เผยความลับ..กษัตริย์พม่าองค์สุดท้าย กับการข่มเหงรุกรานโค่นล่มโดยอังกฤษ
https://www.facebook.com/topsecretthai/posts/280703798786321วันที่ 22 ต.ค.57 เผยความลับ..กษัตริย์พม่าองค์สุดท้าย กับการข่มเหงรุกรานโค่นล่มโดยอังกฤษ
พระเจ้าอลองพญา แห่งพม่า ผู้ทรงเป็นสมเด็จทวดของพระเจ้าสีป่อ และพระเจ้าพะคยีดอ เป็นสมเด็จปู่
กรีธาทัพรุกรานสยาม บดขยี้กองทัพอยุธยา ปลดกษัตริย์ผู้ครองบัลลังก์ และปล้นสะดมกรุงศรีอยุธยา
เมืองหลวงเก่าของสยาม จนแตกพ่าย
เมื่อครั้งที่พระเจ้าอลองพญาผู้เกรียงไกร ทรงยกทัพรุกรานสยาม พระองค์มีพระราชสาสน์ถึงพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาว่า
"หาได้มีความเป็นคู่ขันแข่งในพระเกียรติยศและบุญญาธิการระหว่างเราทั้งสองไม่ การวางพระองค์เทียบข้างพวกหม่อมฉัน
เป็นการเปรียบพญาครุฑของพระวิษณุ กับนกนางแอ่นพระอาทิตย์เปรียบกับหิ่งห้อย
พฤกษเทวดาแห่งสรวงสวรรค์เปรียบกับไส้เดือนดิน พญายูงทอง ธตรัฏฐะ เปรียบกับแมลงเสพคูถ"
ต่อมาสมัยพระเจ้ามินดง ตอนนั้นอังกฤษได้พม่าทางใต้ไปแล้วก็จริง แต่ก็ยังหาเรื่องชวนทะเลาะกับพม่าอยู่
พระองค์ทรงเห็นว่าถ้าเกิดสงครามขึ้นอีก ฝรั่งอาจเอาปืนใหญ่ใส่เรือกำปั่น ขึ้นไปยิงถึงพระราชวังได้ จึงเห็นควรย้ายให้ห่างพ้นระยะปืนศัตรู
พระองค์โปรดให้สร้างเมืองหลวงใหม่ขึ้น ที่กรุงมัณฑะเลย์ แล้วอพยพผู้คนมาจากเมืองอมรบุระ
ราชธานีเดิมที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำอิรวะดีไป พระเจ้ามินดง มินทร์ จะประทับบนสีหบัลลังก์ทรงพระภูษาลายทองกงจักร ทรงฉลองพระองค์ปักทองอย่างพม่า
ทรงพระภูษาโปร่งปักทองพันพระเกษา ทรงนั่งขัดสมาธิ์อยู่บนพระแท่นสามชั้นปิดทองคำใต้พระมหาเสวตรฉัตรเก้าชั้น
มีนางพนักงานเชิญพระแซ่หางนกยูงอยู่สี่ทิศพระที่นั่งเสวตรฉัตร มีขุนนางฝ่ายนายทหารรักษาพระองค์นับไม่ถ้วน
ล้วนแต่แต่งกายมีสง่าทั้งสิ้น เฝ้าล้อมรักษาพระองค์เป็นอันดับตามตำแหน่ง
เวลาพวกอังกฤษมาขอเข้าเฝ้า ก็โปรดให้นั่งกับพื้นระดับเดียวกับขุนนางทั้งหลาย ขุนนางพม่าไม่ได้หมอบเฝ้าแบบไทย
แต่นั่งพับพะนางเชิง (พนมมือเหมือนท่าเทวดานั่ง) ในยุคนั้นฝรั่งก็ไม่ยอมนั่งแบบพม่า
เมื่อให้นั่งกับพื้นก็นั่งตามสบายไม่ได้ถวายความเคารพ จึงแค้นเคืองกันยิ่งขึ้นไปอีกทั้งฝรั่งทั้งพม่า
