206 ในการวางทุ่นระเบิดในอ่าวไทย
- การลาดตระเวนครั้งที่ 3 USS Gar ได้รับคำสั่งให้ทำการลาดตระเวนบริเวณทะเลจีนใต้ และอ่าวไทย บริเวณ L 8๐ 30 N (ช่วง จ.นครศรีธรรมราช) ช่วงระหว่าง 18 ก.ค. 8 ส.ค. ค.ศ.1942 (พ.ศ.2485) โดยได้รับข้อมูลการข่าวว่าจะมีเรือขนส่งข้าวของญี่ปุ่นจะเดินทางถึงกรุงเทพฯ ในช่วงต้นเดือนของเดือน ส.ค. ซึ่งถ้าพบให้ทำการจมเรือนั้น ถ้าโอกาสอำนวย
- 30 ก.ค. 3 ส.ค. ค.ศ.1942 (พ.ศ.2485) ลาดตระเวนอ่าวไทย ห่างจากเกาะ Pulo Wai (ในประเทศกัมพูชา L 9๐ 55 N , 102° 55' E ) ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 50 ไมล์ทะเล
- การลาดตระเวนครั้งที่ 4 USS Gar ได้เข้ามาวางทุ่นระเบิดในอ่าวไทย
- 17 ก.ย. ค.ศ. 1942 เรือออกเดินทางเพื่อทำภารกิจลาดตระเวน จากท่าเรือ Fremantle
- 14 ต.ค. ค.ศ.1942 ออกเดินทางจากบริเวณเกาะ pulo kambir-varella (Lat 13๐ 54 N , Long 109๐ 29 E ชายฝั่งตะวันออกของเวียดนาม) ลงใต้เพื่อไปยังอ่าวไทย
- 19 ต.ค. ค.ศ.1942 เวลา 2000 เรือเดินทางถึงอ่าวไทยตอนบน (ประมาณ Lat 12๐ 20 N , Long 100๐ 34 E ห่างจากสัตหีบไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 25 ไมล์ทะเล)
- ดวงจันทร์ขึ้นเวลา 0230 (LZT) จันทร์สว่าง ทัศนวิสัยดีมาก ทะเลเรียบ ความลึกน้ำในระยะที่ห่างจากฝั่งราว 45 ไมล์ มีความลึกอยู่ระหว่าง 72 -132 ฟุต (22-40 เมตร) ไม่มีข้อมูลกระแสน้ำที่แน่นอน แต่คาดว่ากระแสน้ำจะพัดเข้าหาฝั่ง ซึ่งข้อมูลจากแผนที่ในบริเวณนี้ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ , ลิ้นป๊อปเป็ตไม่สามารถเปลี่ยนจากตำแหน่งธรรมดาไปยังตำแหน่งยิงตอร์ปิโดได้ ต้องทำการเอียงเรือไปยังห้องเก็บทุ่นระเบิด , ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการวางทุ่นระเบิดมาก่อนเลย
- การเข้าไปยังพื้นที่วางทุ่นระเบิด ใช้การแล่นบนผิวน้ำก่อนเข้าพื้นที่ 30 ไมล์ เพื่อชาร์จแบตเตอร์รี่ และระบายอากาศ
- เวลา 2241 ดำลงระยะห่างจากพื้นที่เป้าหมาย 3 ไมล์ไปทางตะวันตก
- 2250 เริ่มทำการล้างอำนาจสนามแม่เหล็กตัวเรือ
- 2338 เข้าพื้นที่เป้าหมาย และเริ่มวางทุ่นระเบิด
- ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดในการวางทุ่นระเบิดทุกๆ 300 หลา หรือในการควบคุมความลึก จากการแก้ค่าแบริ่งบ่อยๆ ด้วยกล้องตาเรือ ทำให้รู้ว่ากระแสน้ำในบริเวณนี้ทำให้แนวการวางระเบิดเปลี่ยนไป จากที่ตั้งใจจะวางทุ่นระเบิดด้านซ้ายและขวาในแนว 70 250 ด้านละ 16 ลูก กระแสน้ำความเร็วประมาณ 3 น็อต ทำให้ทุ่นระเบิดเปลี่ยนแนวไปเป็น 171 349
