http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1439962655นักวิเคราะห์ชี้ปมใหม่เหตุบึ้มราชประสงค์-แนะรบ.แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า หนึ่งวันภายหลังเกิดเหตุวางระเบิดพระพรหมเอราวัณ บริเวณย่านราชประสงค์
สถานที่สักการะ และท่องเที่ยวยอดนิยมของเมืองไทย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 22 ราย
รัฐบาลไทยยังไม่สามารถระบุได้ว่าใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ และยังไม่มีฝ่ายใดออกมาอ้างความรับผิดชอบ
ขณะที่หน่วยงานตำรวจไทยก็ไม่ได้ตัดประเด็นต้องสงสัยใด ๆ ทิ้งไปทั้งสิ้น
รวมทั้งยังมีการออกมาเตือนให้ประชาชนระมัดระวังเหตุโจมตีลักษณะนี้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
แต่ไม่มีการระบุว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อไหร่
ขณะที่ซีเอ็นเอ็นได้ตั้งคำถามว่า การก่อเหตุนี้มีสาเหตุจากบรรยากาศการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยหรือไม่
โดยนายบ๊อบบี้ โกช นักวิเคราะห์กิจการโลกของซีเอ็นเอ็น ระบุว่า
ที่ผ่านมา เมืองไทยมีกลุ่มการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลทหารอยู่หลายกลุ่ม
แต่กลุ่มเหล่านี้มีความเป็นประชาธิปไตยและไม่เคยลงมือในลักษณะนี้
โดยเฉพาะการโจมตีพลเรือนผู้บริสุทธิ์ หรือทำลายเศรษฐกิจประเทศ
ขณะที่นายพอล แชมเบอร์ส นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำกิจการอาเซียน ชี้ว่า
การโจมตีนี้อาจมาจากฝีมือของคนบางกลุ่มในกองทัพหรือตำรวจ
จากการพิจารณา 3 ปัจจัย นั่นคือ
ใครในเมืองไทยที่มี"ศักยภาพ"ที่จะก่อเหตุก่อการร้ายเช่นนี้ได้
2.ใครจะได้ประโยชน์มากที่สุด
และ 3.ทำไมต้องลงมือกระทำตอนนี้
นอกจากนี้ นายแชมเบอร์สชี้ว่า สำหรับกลุ่มอุยกูร์นั้น ซึ่งถูกมองว่าไม่พอใจไทย
ที่มีการส่งพลเมืองกลุ่มที่ลี้ภัยมาไทยกลับประเทศจีน เขาไม่คิดว่าจะเป็นฝีมือของคนกลุ่มนี้
เนื่องจากกลุ่มเคลื่อนไหวอุยกูร์ไม่เคยปฏิบัติการเหตุร้ายนอกพื้นที่มาก่อน
ขณะเดียวกัน นายเอลเลียต เบรนแนน แห่งสถาบันโครงการศึกษานโยบายการพัฒนา
และความมั่นคงภูมิภาคเอเชียของสวีเดน ได้แสดงทัศนะว่า
เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดคำถามถึงแนวทางของรัฐบาลคสช.ที่จะรับมือกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้นอย่าง
โดยเหตุการณ์นี้สั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลคสช.ที่เคยสัญญาว่าจะสร้างความสงบให้เกิดขึ้นในประเทศ
แต่กลับกลายเเป็นว่าได้เกิดเหตุรุนแรงครั้งใหญ่ที่สุดและนองเลือดที่สุดขึ้นในกรุงเทพอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ซึ่งหลายฝ่ายจะจับตาการจัดการวิกฤตนี้ของรัฐบาลทหารอย่างใกล้ชิด
ซึ่งคาดว่าอาจมีการเล่นงานกลุ่มแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนใต้และเหล่าผู้นำกลุ่มเสื้อแดง
ซึ่งจะถือเป็นมาตรการที่ไม่สร้างสรรค์และทางดีที่สุด รัฐบาลคสช.ควรจะดำเนินการในลักษณะเป็นประชาธิปไตย
และมีความเป็นธรรมาภิบาลที่ครอบคลุม ที่ถือว่าเป็นแนวทางที่ฉลาดกว่า และมีประสิทธิภาพกว่า
สำหรับการจัดการกับปัญหาความแตกแยกและความไม่พอใจในสังคมไทยที่กำลังแตกแยกอยู่ในขณะนี้