๗๕ ปี ป๊อปอาย พลังผักขมยังแรงอยู่ เขา
ตัวเตี้ย หัวล้าน เจ้าอารมณ์ ห่างไกลจากคำว่า 'หล่อ' ตามมาตรฐานสากล แต่ผู้คนทั่วโลกต่างชื่นชมเขา และยกย่องเขาในฐานะวีรบุรุษผู้ถ่อมตน นับตั้งแต่เขาปรากฏตัวสู่สายตาสาธารณชนเมื่อปี ๒๔๗๒ ภาพยนตร์การ์ตูนที่เป็นเรื่องราวของเขา ยังคงแพร่ภาพต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ ในวันที่เขามีอายุครบ ๗๕ ขวบ ชื่อของเขาคือ 'ป๊อปอาย'
ป๊อปอาย ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในตัวการ์ตูนที่มีคนรู้จักมากที่สุดในโลก เผยโฉมครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๗๒ ในการ์ตูนช่อง 'ธิมเบิล เธียเตอร์' ของเอลซี เซการ์ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวของ 'โอลีฟ ออยล์'
ธิมเบิล เธียเตอร์ มีอายุได้ ๑๐ ปีแล้ว ตอนที่ป๊อปอายโผล่มาในฐานะตัวประกอบ แต่แล้วตัวการ์ตูนหนุ่มกะลาสีผู้นี้กลับได้รับความนิยมขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งบดบังตัวละครดั้งเดิมไปจนหมด
หลังจากป๊อปอายแจ้งเกิดสำเร็จ ก็มีตัวละครใหม่เพิ่มเข้ามาอีก อย่าง สวีปพี เด็กน้อยที่ป๊อปอายเก็บมาเลี้ยง เจ.เวลลิงตัน วิมปี้ เพื่อนซี้ของป๊อปอาย ผู้โปรดปรานแฮมเบอร์เกอร์เป็นที่สุด และบรูตัส คู่ปรับร่างใหญ่ ศัตรูหัวใจของป๊อปอาย
ไมเคิล เอช.ไพรซ์ แห่งนิวยอร์ก ไทมส์ กล่าวว่า เซการ์หลักแหลมในการสร้างสรรค์ตัวละครที่น่าจดจำ และเป็นที่รักของคนทั่วโลก แม้แต่มิกกี้ เมาส์ ของวอลท์ ดิสนีย์ หรือบั๊ก บันนี่ ของวอร์เนอร์ บราเธอร์ส ก็ไม่อาจโค่นป๊อปอายลงได้
ป๊อปอายโดดสู่จอเงินเมื่อปี ๒๔๗๖ ในภาพยนตร์การ์ตูน 'เบ๊ตตี้ บู๊ป' จากนั้นก็มีผลงานตามมาอีกเกือบ ๖๐๐ เรื่อง ส่วนมากหาชมได้ในรูปแบบวิดีโอ ปัจจุบันภาพยนตร์การ์ตูนชุดป๊อปอายยังมีฉายอยู่ทางช่องการ์ตูน เน็ตเวิร์ก ขณะที่หนังสือการ์ตูนยังได้รับการตีพิมพ์อยู่อย่างสม่ำเสมอทั่วโลก
ในปี ๒๕๒๓ บริษัทพาราเมาท์ พิคเจอร์ส ผลิตภาพยนตร์ป๊อปอายแบบใช้คนแสดง โดยมีดาราดังอย่าง 'โรบิน วิลเลียมส์' มารับบทกะลาสีหนุ่ม และดาราสาวร่างบาง 'เชลลี ดูวัล' เป็นโอลีฟ ออยล์
เมื่อปี ๒๕๓๖ การ์ตูน เน็ตเวิร์ก ของเท็ด เทอร์เนอร์ เจ้าพ่อสื่อชื่อดัง ฉลองครบรอบ ๖๐ ปีป๊อปอาย ด้วยภาพยนตร์สารคดี 'ป๊อปปิวเมนทารี' ออกอากาศในช่วงไพรม์ ไทม์ ถึง ๖ ตอนด้วยกัน
