พระร่วงหลังรางปืน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุโขทัย
พระร่วงหลังรางปืน หนึ่งในห้าอันดับยอดเยี่ยมชุดเบญจภาคียอดขุนพลเนื้อชิน แตกกรุออกมาประมาณไม่น้อยกว่า 48 ปี จากกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย บริเวณหน้าพระปรางค์องค์ใหญ่ พบพระจำนวนไม่น้อยกว่า 200 องค์ แต่ชำรุดไปเสียกว่าครึ่ง
พระร่วงหลังรางปืนเป็นศิลปะเขมรยุคบายน มีพุทธลักษณะเป็นพระยืนปางประทานพรอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ยอดซุ้มเป็นลายกนกแบบซุ้มกระจังเรือนแก้ว ด้านหลังมีลักษณะพิเศษคือ มีร่องกดลึกลงไปเป็นแนวยาวตลอดองค์พระ สมัยก่อนมักเรียกว่า "หลังกาบหมาก" ต่อมาได้ปรากฏพุทธคุณทางแคล้วคลาดจากภยันตรายในเรื่องปืน อีกทั้งร่องกาบหมากด้านหลังนั้นมีลักษณะคล้ายร่องปืนแก๊ป จึงเรียกกันต่อๆมาว่า "หลังรางปืน"
พระร่วงหลังรางปืน สร้างด้วยเนื้อตะกั่วเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่เป็นเนื้อชินมีน้อยมากแต่ไม่มีเนื้อดินเลย ผิวขององค์พระจะมีสีแดงเข้ม บางองค์ออกสีลูกหว้า ลักษณะที่น่าสังเกตคือจะมีไขคลุมอีกชั้นหนึ่งและมีมากกว่าพระร่วงกรุอื่นๆ ขาดองค์สูงประมาณ 8 ซม. กว้างประมาณ 2.5 ซม. มีทั้งหมด 5 พิมพ์คือ พิมพ์ใหญ่ฐานสูง พิมพ์ใหญ่ฐานเตี้ย พิมพ์แก้มปะ พิมพ์หน้าหนุ่ม และพิมพ์เล็ก
จากหนังสือเบญจมหามงคล ของ สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไท