นกมีประสาทรับความรู้สึกที่ดีมีประสิทธิภาพดีกว่าของสัตว์อื่น โดยเฉพาะในส่วนของการมองและการได้ยิน ทั้งนี้เพื่อการใช้ชีวิตให้อยู่รอดในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการบิน การหากิน หรือการหลบหลีกศัตรู จำเป็นต้องพึ่งประสาทรับความรู้สึกทั้งสิ้น
ตาของนกมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับลำตัว และมีรูปทรงหลายแบบ นกที่หากินกลางวันจะมีตาลักษณะกลมหรือแบน ในขณะที่นกหากินกลางคืน เช่นนกเค้า จะมีตาลักษณะทรงกระบอก ในลูกตาของนกจะมีเลนส์ที่มีส่วนช่วยให้นกปรับภาพได้ชัดเจนขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้แสงหักเหได้อีกด้วย เลนส์ที่ปรับภาพได้ดีจึงมีลักษณะอ่อนนุ่ม ซึ่งจะช่วยให้นกบินจับเหยื่อหรือหลบหลีกศัตรูไปในช่องทางแคบๆได้สะดวก
นอกจากนี้ยังมีเปลือกตาที่จะทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับแก้วตา และช่วยป้องกันตาของนกในขณะที่บินทวนลมหรือขณะอยู่ในน้ำนกส่วนใหญ่จะมีตาอยู่เคียงกันในแนวนอนและมีขอบข่ายในการรับภาพต่างกัน
ตาของนกจะรับภาพได้ดีต้องขึ้นอยู่กับลักษณะและคุณสมบัติ 3 ประการ คือ ตำแหน่งของตา ความสามารถในการเคลื่อนไหวของตา และพื้นที่ที่ตาแต่ละข้างจะรับภาพได้
ตำแหน่งของตาบนหัวนกมีความเกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมและการดำรงชีวิตของนก นกที่ชอบหาเมล็ดพืชบนพื้นดินกินเป็นอาหารอย่างนกพิราบ จะมีตาอยู่ด้านข้าง เพื่อมองหาอาหารและศัตรูได้รอบตัว ในขณะที่นกล่าเหยื่อ โดยเฉพาะพวกที่ชอบหากินในเวลากลางคืนอย่างนกเค้า จะมีดวงตาใหญ่อยู่ค่อนไปทางด้านหน้าจนเกือบจะชิดกัน เพื่อประโยชน์ในการล่าเหยื่อ เพราะทำให้มองหาเหยื่อและกะระยะได้ดี ทั้งยังสามารถเห็นได้ในระยะไกล แต่นกเค้าไม่สามารถกลอกตาไปมาได้ จึงต้องใช้วิธีบินหมุนคอในการมอง
ส่วนนกยางที่เดินหากินตามหนองน้ำ จะมีตาค่อนมาทางด้านล่างเพื่อมองหาเหยื่อที่อยู่ต่ำลงไป แต่ถ้าหากมีศัตรู นกยางจะชูคอขึ้นไปในอากาศเพื่อมองภาพด้านหน้า สำหรับนกปากซ่อม ซึ่งในเวลาหาอาหารไม่จำเป็นต้องใช้ตาช่วย เพราะมีประสาทสัมผัสอยู่ที่ปลายปาก เวลาที่ทิ่มปากลงดินเพื่อหาอาหาร
ดังนั้นตาของนกปากซ่อมจึงค่อนไปอยู่ด้านท้ายของหัวเพื่อระวังภัยจากศัตรู นกแต่ละชนิดจะมีพื้นที่ที่ตาแต่ละข้างรับภาพไม่เท่ากัน โดยนกพิราบจะรับภาพได้มากมี่สุดถึง 340 องศา ในขณะที่นกเค้าซึ่งมีตาอยู่ด้านหน้าของหัวจะรับภาพได้ไม่เกิน 90 องศา นกส่วนมากจะใช้ตาแต่ละข้างรับภาพร่วมกันมากน้อยแตกต่างกันไปเช่น เหยี่ยวจะรับภาพด้านหน้าได้มากกว่าไก่ ในขณะเดียวกันจะรับภาพด้านข้างได้น้อยกว่า เหยี่ยวจึงจำเป็นต้องใช้การบิดหัวเพื่อช่วยในการมอง แต่สำหรับนกที่มีตาอยู่ทางด้านหน้าของหัวอย่างนกเค้า อาจใช้ตาทั้งสองข้างรับภาพร่วมกัน
นอกจากการรับภาพแล้ว การรับรู้เสียงเป็นการรับความรู้สึก ที่สำคัญอีก อย่างหนึ่งของนก ซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างมาก และทำงาน ประสานกับประสาทการทรงตัว โดยอวัยวะที่ทำให้นกได้ยินเสียงคือ หู ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ หูชั้นนอก ที่มีท่อนำคลื่นเสียงเขาสู่เยื่อแก้วหูแล้วส่งต่อไปยังหูชั้นกลาง และถ่ายทอดผ่านเยื่อบางๆ ที่กั้นอยู่ไปสู่หูชั้นใน นกที่หากินกลางคืนอย่างนกเค้า จะมีโครงสร้างของหูที่ มีความไว ต่อเสียงระดับต่ำมาก ทำให้แม้ในที่มืดไม่ว่าเหยื่อจะเคลื่อนไหวอย่างเงียบกริบสักเพียงใด แต่นกเค้าก็ยังสามารถได้ยินเสียงเหยื่อ
สำหรับการรับรู้กลิ่นของนกได้รับการพัฒนาน้อยจึงทำให้ความสามารถ ในการรับรู้กลิ่น ของนกมีน้อยมาก แต่สำหรับนกกีวีในนิวซีแลนด์ จะมีการรับรู้กลิ่นดีมาก เพราะนกกีวีสายตาไม่ค่อยดี และหากินในตอนกลางคืน จึงจำเป็นต้องใช้การดมกลิ่น ในการหาอาหาร โดยใช้รูจมูกที่ติดอยู่ตอนปลายของปากสูดกลิ่นดินที่ขุดลงไป เพื่อหาไส้เดือนเป็นอาหาร
แร้งเป็นนกอีกชนิดหนึ่งที่มีการรับรู้กลิ่นดีกว่านกชนิดอื่น และจากการทดลองพบว่า การรับรู้กลิ่นช่วยนกพิราบหาทางกลับบ้านได้ด้วย ส่วนการรับรู้รสของนกนั้นพัฒนาน้อยเช่นกัน
สำหรับการรับรู้สัมผัส นกไม่สามารถทำได้ดี เพราะว่าผิวหนังของนกมีขนปกคลุมอยู่ แต่นกก็มีเซลล์รับความรู้สึกสัมผัสเหมือนกัน ส่วนมากจะอยู่บริเวณปาก โดยเฉพาะนกที่ต้องหาอาหารด้วยวิธีใช้ปากทิ่มลงไปในเลน อย่างพวกนกชายเลนต้องใช้การรับรู้สัมผัสช่วยด้วยในเวลาหาอาหาร
http://www.waghor.go.th/v1/service/lbase/Bird&Insect/ie%20bird%20homepage/sensible%20of%20bird.htm