มาฝึกวิ่งเพื่อลดไขมันกันเถิด 3อธิบายว่า
เพราะการออกกำลังกาย ชนิดเหนื่อยจัดมากๆ แม้มันจะเผาผลาญกลัยโคเจน ให้หมดเร็วระหว่างฝึกหรือแข่งก็ตาม แต่กระบวนการเมตาโบลิซึ่ม มิได้ยุติการทำงาน เพียงแค่จบสิ้นการออกกำลังกายเท่านั้น แต่ยังต่อเนื่องไปหลังการออกกำลังกายอีกนานหลายชั่วโมง ที่ตรงนี้เอง ร่างกายมิได้ใช้กลัยโคเจนอีกต่อไปแล้ว แต่กลับใช้ไขมันแทน
ถ้าเราจะสังเกตในวันที่เราฝึกลงคอร์ท , ในวันที่ฝึกหนัก , หรือในวันแข่ง ที่เย็นนั้นคืนนั้น เราจะมีชีพจรที่เต้นเร็วกว่าปกติ นั่นเป็นสัญญาณการเร่งกระบวนการเผาผลาญสารอาหาร เราจะรู้ได้แน่ชัดก็ต้องเก็บค่าสถิติชีพจรเต้นในวันฝึกเบาหรือวันหยุดเก็บไว้เพื่อเปรียบเทียบ
เย็นนั้น หลังจากที่คุณกินอาหาร ได้คาร์โบไฮเดรตใหม่เข้าไปให้ร่างกายแปลงเป็นกลัยโคเจนทดแทนที่หมดไปกับการออกกำลัง แต่กระบวนการเผาผลาญต่อเนื่องจากที่วิ่งไปเมื่อเย็นนี้ ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยจะค่อยๆลดลงในคาบระยะเวลาที่นานมาก จนดึกดื่น เราหลับใหลไปแล้ว ไขมันก็ยังถูกเผาผลาญอยู่เรื่อยไปอย่างนี้ไงครับที่มันแตกต่างจากแบบจ็อกเบาเสมอ ที่แม้จะเผาผลาญไขมันมากกว่ากลัยโคเจนขณะนั้นก็จริง แต่จบแล้วจบเลย หลังจากนั้น กระบวนการเผาผลาญมิได้เผาผลาญต่อหรือต่อ แต่น้อย
แต่ในความเป็นจริง ผู้ที่อยู่ในข่ายลดความอ้วนมักจะยังอ้วนอยู่ และผู้ที่ต้องการจะลดน้ำหนัก มักจะตัวหนักอยู่ จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะให้ผู้มีน้ำหนักและอ้วนมาฝึก Interval Session ลงคอร์ทหน้าตั้ง ซึ่งเป็นจำนวนมากทีเดียวมักจะไม่ใช่นักวิ่งที่มีประสบการณ์ ขายังไม่แข็งแกร่ง และอาจจะบาดเจ็บหากทำเช่นนั้น ดังนั้นประเด็นก็คือให้ค่อยๆเขยิบแผนฝึกทีละน้อย เหมือนหยดน้ำทีละหยดลงตุ่มด้วยความเพียร หรือออมสินวันละบาทจนเต็มหมู แต่ไม่ว่าจะอ้วนใหญ่หรือหนักขนาดไหน ย่อมจะพ่ายแพ้แก่ความบากบั่น ไม่มีอะไรที่เกินความสามารถมนุษย์ไปได้หรอก กัดไม่ปล่อยจนตัวตายก็มนุษย์ ขี้เกียจจนตัวตายก็มนุษย์ แล้วแต่เราจะเลือก
ถ้าคุณฟังและปิ๊ง อยากลองวิธีนี้ดู อย่างแรกที่แนะนำก็ให้ปรึกษาโค้ช หรือเพื่อนนักวิ่งผู้มีประสบการณ์น่าเชื่อถือได้ ให้ช่วยร่างแผนฝึกให้ แต่ถ้าหาไม่ได้ก็ร่างเอง โดยใช้หลักการจากน้อยไว้ก่อนที่ราว 60%ของชีพจรสูงสุด แล้วค่อยๆไล่เร็วขึ้นไปเรื่อยๆ อย่ากระโดดไปที่ 90%เลย เดี๋ยวจะเจ็บ ให้รู้จักบันยะบันยัง และจัดการ แช่เย็น ความเข้มนั้นให้คงระดับเดิมนิ่งอยู่อย่าเพิ่มเข้าไปอีก ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายค่อยๆปรับและเรียนรู้กระทั่งซึมซับและควรจะให้มีแผนฝึก Interval Session นี้ เพียงวันเดียวในรอบสัปดาห์ ในชั้นต้น ผู้เขียนอยากให้คุณเซ็ทวันหยุดเพิ่มจาก1 วันต่อสัปดาห์ เป็น 2 วัน แล้วค่อยๆปรับกลับมาอย่างเดิมภายหลังจากอะไรๆเข้าที่แล้ว
สำคัญอีกเรื่อง อย่าเพิ่งเบื่อ คือ ต้องยืดเส้น และวอร์ม-อัพก่อนเสมอ คือ วิ่งช้าๆแบบห้ามเหนื่อย นานราว 20 นาที ก่อนลงมือ และอีกครั้งแบบเดียวกันเมื่อหลังฝึก แต่เราเรียกว่า คูล-ดาวน์ อย่าลัดขั้นตอนเป็นอันขาด
โดย กฤตย์ ทองคง
http://www.thairunning.com/running_lower_fat.htm