สมัยของพระเจ้ามินดง ถือว่าบ้านเมืองยังดีๆ อยู่ มีพระราชพิธีที่สำคัญๆ เช่นพระราชพิธีแรกนาขวัญที่โปรดให้มีทุกปี
บางครั้ง จะมีพระราชพิธี เสด็จพระราชดำเนินโดยชลมารค โดยขบวนเรือพระที่นั่ง
ที่ยิ่งใหญ่มาก ล่องอยู่ในคูเมืองของพระราชวังกรุงมัณฑะเลย์นั่นเอง แต่คูเมืองกว้างใหญ่ขนาดรองรับขบวนเรือพระที่นั่งได้นับร้อยลำ
พระนางซินผิ่วมะฉิ่น มเหสีองค์หนึ่ง ของพระเจ้ามินโดงซึ่งไม่มีโอรส ยึดอำนาจในราชสำนัก
โดยมีคณะเสนาบดีหนุนหลัง เลือกพระเจ้าธีบอขึ้นครองราชย์ ในลักษณะหุ่นเชิดบนบัลลังก์
ระหว่าง พ.ศ.2421-2428 กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า และของราชวงศ์อลองพญา พระนามว่า "พระเจ้าธีบอ"
หรือพระเจ้าสีป่อ พระองค์ทรงครองราชย์ ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 5 พระองค์เป็นโอรสของพระเจ้ามินโดง กับมเหสีแลซา จากเมืองฉาน
พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงสุภยาจี และเจ้าหญิงสุภยาลัต (พระธิดาของพระนางซินผิ่วมะฉิ่น)
พระนางสุภยาลัต ช่วงนั้นอายุ 18 ปี ตอนเป็นพระราชินี ซึ่งเป็นที่โปรดปราน เริ่มยึดอำนาจในราชสำนักฝ่ายใน ก่อนจะขยายไปสู่ราชการงานแผ่นดิน
จนนำไปสู่ความขัดแย้งกับพระมารดา และเสนาบดีที่ผลักดันพระเจ้าธีบอ ซึ่งพยายามโค่นพระเจ้าธีบอแต่ไม่สำเร็จ
ตลอดเวลาพระเจ้าธีบอทรงบริหารราชการแผ่นดิน และทรงพระสำราญกับครอบครัวของพระองค์ในพระราชฐาน โดยไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินออกไปนอกพระราชวัง
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2422 พองานพระบรมศพพระเจ้ามินดงเสร็จสิ้นลง ซึ่งก็ใช้เวลาเพียง 7 วันก็บรรจุพระบรมศพเสร็จ
พระนางศุภยาลัต ทรงโปรดให้จัดงานปอยหลวงขึ้น 3 วัน 3 คืนอย่างครึกครื้น นัยว่าจะให้ชาวเมืองลืมความทุกข์ โดยการมาเที่ยวงานให้สนุก
ที่จริงนั้นก็เพื่อจะกลบเกลื่อนกรรมพิธีที่จะเริ่มต้นการสังหารหมู่บรรดาเจ้าพี่ และเจ้าน้องของตัวเองทั้ง 30 องค์ รวมถึงเจ้าจอมมารดา
ขุนนาง และบริวารรวมทั้งสิ้น 125 คนด้วย เจ้านายองค์ใดถูกปลงพระชนม์ เจ้าจอมมารดา พระภคินีขนิษฐา และบรรดาโอรสธิดา ของเจ้านายองค์นั้นก็โดนประหารไปด้วย
ที่ต้องใช้เวลาอยู่ถึง 3 วันในสังหารผู้เคราะห์ร้ายทั้งหมด ก็เพราะต้องลงมือฆ่าเฉพาะในเวลากลางคืน เมื่อแดดร่มลมตก
