http://shows.voicetv.co.th/voice-news/99565.html
ย้อนรอยแอร์ฟรานซ์ ปริศนาเครื่องบินหายกลางทะเลอุบัติเหตุปริศนาที่เครื่องบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์หายสาบสูญกลางทะเล
ไม่ใช่กรณีแรกในประวัติศาสตร์การบินนานาชาติ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
เครื่องบินของสายการบินแอร์ฟรานซ์ ก็ประสบชะตาเดียวกัน
และต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี กว่าจะไขปริศนาการหายไปของเครื่องบินได้สำเร็จ
เราจะย้อนกลับไปดูอุบัติเหตุครั้งนั้น
ปริศนาเครื่องบินหาย อาจจะดูเหมือนเป็นแค่เรื่องลึกลับสยองขวัญในภาพยนตร์
ที่เครื่องบินหลุดไปสู่มิติที่ 4 ผ่านสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา
แต่เหตุการณ์เครื่องบินโบอิง 777 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์
หายสาบสูญไปกลางทะเลพร้อมกับอีก 239 ชีวิต
ระหว่างการเดินทางจากกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย ไปยังกรุงปักกิ่งของจีน
กลายเป็นเหตุสะเทือนขวัญที่ทำให้คนทั่วโลกตระหนักว่า
ปรากฏการณ์เครื่องบินหายในความเป็นจริงนั้น น่าเศร้ายิ่งกว่าในภาพยนตร์หลายเท่า
เนื่องจากสิ่งที่เกือบจะแน่นอนว่าต้องหายไปพร้อมกับเครื่องบิน
ก็คือชีวิตของลูกเรือและผู้โดยสารทั้งหมด ที่ยากจะเหลือรอด
โดยเฉพาะเมื่อเครื่องขาดการติดต่อไปนานเกิน 72 ชั่วโมง
ซึ่งเป็นเส้นตายที่คนที่เหลือรอดจากเครื่องบินตกและลอยคออยู่กลางทะเล จะมีชีวิตอยู่ได้
เหตุเครื่องบินหายกลางทะเลเช่นนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดครั้งแรก
แต่เคยเกิดมาแล้วกับสายการบินชื่อดังอย่างแอร์ฟรานซ์
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนปี 2009 เครื่องบินแอร์บัส เอ 330
พร้อมด้วยผู้โดยสารและลูกเรือรวม 228 ชีวิต เดินทางจากริโอเดอจาเนโรของบราซิล
มุ่งหน้าไปกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่กลับสูญหายไปจากจอเรดาร์
ในระหว่างอยู่กลางมหาสมุทรแอตแลนติก นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ที่เครื่องบินเจ็ทขนาดใหญ่สูญหายอย่างไร้ร่องรอยโดยไม่ทราบสาเหตุ
สายการบินแอร์ฟรานซ์ใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมงกว่าจะพบว่าเครื่องบินลำดังกล่าวสูญหายไป
และการค้นหาก็ดำเนินไปนานหลายวันโดยไม่มีการค้นพบซากเครื่องบินหรือร่างของผู้เสียชีวิต
แถมยังเป็นการสุ่มหาในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่
เนื่องจากไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเครื่องบินตกลงตรงพิกัดใดกันแน่
ทีมค้นหาซึ่งประกอบด้วยกองทัพเรือสหรัฐฯ ฝรั่งเศส สเปน และบราซิล
จำนวนนับพันนาย ใช้เวลาถึง 6 วันจึงพบร่างของผู้เสียชีวิต 2 รายแรก
