คติธรรมค ำสอนของหลวงปู่มั่น..
1. ผู้สนใจศึกษาปฏิบัติธรรม
คือ ผู้สนใจหาความรู้ความฉลาด เพื่อคุณงามความดีทั้งหลายที่โลกเขาปรารถนากันเพราะคนเราจะอยู่และไป โดยไม่มีเครื่องป้องกันตัว ย่อมไม่ปลอดภัยต่ออันตรายทั้งภายนอกภายใน เครื่องป้องกันตัว คือ หลักธรรม มีสติปัญญาเป็นอาวุธสำคัญ
จะเป็นเครื่องมั่นคงไม่สะทกสะท้าน มีสติปัญญาแฝงอยู่กันตัวทุกอิริยาบถ จะคิด-พูด-ทำ อะไร ๆ ไม่มีการยกเว้น มีสติปัญญา สอดแทรกอยู่ด้วยทั้งภายในและภายนอก มีความเข้มแข็ง อดทน มีความเพียรที่จะประกอบคุณงามความดี คนอ่อนแอโง่เง่า เต่าตุ่น วุ่นวายอยู่กับอารมณ์ เครื่องผูกพันด้วยความนอนใจ และเกียจคร้านในกิจการที่จะยกตัวให้พ้นภัย
2. การตำหนิติเตียนผู้อื่น
ถึงเขาจะผิดจริงก็เป็นการก่อกวนจิตใจตนเอง ให้ขุ่นมัวไปด้วยความเดือดร้อน วุ่นวายใจที่คิดแต่ตำหนิผู้อื่น จนอยู่ไม่เป็นสุขนั้น นักปราชญ์ถือเป็นความผิดและบาปกรรมไม่มีดีเลย จะเป็นโทษให้ท่านได้สิ่งไม่พึงปรารถนามาทรมานอย่างไม่คาดฝัน การกล่าวโทษผู้อื่นโดยขาดการไตร่ตรอง เป็นการสั่งสมโทษและบาปใส่ตนให้ได้รับความทุกข์ จึงควรสลดสังเวชต่อความผิดของตน งดความเห็นที่เป็นบาปภัยแก่ตนเสีย ความทุกข์เป็นของน่าเกลียดน่ากลัว แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ทำไมพอใจสร้างขึ้นเอง เมื่อเกิดมาอาภัพชาติแล้ว อย่าให้ใจอาภัพอีก ผู้เกิดมาชาตินี้อาภัพแล้ว อย่าให้ใจอาภัพ คิดแต่ผลิตโทษทำบาปอกุศลเผาผลาญตน ให้ได้ทุกข์เป็นบาปกรรมอีกเลย คนชั่ว ทำชั่วได้ง่าย และติดใจไม่ยอมลดละแก้ไขให้ดี คนดี ทำดีง่าย และติดใจกลายเป็นคนรักธรรมตลอดไป
3. เราต้องการของดี คนดีก็จำต้องฝึก
ฝึกจนดี จะพ้นการฝึกไปไม่ได้ งานอะไรก็ต้องฝึกทั้งนั้น ฝึกงาน ฝึกคน ฝึกสัตว์ ฝึกตน ฝึกใจ นอกจากตายแล้ว จึงหมดการฝึก คำว่า ดี จะเป็นสมบัติของผู้ฝึกดีแล้วแน่นอน
4. ผู้เห็นคุณค่าของตัว จึงควรเห็นคุณค่าของผู้อื่น
ว่ามีความรู้สึกเช่นเดียวกัน ไม่เบียดเบียนทำลายกัน ผู้มีศิลสัตย์ เมื่อทำลายขันธ์ไปในสุคติในโลกสวรรค์ ไม่ตกต่ำ เพราะอำนาจศึลคุ้มครองรักษาและสนับสนุน
จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะพากันรักษาให้บริบูรณ์ ธรรมสั่งสอนแล้ว ควรจดจำให้ดี ปฏิบัติให้มั่นคง จะเป็นผู้ทรงคุณสมบัติทุกอย่างแน่นอน
5. ศีลนั้นอยู่ที่ไหน มีตัวตนเป็นอย่างไร
ใครเป็นผู้รักษาแล้วก็รู้ว่า ผู้นั้นเป็นตัวศีล ศีลก็อยู่ที่ตนนั้น เจตนาเป็นตัวศีล เจตนา คือ จิตใจ คนเราถ้าจิตใจไม่มี ก็ไม่เรียกว่า คน มีแต่กายจะทำอะไรได้ ร่างกายกับจิตต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อจิตไม่เป็นศีล กายก็ประพฤติไปต่าง ๆ มีโทษต่าง ๆ
ผู้มีศีลแล้วไม่มีโทษ จะเป็นปกติแนบเนียนไม่หวั่นไหว ไม่มีเรื่อง หลงหา หลงขอ คนที่หา คนที่ขอ ต้องเป็นทุกข์ ขอเท่าไหร่ยิ่งไม่มี ยิ่งอดอยากยากเข็ญ กายกับจิต เราได้มาแล้ว มีอยู่แล้ว ได้มาจากบิดา มารดา พร้อมบริบูรณ์แล้ว จะทำให้เป็นศีลก็รีบทำ ศีลมีอยู่ที่เรานี้แล้ว รักษาได้ไม่มีกาล ได้ผลไม่มีกาล ผู้มีศีล ย่อมเป็นผู้องอาจกล้าหาญ ผู้มีศีลย่อมมีความสุข ผู้จักมั่นคง บริบูรณ์-สมบูรณ์ ไม่อด-ไม่อยาก ไม่ยาก-ไม่จน ก็เพราะรักษาศีลได้สมบูรณ์ จิตดวงเดียว เป็นศีล-เป็นสมาธิ-เป็นปัญญา ผู้มีศีลแท้เป็นผู้หมดเวร-หมดภัย
(คัดลอกจากหนังสือเคล็ดปฏิบัติสมาธิ "หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ") ..