ด้วยความเคารพครับ
ไม่รู้ว่าจะช่วยได้มากแค่ใหนเห็นลงข่าวเอาไว้
http://www.komchadluek.net/2006/06/mili/u001_15586.php?news_id=15586ทบ.เตรียมจัดกำลัง 5 กองพัน! ลงใต้คุ้มครองครู-สกัดเหตุร้าย
ทบ.เตรียมส่งกำลัง 5 กองพัน ลง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ต.ค.นี้ ด้านแม่ทัพภาค 4 เตรียมจัดรถบรรทุกกว่า 50 คัน ขนนักเรียนไปเรียนพื้นที่ปลอดภัย ทหารเราไม่ใช่รับแต่ชอบ แต่ไม่รับผิด ฉะนั้น การที่ พล.ท.องค์กร ออกมาแสดงความรับผิดชอบ ก็ถือเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว
จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญและสร้างความเศร้าสลดใจไปทั่วประเทศ เมื่อ น.ส.จูหลิง ปงกันมูล และ น.ส.สิรินาถ ถาวรสุข ครูสาวโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ถูกกลุ่มคนร้ายทั้งชายและหญิงจำนวนมาก รุมกระหน่ำตีอย่างโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ กระทั่ง น.ส.จูหลิง ได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่รัฐเสื่อมทรามลงอีกครั้ง จากนั้นภาครัฐจึงเร่งออกมาตรการ "ล้อมคอก" ออกมา 4 ข้อ คือ
1.ให้มีการหารือร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องครูและนักเรียนในพื้นที่
2.ให้แม่ทัพภาคที่ 4 ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด ครู และตำรวจในพื้นที่ จัดวางกำลังเพื่อให้เกิดความมั่นใจ
3.ปรับปรุงเรื่องการข่าว
4.เข้าไปพัฒนาหมู่บ้าน โดยเพิ่มงานด้าน "จิตวิทยามวลชน" เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ขึ้นอีก เพราะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีกองกำลังที่ถูกล้างสมองอีกจำนวนมาก และอาจจะลุกขึ้นมาก่อเหตุได้ทุกวินาที
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหนึ่งในหัวเรือใหญ่ในการแก้ปัญหา ยังเชื่อมั่นว่า แผนงานการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ดีอยู่แล้ว และยังไม่จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง
ส่วนมาตรการในการดูแลคุ้มครองครู พล.อ.สนธิ ก็ยังเชื่อมั่นว่า ยังทำได้ดี ไม่มีปัญหา แต่สำหรับหลักการปฏิบัติที่วางไว้และยังไม่สมบูรณ์ในบางพื้นที่ ก็จะต้องมาปรับปรุงให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
กองทัพจะต้องเข้าหาประชาชนในพื้นที่ เพราะยังมีกลุ่มก่อความไม่สงบแฝงตัวอยู่ จึงต้องเร่งเข้าไปทำเข้าใจกับประชาชนในหมู่บ้าน เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ
นอกจากนี้ พล.อ.สนธิ ยังขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การดูแลและรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น พร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่ไปพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนที่บริสุทธิ์ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ชี้แจงทำความเข้าใจถึงข้อมูลที่เป็นจริง และกำหนดให้มีมาตรการป้องกันการเกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้ขึ้นอีกในพื้นที่อื่นๆ
กระนั้น พล.อ.สนธิ ก็ยอมรับว่า พื้นที่ที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ที่กลุ่มก่อความไม่สงบสามารถกุมสภาพไว้ได้มานานแล้ว จึงมีอิทธิพลในพื้นที่ค่อนข้างมาก การจัดระเบียบในพื้นที่ก็กระทำได้ยาก เพราะจะเกิดกระแสการต่อต้าน โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดก็ถือเป็น "กระแสต่อต้าน" อย่างหนึ่ง
ทั้งนี้ การนำผู้หญิงมาเป็นผู้ปฏิบัติการ ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่กลุ่มก่อความไม่สงบจะต้องสรรหากลยุทธ์ใหม่ๆ มาใช้ และวิธีนี้ก็ไม่มีในตำรา เปรียบเหมือนโจรที่จะเข้าไปขโมยของในบ้าน ถ้าเราติดมุ้งลวดเหล็กดัด โจรก็ต้องเปลี่ยนมาเข้าทางหลังคา ซึ่งเราต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ และต้องแก้ไขเรื่องการข่าวในพื้นที่ให้มีความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน เพราะที่ผ่านมา ขั้นตอนการแจ้งเตือนข่าวระหว่างหน่วยยังมีความล่าช้า
สำหรับการเปลี่ยนตัว พล.ท.องค์กร ทองประสม แม่ทัพภาคที่ 4 นั้น ผบ.ทบ.ให้ความเห็นว่า ควรจะดำเนินการกับผู้รับผิดชอบเป็นรายๆ ไป แต่เห็นว่า การปรับเปลี่ยนตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกวิธี โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การก่อร้าย ซึ่งเป็นไปในลักษณะของการ "แย่งชิงประชาชน" โดยจะต้องเข้าใจให้ชัดเจนว่า เป็นกลยุทธ์ของฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ ดังนั้น กองทัพจึงต้องมีจุดยืนที่มั่นคง รอบคอบ ระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือได้
"ทหารเราไม่ใช่รับแต่ชอบ แต่ไม่รับผิด ฉะนั้น การที่ พล.ท.องค์กร ออกมาแสดงความรับผิดชอบ ก็ถือเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา จึงต้องแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แม้สิ่งที่เกิดจะส่งผลโดยตรงหรือไม่ก็จะต้องรับผิดชอบ และถือว่าสิ่งที่ พล.ท.องค์กร ทำ เป็นการทำหน้าที่ของทหารได้อย่างสมบูรณ์"
นั่นคือคำชื่นชมผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.อ.สนธิ
สำหรับการเตรียมกำลังที่จะลงไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเดือนตุลาคมนี้ ผบ.ทบ. ระบุว่า ทางกองทัพได้จัดการประชุมเตรียมการฝึกให้กับหน่วยที่จะลงไปปฏิบัติงาน พร้อมชี้แจงแนวทางการจัดการฝึก พร้อมเสนอปัญหาข้อขัดข้องของการปฏิบัติงานที่ผ่านมา และตรวจความพร้อมก่อนลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ ซึ่งกำลังที่จะลงไปในเดือนตุลาคมนี้ มีทั้งสิ้น 5 กองพัน ได้แก่ ร.31 พัน 2 รอ., ร.2 พัน 3 รอ., ร.29 พัน 1, ร.3 พัน 2 และ ร.25 พัน 1
ด้าน พล.ท.องค์กร ทองประสม แม่ทัพภาคที่ 4 ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นว่า ก่อนเกิดเหตุดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้รับรายงานว่า พบชายต้องสงสัย 2 คน จากพื้นที่อื่นเข้ามาในพื้นที่ จึงได้สั่งการให้กำลังตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ซึ่งดูแลพื้นที่บ้านกูจิงลือปะ เข้าทำการตรวจค้นบ้านพัก ระหว่างตรวจค้นพบอาวุธปืนขนาด 11 มม. พร้อมเครื่องกระสุนจำนวนหนึ่ง จึงได้ควบคุมตัวไปสอบสวน
กระทั่งช่วงบ่าย เจ้าหน้าที่ได้รายงานว่า มีชาวบ้านรวมตัวกันจำนวนมาก ปิดล้อมและควบคุมตัวครูที่อยู่ภายในโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ 1 คน และมีครูอีก 1 คน ถูกควบคุมตัวด้วยขณะกำลังกินก๋วยเตี๋ยวอยู่ใกล้บริเวณโรงเรียน จากนั้นจึงมีการจับครูทั้งสองเข้าไปปิดล้อมอยู่ภายในโรงเรียนดาตีกา หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อต่อรองให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 คน
พล.ท.องค์กร เล่าว่า หลังจากที่ได้รับแจ้งก็ได้จัดชุดเข้าไปแก้ไขสถานการณ์ แต่ระหว่างเดินทางคนร้ายได้โรยตะปูเรือใบและตัดขอนไม้ขวางทาง เพื่อสกัดไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือตัวประกัน และยอมรับว่า "เกิดความผิดพลาดในการสื่อสาร" ในระหว่างเข้าไปช่วยเหลือ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
"เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร ต่างทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อดูแลสถานการณ์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่มีใครอยากให้เกิด ผมเสียใจอย่างยิ่ง ในฐานะที่มีหน้าที่โดยตรงก็พร้อมรับผิดชอบทั้งหมดที่บกพร่องต่อแผนปฏิบัติงาน และได้ทำรายงานเหตุการณ์ทั้งหมดให้กับ ผบ.ทบ.เรียบร้อยแล้ว และพร้อมจะปรับเปลี่ยนตำแหน่งที่ตัวเองรับผิดชอบตามแต่ผู้บังคับบัญชาจะพิจารณา
พล.ท.องค์กร ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความเสียใจแก่ตนเองและเจ้าหน้าที่ทุกคนเป็นอย่างยิ่ง และไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมา 1 ชุด เพื่อลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่การแจ้งเหตุแก่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายไปจนถึงผู้มีอำนาจสั่งการ ทั้งนี้ ไม่ได้มุ่งหวังหาผู้กระทำผิด แต่ต้องการที่จะหาช่องว่าง ข้อขัดข้อง เพื่อจะหาทางปรับปรุงต่อไป ส่วนมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์จับตัวประกันขึ้นอีกนั้น พล.ท.องค์กร กล่าวว่า ได้สั่งการให้กองกำลังศรีสุนทร จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจเข้าปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่บ้านกูจิงลือปะ และได้รับการสนับสนุนจาก กองกำลังสันติสุขเข้าปฏิบัติการจิตวิทยา รวมทั้งกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ซึ่งส่งพนักงานสอบสวนมาช่วยสนับสนุน นอกจากนี้ ยังจะส่งกำลัง 2 กองร้อยทหารพราน รวมทั้งกำลังชุดปฏิบัติการรบพิเศษและชุดปฏิบัติการจิตวิทยา เข้าไปในพื้นที่
ที่สำคัญ ได้ให้หน่วยชุดเฉพาะกิจในพื้นที่เข้มงวดและกำกับดูแลการปฏิบัติทุกขั้นตอน
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้รถบรรทุก 7 คัน นำนักเรียนบ้านกูจิงลือปะไปเรียนในพื้นที่อื่น ทั้งยังได้ประสานไปยังกระทรวงศึกษาธิการให้สำรวจว่า พื้นที่ใดที่ไม่ปลอดภัย และจะได้ส่งยานพาหนะที่มีอยู่ 20 คัน และพร้อมจะให้การสนับสนุนเพิ่มอีก 50 คัน เพื่อนำครูและนักเรียนออกมาเรียนในพื้นที่ปลอดภัย
เมื่อถามว่า หนักใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นหรือไม่ แม่ทัพภาค 4 ตอบว่า มีหลายคนตำหนิผม แต่ผมก็ยอมรับเพื่อจะนำไปปรับปรุงแก้ไข และไม่รู้สึกท้อแท้ โดยพร้อมที่จะปฏิบัติคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบ
ทร.เตรียมส่งกำลังหนุนลงพื้นที่ อบรมเข้มภาษายาวี-วัฒนธรรม
พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) หนึ่งในหน่วยงานหลัก ซึ่งมีภาระหน้าที่ในการแก้ปัญหานี้โดยตรง กล่าวให้ความมั่นใจว่า แม้ประเทศจะประสบกับภาวะ "น้ำมันแพง" และต้องลดรอบการฝึกประจำปีลง จากปีละ 5 ครั้ง เหลือเพียงปีละ 2 ครั้ง แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด
ตัวอย่างกรณีการส่งหน่วยนาวิกโยธินลงไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งต้องเปลี่ยนกำลังพลทุกปีตามวงรอบงบประมาณ จึงจะต้องมีการฝึกทบทวนกำลังพลที่จะไปลงในพื้นที่ แม้จะของบประมาณแล้วไม่ได้ แต่กองทัพเรือก็จำเป็นจะต้องทำการฝึก เพราะหากไม่ฝึกจะไปอยู่ในพื้นที่ลำบาก และจะเป็นอันตรายต่อกำลังพล ทั้งจะทำงานไม่ได้ผลด้วย จึงจะต้องนำงบประมาณส่วนอื่นของกองทัพเรือมาฝึกก่อนเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ ย้ำว่า ก่อนที่จะส่งกำลังพลจากส่วนกลางลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องมีการฝึกอบรมเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของพี่น้องชาวไทยมุสลิม ประมาณ 45 วันถึง 2 เดือน ที่สำคัญที่สุด คือ กำลังพลที่จะส่งลงไปจะต้องเรียนรู้ ภาษายาวี ด้วย
