รอยเตอร์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ปรากฏการณ์วิกฤตแล้งจัดในไทยในปัจจุบันเป็นภัยแล้งมากที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ล่าสุด ทอมสัน รอยเตอร์ ฟาวเดชัน เปิดเผยข้อมูลภัยแล้งที่กระทบถึงการผู้ใช้ชีวิตของชาว กทม. ซึ่งเป็นที่น่าตกตะลึงจากการให้สัมภาษณ์ของธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการประปานครหลวง ระบุว่า หากยังไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ประชาชนในกรุงเทพฯ จะมีน้ำประปาไว้ใช้สอยต่อไปได้เพียงแค่ 30 วันเท่านั้น พร้อมกับประกาศให้ผู้ใช้น้ำกักตุนน้ำดื่มจำนวน 60 ลิตรไว้ในยามฉุกเฉิน หลังสถานการณ์รอบนอกวิกฤต รวมไปถึงระดับน้ำในเขื่อนพลังงานภูมิพล จ.ตาก ที่อยู่ในขั้นวิกฤตระดับ 2 แล้ว ยังไม่รวมถึงถนนทรุดตัวก่อนหน้านี้
หลังจากปรากฏการณ์แล้งอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ล่าสุดระดับน้ำเขื่อนภูมิพลที่เป็นกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยอยู่ในระดับวิกฤตขั้น 2 ที่มีน้ำเพียงพอสำหรับการใช้ในครัวเรือนเท่านั้น คล้ายกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนียที่มาจนถึงวันนี้ต้องใช้มาตรการปันน้ำ และห้ามการรดน้ำสนามหญ้าเด็ดขาด ทอมสัน รอยเตอร์ ฟาวเดชัน รายงานสถานการณ์ภัยแล้งหนักในไทย ที่ประชาชนในกรุงเทพฯ อาจมีน้ำประปาใช้ได้อีกเพียงแค่เดือนเดียว หลังฝนทิ้งช่วงห่างเติมน้ำในบริเวณแหล่งต้นน้ำในการผลิตทำน้ำประปาไม่ทัน รวมไปถึงภัยคุกคามจากน้ำเค็มที่หนุนเข้าแหล่งน้ำและเปลี่ยนให้น้ำจืดในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นน้ำกร่อย จนกระทั่งการประปานครหลวงต้องงดใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อผลิตน้ำเป็นเวลาร่วม 3 ชม.ก่อนที่จำต้องกลับดึงน้ำกลับมาใช้ผลิตต่อ
รอยเตอร์รายงวันนี้ (7) ว่า จากการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารการประปานครหลวงกับรอยเตอร์ พบว่า กรุงเทพฯ อาจมีน้ำประปาเพียงพอสำหรับใช้สอยได้เพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น ท่ามกลางสถานการณ์ภัยแล้งหนักที่ไทยกำลังประสบปัญหาทุกวันนี้ร้ายแรงมากที่สุดในรอบหลายสิบปี
และจากความพยายามในการรักษาระดับน้ำในเขื่อนที่ส่งต่อไปยังพื้นที่การเกษตรของไทยในจังหวัดต่างๆ รวมไปถึงน้ำนี้ยังถูกส่งเข้ามาเพื่อผลิตเป็นน้ำประปาให้กับประชาชนในเมืองหลวงของประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ร้องขอไม่ให้ชาวนาเริ่มทำการเพาะปลูกตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว
และถึงแม้ทางการไทยจะมีมาตรการแก้ไขเหล่านี้ออกไป แต่ทว่าระดับน้ำยังอยู่ขั้นวิกฤตในแหล่งเก็บน้ำ 3 แหล่งใหญ่ที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นหนึ่งในสองของแหล่งน้ำสำหรับผลิตเป็นน้ำประปาให้คนกรุงได้ใช้สอย