- 20 ต.ค. เวลา 0112 วางทุ่นระเบิดจำนวน 32 ลูกเสร็จสิ้น หลังจากนั้นได้ถอนตัวลงมาทางใต้ ซึ่งมีความยุ่งยากตรงที่แผนที่ไม่ชัดเจน และไม่รู้การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในพื้นที่
- 0148 ทุ่นระเบิดจำนวน 4 ลูกเกิดระเบิดขึ้นต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทราบสาเหตุ
ร.ล.รัตนโกสินทร์ ได้ถูกทุ่นระเบิดสนามนี้ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 เรือชำรุด แต่แล่นเข้าอ่าวสัตหีบได้
การเข้ามาของเรือดำน้ำอื่นๆ
ทางด้านฝั่งทะเลอันดามัน อังกฤษ ใช้เรือดำน้ำแบบ S (ระวางขับน้ำเหนือน้ำ 830 ตัน ความเร็ว 14 นอต มีปืนใหญ่ 3 นิ้ว 1 กระบอก ตอร์ปิโดขนาด 53 ซม. 7 ท่อ) และเรือดำน้ำแบบ T (ระวางขับน้ำเหนือน้ำ 1,300 ตัน ความเร็ว 15.5 นอต มีปืนใหญ่ 4 นิ้ว 1 กระบอก ตอร์ปิโดขนาด 53 ซม. 11 ท่อ) ปฏิบัติการจากฐานทัพที่ทริงโคมาลีในลังกา รายการสำคัญ ๆ ที่ควรกล่าวถึงคือ ได้วางทุ่นระเบิดทั้งชนิดทอดประจำที่และชนิดแม่เหล็กที่บริเวณเกาะตะรุเตา บริเวณนอกฝั่งสตูล บริเวณใกล้เกาะลันตาและนอกแหลมปากพระ ภูเก็ต ได้ยิงและชนเรือสินค้าและเรือใบทั้งของญี่ปุ่นและไทยจมหลายลำ เช่น เรือบันไตมารู โฮเรมารู ซิกิมารู ของญี่ปุ่น เรือกลไฟถ่องโหของไทย เป็นต้น
ในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2487 ได้ยิงเรือยนต์จูงเรือฉลอมขนย้ายครอบครัวของพันตำรวจตรี ขีด ศิริศักดิ์ ผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดพังงา จมที่บริเวณแหลมนาค ห่างฝั่งประมาณ 2 กม. พันตำรวจตรี ขีด ฯ ได้รับบาดเจ็บ ตำรวจตาย 1 คน หายไป 3 คน
ในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2487 เรือดำน้ำ Trenchant ของอังกฤษได้บรรทุกตอร์ปิโดคนและมนุษย์กบมาทำลายเรือสินค้าอิตาลีสองลำในอ่าวภูเก็ต เรือสองลำนี้ได้จมตัวเองเมื่อเกิดสงคราม ญี่ปุ่นกำลังกู้ขึ้นเพื่อจะนำไปใช้และต้องถูกมนุษย์กบ เข้าทำลายจนจมอีกครั้งหนึ่ง
ทางด้านอ่าวไทย อังกฤษใช้เรือดำน้ำแบบ T ซึ่งมีฐานทัพที่ฟรีแมนเติล ในออสเตรเลีย อเมริกาใช้เรือดำน้ำแบบ Balao หรือ Fleet Type (ระวางขับน้ำเหนือน้ำ 1,525 ตัน ความเร็วสูงสุดเหนือน้ำ 20 นอต มีปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้ว 1 กระบอก ตอร์ปิโด ขนาด 53 ซม. 10 ท่อ) บริเวณที่เข้ามาปฏิบัติการคือ ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย หน้าอ่าวระยองทางฝั่งตะวันตกของอ่าวไทยตั้งแต่ใต้ประจวบคีรีขันธ์ลงไปจนถึงตรังกานู ได้ยิงเรือลำเลียงและเรือใบที่เดินชายฝั่งทั้งของไทยและของญี่ปุ่นจมหลายลำ ส่วนใหญ่ใช้ปืนใหญ่ประจำเรือยิงทำลาย ที่ใช้ตอร์ปิโดก็มีบ้างที่สมควรกล่าวถึง คือ
วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2488 เรือดำน้ำอเมริกา Sealion II ยิง ร.ล.สมุย (ลำแรก) ด้วยตอร์ปิโดจมที่ฝั่งตรังกานู วันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2488
เรือดำน้ำ 4 ลำโผล่ขึ้นยิงเรือลำเลียงญี่ปุ่น 9 ลำนอกฝั่งอำเภอปะนาเระ ปัตตานี ทั้ง ๆ ที่มีเครื่องบินคุ้มกัน 3 เครื่อง เรือลำเลียงถูกยิงจมและไฟไหม้ 5 ลำ ตอร์ปิโดของเรือดำน้ำที่ผิดเป้าเกยฝั่งหาดทรายบ้านท่าสูง 1 ลูก
วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2488 เรือดำน้ำยิงเรือไทยนาวา 3 ของบริษัทไทยเดินเรือทะเลจมที่บริเวณหน้าอ่าวชุมพร ร้อยโท กมเลศ จันทร์เรือง นายทหารติดต่อกองพลที่ 6 ที่มากับเรือเสียชีวิต
วันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2488 เรือดำน้ำอังกฤษชื่อ Tradewind ยิงเรือยนต์สหประมง 5 และเรือใบแข็งที่มาจากตรังกานูจมที่บริเวณเกาะทะลุ บางเบิด คนตาย 6 คน และได้จับนายเดช ประกิตตเดช ไปเป็นเชลยร่วมกับนายเพียง แซ่เจียว ซึ่งถูกสะเก็ดกระสุนบาดเจ็บสาหัส ทั้งสองคนถูกคุมขังอยู่ในออสเตรเลียจนสงครามยุติลงจึงถูกส่งกลับประเทศไทย
ในวันสุดท้ายของสงครามคือ วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2488 เรือดำน้ำอเมริกาได้ยิงเรือประมงชื่อปวยเองจมที่บริเวณทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะจวง เรือลำนี้เป็นเรือของเอกชนที่กองทัพเรือเกณฑ์เช่ามากวาดทุ่นระเบิดแม่เหล็กและใช้งานอื่น ๆ ด้วย
ในเวลานั้น กองทัพเรือมีอาวุธปราบเรือดำน้ำอย่างเดียวคือ ลูกระเบิดลึกที่ซื้อมาจากญี่ปุ่นก่อนสงคราม และไม่มีเครื่องมือค้นหาเรือดำน้ำ เช่น โซนาร์หรือเครื่องฟังเสียงเลย การค้นหาเรือดำน้ำใช้การตรวจการณ์ด้วยสายตาอย่างเดียว จึงไม่ได้ผล เพราะส่วนมากเรือดำน้ำจะดำอยู่ใต้น้ำในเวลากลางวัน จะโผล่ขึ้นมายิงทำลายเรืออื่น เมื่อเห็นว่าไม่มีเครื่องบินหรือเรือรบอยู่ใกล้ ๆ
- 6 พ.ค. ค.ศ. 1945 USS Hammerhead จมเรือน้ำมันญี่ปุ่น Kinrei Maru ที่มีเรือคุ้มกัน 2 ลำลง และจมเรือสินค้าไม่ทราบสัญชาติลงอีกหนึ่งลำ ใน 14 พ.ค.
