https://www.bbc.com/thai/thailand-44749257ถ้ำหลวง: เปิดปฏิบัติการ กู้ภัย ภายใน 2-3 วัน
ครอบครัวของทีมหมูป่าฯ เดินออกจากถ้ำหลวงช่วงเที่ยงวันที่ 7 ก.ค.
หลังเข้าร่วมพิธีสวดมนต์ตามความเชื่อ โดยหวังให้ทั้ง 13 ชีวิตได้ออกจากถ้ำ
ปฏิบัติการ "ถ้ำหลวง" เดินทางมาถึงจุดที่ "ต้องตัดสินใจ" ก่อนฝนถล่มรอบใหม่ในอีก 3 วันข้างหน้า
หลังได้ "ข้อมูลใหม่" ว่าน้ำมีโอกาสท่วมถึงเนินนมสาวซึ่งเป็นจุดที่ 13 ชีวิตพักคอยอยู่
ภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สายทั้ง 13 ชีวิตออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย
ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายใต้ 2 แผนหลักคือ แผนช่วยเหลือเด็ก ๆ ออกทางหน้าถ้ำ และแผนสำรวจ
และขุดเจาะปล่องภูเขาลึกลงไปถึงเนินนมสาว ซึ่งเป็นจุดที่ทีมหมูป่าพักคอยอยู่ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ขุดเจาะไปนับร้อยโพรง
แต่พบโพรงที่มีศักยภาพ 18 โพรง ทว่าอาจยังไม่ใกล้เคียงกับจุดที่ทั้งหมดพักคอยอยู่
เวลา 11.00 น. นายณรงศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายฯ
แถลงว่า ภายใต้ 2 แผนหลัก มีวิธีการให้เลือกหลากหลาย ซึ่งในการตัดสินใจจะทำให้ดีสุด ปลอดภัยที่สุด
และเหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุด พร้อมย้ำว่า "ไม่เคยมีสถานการณ์การกู้ภัยไหนในโลกที่ยากลำบากขนาดนี้"
และ "สิ่งสำคัญที่สุดคือทักษะการดำน้ำ"
มนุษย์อยู่รอดได้นานที่สุดอย่างไร หากต้องกลั้นหายใจใต้น้ำ ?
ถ้ำหลวง : เจาะถ้ำ ดำน้ำ หรือรอ เสี่ยงต่างกันอย่างไร
ถ้ำหลวง: จดหมายน้อยจากทีมหมูป่า รัก-คิดถึง-สบายดี
"ข้อมูลใหม่" และข้อวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำและผู้ทำวิจัยเรื่องถ้ำที่ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์นำมาเปิดเผยคือ
ในฤดูน้ำหลาก อาจมีน้ำท่วมสูงถึงเนินนมสาวซึ่งเป็นจุดที่เด็ก ๆ ทั้ง 12 คนและโค้ชนั่งพักคอยอยู่
ทำให้เหลือพื้นที่ไม่ถึง 10 ตารางเมตร ดังนั้นทุกคนต้องทำงานแข่งกับเวลา
โดยแบกความคาดหวังไว้ตรงบ่าเหมือนแบกภูเขาก้อนใหญ่เอาไว้
"คิดว่าแผนของเราจะงวดเข้ามาเรื่อย ๆ พอถึงเวลาหนึ่ง เราอาจต้องเข้าไปทำแผนใดแผนหนึ่งที่ต้องสำเร็จ" นายณรงค์ศักดิ์กล่าว
ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ขยายความว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จของแผนนำทีมหมูป่าออกทางปากถ้ำคือระดับน้ำต้องเป็นศูนย์
ซึ่งจะเป็นไปได้ราวเดือน ธ.ค.-ม.ค. ดังนั้นแผนนี้จึง "เป็นไปไม่ได้" ส่วนแผนรอง ๆ ลงไปคือการทำให้น้ำอยู่ในระดับ
ที่สามารถเคลื่อนย้ายกำลังพลต่าง ๆ ได้ ซึ่งขณะนี้น้ำลดลงจนสามารถเดินถึงโถง 3 แต่ถ้าฝนตกลงมาเพิ่ม