รอยเตอร์รายงานเพิ่มเติมว่า และเมื่อพิจารณาดูจำนวนน้ำที่สามารถกักเก็บได้ล่าสุดนั้นมีจำนวนลดลงอย่างน่าใจหาย โดยพบว่าในเดือนพฤศจิกายน 2014 ไทยสามารถกักเก็บน้ำรวมกันจากทั้ง 3 เขื่อนหลักได้เพียงแค่ 5 พันล้านคิวบิกเมตร เมื่อเทียบกับตามปกติก่อนหน้านั้นสามารถกักเก็บได้ถึง 8 พันล้านคิวบิกเมตร ธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการประปานครหลวงกล่าว พร้อมระบุว่า เฉพาะในวันจันทร์ (6) มีน้ำเหลือเพียงแค่ 660 ล้านคิวบิกเมตรเท่านั้น รายงานจากกรมชลประทาน
ในขณะนี้มีน้ำในเขื่อนเหลือเพียงพอที่จะสามารถป้อนเข้ามาทำน้ำประปาได้เพียงแค่ 30 วันเท่านั้น ในกรณีที่ฝนไม่ตกเลย ผู้ว่าการประปานครหลวง กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับทอมสัน รอยเตอร์ ฟาวเดชันเมื่อวานนี้ (6)
และรอยเตอร์ยังรายงานเพิ่มเติมว่า ตามปกติระดับน้ำฝนและน้ำในเขื่อนจะช่วยกั้นไม่ให้น้ำเค็มจากอ่าวไทยไหลเข้ามา แต่ทว่าในช่วงหน้าแล้ง น้ำเค็มได้คืบคลานไปยังบริเวณต้นแหล่งน้ำ ส่งผลทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยากลายเป็น น้ำกร่อย ที่มีรสชาติเค็มเล็กน้อย
และอย่างที่ทราบกันว่า น้ำกร่อยที่มีเกลือผสมนี้ไม่สามารถใช้ทำการเกษตรได้ เพราะพืชผลตอลดจนต้นไม้ต่างๆจะตายหากมีการใช้น้ำกร่อยรด และยังนำลายสถานีสูบน้ำอีกด้วย ซึ่งดูดน้ำจากแม่น้ำร่วม 100 กม.ลงสู่อ่าว
ทั้งนี้ การประปานครหลวงมีกำลังการผลิตน้ำประปา 5.2 ล้านคิวบิกเมตร/วัน สำหรับผู้ใช้น้ำร่วม 2.2 ล้านคน ที่รวมไปถึง โรงงาน ธุรกิจ และห้างร้านต่างๆ แต่ทว่าทางการประปานครหลวงยังไม่มีความสามารถในการบำบัดน้ำเค็มได้อย่างมีประสิทธิภาพทันตามความต้องการ
มีบางวันที่ระดับน้ำเค็มเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ทางการประปานครหลวงตัดสินใจไม่นำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาใช้ในการผลิต แต่เราใช้น้ำจากคลังเก็บน้ำสำรองในคลองชลประทานที่เรามีเพื่อนำผลิต แต่ทางการประปาสามารถหยุดการนำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อมาใช้ในการผลิตได้แค่เพียง 3 ชม.เท่านั้น
รอยเตอร์รายงานต่อว่า การประปานครหลวงได้ประกาศเตือนให้ผู้ใช้น้ำในเขตกรุงเทพฯกักตุนน้ำดื่มจำนวน 60 ลิตรไว้ในการเตรียมพร้อมเมื่อมีการประกาศแจ้งน้ำประปาขาดแคลนออกมา และพร้อมกันนั้นยังขอให้คนกรุงเทพฯ ลดปริมาณการใช้น้ำลง แต่ทว่าในตอนนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จ ธนศักดิ์กล่าวต่อ เพราะราคาต่อหน่วยของปริมาตรน้ำที่ผู้ใช้ต้องจ่ายเป็นราคาที่ถูกมากคือ 8.50 บาท / 1,000 ลิตร
เป็นเพราะมีราคาถูกมากจนเกินไป จึงทำให้ผู้ใช้ไม่เห็นคุณค่าที่ต้องประหยัดน้ำ และอัตรานี้กำหนดมาตั้งแต่ปี 1999 แล้ว และอาจกล่าวได้ว่าเป็นนครที่ใหญ่แต่มีราคาน้ำประปาที่ถูกที่สุดในโลกก็ว่าได้ ผู้ว่าการประปานครหลวงตัดพ้อ