ผู้คนเริ่มหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวงาน ละครเริ่มออกโรง ดนตรีปี่พาทย์บรรเลงดังที่เข้าที่แล้ว ก็จะช่วยกลบเสียงโหยหวนของมนุษย์ที่กำลังเผชิญกับความตาย
พระเจ้าสีป่อเองก็ถูกมอมให้เสวยแต่น้ำจัณฑ์ จนเมามาย จะได้ไม่ต้องสนใจการสังหารหมู่ครั้งนั้น พิธีกรรมในการสำเร็จโทษเจ้านายพม่า
คือจะจับเจ้านายพระองค์นั้นมัด และมีคนกดทับไว้ในท่านอนหงาย เพชฌฆาตจะใช้ท่อนไม้ไผ่ตีให้ตรงลูกกระเดือก ถ้าทีเดียวไม่ตายก็ซ้ำอีกจนกว่าจะตาย
หลังจากแน่นิ่งแล้วก็เอาร่างใส่ถุงแดง โยนลงไปรวมกันทั้งหมดในหลุมขนาดใหญ่ที่ขุดไว้ เสร็จสิ้นการสังหารหมู่แล้วจึงเอาดินกลบ
ครั้นได้เวลาประมาณ 7 วัน ซากที่อยู่ข้างใต้ก็ขึ้นอืดเต็มที่ เกิดแก็สดันดินที่กลบหลุมอูดขึ้น ส่งกลิ่นผีเน่าตลบอบอวลไปทั่วทั้งเมือง
พระนางศุภยาลัต ทรงโกรธกริ้วเป็นอย่างยิ่ง สั่งให้เอาช้างหลวงทั้งโขลงมาเดินเหยียบย่ำ ดินก็ยุบลงไปชั่วคราว พอแก็สสะสมตัวได้ใหม่ก็ดันดินอูดขึ้นใหม่
กลิ่นผีเน่าก็ฟุ้งออกมาอีก ต้องเอาช้างมาเหยียบอัดกันอย่างนี้อยู่หลายวัน จนในที่สุดพระนางศุภยาลัตก็ทนกลิ่นไม่ได้
สั่งให้ขุดเอาซากที่เหลือทั้งหมดนั้น ใส่เกวียนไปฝังเสียยังนอกเมือง ความลับทั้งปวงก็แตก ชาวบ้านชาวเมืองรู้กันทั่วทันที ที่เกวียนออกจากประตูวังผ่านไป
ช่วงเวลานั้น ที่ลัทธิการล่าอาณานิคมจากชาติตะวันตกเฟื่องฟู ประเทศมหาอำนาจอังกฤษ
รุกรานข่มเหงประเทศในเอเซียอย่างต่อเนื่อง กระบวนการเข้ายึดครองพม่านั้น เป็นเช่นเดียวกับการเข้ายึดครองอินเดีย
คือเริ่มต้นจากผลประโยชน์ทางการค้าของอังกฤษในประเทศ
เมื่อไรก็ตามที่อังกฤษ รู้สึกว่าผลประโยชน์ทางการค้าของตนถูกคุกคาม ก็จะใช้ความแข็งแกร่งทางการทหาร
และอิทธิพลทางการเมืองเข้าแทรกแซง และอังกฤษทำเช่นนี้บ่อยครั้ง อังกฤษซึ่งยึดครองพม่าตอนล่างแล้ว และกำลังจับจ้องจะยึดครองกรุงมัณฑะเลย์
พื้นที่ส่วนใหญ่ของพม่าตกเป็นของอังกฤษไปแล้ว รวมทั้งทางออกสู่ทะเลด้วย และอังกฤษมองพื้นที่ส่วนที่ยัง
ไม่ถูกยึดครองว่าไม่เพียงแต่จะพัฒนาเป็นตลาดสินค้าได้ แต่ยังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าต่างๆ ด้วย หนึ่งในนั้นคืออัญมณีมีค่าจำนวนมาก
ข่าวรั่วการสังหารหมู่สมาชิกราชวงศ์ออกไปถึงหูอังกฤษที่วางสปายไว้ทั่ว หลังจากนั้นไม่นานสถานทูตอังกฤษในย่างกุ้ง