"การอบรมภาษายาวี ถ้าเป็นระดับหัวหน้าหน่วย ก็จะต้องพูดให้ได้มากพอสมควร หากเป็นลูกน้องก็ขอให้พูดขอข้าวกิน หรือทักทายชาวบ้านได้ก็พอ โดยค่าใช้จ่ายในการเรียนภาษายาวีแพงมาก เพราะกองทัพเรือได้จ้างครูพิเศษที่เก่งภาษายาวีมาอบรม รวมทั้งเปิดอบรมขนบธรรมเนียบประเพณี เพื่อให้กำลังพลได้รู้ว่าสิ่งไหนควรปฏิบัติ หรือสิ่งไหนไม่ควรปฏิบัติ รวมถึงการอบรมการปฏิบัติงานในภาคสนามเพื่อให้เกิดความพร้อมมากที่สุด"
พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ แสดงความเชื่อมั่นว่า การทำงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ หากทุกส่วนราชการประสานงานและร่วมมือกันปฏิบัติ ก็เชื่อว่า การแก้ไขปัญหาจะดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนกองทัพเรือจะเน้นย้ำให้กำลังพลปฏิบัติตามกรอบระเบียบวินัยของทหารไม่ให้ปฏิบัติแตกแถว เพราะถ้าทำงานไม่เป็นระบบจะทำให้การทำงานเกิดสะดุดได้
กำลังพลที่ลงไปปฏิบัติงาน จะต้องดูแลชาวบ้านในพื้นที่ให้ดีที่สุด เพื่อให้เขาเกิดความประทับใจเพื่อที่ชาวบ้านจะได้เข้ามาร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ หากทุกคนและทุกส่วนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา มุ่งทำความดี ก็จะทำให้เกิดความสันติสุขขึ้นได้ พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ กล่าว
เมื่อถามว่า แสดงว่าการทำงานในพื้นที่ยังไม่เป็นเอกภาพเท่าที่ควร จึงทำให้การแก้ไขปัญหาสะดุดใช่หรือไม่ พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ ตอบว่า การทำงานของทุกส่วนที่ร่วมกันแก้ไขปัญหา ทุกคนหวังดีเหมือนกันหมด และอยากจะให้ปัญหาที่เป็นอยู่เบาบางง แต่ก็อาจจะมีความคิดเห็นที่มีความแตกต่างกันบ้าง และเห็นว่าการแก้ปัญหาจะต้องสำเร็จ แต่ต้องใช้เวลา เพราะคนในพื้นที่เข้าใจอะไรผิดมากไปพอสมควร
ทั้งนี้ กองทัพเรือมีกำลังหน่วยนาวิกโยธินที่ทำงานรับผิดชอบในพื้นที่ จ.นราธิวาส ในเขต 5 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.ศรีสาคร อ.รือเสาะ อ.บาเจาะ และ อ.ยี่งอ ซึ่งกองทัพเรือยืนยันว่าจะทำในสิ่งที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด
ทหารเรือสวมหมวก 2 ใบ ใบหนึ่งขึ้นตรงกับกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) และอีกใบหนึ่งขึ้นตรงกับกองทัพเรือ แต่การทำงานในพื้นที่จะมีการประสานงานตลอดเวลา หากมีปัญหากำลังพลก็บอกผม ส่วนผมก็จะไปคุยกับ ผบ.ทบ. เท่าที่ปฏิบัติงานก็ไม่มีปัญหาอะไร กองทัพสามารถทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี ผบ.ทร. กล่าวย้ำ
พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ ยังกล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ด้วยว่า ได้นำเยาวชนในพื้นที่ประมาณ 30-40 คน ซึ่งมีอายุประมาณ 12-18 ปี (ไม่จำกัดศาสนา) มาอบรมเรียนรู้ใช้ชีวิตในการเข้าค่ายทหาร และท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ใน กทม.ประมาณ 7 วัน เพื่อให้เขาเห็นความแตกต่าง โดยเฉพาะการทำงานของทหาร และความเป็นอยู่ว่าเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาได้ดำเนินการมา 5 รุ่นแล้ว โดยชุดสุดท้ายได้นำไปกินอยู่ในโรงเรียนนายเรือ และให้ใช้ชีวิตเหมือนนักเรียนนายเรือทุกอย่าง
ผบ.ทร.ยังมีแนวคิดด้วยว่า "หากคลื่นลมในพื้นที่สงบลง จะนำเรือหลวงนราธิวาสและเรือหลวงปัตตานีที่ต่อจากประเทศจีน ไปให้พี่น้องในพื้นที่ร่วมกันเฉลิมฉลอง ที่ถือเป็นการปฏิบัติการทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ซึ่งในต่างประเทศก็มีดำเนินการในลักษณะนี้เช่นกัน"
พันพรือกะดูแลตัวเองให้ดีครับ
ขอบคุณครับ