รัฐธรรมนูญป้องภาษี เป็นได้..เลือกตั้ง ส.ว. [3 ก.พ. 50 - 18:31]
เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเกือบ 75 ปี...แต่ประชาธิปไตยไทยไปไม่ถึงไหน
ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏจักรเดิมๆ...ร่างรัฐธรรมนูญใหม่-เลือกตั้ง-นักการเมืองขี้ฉ้อ-ชุมนุมประท้วงขับไล่-ปฏิวัติฉีกรัฐธรรมนูญ วนกลับมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่
และแทบทุกครั้งที่เกิดเหตุอย่างนี้...ประเด็นที่ถกเถียงกันไม่จบสิ้น ทำยังไงเราถึงจะได้นักการเมือง ส.ส. ส.ว. มีคุณภาพ จะให้มาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกันดี
ร่างรัฐธรรมนูญกันมาไม่รู้กี่ฉบับ ผ่านมาไม่รู้กี่สิบปี...ยังพูดเถียงเรื่องเดิมๆ
ทั้งที่สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ปลายเหตุ...ปัญหาที่ต้นเหตุ วิธีการที่ทำให้ได้คนดีมีคุณภาพเข้าสู่แวดวงการเมืองได้ กลับไม่กล้าพูดฟันธงให้ตรงประเด็น
เพราะหลักการที่ปฏิเสธไม่ได้ หนีไม่พ้น...หนทางได้อำนาจการเมืองปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยแบบทั่วโลก และคนไทยด้วยกันเองยอมรับอย่างสมานฉันท์
หนทางนั้น มีอยู่ประตูเดียว...เลือกตั้ง...วิธีอื่นไม่ต้องไปพูดถึง
ตรงนี้ต่างหาก...เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไข
ทำยังไงการเลือกตั้งจะได้มีคุณภาพ ได้คนมีคุณภาพเพื่อประชาธิปไตยจะได้เลิกวนเวียนอยู่ในวงจรแบบเดิมๆซะที
การเลือกตั้งที่จะให้ผลเช่นนั้น...ผู้ใช้สิทธิต้องมีคุณภาพเหมือนกัน
นี่คือความจริง และเป็นหลักการง่ายๆที่คนไทยบางส่วนไม่กล้ายอมรับ
ถึงวันนี้เรากล้ายอมรับความจริง รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ถูกฉีก ถูกรื้อ... เราให้สิทธิเลือกตั้งพร่ำเพรื่อ และให้สิทธิแบบไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของการเมืองไทย
เป็นที่รู้กัน...เป้าหมายหลักของนักการเมืองผู้อ้างตัว ขออาสาเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนในสภา ไม่ได้มีเจตนาเข้ามาทำหน้าที่นิติบัญญัติ ออกกฎหมายตามหลักการแต่อย่างใด
แต่ตั้งใจเข้ามาเป็นรัฐบาล เป็นรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี เพื่อจะได้มีอำนาจในการเอาเงินภาษีมาใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์กับพวกตัวเอง
ธรรมชาติความจริงของการเมืองเป็นเช่นนี้... แทนที่การกำหนดกติกาให้ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามสัดส่วนการเสียภาษี พื้นที่ไหนเสียภาษีมาก มีสิทธิมีตัวแทนเข้าไปปกป้อง ดูแลเงินภาษีในสภาได้มาก
แต่รัฐธรรมนูญทุกฉบับ ไม่ได้นำสิ่งเหล่านี้มาใช้ให้สมเหตุสมผลและชอบธรรม... กลับให้สิทธิในแบบพื้นที่ไหนมีประชากรมาก ที่นั่นมีตัวแทนได้มาก
ประชาธิปไตยเลยมีปัญหาล้มลุกคลุกคลานมาตลอด
เลยคิดแก้ปัญหาแบบง่ายๆ ลดจำนวน ส.ส. หรือให้มี ส.ว. แต่งตั้งมาถ่วงดุล...ทั้งที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย
แม้กฎกติกาให้สิทธิเลือกตัวแทนตามสัดส่วนการเสียภาษี จะเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจก็ตาม แต่มีคำถามว่า มีหลักประกันอะไร ใช้กติกา แบบนี้แล้วจะทำให้การเลือกตั้งมีคุณภาพมากขึ้น ปัญหาเดิมๆจะหมดไป?
