Troll vs เกรียน
22 January, 2006
http://isriya.com/column/whatthai/02-trollถ้าใครชมภาพยนตร์อย่างแฮร์รี่ พ็อตเตอร์หรือลอร์ดออฟเดอะริงส์ คงเคยเห็นเจ้า troll กันมาบ้าง troll เป็นสัตว์ประหลาดในเทพนิยายของประเทศแถบสแกนดิเนียเวีย ซึ่งใกล้เคียงกับ ogre ในเทพนิยายอังกฤษหรือยักษ์ของบ้าเรา troll และยักษ์มีบุคลิกคล้ายๆ กัน นั่นคือ ป่าเถื่อนดุร้าย มีพละกำลังมากมาย แต่กลับมีสติปัญญาน้อยนิด
ปัจจุบัน troll มีอีกความหมายหนึ่ง เป็นศัพท์แสลงที่หมายถึงคนที่ก่อความวุ่นวายบนกระดานสาธารณะต่างๆ ซึ่งเป็นอีกปัญหาร้ายแรงของอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันสมัยอินเทอร์เน็ตบูมใหม่ๆ เมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว มีรายงานมากมายที่ศึกษาถึงพฤติกรรมของผู้ใช้ในสังคมเสมือนแห่งนี้ หัวข้อหนึ่งที่ได้รับความสนใจค่อนข้างมากคือความเป็น
anonymity หรือสภาพไร้ตัวตนซึ่งไม่มีในโลกแห่งความเป็นจริง และทำให้ผู้ใช้มีพฤติกรรมในการอยู่ร่วมสังคมกับผู้อื่นเปลี่ยนแปลงไปการ"ล่องหน"บนโลกออนไลน์ทำให้เราสามารถนั่งอ่านเอกสารบนอินเทอร์เน็ตนานเท่าที่ต้องการ ซึ่งถ้าไปยืนอ่านหนังสือฟรีตามร้านต้องโดนพนักงานเขม่นแน่ๆ
สามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ต้องระวังถึงชื่อเสียงและฐานะทางสังคมของตนเอง เหมือนอย่างโลกจริง ซึ่งส่งผลดีทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี (free speech) ในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนแต่ในมุมกลับกัน คนจำนวนมากใช้สภาวะไร้ตัวตนบนอินเทอร์เน็ตไปในทางร้าย เริ่มตั้งแต่ใช้คำหยาบคายในการถกเถียง ให้ร้ายบุคคลอื่น สร้างข่าวลือหรือโฆษณา จนไปถึงการหลอกลวงทรัพย์สินหรือแม้แต่ประทุษร้ายร่างกาย อย่างที่เราเคยเห็นเป็นประจำเสมอมาในโลกออนไลน์การใช้สภาวะไร้ตัวตนในบางเรื่อง เช่น หลอกเอาหมายเลขบัตรเครดิต อาจต้องใช้ความรู้ทางเทคนิคพอสมควร และต้องใช้ความต้องการในการกระทำเรื่องที่ไม่ดีเป็นอย่างมาก ซึ่งคนทั่วไปจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว ไม่ใช่สิ่งที่ชาวอินเทอร์เน็ตธรรมดาจะทำกัน แต่
เรากลับมองข้ามคนจำนวนมากที่ใช้สภาวะล่องหนนี้ในเรื่องใกล้ตัวจนคิดไม่ถึง คือการก่อความวุ่นวายในกระดานสนทนา หรือที่เรียกเข้าใจกันง่ายๆ ว่า การป่วนกระทู้นั่นเอง
การป่วนกระทู้นี่ล่ะครับ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า "Internet Trolling"ผมคิดว่าคุณผู้อ่านคงมีประสบการณ์ในการใช้กระดานสนทนาออนไลน์ ซึ่งบ้านเราเรียกติดปากว่าเว็บบอร์ดกันมาบ้าง และคงเคยผ่านตากับการป่วนกระทู้หรือ trolling มาด้วยเช่นกัน trolling มีได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การถกเถียงในประเด็นที่ความคิดเห็นแตกต่าง การใช้คำหยาบคาย การยุแหย่ให้แตกกัน การเขียนข้อความที่ไม่เกี่ยวข้องทำให้เกิดความรำคาญ เป็นต้นในภายหลังที่อินเทอร์เน็ตพัฒนารูปแบบการใช้งานอย่างอื่นเพิ่มขึ้น troll ก็ยังตามไปในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นเมลลิ่งลิสต์, ห้องสนทนา IRC, เว็บบล็อก, Wiki และเกมออนไลน์
