[เอ.อาร์.ไอ.พี,
www.arip.co.th] เหตุผลในการฆ่าชาวคริสต์ แล้วปิดประเทศของญี่ปุ่นกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 นั้น แสนจะคลุมเครือและยากต่อการทำความเข้าใจ เพราะก่อนปิดประเทศนั้น ญี่ปุ่นกำลังกอบโกยความมั่งคั่งชนิดน่าอิจฉาในท้องทะเลจีน คำอธิบายในทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจนั้น อาจจะชัดกว่าเหตุผลทางการเมืองหลายเท่า เพราะอะไร?
เมื่อกองเรือ ของสเปน สามารถค้นพบเส้นทางเดินเรือข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกทั้งขาไปและกลับสำเร็จในปลาย คริสต์ศตวรรษที่ 16 นั้น สินค้าสำคัญที่พวกเขานำมาให้ชาวเอเชียได้เรียนรู้และใช้กันอย่างแพร่หลาย หนีไม่พ้น เหรียญโลหะเงิน เรอัล (หรือเรียกกันง่ายๆตามหน่วยของค่าเงินว่า เปโซ) จากแหล่งผลิตสำคัญในสเปนใหม
สายตาอันแหลมคมของบรรดาไดเมียว (เจ้าเมือง) และผู้นำทางทหารญี่ปุ่นคนสำคัญ ฮิเดโยชิ ซึ่งให้ความสนใจกับการแสวงหาความมั่งคั่งจากการค้ากับต่างชาติโดยเฉพาะจีน ทำให้พวกเขาเร่งสำรวจและพากันบุกเบิกเหมืองแร่เงิน
ใน ค.ศ. 1596 มีการค้นพบเหมืองแร่เงินขนาดใหญ่ 2 แห่ง ที่ เมืองโอโมริ ในเขตปกครองอิวามิ และ อิคุโนะ ในเขตทาจิมะ ซึ่งยังผลให้ญี่ปุ่นสามารถผลิตเหรียญเงิน และโลหะเงินเพื่อนำมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าทั้งในประเทศ และการค้าระหว่างประเทศ
ไม่เพียงเท่านั้น เหรียญเงินยังเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของญี่ปุ่นไปยังจีน และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แข่งขันกับเหรียญเรอัลของสเปน
การส่งออกเหรียญและแร่เงินดังกล่าว ทำให้ญี่ปุ่นมีฉายาเรียกในขณะนั้นว่า “หมู่เกาะเงิน” ซึ่งแม้จะไม่มีสถิติของการผลิตที่ชัดเจน แต่ก็ประมาณกันว่า ตั้งแต่ ค.ศ. 1596 ถึง 1623 มีโลหะเงินจากญี่ปุ่นถูกส่งออกไปยังเอเชีย ทั้งที่ถูกกฎหมายและลักลอบ ประมาณ 130-165 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของปริมาณแร่เงินที่แพร่กระจายในท้องตลาดเอเชียในช่วงนั้น
ความมั่งคั่งจากการผลิตและค้าโลหะเงิน ทำให้สงครามระหว่างรัฐบาลกลางของโชกุนที่เอโดะ(โตเกียวปัจจุบัน) และไดเมียวร้อนแรงตลอดหลายทศวรรษทีเดียว เมื่อโชกุนทุกคนต่อจากฮิเดโยชิ ถือว่า การผูกขาดค้าเงิน(และการค้าทุกชนิด)เป็นเป้าหมายสุงสุดทางเศรษฐกิจของศูนย์ อำนาจ
ความมั่งคั่งจากการผูกขาดเหมืองเงิน ทำให้ฮิเดโยชิสามารถสร้างกองทุนที่เหนือกว่าบรรดาไดเมียวทั่วญี่ปุ่น และเริ่มรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางอย่างจริงจัง
การส่งออกเหรียญและโลหะเงินในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่เทียบ เท่าสเปน ได้ทำให้เอเชียยอมรับมาตรฐานเงินในฐานะสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมาอีกนานหลาย ศตวรรษเลยทีเดียว
การส่งออกเหรียญและโลหะเงินนี้ ทำให้ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการค้าของเอเชียตะวันออก โดยสินค้าที่ญี่ปุ่นมีความต้องการสูงมากในยามนั้น ได้แก่ ผ้าไหมจีน เพราะความคลั่งไคล้ในผ้าไหมจีนของชนชั้นนำของญี่ปุ่นนั้นมีมากเสียจนลือชื่อ
จีนในคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 นั้น (ภายใต้การปกครองของราชวงศ์หมิงตอนปลาย) ถือได้ว่า เป็นผู้ผลิตเส้นไหมดิบคุณภาพเยี่ยมที่สุดของโลก มีปริมาณการผลิตมหาศาลด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าชาติใดๆ
แหล่งผลิตเส้นไหมสำคัญของจีนอยู่ในเขตปากแม่น้ำแยงซี เกียง ซึ่งชาวนาในเขตดังกล่าวถูกบังคับให้ผลิตเส้นไหมเพื่อจ่ายเป็นส่วยแก่รัฐ โดยเฉพาะในเขตเมืองซูโจว ที่เป็นแหล่งผลิตเส้นไหมและทอผ้าไหมสำคัญมาจนถึงปัจจุบัน
พัฒนาการในการผลิตเส้นและผ้าไหมของจีนนั้น สอดคล้องกับการเปิดช่องทางการค้าระหว่างประเทศโดยพวกโปรตุเกสซึ่งได้รับ สิทธิในมาเก๊าเป็นพิเศษนำร่อง
ปัญหาของการค้าระหว่างจีนกับญี่ปุ่นก็คือ ราชวงศ์หมิงมีคำสั่งห้ามการติดต่อทางการค้ากับญี่ปุ่นโดยตรง หลังจากที่ฮิเดโยชิเริ่มต้นทำสงครามกับจีนในคาบสมุทรเกาหลี และถือว่า พ่อค้าญี่ปุ่นทุกคนเป็นโจรสลัด เทียบกับโจรสลัดจีน
การค้าจีนกับญี่ปุ่น จึงต้องกระทำผ่านคนกลางคือ โปรตุเกส (ผ่านมาเก๊า) และสเปน (ผ่านมะนิลา) ซึ่งความเฟื่องฟูของการค้าคือ “ส่งออกเงิน นำเข้าไหม”ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ทำให้บรรดา พระคาธอลิกฉวยโอกาสเผยแพร่ศาสนาในเมืองทางตอนใต้ของญี่ปุ่น มีคนเข้ารีตจำนวนมหาศาล
คนที่เข้ารีตนี้ โดยทั่วไปแล้ว ถือเป็น “คนนอกสังคม”ตามการแบ่งชนชั้นของสังคมญี่ปุ่น ซึ่งยังผลให้ชนชั้นนำของญี่ปุ่นมองชาวคาธอลิกเหล่านี้ในทางลบ
เมื่อฮิเดโยชิเสียชีวิต และ เกิดสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่สุดของญี่ปุ่นที่ เซกิกาฮาร่า ใน ค.ศ. 1600 ซึ่งทำให้อิเอยาสุ โตกุกาว่า ครองอำนาจเบ็ดเสร็จและนำเอาระบบปกครองที่เรียกว่า บาคุฟุ เข้ามาใช้ในการรวบอำนาจสู่ส่วนกลาง ก็มีการผูกขาดการค้า เงิน-ไหม ในญี่ปุ่นอย่างจริงจัง
ในอีกมุมหนึ่ง สเปนก็สามารถค้นพบเหมืองเงินขนาดมหึมาที่ ซากาเตกาส ในสเปนใหม่ และ โปโตซี ในอเมริกาใต้ ทำให้ทุ่มเทเหรียญเงินเรอัลข้ามแปซิฟิกมาแย่งซื้อผ้าไหมและเซรามิค แข่งขันกับพ่อค้าในเอเชียอย่างเอาเป็นเอาตาย
มีหลักฐานทางสเปนที่บันทึกเอาไว้ว่า แต่ละปีในช่วง ค.ศ. 1620-30 นั้น สเปนได้ส่งเหรียญเรอัลเข้ามายังเอเชีย (ส่วนใหญ่มายังจีน)มากถึงปีละ 23 ตัน และลดลงมาในทศวรรษต่อมาอยู่ที่ระดับ 18 ตันต่อปี