ก็ไม่รู้จะเกิดปัจจัยอะไรอีก หลังก่อนหน้านี้แทบเสียหายกับการ "รบกับน้ำ" ที่ไหลมาอย่างรวดเร็วเหมือนสึนามิ
จนเสียฐานที่ตั้งศูนย์อำนวยการร่วมฯ ไป 2 ครั้ง แต่ภารกิจระบายน้ำออกจากถ้ำเป็นไปด้วยดี ทำให้ระดับน้ำอยู่ในสถานการณ์ที่ "น่าพอใจมาก"
ขณะเดียวกัน เด็ก ๆ ก็มีสุขภาพดี คุยรู้เรื่องเฮฮา เล่นกันได้ แต่อาจอ่อนเพลียบ้างเพราะไม่ได้อาหารเต็ม ๆ
ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องประเมินว่ามีความเสี่ยงอื่น ๆ อีกหรือไม่ เพราะขณะนี้สามารถรักษาความเสี่ยงให้อยู่ในระดับหนึ่ง
แต่ถ้าความเสี่ยงไปถึงจุดที่รับไม่ได้ อาจต้องตัดสินใจ แต่ยืนยันว่าทุกคนทำงานอย่างเต็มที่
"พยายามไม่ให้มีความผิดพลาด แต่เรารับปากไม่ได้ คำว่าพยายามคือ
เราต้องทดสอบแล้วทดสอบอีกจนมั่นใจ แผนทุกแผน เราผ่านการทดสอบ"
"สถานการณ์ 2-3 วันนี้ สถานการณ์อากาศและสุขภาพของน้อง ๆ เหมาะสมที่สุด เพราะถ้ารอหลังจากนี้จะมีฝนตก"
ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์กล่าวและย้ำว่า สิ่งที่ทำวันนี้กลั่นกรองจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ปฏิบัติงานนับร้อยคน
ที่ได้พูดคุยและปรับแผนตามสถานการณ์ และค่ำวันนี้ (7 ก.ค.) จะมีชาวต่างประเทศซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ
ด้านการกู้ภัยในถ้ำโดยตรงเดินทางมาถึง
"เราจะเลือกแผนที่ประสบความสำเร็จสุด มีความเสี่ยงน้อยที่สุด แต่ทุกแผนมีความเสี่ยง" เขาย้ำ
ภารกิจวางขวดอากาศภายในถ้ำเป็นสิ่งเร่งด่วนที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.
หลังมีข่าวเรื่องระดับออกซิเจนในถ้ำไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์
ส่วนปัญหาอากาศภายในถ้ำไม่เพียงพอ ผู้ว่าฯ พะเยาอธิบายว่าขึ้นอยู่กับ 2 ตัวแปรคือ
หากระดับออกซิเจนต่ำกว่า 12 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ทำให้สมองช้าและไม่ทำงาน
ส่วนอีกตัวแปรคือระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือด หากมีมากก็จะเป็นพิษในเลือด
สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำได้คือการปั๊มอากาศบริสุทธิ์เข้าไปเพื่อเพิ่มออกซิเจนภายในถ้ำ
นายณรงค์ศักดิ์อธิบายเพิ่มเติมว่า การเข้าถึงบริเวณเนินนมสาวที่ทีมหมูป่าพักคอยอยู่เป็นเรื่องที่ "ยาก"
และ "เหนื่อยมาก" เพราะมีช่วงต้องดำน้ำเข้าไปประมาณ 1 ชม.
"หากส่งทีมเข้าไปมาก เมื่อไปถึงตรงจุดนั้นก็จะหายใจแรง ก็ไปเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วลดออกซิเจนอีก
ดังนั้นเราจะส่งเข้าคนเข้าไปน้อย แต่มี 4 คนที่อยู่ประจำอยู่ตรงที่น้อง ๆ อยู่" นายณรงค์ศักดิ์ระบุ