- 24 ก.ค. - 7 ส.ค. 1945 เรือ USS Bugara จมเรือขนาดเล็กถึง 57 ลำ ระวางขับน้ำรวมกัน 5,284 ตัน ด้วยปืนบนดาดฟ้าเรือ ในจำนวนนี้ มีอยู่ 2ลำ ที่ถูกขึ้นตรวจค้น และลูกเรือถูกส่งขึ้นบกพร้อมสัมภาระอย่างปลอดภัย
- วันที่ 12 พ.ค. ค.ศ.1945 เรือดำน้ำ USS Bergall (SS-320) ได้เข้ามาลาดตระเวณบริเวณอ่าวไทย พร้อมด้วยเรือดำน้ำอื่นๆ อีก 4 ลำคือ USS Cobia , USS Bullhead , USS Hawkbill , USS Kraken เพื่อประกอบกำลังกันเป็นหมู่เรือดำน้ำโจมตี ซึ่งเป็นยุทธวิธีของเรือดำน้ำในยุคนั้น ที่เรียกกันว่า Wolfpack หรือยุทธวิธี ฝูงหมาป่า ในระหว่างที่ลาดตระเวณอยู่นั้น USS Bergall ได้จมเรือ barges 5 ลำ เรือลากจูง 2 ลำ ในวันที่ 30 พ.ค. ด้วยปืนเรือ ส่วนเรือ USS Cobia จมเรือสินค้าญี่ปุ่นได้ 2 ลำ ด้วยตอร์ปิโด
- หลังจากนั้น วันที่ 12 มิ.ย. 1945 เรือ USS Bergall ได้ตรวจพบเป้าใหม่ เป็นเรือน้ำมัน 2 ลำ เรือสินค้า 1 ลำ คุ้มกันด้วยเรือผิวน้ำ 1 ลำ และอากาศยาน 1 ลำ ขบวนเรือแล่นไปด้วยความเร็วต่ำ และอยู่ในเขตน้ำตื่น ซึ่งเรือไม่สามารถที่จะดำน้ำเข้าไปโจมตีได้ อีกทั่งยังเป็นเวลากลางวัน USS Bergall จึงได้เฝ้าติดตามเป้าเพื่อจะหาจังหวะลอยลำขึ้นมาโจมตีด้วยตอร์ปิโด และปืนเรือในเวลากลางคืน โดยทิ้งระยะห่างอยู่ที่ประมาณ 5,000 หลา (2.4 ไมล์) และในเวลา 2010 ของวันที่ 13 มิ.ย. USS Bergall ได้ลอยลำขึ้นมาเพื่อค้นหากองเรือข้าศึกอีกครั้ง ซึ่งเมื่อลอยลำขึ้นมาได้พบว่าเรืออยู่ในอ่าวใกล้กับเขาแหลม (Lat 11°45'N,long 99°50'E) เนื่องต้องถูกแรงระเบิดจากทุ่นระเบิดอิทธิพล ที่ระเบิดขึ้นมาใกล้ๆ กับเรือ (Lat 11°45'N,Long 99°50'E)เรือเสียหายค่อนข้างหนัก คือพลังงานดับไปชั่วขณะ และเกียร์ทดของระบบขับเคลื่อนเสียหายทั้งสองเครื่อง
เรือดำน้ำที่เข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทย ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
- สหรัฐฯ : USS Thresher , USS Gar , USS Bergall , USS Lamprey , USS Cobia , USS Baya , USS Sealion , USS Hardhead , USS Besugo , USS Pampanito , USS Bullhead , USS Hawkbill , USS Kraken
- อังกฤษ : HMS Tradewind
- เนเธอร์แลนด์ : O-19 , O-20 , O-16 , K XII, K XIII, K XI, K XVII. K XII
- ญี่ปุ่น : I-60
เครดิตThaiArmedForce.com shared K.c. Shai's note.