พิสูจน์ได้จากการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ที่ศาลสั่งให้เป็นโมฆะมาเปรียบเทียบกับรายงานผลการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร
พอจะเห็นภาพ...คุณภาพการเลือกตั้งเป็นอย่างไร
เลือกตั้งครั้งนั้นแทบจะเรียกได้ว่า พรรคไทยรักไทย...ลงสมัครพรรคเดียว
ผลการลงคะแนนเลยออกมาเป็นแบบ...รู้ทัน กับรู้ไม่ทันทักษิณ
รู้ทัน...ลงคะแนนโนโหวต หรือไม่ประสงค์ลงคะแนน...รู้ไม่ทัน เลือกไทยรักไทย
ได้ผลออกมาว่า กทม. ซึ่งมี ส.ส.ได้ 36 เขตเลือกตั้ง...มีคะแนนโนโหวตชนะมากถึง 27 เขต และถ้าเอาคะแนนบัตรเสียที่มีมากล้น แบบผิดสังเกตมารวมด้วย
จะทำให้การเลือกตั้งใน กทม. มีคนรู้ทัน ไม่เลือก ส.ส.ไทยรักไทยมากถึง 29 เขตเลือกตั้ง หรือ 80%
สอดคล้องกับรายงานการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร ปี 2548... สำนักงานสรรพากรทั้ง 12 ภาค เก็บภาษีได้ทั้งสิ้น 7.94 แสนล้านบาท
พื้นที่ กทม. สำนักงานสรรพากรภาค 1-3 เก็บได้ 4.73 แสนล้านบาท หรือ 59.7%...เป็นจังหวัดที่เก็บภาษีได้สูงที่สุดในประเทศ
พื้นที่มีประชากรเสียภาษีสูงสุด...รู้ทันและไม่เลือกมากที่สุด
พื้นที่เก็บภาษีได้รองลงมา สำนักงานสรรพากรภาค 6 อันประกอบด้วย 9 จังหวัดภาคตะวันออก...จันทบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ตราด, นครนายก, ปราจีนบุรี, ระยอง, สระแก้ว และสมุทรปราการ เก็บภาษีได้ในสัดส่วน 21.9%
พื้นที่นี้มี ส.ส.ได้ 35 เขตเลือกตั้ง...คะแนนโนโหวตชนะ 11 เขต และถ้าเอาบัตรเสียมารวมด้วย จะทำให้มีคนไม่เลือก เพราะรู้ทันถึง 19 เขตเลือกตั้ง หรือ 54%
ถ้าคัดมาเฉพาะ 3 จังหวัดที่มีเศรษฐกิจดี เสียภาษีสูงอย่างจันทบุรี, ชลบุรี, ระยอง ที่มี ส.ส.ได้ 14 เขตเลือกตั้ง
โนโหวตชนะ 10 เขต...ถ้ารวมบัตรเสียด้วย จะมีคนรู้ทันทุกเขตเลือกตั้งเลยทีเดียว
ในทางกลับกันพื้นที่เสียภาษีน้อย...16 จังหวัดภาคเหนือ สรรพากรเก็บภาษีได้แค่ 2%...19 จังหวัดภาคอีสาน สรรพากรเก็บได้แค่ 1.9%
ผลการลงคะแนน...ไทยรักไทยชนะขาดลอย
ส่วนภาคใต้ 14 จังหวัด สรรพากรเก็บได้ 2.4% ไม่ขอพูดถึง เพราะเป็นกรณีพิเศษ ที่นำมาเปรียบเทียบไม่ได้
ทุกอย่างเห็นชัด...พื้นที่เสียภาษีมาก รู้ทันมาก
การให้สิทธิเลือกตั้งตามสัดส่วนการเสียภาษี...การเลือกตั้งจะมีคุณภาพมากขึ้น
โดยทฤษฎีแล้ว กฎกติกาการเลือกตั้งแบบนี้น่าจะเหมาะกับการเมืองไทย แต่ในทางปฏิบัติ รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ภาคีสมาชิกสาขารัฐศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสถาน ให้ข้อคิด...
คงนำมาใช้กับการเลือกตั้ง ส.ส.ของบ้านเราไม่ได้
ไม่ใช่ไม่ดี แต่เหตุผลมาจากการเลือกตั้ง ส.ส.ของบ้านเรา ใช้กฎกติกาเงื่อนไขให้สิทธิแบบเดิมมานานมาก จนเป็นวัฒนธรรมประเพณีของการเลือกตั้ง ส.ส.ไปแล้ว
เราให้สิทธินี้กับชาวบ้านไปแล้ว จะเอาสิทธินั้นกลับคืนมาไม่ใช่เรื่องง่าย เหมือนอย่างที่เขาพูดกันว่า ของอะไรที่ให้เขาไป จะมาขอเอาคืนทีหลังชาวบ้านคงไม่ยอม
แต่ก็ยังพอมีหนทางแก้ไข...ใช้กฎกติกาคิดตามสัดส่วนการเสียภาษี ส.ว.แทน
เพราะการเลือกตั้ง ส.ว. เป็นของใหม่ ที่คนไทยยังไม่คุ้นเคย และการเลือกตั้ง ส.ว.ก็ยังดีกว่าการแต่งตั้ง
ใช้กฎกติกาพื้นที่ไหนเสียภาษีมาก มี ส.ว.ได้มาก สามารถแก้ ข้อครหา สภาผัวเมียได้
สังเกตได้สภาผัวเมีย...มักจะเกิดในพื้นที่เสียภาษีน้อย
การเลือกตั้งด้วยเงื่อนไขนี้ ยังสามารถแก้ปัญหาเรื่องการให้ ส.ว. สรรหาแต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระได้อีกด้วย เพราะสภาผัวเมียไม่ได้เกิด และ ส.ว.ด้อยคุณภาพมีน้อยลง
และเพื่อให้สมเหตุสมผลมากขึ้น ควรเพิ่มอำนาจในการปกป้อง คุ้มครองดูแลเงินภาษีให้กับ ส.ว.ชุดใหม่...รัฐบาลจะเอางบประมาณไปใช้จ่ายทำอะไร ต้องขออนุมัติจากวุฒิสภา ไม่ใช่จากสภาผู้แทนฯเหมือนที่ผ่านมา
เนื่องจาก ส.ว.ชุดใหม่ มาจากรากฐานยึดโยงเป็นตัวแทนของผู้เสียภาษี ซึ่งเป็นเจ้าของเงินที่นักการเมืองจ้องจะไปถลุงใช้จ่าย
ส่วนภาระหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายไม่จำเป็นต้องมี...คืนให้ ส.ส.
จะรับไหมล่ะท่าน...เมื่ออำนาจหอมหวาน ดึงเงินภาษีมาถลุงหลุดลอยไป.
http://www.thairath.co.th/news.php?section=hotnews02&content=35583