การทุ่มเทเงินเหรียญเข้ามาของสเปนในตลาดเช่นนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่วงการค้าของเอเชียได้เรียนรู้คำว่า “เงินเฟ้อ” เป็นครั้งแรกในกลไก เนื่องจากปริมาณเงินมากกว่าปริมาณสินค้า โดยเฉพาะผ้าไหม
ผลลัพท์ก็คือ ราคาเส้นและผ้าไหมจีนในช่วงนั้น พุ่งขึ้นมหาศาลหลายเท่าตัว และกลายเป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเรียกกันภายหลังว่า การปฏิวัติทางด้านราคาครั้งแรกของเอเชีย
ผ้าไหมแพง ค่าเงินถูก สั่นคลอนฐานะทางเศรษฐกิจของตระกูลโตกุกาว่าอย่างรุนแรง และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการขบถโดยพวกไดเมียวหลายครั้งมากในต้นคริสต์ ศตวรรษที่ 17 ยิ่งหลังจากปี 1620 ที่ผลผลิตเงินของญี่ปุ่นจากเหมืองร่อยหรอลงไป ก็ยิ่งทำให้เสถียรภาพทางการเงินของรัฐบาลบาคุฟุสั่นคลอน
ทางออกเพื่อแก้ปัญหาของรัฐบาลบาคุฟุโดยตระกุลโตกุกา ว่าคือ การปิดประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (ควบคุมราคาสินค้าและค่าเงินในประเทศ) และการเมือง (รักษาอำนาจ) ด้วยเหตุที่ความสัมพันธ์ล้ำลึกระหว่างไดเมียวและกลุ่มพ่อค้าตามหัวเมือง ต่างๆ กับพ่อค้าโปรตุเกสและสเปนนั้น อาจจะเป็นภัยต่อความั่งคั่งและอำนาจของรัฐบาลบาคุฟุได้
คำอธิบายของรัฐบาลบาคุฟุ ห้ามคนญี่ปุ่นออกประเทศ และห้ามคนญี่ปุ่นที่อยู่ภายนอกเข้าประเทศ ห้ามคนต่างชาติ (ยกเว้นจีนแอะดัชท์)ค้าขายกับญี่ปุ่น และสังหารหมู่ผู้นับถือคาธอลิก รวมทั้งนำระบบการค้าแบบอิโวตัปปุ และปันกาดะมาใช้บังคับ แม้จะมีข้ออ้างว่า เป็นการห้ามศาสนาคริสเตียน แต่ที่จริงแล้วมีเป้าหมายหลักห้ามพ่อค้าโปรตุเกสเดินทางเข้าญี่ปุ่นมากกว่า
การปิดประเทศอย่างสมบูรณ์ของญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1639 โดยนัยแล้ว เป็นการแยกประเทศออกจากระบบการเงินของโลกอย่างสิ้นเชิงแต่ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลโตกุกาว่า ที่สามารถรักษาอำนาจไว้ได้อย่างมั่นคงต่อมาเกือบ 200ปี จะเลิกคบหากับชาวโลก พวกเขาเพียงแต่สร้างข้อจำกัดทางการค้าและการสื่อสารกับทางโลกขึ้นมาเพื่อ ประโยชน์ของตนเองในการ”ปกครอง”ญี่ปุ่นในกำมือเท่านั้น การศึกษาเรื่องของชาวโลกผ่านการค้าในขีดจำกัดที่นางาซากิตลอดมาหลังปิด ประเทศ ยังมีอย่างต่อเนื่อง
กลยุทธ์ “ปิดประตู เปิดใจ”เพื่อรักษาความมั่งคั่งของญี่ปุ่น จึงสามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองไว้ได้ จนกระทั่งถูกอเมริกันมาบังคับเปิดประเทศในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งในเวลานั้น การค้าภายในของญี่ปุ่นมั่นคงแข็งแรงรับมือกับต่างชาติได้แล้ว
http://www.arip.co.th/businessnews.php?id=403793