ผูกติดอยู่กับพนักเก้าอี้เครื่องบิน หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการพบชิ้นส่วนต่างๆของเครื่องบิน
และศพในบริเวณรัศมีห่างกันถึง 50 ไมล์ ทีมค้นหายุติการทำงานในวันที่ 26 มิถุนายน
เมื่อพบศพ 50 ศพ และชิ้นส่วนเครื่องบินกว่า 640 ชิ้น
อย่างไรก็ตาม ทางการฝรั่งเศสยังคงเดินหน้าค้นหาซากเครื่องบินต่อไป
เนื่องจากยังไม่พบกล่องดำ หัวใจสำคัญที่จะไขปริศนาเครื่องบินตกในครั้งนี้
การค้นหาดำเนินไปนานถึง 23 เดือน จึงพบซากเครื่องบินติดอยู่ใต้หุบเขา
กลางมหาสมุทรแอตแลนติกลึกถึงเกือบ 4,000 เมตร โดยพบกล่องดำ
และร่างของผู้เสียชีวิตอีก 104 รายติดอยู่กับห้องโดยสาร
แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่พบร่างของผู้เสียชีวิตอีกถึง 74 ราย
กล่องดำที่กู้จากซากเครื่องบิน ช่วยคลี่คลายปริศนาการหายไปของเครื่องบินแอร์ฟรานซ์ลำนี้
โดยพบว่าเครื่องบินบินฝ่าพายุ จนเครื่องจับความเร็วเครื่องบินเป็นน้ำแข็ง
และบอกความเร็วคลาดเคลื่อน เป็นเหตุให้ออโตไพล็อตไม่ทำงาน
และกัปตันก็เกิดความสับสน บังคับเครื่องผิดพลาด นำเครื่องออกนอกเส้นทาง
และบินช้ากว่าปกติจนไม่สามารถประคองตัวในอากาศได้ นำไปสู่การร่วงลงกลางทะเลในที่สุด
ส่วนสาเหตุที่เครื่องบินหายไปอย่างไร้ร่องรอย
เป็นเพราะเครื่องแล่นลงสู่พื้นน้ำโดยท้องเครื่องกระแทกน้ำ
และจมลงสู่ก้นทะเลอย่างรวดเร็วทั้งลำ
ซากที่หลุดจากการตกกระแทกจึงเป็นเพียงเศษเล็กๆที่ตรวจหาได้ยาก
นอกจากนี้บริเวณที่เครื่องบินตกยังอยู่กลางทะเลลึก 2,000-3,000 เมตร
และห่างไกลจากฝั่ง ต้องแล่นเรือออกจากชายฝั่งบราซิลถึง 2 วันกว่าจะถึงจุดตก
การค้นหาและเก็บกู้ซากจึงทำได้ยากลำบากและล่าช้า
บทเรียนจากโศกนาฏกรรมแอร์ฟรานซ์ ไม่เพียงเป็นการบอกใบ้ว่า
การค้นหาซากเครื่องบินและสรุปสาเหตุการสูญหายของเครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์
อาาจต้องใช้เวลานานนับปีเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งคำถามที่ว่าการค้นหาที่ใช้ทรัพยากรคน
และเงินมหาศาลนานนับปีเช่นนี้ จะตกเป็นหน้าที่ของชาติใด
ในกรณีของแอร์ฟรานซ์ ฝรั่งเศสเป็นทั้งชาติเจ้าของเครื่องบิน
และยังมีผู้โดยสารอยู่ในเครื่องมากเป็นอันดับต้นๆ แถมยังเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีทางเรือและอากาศ
จึงไม่มีปัญหาในการรับเป็นเจ้าภาพค้นหาและติดตามกู้ซากเครื่องบิน
แต่ในกรณีของมาเลเซียแอร์ไลน์ มาเลเซียและจีน
ซึ่งเป็นชาติที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์มากที่สุด
ในฐานะเจ้าของสายการบินและประเทศที่มีผู้โดยสารบนเครื่องมากที่สุด
ยังไม่มีทีท่าว่าใครจะรับภาระหนักหน่วงยืดเยื้อของการไขปริศนาเครื่องบินหายในครั้งนี้
10 มีนาคม 2557 เวลา 17:22 น.