ในบ้านเราที่เกมออนไลน์ได้รับความนิยม ระดับของ troll ดูจะรุนแรงเป็นพิเศษ จนเกิดคำศัพท์แสลงในความหมายแบบเดียวกันคือคำว่า "เกรียน"ผมไม่แน่ใจถึงที่มาของคำว่าเกรียนนัก แต่
คิดว่าเริ่มมาจากพฤติกรรมของเด็กนักเรียนชายที่ยังไม่เกิน ม. ต้น ซึ่งยังมีวุฒิภาวะในการเข้าสังคมต่ำ เมื่อเจอกับสังคมออนไลน์และสภาวะล่องหนทำให้ก่อความวุ่นวายได้ง่าย เด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญของเกมคอมพิวเตอร์ในบ้านเรา ทำให้คำว่า "เกรียน" มีความหมายไปในทาง "ทำอะไรแย่ๆ แบบเด็กหัวเกรียน"ปัจจุบันสำนวนทำนอง "อย่ามาทำเกรียนแถวนี้" เป็นที่เข้าใจกันอย่างแพร่หลายในสังคมอินเทอร์เน็ตของวัยรุ่น โดยเฉพาะเกมออนไลน์และเว็บบล็อก นอกจากนี้ผมสังเกตว่ามันเริ่มลามไปสู่การแสดงความคิดเห็นผ่าน SMS ในโทรทัศน์แล้วด้วย
แรงจูงใจของ troll และ "เกรียน" แบ่งได้เป็นหลายประเภทมาก แต่จุดมุ่งหมายหลักคือทำเพื่อเรียกร้องความสนใจนั่นเอง แรงจูงใจอื่นๆ อาจเป็นเรื่องความโกรธแค้นบุคคลบางกลุ่ม การสนับสนุนสิ่งที่ตัวเองเชื่ออย่างไม่ลืมหูลืมตา การโฆษณาตัวเอง หรือแค่เอามันก็มีเยอะเช่นกันตัวอย่างหัวข้อที่ก่อให้เกิด troll มักเป็นเรื่องที่มีมุมมองแบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน ในภาษาอังกฤษมีศัพท์เรียกการถกเถียงแบบนี้ว่า "flame war" ได้แก่เรื่องการเมือง (ไทยรักไทยกับประชาธิปัตย์ หรือเรื่องประธานาธิบดีจอร์จ บุชกับอิรัก) เรื่องฟุตบอล (เชียร์แมนยูกับเชียร์ลิเวอร์พูล) ถ้าเป็นเรื่องคอมพิวเตอร์ก็มักเป็นเรื่องไมโครซอฟท์กับซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ในวงการโอเพนซอร์สเอง ประเด็นว่าเดสก์ท็อปแบบไหนดีกว่ากันระหว่าง KDE กับ GNOME ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างคลาสสิคของ flame war ที่มักจะมี troll มาแจมเสมอ
การป้องกัน troll ก็มีหลายวิธีเช่นกันครับ วิธีง่ายๆ คือการไม่ป้องกันอะไรเลย เปิดให้แสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ แล้วยกให้เป็นหน้าที่ของผู้ดูแลระบบในการลบความคิดเห็นที่มีปัญหาออกไป วิธีนี้เราเห็นกันบ่อยและมีใช้กันทั่วไปในเว็บไซต์ในประเทศไทย เช่น Manager.co.th, Kapook, Sanook หรือ Mthai ข้อดีก็คือผู้ใช้ที่ไม่ได้ก่อการ troll ไม่โดนร่างแหไปด้วย ยังสามารถแสดงความคิดเห็นได้ตามปกติ ไม่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษ ส่วนข้อเสียคือเป็นภาระสำหรับผู้ดูแลเป็นอย่างมาก ในกรณีที่เป็นเว็บไซต์ขนาดใหญ่ที่มีคนแสดงความเห็นเยอะ
