http://www.photoontour.com/outbound/sipsongpanna_2556/Sipsongpanna_Part_01.htmSipsongpanna Part 1
สิบสองปันนาตอนที่ 1
(เดินทางเดือนกรกฏาคม ปี56)
เมื่อเดือน กค.ปี56 มีโอกาสไปเที่ยวสิบสองปันนาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งแรกได้ไปเมื่อปี 51 หรือ 5 ปีมาแล้ว
ตอนนั้นถนนสาย R3a สู่เมืองสิบสองปันนาพึ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ
การเดินทางครั้งนี้จึงมีโอกาสเปรียบเทียบการเดินทางทั้งสองครั้งว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ที่เห็นชัดเจนน่าจะได้แก่ ชุมชนในชนบทของลาวดูทันสมัยขึ้น บ้านหลายหลังที่เป็นบ้านมุงจากเปลี่ยนมาเป็นบ้านไม้หลังคากระเบื้อง
ส่วนที่เมืองสิบสองปันนาก็เจริญขึ้นอย่างผิดหูผิดตา
การท่องเที่ยวในทริปสิบสองปันนาเริ่มต้นที่อำเภอเชียงของจังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นจังหวัดชายแดน
ที่อยู่ติดกับริมฝั่งแม่น้ำโขง ส่วนฝั่งตรงข้ามจะเป็นบ้านห้วยทรายแขวงบ่อแก้วของสปป.ลาว
ทุกวันนี้ชาวไทยและลาวที่อาศัยริมฝั่งโขงไปมาหาสู่กันโดยทางเรือ นักท่องเที่ยวไทยที่จะไปเที่ยวสิบสองปันนา
ก็ต้องนั่งเรือหางยาวข้ามฟากตรงจุดผ่านแดน ซึ่งเป็นที่ตั้งของตม.หรือ "สำนักงานงานตรวจคนเข้าเมือง"
ตอนที่ถนน R3a สร้างเสร็จใหม่ๆ คนไทยไปเที่ยวสิบสองปันนากันอย่างคึกคักโดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว
เหตุที่ไปเที่ยวกันมากก็เนื่องจากค่าทัวร์ราคาถูก และการไปเที่ยวสิบสองปันนาก็ต้องนั่งเรือข้ามแม่น้ำโขงเพื่อไปตั้งหลักที่ฝั่งลาว
ใครมาเห็นภาพการเดินทางก็ดูเป็นเรื่องแปลก เหมือนได้สัมผัสกับความเป็นชนบท ไม่ต่างกับการเดินทางแบบย้อนยุค
แต่ปัจจุบัน(พค.57)การข้ามโขงด้วยเรือหางยาวได้เปลี่ยนมาใช้ "สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 4"
ที่สมเด็จพระเทพฯเสด็จมาทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 14 ธค.56 ทำให้การเดินทางไปเที่ยวสิบสองปันนาสะดวกและรวดเร็วกว่าแต่ก่อน
สำหรับการเดินทางล่าสุดเมื่อเดือนกค.56 นี้ถือว่าเป็นฉากสุดท้ายของการนั่งเรือข้ามฟากไปเที่ยวสิบสองปันนา