ก็ใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างความชอบธรรมที่จะช่วยชาวพม่าล้มล้างพระเจ้าสีป่อ และเริ่มบีบกรงเล็บทีละน้อย ๆ
อังกฤษพยายามสร้างภาพด้านลบ ให้ร้ายโจมตีพระเจ้าธีบอ และพระนางสุภยาลัต ว่าทรงเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่สมาชิกราชวงศ์
ประมาณ 80 พระองค์ ณ พระราชวังมัณฑะเลย์ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2422 เพื่อกำจัดศัตรูของราชบัลลังก์
เมื่อข่าวลือการประหารพระราชวงศ์ รั่วไปทั้งกรุงมัณฑะเลย์ เกิดความเสื่อมศรัทธาทั่วไปในหมู่ประชาชน
มีคำกล่าวว่า "เศวตรฉัตรแห่งกรุงรัตนปุระอังวะ อันกางกั้นถึงเก้าชั้น แต่มาบัดนี้กลับหาร่มเงาไม่ได้เสียแล้ว"
อังกฤษยังประโคมข่าวใส่ร้ายต่อว่า เหตุการณ์สังหารหมู่นักโทษการเมืองประมาณ 300 คน ช่วงปลายเดือนกันยายน พ.ศ.2427
ว่าพระองค์จัดฉาก เพื่อหาเหตุในการสังหารหมู่นักโทษเหล่านั้น หนังสือพิมพ์ในพม่า ที่หนุนหลังโดยอังกฤษ
ตีพิมพ์บทความตำหนิการสังหารหมู่นี้และประณาม การปกครองที่เลวร้าย ของพระเจ้าธีบอ
พ.ศ.2428 อังกฤษบีบพม่าจนดิ้นไม่หลุด ส่งข้อเรียกร้องชนิดที่พม่าจะยอมก็ไม่ได้ เช่น ขอให้อังกฤษเป็นคนควบคุมการเดินเรือ
เพื่อการพาณิชย์ของพม่าในแม่น้ำทุกสาย ฯลฯ พระนางศุภยาลัต ประกาศท้ารบกับอังกฤษด้วยความยะโส
เพ้อพกกับอดีตของพม่าที่เคยยิ่งใหญ่ เคยรบชนะศึกมาแล้วแม้กระทั่งจีน
พระเจ้าสีป่อ ก็ตามพระทัยมเหสีอยู่แล้ว ก็ตรัสสั่งให้เตรียมพลออกรบ อังกฤษรู้ดังนั้นก็ให้นายพลแฮร์รี เพนเดอร์กาส
นำทหารฝรั่งและอินเดียเคลื่อนพลด้วยเรือกลไฟหลายลำ จากย่างกุ้งขึ้นทวนแม่น้ำน้ำอิรวะดี มุ่งหน้าสู่มัณฑะเลย์อย่างสบายๆ
มหาพันธุละ เป็นแม่ทัพที่ยกไปตีด้านมณีปุระและอัสสัม ยึดดินแดนไทอาหม ซึ่งขณะนั้นกษัตริย์อยู่ในอิทธิพลของอังกฤษ
อังกฤษจึงทำสงครามกับพม่าโดยทางบกก่อน คือเข้าตีมหาพันธุละที่รัฐอัสสัม แต่อังกฤษพ่ายแพ้
จึงเปลี่ยนยุทธวิธีมาเป็นนำเรือรบเข้ามาทางแม่น้ำอิระวดี มหาพันธุละถูกเรียกตัวมาบัญชาการศึก
แต่ได้ถูกกระสุนปืนใหญ่ของอังกฤษและเสียชีวิตในสมรภูมินั้นเอง อังกฤษ รบรุกไปเรื่อยๆใช้เวลาแค่ 14 วัน ก็ยึดเมืองหลวงกรุงมัณฑะเลย์ ได้
แม้ว่าอาวุธของอังกฤษจะดีกว่ากองทัพพม่าอย่างเทียบไม่ติดก็ตาม แต่เหตุผลสำคัญที่สุดที่อังกฤษชนะง่ายดายเกินคาดก็คือ