วิธีถัดมาคือการใช้ระบบสมาชิกหรือล็อกอิน ส่วนมากเว็บไซต์ที่ใช้ระบบสมาชิกจะยังเปิดให้ผู้ใช้ขาจรเข้าใช้งานเว็บได้อยู่ โดยแลกกับการเสียสิทธิพิเศษบางอย่างที่ให้แก่สมาชิกเท่านั้น เพื่อลดความไม่พอใจของผู้ใช้ที่ไม่ชอบล็อกอิน และกระตุ้นให้สมัครสมาชิกไปพร้อมกัน วิธีนี้สามารถกัน troll พวกไม่ลงชื่อ หรือพวกโฆษณาได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถป้องกันผู้ใช้ล็อกอินที่บางครั้งทำตัวเป็น troll (แต่บางครั้งทำตัวดีตามปกติ) ได้เนื่องจากมาตรการตอบโต้รุนแรงที่สุดก็แค่การลบสมาชิกเท่านั้น ผู้ใช้ที่สร้างปัญหายังสามารถปลอมตัวเข้าสมัครสมาชิกใหม่ได้ง่ายกรณีศึกษาที่น่าสนใจเป็นของ Pantip.com ซึ่งเป็นเว็บบอร์ดที่มีผู้ใช้มากที่สุดในประเทศไทย Pantip.com ใช้ระบบสมาชิกคู่ไปกับบุคคลทั่วไปเช่นเดียวกับเว็บไซต์อื่นๆ แต่ต่างออกไปตรงการสมัครสมาชิกนั้น ใช้การยืนยันตัวบุคคลที่เข้มงวด ถึงขนาดต้องใช้รหัสประจำตัวประชาชนเลยทีเดียว นี่เป็นการป้องกัน troll อย่างมีประสิทธิภาพเพราะถ้าเกิดว่าสมาชิกนั้นสร้างปัญหาขึ้นมา Pantip.com มีช่องทางสามารถสีบสาวไปยังตัวจริงของบุคคลนั้นได้ วิธีนี้จะเหมือนกับการเล่นเกมออนไลน์ที่ต้องใช้บัตรประชาชนการสมัครสมาชิกที่ยุ่งยากของ Pantip.com ทำให้ผู้ใช้จำนวนมากเลือกที่จะไม่สมัครสมาชิก ซึ่งมีผลเสียต่อยอดผู้ใช้รวมของเว็บไซต์ แต่เมื่อเทียบกับผลดีที่ได้จากการป้องกัน troll และปัญหาอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ทีมงาน Pantip.com เลือกที่จะลดปัญหามากกว่าเพิ่มสมาชิก ซึ่งจุดนี้เป็นเรื่องของเว็บมาสเตอร์ของแต่ละเว็บเองที่จะต้องชั่งน้ำหนักและตัดสินใจวิธีต่อต้านคอมเมนต์ไม่มีประโยชน์ ยังพัฒนาต่อไปอีกขั้นครับ สองวิธีแรกที่ผมเขียนถึงไป ไม่ว่าจะลบความเห็นหรือไล่จับสมาชิก ยังไงภาระหนักจะไปตกอยู่ที่ผู้ดูแลอยู่ดี
วิธีใหม่นี้มีแนวคิดให้ผู้ใช้ช่วยดูแลคอมเมนต์กันเอง โดยเพิ่มระบบ "คะแนน" วัดคุณภาพของความเห็นนั้นเข้ามา ถ้าอันไหนมีประโยชน์ก็เพิ่มคะแนนเสีย ความเห็นไหนแย่ก็ลดคะแนนลงเรื่อยๆ ซึ่งผู้ใช้ปกติที่เข้ามาอ่านกระทู้นั้นสามารถเลือกอ่านความเห็นตามระดับคะแนนได้ ซึ่งเป็นการจูงใจให้ผู้ใช้ตอบความคิดเห็นที่มีประโยชน์ (หรือย่างน้อยก็ไม่ troll) เพื่อให้ความเห็นของตัวเองมีระดับคะแนนสูงพอให้คนอื่นเห็นได้
หลายคนอาจสงสัยว่าระบบนี้สามารถกลั่นแกล้งกันได้ เช่น ลดคะแนนความเห็นของผู้ใช้ที่ตัวเองไม่ชอบ ระบบนี้ใช้หลักการเดียวกับ Wikipedia ครับ คือ อะไรที่สังคมส่วนใหญ่เห็นชอบ มันจะยังคงอยู่ต่อไป สมมติว่ามีคนมาลดคะแนนความเห็นของผู้ใช้บางราย ถ้าความเห็นนั้นมีประโยชน์จริง มีความเป็นไปได้มากกว่าที่ผู้ใช้คนอื่นๆ มาเพิ่มคะแนนกลับคืนให้ความเห็นนั้น
ระบบการดูแลกันเองแบบนี้เรียกว่า Comment Moderation ซึ่งผ่านการพิสูจน์มาแล้วจากการใช้ใน Slashdot เว็บไซต์ชุมชนเซียนคอมอันดับหนึ่ง (Slashdot มีความเห็นเฉลี่ยประมาณ 300-400 ความเห็นต่อข่าว) แต่ในบ้านเรายังไม่ค่อยเห็นระบบนี้มากนัก
ถึงแม้ว่าระบบการป้องกัน troll จะพัฒนาไปขนาดไหน แต่นั่นก็เป็นเรื่องของเทคโนโลยี ในขณะที่ปัญหาที่แท้จริงของ troll นั้นมาจากคน ถ้าตัวผู้ใช้เองมีจิตสำนึกที่ดีในการแสดงความคิดเห็นและใช้งานอินเทอร์เน็ตแล้ว ปัญหาเรื่อง troll ก็จะลดลงไปเอง ดังนั้นควรคิดให้รอบคอบก่อนโพสต์ทุกครั้ง ว่าสิ่งที่เราโพสต์ลงไปนี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อใครหรือเปล่า