จากนี้ไปภาพเหล่านี้ก็จะกลายเป็นอดีตให้ผู้คนรุ่นต่อๆไปได้กล่าวถึง
การเดินทางครั้งนี้แตกต่างไปจากเมื่อ 5 ปีก่อน เช่นเมื่อก่อนหากเดินทางในลาวก็ต้องใช้รถบัสลาว
พอถึงด่านชายแดนประเทศจีนก็จะเปลี่ยนเป็นรถจีนที่มีสภาพดีกว่า แต่ปัจจุบันรถบัสจากจีน
เข้ามารับนักท่องเที่ยว(ไทย)ถึงริมฝั่งโขงที่บ้านห้วยทราย
เข้าใจว่ารัฐบาลลาวมีการเรียกค่าสัมปทานการเดินรถ ซึ่งเป็นผลดีสำหรับนักท่องเที่ยวก็คือ
ไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยนถ่ายรถบ่อยๆ(ทั้งไปและกลับ) ขณะเดียวกันรถบัสจากจีนก็มีสภาพดีกว่าและปลอดภัยกว่า
ซึ่งส่วนใหญ่บัสลาวเป็นรถมือสองที่นำเข้ามาจากประเทศเกาหลี เพียงแค่นำมาซ่อมแซมและตกแต่งอีกนิดหน่อย
ก็นำมาวิ่ง หากโชคดีก็เดินทางได้ตลอดรอดฝั่ง โชคร้ายก็เสียกลางทางหรืออาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
โดยเฉพาะยางรถที่หมดสภาพ เกือบทุกคันเป็นยางหัวโล้นทั้งนั้น เบรคแรงๆ หรือเข้าโค้งขึ้นเขาก็อาจเป็นอันตรายได้
อุบัติเหตุก็เคยเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวไทยจนถึงกับเสียชีวิตมาแล้ว ทั้งๆที่วิ่งทางราบในเขตชุมชน แต่ข่าวนี้ไม่ปรากฏในสื่อของไทย
การนำรถจีนเข้ามาวิ่งแทนรถลาว น่าจะปลอดภัยกว่า เนื่องจากสภาพรถที่ใหม่กว่า
คนขับก็มีความชำนาญ บางคนมีทักษะที่น่าชมเชยเช่นในทริปนี้
จากบ้านห้วยทรายสปป.ลาวมาถึงชายแดน(ลาว)ที่บ่อเต็น ใช้ระยะทาง 250 กม จากนั้นข้ามชายแดนจีนที่เมืองบ่อหาน
แล้วเดินทางต่ออีก 217 กม.ก็มาถึงเมืองสิบสองปันนา รวมระยะทางในทริปนี้ประมาณ 467 กม.(ลาว 250 กม.จีน 217 กม.)
ถนนสายเศรษฐกิจอาเซี่ยน R3a มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษตามแผนที่จาก Google Map ว่า Asian Highway
เป็นโครงการทางรถยนต์ที่เชื่อมประเทศจีนกับกลุ่มประเทศในอาเซี่ยน โครงการนี้เริ่มเมื่อปี 2545
หากเป็นไปตามแผนก็จะเสร็จสิ้นในปี 2550
ถนน R3a ในเขตประเทศลาว ถือว่าเป็นว่าเป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากเป็นการเชื่อมการเดินทางจากไทยสู่จีน
และจากจีนสู่ไทย โดยอาศัยประเทศลาวเป็นทางผ่าน โครงการนี้เริ่มต้นที่เมืองคุนหมิง
และไปสิ้นสุดที่จังหวัดเชียงราย รวมระยะทางประมาณ 1200 กม.