และหน่วยงานการประปามีแผนที่จะใช้เม็ดเงิน 1.3 พันล้านดอลลาร์ในโครงการระยะเวลา 7 ปีเพื่อเพิ่มความสามารถการผลิตและการกักเก็บน้ำ และนอกจากนี้ยังมีการเริ่มพิจารณาในโครงการระยะยาว 30 ปีเพื่อ (1) ประเมินความต้องการน้ำสำหรับการใช้สอย (2) การหาแหล่งน้ำใหม่ และ (3) การสร้างเครื่องป้องกันน้ำเค็ม ธนศักดิ์กล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม แหล่งน้ำใหญ่เพื่อผลิตน้ำประปายังคงเป็น น้ำฝน ที่ทางการประปานครหลวงต้องการกักเก็บ แต่กลับพบว่า ฝนที่ตกในกรุงเทพฯ เมื่อไม่นานามานี้กลับพบว่า ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักนั้นกลับไหลซึมลงสู่ใต้ดินลงมหาสมุทรหมด และทำให้เสียปล่าวไป
และนอกจากนี้ยังมีน้ำท่วมทุกปี แต่ทว่ากลับไม่สามารถนำก้อนน้ำเหล่านั้นมาใช้การได้เพราะต้องบังคับให้น้ำเหล่านั้นไหลลงมาหสมุทรไป ดังนั้นจึงเป็นปัญหาว่าทางการประปาจะสามารถกักเก็บน้ำเหล่านั้นเพื่อใช้ในยามขาดแคลนได้อย่างไร ผู้ว่าการประปานครหลวงเปิดใจเชิงตั้งคำถาม
และสุดท้ายธนศักดิ์กล่าวว่า เป็นที่น่าประหลาดที่เราปล่อยให้น้ำฝนจำนวนมหาศาลไหลลงมหาสมุทรทุกปี ซึ่งถือเป็นจำนวนปริมตรน้ำที่มีสูงกว่าที่เราได้กักเก็บไว้ในระบบเขื่อนในไทยทั้งหมด และแม้หากว่าไทยสามารถกักเก็บน้ำฝนได้เพียงแค่ 10% ของฝนที่ตกทั้งหมด ก็นับว่ามีจำนวนมากพอแล้ว
โดยก่อนหน้านี้วิกฤตสถานการณ์ภัยแล้งจัดได้คุกคามระดับน้ำในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก รวมไปถึงเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และมีศึกชิงน้ำเกิดขึ้นระหว่าง นายก อบต.บ้านหม้อ อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ที่ต้องการสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาชลประทานช่วยเหลือชาวบ้านที่ขาดน้ำหนักในการทำการเกษตร แต่กลับต้องถูก ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขัดขวางด้วยให้เหตุผลว่า อีกสองวันน้ำแห้ง น้ำทะลน่าจะหนุนขึ้นมาพรวดเดียวทำลายทุกแหล่งน้ำดิบตั้งแต่อ่างทองลงมา ก็ชิบหายจริงๆ ล่ะครับ ชาวนา และผู้นำก็ต้องแก้แบบท้องถิ่นไป ใครจะปล่อยให้ตัวเองตาย แต่ถ้ารัฐบาลไม่สามารถจัดการได้ ก็อยู่ในสภาพไร้การควบคุม เข้าสู่ยุคหนังเรื่อง แมดแมกซ์ กันไปเลย
ปัญหาภัยแล้งที่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อชาวกรุงนั้น แต่ทว่าทำให้ประชาชนตามภูมิภาคอื่นๆเดือดร้อนกันทั่วหน้าโดยฉพาะปัญหระดับน้ำในเขื่อนที่อยู่ในขั้นต่ำอย่างวิกฤต โดยในวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำกักเก็บของเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก ยังคงอยู่ในขั้นวิกฤตระดับที่ 2 คือ ไม่สามารถระบายเพื่อการเกษตร แต่มีน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค ระบายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ท้ายน้ำได้เท่านั้น