ชาวอิตาเลียนรู้จักป๊อปอายในชื่อ 'แขนเหล็ก' ส่วนชาวสวีเดนเรียกเขาว่า 'คาร์ล อัลเฟรด' และชาวเดนมาร์กขนานนามเขาว่า 'สคิปเปอร์ สแครก' หรือ 'ความน่ากลัวแห่งท้องทะเล'
เป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่ง ที่กะลาสีหนุ่มผู้นิยมบริโภคผักขมเป็นยาชูกำลัง ไต่เต้าจากบทเล็กๆ ในการ์ตูนช่อง 'ธิมเบิล เธียเตอร์' จนกลายมาเป็นดาราดังที่มีเรื่องราวเป็นของตัวเอง
คริสตัล ซิตี้ เมืองหลวงแห่งผักขมในรัฐเท็กซัส ถึงกับสร้างรูปปั้นป๊อปอายขึ้นเมื่อปี ๒๔๘๐ เพื่อเป็นเกียรติแก่เซการ์ และป๊อปอาย ในฐานะผู้สร้างอิทธิพลการบริโภคผักขมในสหรัฐ ทำให้ป๊อปอายกลายเป็นการ์ตูนตัวแรกที่มีรูปปั้นตั้งอยู่ในที่สาธารณะ
เกษตรกรผู้ปลูกผักขม มอบความดีความชอบให้กับป๊อปอาย ในการกระตุ้นให้ชาวอเมริกันหันมาบริโภคผักขมเพิ่มขึ้นถึง ๓๓% และช่วยชีวิตอุตสาหกรรมผักขมเอาไว้ในช่วงทศวรรษ ๒๔๗๓
ปัจจุบัน ผักขมกระป๋องยี่ห้อ 'ป๊อปอาย' ขายดีเป็นอันดับ ๒ รองจาก 'เดล มองเต' อีกทั้งยังมีผักขมสดและสลัดผักภายใต้ยี่ห้อ 'ป๊อปอาย' อีกด้วย
กะลาสีกล้ามโตปรากฏกายอยู่ทุกหนทุกแห่งในซูเปอร์มาร์เก็ต ตั้งแต่กระป๋องน้ำอัดลม ไปจนถึงถุงข้าวโพดคั่ว นี่ยังไม่รวมถึงเสื้อยืด หมวก แจ๊กเก็ต นาฬิกา ที่วางจำหน่ายโดยทั่วไป
อันที่จริงป๊อปอายเป็นตัวการ์ตูนตัวแรกที่รุกเข้าไปในตลาดของเล่นอย่างโดดเด่น ว่ากันตั้งแต่ตุ๊กตาเป่าลม ไปจนถึงตัวต่อจิ๊กซอว์ และขลุ่ยของเล่น โดยของบางชิ้นเมื่อตกมาถึงยุคนี้ราคาถีบตัวขึ้นไปสูงลิ่วในตลาดของเก่า
สำนักงานไปรษณีย์สหรัฐก็เอาใจแฟนป๊อปอาย ด้วยการออกแสตมป์รูปกะลาสีคาบไปป์ผู้นี้ รวมอยู่ในชุด 'การ์ตูนคลาสสิกของอเมริกา' ที่จัดทำขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปีการ์ตูนช่อง เมื่อปี ๒๕๓๘
สำหรับการฉลองวาระครบรอบ ๗๕ ปีป๊อปอายในปีนี้ ตึกเอ็มไพร์ สเตท ในนิวยอร์ก ประดับประดาด้วยดวงไฟสีเขียวแบบผักขม ช่วงวันที่ ๑๗-๑๘ มกราคม และจะมีภาพยนตร์สามมิติของฟ็อกซ์ สตูดิโอ ออกฉายก่อนคริสต์มาส
ส่วนที่เมืองเชสเตอร์ บ้านเกิดของเซการ์ ผู้ให้กำเนิดป๊อปอาย จะจัดงานปิกนิกประจำปีแด่แฟนป๊อปอาย หลังวันแรงงาน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ ๗ กันยายน