R3a เป็นถนนสายเศรษฐกิจที่สื่อในบ้านเรากล่าวถึงค่อนข้างบ่อยเนื่องจากเป็นถนนเพื่อการท่องเที่ยว
โดยมีสถานท่องเที่ยวที่น่าสนใจได้แก่เมืองสิบสองปันนา และเมืองคุนหมิง ขณะเดียวกันก็เป็นถนนเพื่อการค้า
การลงทุนระหว่าง จีน-ลาว-ไทย รวมทั้งอีกหลายประเทศในกลุ่มอาเซี่ยน
เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดทั้งโครงการของเส้นทางเศรษฐกิจอาเซี่ยน
จึงขอนำเอาแผนงานทั้งหมดมาให้ดูเพื่อเป็นความรู้ดังนี้ครับ
ถนนเศรษฐกิจของธนาคารพัฒนาอาเชียน (Asian Development Bank- ADB) มีถนนสายหลักๆดังนี้
1 เส้นทาง R1 โครงการถนนสายกรุงเทพฯ - พนมเปญ - โฮจิมินห์ซิตี้ วังเตา
2 เส้นทาง R2 โครงข่ายถนนเชื่อมโยงแนวตะวันออก - ตะวันตก (East - West Corridor) ไทย - ลาว เวียดนาม
3 เส้นทาง R3 โครงการถนนสายเชียงราย คุนหมิงผ่านลาวและพม่า ประกอบด้วย
3.1 เส้นทาง R3A ไทย - ลาว จีน
3.2 เส้นทาง R3B ไทย - พม่า จีน
4 เส้นทาง R10 โครงการถนนเลียบชายผั่งทะเล ไทย - กัมพูชา - เวียดนาม
(หมายเหตุ : ระยะทางจากบ่อเต็นถึงคุนหมิงคำนวณจาก Google map
ถนนช่วงนี้มีอุโมงค์ถึง 30 แห่ง ยาวที่สุดคืออุโมงค์ที่ 13 ยาว 3.373 กม.)สิบสองปันนา บ้านพี่เมืองน้องของไทย จีน ลาว พม่า เวียดนาม
หลายคนที่ไปเที่ยวสิบสองปันนารู้สึกแปลกใจที่ผู้คนท้องถิ่นดั่งเดิมหรือชาวไทลื้อ
แต่งกายคล้ายคนทางภาคเหนือหรือคนล้านนาไทย เช่น นุ่งผ้าซิ่น กางจ้อง มีดอกไม้เสียบผม
ส่วนบ้านเรือนก็ปลูกด้วยไม้หลังใหญ่คล้ายบ้านทางภาคเหนือแบบโบราณตามภาพถ่ายเก่าๆ
หากจะย้อนอดีตไปเมื่อหลายร้อยปีก่อนเมืองเชียงรุ่ง(สิบสองปันนา) เมืองล้านนาของไทย(เชียงแสนเดิม)
และเมืองเชียงตุงในพม่า รวมทั้งเชียงทอง(ลาวล้านช้าง)หรือที่เรียกว่า 4 เชียง ก็คือกลุ่มชาติพันธ์เชื้อสายเดียวกันที่มีชื่อว่าชาวไต(TAI)
คำว่าไต หรือ TAI ก็มาจากคำว่า อัลไต (Altai) หรือเทือกเขาอัลไตที่คนไทยเคยเรียนสมัยเป็นเด็กๆ ในเรื่องที่มาของชนชาติไทย
และหากยังจำกันได้กับคำว่า "อาณาจักรน่านเจ้า" ในวิชาประวัติศาสตร์ที่ชาวไตอาศัยนั้น
ปัจจุบันก็คือเมืองต้าหลี่ หรือ ต้าลี่ ในมณฑลยูนนาน
ชนชาติไตในปัจจุบันกระจายอยู่ตามมณฑลต่างๆของจีน โดยเฉพาะมณฑลยูนนานและมณฑลกวางสี
ที่มีกลุ่มชาติพันธ์ที่หลากหลายและมีเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจีนจึงกำหนดให้เป็นเขตปกครองตนเอง
เพื่อให้ชนพื้นเมืองดั่งเดิมได้บริหารจัดการกันเอง หรือมีบทบาทในการรักษาวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต
ส่วนเรื่องหลักๆแล้วรัฐบาลจีนยังต้องเข้าไปดูแล
ผ่านมาหลายร้อยปี ชนชาติไตก็แยกย้ายไปตั้งหลักแหล่งในที่ต่างๆทางแถบจีน อินเดีย พม่า ไทย ลาว เวียดนาม
จึงมีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น ไท-กะได ไท ไทย ไทลื้อ ไทดำ ไทโซ่ง ไทอาหม(แคว้นอัสสัมของอินเดียตอนเหนือ)
ไทน้อย ไทใหญ่ ไทขาว ไทขืน ไทยวน ไทพวน ไทลาว ผู้ไท ไทญ้อ ไทยอง ไทหย่า ไทแดง ไทฮ่างตง ไทกะเลิง ไทแสก ฯลฯ
ทั้งหมดนี้เรียกว่า "ชนเผ่าไท"
จะเห็นว่าจากคำว่า ไต หรือ TAI ได้แตกลูกแตกหลานเยอะแยะไปหมด นี่เอามาแค่บางส่วนเท่านั้นนะครับ สนใจ...นี่เลยวิกืพีเดีย
ทั้ง 4 เชียงหรือ 4 เมืองหลักๆตามลุ่มน้ำโขงในอดีต ได้แก่ เชียงรุ่ง(สิบสองปันนา) เชียงแสน(ล้านนา) เชียงตุง(พม่า)
เชียงทอง(ล้านช้าง-ลาว)
มีภาษาพูด ศาสนา และวัฒนธรรมต่างๆที่คล้ายๆคลึงกัน ผู้คนยังไปมาหาสู่ บางคนเป็นญาติพี่น้องกัน
เช่นคนเชียงแสน (เชียงราย)มีญาติอยู่ที่สิบสองปันนา หรือกลุ่มไทลื้อที่หลวงพระบางก็มีพี่น้องอยู่ที่สิบสองปันนาเป็นต้น
สมัยก่อนไม่มีการแบ่งเขตแดนชัดเจนเหมือนปัจจุบัน ผู้คนจึงไปมาหาสู่กัน มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
ทางศาสนาก็มีพระสงฆ์เดินทางไปจาริกธุดงค์ข้ามเขตกัน เช่นพระสงฆ์จากล้านนาเดินป่าธุดงค์ไปจนถึงเมืองเชียงตุงของพม่า
การเปิดเส้นทาง R3a ทำให้คนไทยหันมาสนใจประวัติศาสตร์มากขึ้น จากเมื่อก่อนที่เคยได้ยินแต่คำว่า สิบสองพันนา
หรือสิบสองปันนา ในหนังสือประวัติศาสตร์ แต่เมื่อมีโอกาสไปเที่ยวและได้เห็นเมืองสิบสองปันนาที่แท้จริง
จึงรู้ว่านอกจากคนไทยเชื้อชาติไทยแล้ว เรายังมีพี่น้องร่วมบรรพบุรุษดั่งเดิมอยู่ที่เมืองสิบสองปันนา
และเมืองอื่นๆในภูมิภาคอินโดจีนอีกมากมาย
ภาษาพูดของชาวไทลื้อที่สิบสองปันนายังสื่อสารกับคนไทยได้บ้าง และจะคุยรู้เรื่องกันมากขึ้นหากเป็นคนเหนือหรือคนล้านนา
อาหารเมืองเหนือ(ของไทย)เช่นลาบ ลู่ แบบดิบๆ น้ำพริกหนุ่ม รวมทั้งอาหารพื้นเมืองชนิดอื่นๆ
ก็คืออาหารของชาวไทลื้อที่ทานกันในปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงบนเส้นทาง R3a จากอดีตเมื่อ 5 ปีก่อน
ระหว่างการเดินทางในลาวได้เห็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างชัดเจนก็คือว่าบ้านมุงจากแบบดั่งเดิมเริ่มหายไปจากริมถนน
ขณะเดียวกันก็มีบ้านใหม่ที่มุงด้วยกระเบื้องเข้ามาแทนที หลายหลังกำลังสร้างใหม่
และไม้ที่นำมาสร้างบ้านก็ไปตัดโค่นมาจากในป่า ทำให้การเดินทางครั้งนี้เห็นเขาหัวโล้นเป็นระยะๆ
สำหรับตอนต่อไปเป็นตอนที่เข้าสู่ประเทศจีนแล้วละครับ มาเที่ยวคราวนี้เหมือนมารำลึกความหลังเมื่อ 5 ปีก่อน
หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากโดยเฉพาะเมืองสิบสองปันนา ที่กำลังก่อสร้างโครงการขนาดยักษ์อยู่หลายแห่ง
คิดแล้วก็น่าแปลกใจ ไปเที่ยวจีนไม่ว่าจะเป็นเมืองไหนๆ เห็นแต่โครงการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่เต็มไปหมด