ด้วยความเคารพ.............
เรื่องนี้ถ้าตีความว่า ถ้ายิงป้องกันตัวโดยชอบ เกิดลูกหลงไปโดนใครก็ไม่เป็นไร............เดี๋ยวจะไปกันใหญ่
ผมคิดว่าที่ศาลฎีกาท่านให้พ้นผิดนั้น เป็นการไม่เอาผิดในคดีอาญาเฉพาะในประเด็นของเจตนาทำร้าย
ผมคิดว่าความรับผิดในฐานละเมิด และการต้องชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง ยังคงต้องมีอยู่ เป็นเรื่องที่ต้องแยกฟ้องต่างหากไป
ขอท่านจขกท.และท่านผู้รู้ ช่วยสอบค้นเป็นวิทยาทานด้วย
ผมไม่คิดว่า การอ้างเหตุป้องกันตัว ...... จะทำให้สามารถก้าวล่วงไปรอนสิทธิทั้งสิ้นในชีวิตร่างกายทรัพย์สินผู้บริสุทธิคนอื่นๆครับ....
ความจริงกฎหมายเรื่องละเมิดจะมีอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๔๒๐ ถึง มาตรา ๔๕๒
ในมาตรา ๔๒๐ วางหลักบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น
โดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี
ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
เพื่อการนั้น
ในเรื่องข้อแก้ตัวสำหรับความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง เมื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด
บุคคลหนึ่งถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทน บุคคลนั้นอาจแก้ตัวได้ ดังต่อไปนี้ ๑. แก้ตัวว่า .. การกระทำของตน ไม่เป็นละเมิด ตาม มาตรา ๔๒๐ ดังกล่าว
เช่น นาย ก. ฟ้องว่า นาย ข . เป็นนายจ้าง ต้องร่วมรับผิดกับ นาย ค. ลูกจ้าง
ที่ขับรถประมาทไปชน นาย ก. ได้รับ บาดเจ็บด้วย
แล้วทั้งนาย ข. และ นาย ค. ต่อสู้ว่า นาย ค. ไม่ได้ขับรถประมาท แต่นาย ก.
มาตัดหน้าเอง เป็นเหตุสุดวิสัยที่จะห้ามหยุดรถได้ทัน จึงชนกันขึ้น
๒. พิสูจน์เงื่อนไขตามกฎหมาย เช่น นาย ก. ฟ้อง นาย ข. ว่าเป็นบิดามารดา
ของนาย ค. ผู้เยาว์ ที่นาย ค.มาทำละเมิด ให้ร่วมรับผิด แต่นาย ข.แก้ตัวว่า
ตนได้ใช้ความระมัดระวังตามหน้าที่ที่ดูแลแล้ว ไม่ต้องรับผิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและ
พาณิชย์ มาตรา ๔๒๙
๓. เรื่องอายุความ ว่าคดีที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายนี้ มันขาดอายุความตามกฎหมายละเมิดแล้ว
๔. เรื่องความยินยอมของผู้เสียหาย โดยสู้ว่าเมื่อผู้เสียหายยินยอมให้กระทำ
ก็ไม่เป็นละเมิด
๕.
นิรโทษกรรม ซึ่งมีอยู่ในกฎหมายเรื่องละเมิด มาตรา ๔๔๙
มาตรา ๔๔๙ บัญญัติว่า บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบ
ด้วยกฎหมายก็ดี กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หากก่อให้เกิดความเสียหาย
แก่ผู้อื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทน จากผู้เป็นต้นเหตุ
ให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือจากบุคคลผู้ให้คำสั่งโดยละเมิดนั้นก็ได้
ครับหลักกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ คุ้มครอง ผู้กระทำผิดทางอาญา
ที่เป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายไว้ครับ ทำให้ไม่ต้องรับผิด
แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็คำนึงถึงผู้บริสุทธิ์ ที่อาจจะต้องพลาด
ไปโดนลูกหลงด้วยเพราะเหตุป้องกันดังกล่าว จึงได้หาทางออกไว้ตาม วรรค ๒
ของ มาตรา ๔๔๙ ว่า คนบริสุทธิ์ที่ถูกลูกหลงพลาดไปโดน ก็ไปเรียกค่าเสียหาย
เอาจากตัวต้นเหตุได้ หากตัวต้นเหตุตาย ก็ฟ้องเรียกจากทายาทของตัวต้นเหตุ
เหล่านั้นได้ครับ
แต่ทั้งนี้ จะต้องได้ความว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายที่พอสมควร
แก่เหตุ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ เท่านั้นนะครับ
หากเป็นการป้องกันที่เกินกว่าเหตุตาม มาตรา ๖๙ แล้วก็ยังต้องรับผิด
ในค่าสินไหมทดแทนอยู่.. . .. .
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๘๔ / ๒๕๓๘ ผู้ตายเจาะกำแพงอิฐบล็อก
แล้วมุดเข้าไปในโรงงานเพื่อลักทรัพย์ของจำเลย แต่ผู้ตายเหยียบแผ่นไม้สี่เหลี่ยม
ที่มีกระแสไฟฟ้าผ่านเส้นลวดที่จำเลยเจ้าของโรงงานวางดักป้องกันขโมยไว้จนถูก
ไฟฟ้าช็อตถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
ย่อมได้รับนิรโทษกรรม ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์มารดา
ของผู้ตายที่มาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ มาตรา ๔๔๙ วรรคหนึ่ง