ราษฎรพม่าไม่คิดว่าอังกฤษเป็นศัตรู จับอาวุธเข้าต่อสู้ เพราะไม่รู้จะสู้ไปเพื่ออะไร เนื่องจากถูกอังกฤษสร้างภาพว่า
รัฐบาลของพระเจ้าสีป่อโดยพระนางศุภยาลัต กดขี่ประชาชน การสู้ศึกในสมัยนั้นจึงไร้เอกภาพและความสามัคคี
การเสียเมืองยังมีอีกปัจจัยหนึ่ง นั่นคือพระเจ้าธีบอ ไปทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส โดยหวังให้มาคานอำนาจจากอังกฤษ
อังกฤษจึงต้องรีบลงมือ ฝ่ายพม่าก็หวังว่าฝรั่งเศสจะช่วย แต่ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น
ตอนแรกอังกฤษยังต้องการคงสถาบันกษัตริย์พม่าไว้เป็นหุ่นเชิด เพื่อรักษาเสถียรภาพในการปกครอง แต่หาเจ้าพม่าที่เหมาะสมไม่ได้
อีกทั้งเกรงว่าสนธิสัญญาที่ราชวงศ์พม่าทำกับฝรั่งเศสจะมีผล จึงยกเลิกสถาบันกษัตริย์พม่าเสีย แล้วตั้งเป็นมณฑลหนึ่งขึ้นกับอินเดีย
ส่วนรัฐฉาน (ไทใหญ่) นั้น เจ้าครองนครไทใหญ่ทั้งหลาย ยังได้ปกครองดินแดนของตนต่อไป แต่ตกเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ
เมื่อจวนตัวพระเจ้าสีป่อ และพระนางศุภยาลัต ก็จำเป็นต้องรักษาชีวิตรอดโดยการยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ทรงเสด็จออกรับแม่ทัพอังกฤษ
หน้าพระที่นั่งกลางสวนในพระราชวังมัณฑะเลย์ ทรงต่อรองได้แค่ขอเวลาไม่กี่ชั่วโมง ที่จะเก็บของส่วนพระองค์ก่อนที่จะต้องไปกับผู้ชนะในฐานะเชลย
วันที่อังกฤษเอากษัตริย์และราชินีพม่า ใส่เกวียนบรรทุกของ ให้วัวลากออกจากวังไปขึ้นเรือกลไฟอย่างหลู่พระเกียรติอย่างสุดๆ นั้น
ชาวพม่าที่เห็นเหตุการณ์มองอย่างไร้ความรู้สึก อาจจะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ราษฏรทั้งหมดเหล่านั้นได้มีโอกาสเห็นพระเจ้าสีป่อ พระเจ้าอยู่หัวของตน
พม่ามีทับทิมที่ชื่อ หงามุก อันเป็นพระราชมรดกของบูรพกษัตริย์พม่า ได้ถูกมอบให้นายพันเอกสลาเดน เอาไปเพื่อเก็บไว้
พร้อมเพชรกับทับทิมอีกหลายเม็ด เช่น ราชรัตนะหอข่าเที๊ยกทินเล ราชรัตนะหอข่าทินจี ราชรัตนะซินมาตอ ราชรัตนะซาน และอื่นๆ อีกมาก
พันเอกสลาเดน ประจำการอยู่ในมัณฑเลย์ ในรัชสมัยพระเจ้ามินดง และเป็นแขกประจำของราชสำนัก ทับทิมหงามุก
สาบสูญอย่างไร้ร่องรอยโดยรวดเร็ว หลังจากทหารอังกฤษบุกเข้ามัณฑเลย์ และเข้ายึดครองพระราชวัง
เหตุการณ์กำลังเข้มข้น เคราะห์กรรมของพระเจ้าสีป่อ จะเป็นเช่นไร ติดตามต่อไป
@ เสธ น้ำเงิน3
https://www.facebook.com/topsecretthai