และยังถือว่าปีนี้เป็นปีที่มีน้ำใหม่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลน้อยที่สุดในรอบ 51 ปี ของการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล โดยระหว่างวันที่ 1 เมษายน-6 กรกฎาคม (ปีน้ำ นับตั้งแต่ 1 เมษายน - 31 มีนาคม) มีน้ำเหนือใหม่ที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลเพียง 48.13 ล้านคิวบิกเมตร
ประกอบกับฝนในพื้นที่ตกไม่มากพอ และพื้นดินที่แห้งแล้งเมื่อเจอกับฝนตกทำให้ดูดซับน้ำไว้เกือบหมด ส่งผลให้ในวันที่ 6 กรกฎาคมมีน้ำใหม่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลเพียง 0.89 ล้านคิวบิกเมตรเท่านั้น และมีพื้นที่ว่างในเขื่อนสามารถรับน้ำใหม่ได้จำนวนถึง 9,455 ล้าน คิวบิกเมตร หรือ 70.24% ของพื้นที่ทั้งหมด
ด้านสถานการณ์ระดับน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ก็ไม่ต่างไปมากนัก โดยพบว่ามีน้ำใหม่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำจำนวน 2.92 ล้าน คิวบิกเมตร มีพื้นที่ว่างสามารถรับน้ำใหม่จำนวน 6,276 ล้านคิวบิกเมตร หรือ 65.99% ของพื้นที่ทั้งหมด
นอกจากนี้ ภัยแล้งในต่างจังหวัดได้กระทบกับกระเป๋าเงินชาวบ้านเข้าอย่างจังเพราะไม่สามารถทำการเกษตรได้ เช่น ประเทือง แสนดี อายุ 58 ปี อาศัยบ้านเลขที่ 79 หมู่ 2 บ้านโนนป่าแดง ต.หนองหลุม อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร ที่ทำนา 10 ไร่ เปิดเผยกับศูนย์ข่าวภาคเหนือ ASTV ว่า เจอภัยแล้งอย่างหนักทำนาไม่ได้มานานกว่า 8 เดือนแล้ว จึงยอมลงทุนเพิ่มเกือบ 1 แสนบาทเจาะบ่อบาดาลลึกลงไปประมาณ 40 เมตร หรือ 20 วา ซึ่งผู้รับจ้างคิดค่าเจาะวาละ 500 บาท และต้องใส่ท่อพลาสติกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้วลงไปใต้ดิน พร้อมกับต้องต่อไฟฟ้ามาใช้กับเครื่องสูบน้ำด้วย
นอกจากนี้ ขันต์ทอง อินทร์เลี้ยง อายุ 57 ปี อาศัยบ้านเลขที่ 59 หมู่ 9 ต.วังโมกข์ อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร อาชีพรับจ้างเจาะบ่อน้ำบาดาล ยังเปิดเผยว่า ตนทำอาชีพนี้มา 30 ปีเต็ม ปีนี้มีงานเจาะบ่อน้ำบาดาลเยอะมากเนื่องจากความแห้งแล้งที่มีมายาวนานตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2014 มาจนถึงวันนี้ ฝนก็แทบไม่ตกเลยทำให้ชาวนาต้องดิ้นรนช่วยเหลือตนเองด้วยการจ้างคนเจาะบ่อน้ำบาดาล
ขันต์ทองยังเปิดเผยในรายละเอียดของอัตราขุดเจาะบ่อบาดาลว่า โดยปกติการคิดราคาเจาะบ่อน้ำบาดาลเริ่มต้นที่ราคา 500-800 บาท/วา ขึ้นอยู่กับระยะทางใกล้ไกล ส่วนค่าอุปกรณ์ผู้ว่าจ้างต้องจัดหามาเอง ในรอบเดือนที่ผ่านมามีงานเจาะบ่อน้ำบาดาลแทบทุกวัน ตนและคนงานรวม 5 คนต้องทำงานกันอย่างหนัก แต่ก็มีรายได้คุ้มค่า เพราะลงทุนซื้ออุปกรณ์ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลครั้งแรกประมาณ 5 แสนบาท แต่ก็ใช้เป็นเครื่องมือหากินมาได้หลายสิบปี
สถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ทั้ง 2 แห่งของภาคเหนือดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรใต้เขื่อนรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสุเทพ ลิมปะพันธุ์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัย เปิดเผยในวันที่ 7 กรกฎาคม 2015 ว่า นาข้าว พืชไร่ และพืชสวนต่างๆ ในจังหวัดสุโขทัย อยู่ในระยะวิกฤตเหี่ยวเฉาและตาย และคาดว่าจะส่งผลความเสียหายร่วม 90,120 ไร่
โดยภาพรวมทั้งจังหวัดแล้วมีพื้นที่ประสบภัยแล้งจำนวน 6 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.บ้านด่านลานหอย อ.คีรีมาศ อ.ศรีสำโรง อ.สวรรคโลก และ อ.ทุ่งเสลี่ยม รวม 34 ตำบล 266 หมู่บ้าน มีราษฎรได้รับความเดือดร้อนจำนวน 9,693 ครัวเรือน ส่วนพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งทั้งหมดมี 130,929 ไร่ ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดฯ ได้สำรวจ และเตรียมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป
นอกเหนือจากพื้นที่ทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหายแล้ว ภัยแล้งยังเป็นปัญหาทำให้เกิดถนนทรุดตัวอีกด้วย จากการรายงานของสื่อไทยก่อนหน้านี้ พบว่ามีการทรุดตัวร่วม 3 ม. โดยในวันที่ 6 กรกฎาคม 2015 ถนนสายหนองแค-หนองเสือ กม. 16-17 เป็นถนนขนาด 2 เลนอยู่ติดฝั่งซ้ายของคลองระพีพัฒน์ ใน จ.สระบุรี เกิดทรุดตัวลึก 3 ม. และเป็นแถวแนวยาวตลอดริมฝั่งคลองระพีพัฒน์ร่วม 300 เม. ซึ่งมีบางจุดทรุดลึกถึง 4-5 ม.ทีเดียว ส่งผลทำให้ต้องมีการปิดการจราจรถนนเส้นนี้ทั้งสาย และประกาศให้ผู้สัญจรเปลี่ยนไปใช้ถนนฝั่งขวาของคลองระพีพัฒน์แทน
โดยสาเหตุการทรุดตัวคาดว่าเกิดจากน้ำในคลองระพีพัฒน์ลดลงทำให้ดินใต้ถนนทรุดตัวลง โดยได้รับแจ้งจากผู้ที่อาศัยในพื้นที่ว่า เริ่มทีการทรุดตัวตั้งแต่เวลา 20.00 น.ในวันที่ 4 กรกฎาคมก่อนหน้านั้น
และนอกจากการทรุดตัวของถนนที่เกิดจากการลดระดับของน้ำจะเกิดขึ้นในจ.สระบุรีแล้ว ยังพบว่าเกิดขึ้นใน จ.พระนครศรีอยุธยา อีกด้วย ถนนสายลาดบัวหลวง-สามเมือง เลียบคันคลองพระยาบันลือ บริเวณหน้ามัสยิดนูรุ้ลฮิดายะห์ (สุเหร่าใหม่) หมู่ 2 ต.สามเมือง อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เกิดทรุดตัวลึกกว่า 2.50 ม. เป็นระยะทางกว่า 80 เมตร และทำให้ต้องปิดถนนเส้นนี้ลง
ส่วนสาเหตุการทรุดตัว คาดว่าจะมาจากระดับน้ำในคลองพระยา-บันลือ ลดต่ำลงทำให้ดินใต้ถนนทรุดพังลงมา
http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9580000076709 เพื่อนสมาชิกคิดว่าจริงเท็จเป็นประการใดครับ ตั้งแต่ผมเกิดมาก็เห็นแต่ปรากฏการณ์น้ำท่วม มาหลายพื้นที่ วาตภัยหลายพื้นที่ แต่ภัยแล้งถึงขนาดลามทั้งพื้นที่ขนาดใหญ่จนไม่มีน้ำให้คนกรุงใช้ยังไม่เคยเห็นเลยครับ