จตุคามรามเทพ: ตำนานเกี่ยวกับองค์จตุคาม
กษัตริย์ผู้ปกครองสุวรณภูมิ (ดินแดนนับตั้งแต่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี เรื่อยลงมาจนสุดแหลมมลายู) คือพระเจ้าจันทรภานุ มีพระบารมีบุญญาธิการมาก ได้แผ่อำนาจขยายอาณาเขตออกไปถึงประเทศอินเดีย ยึดประเทศอินเดียได้ และอยู่ปกครองอินเดียจนกลายเป็นมหาราชของอินเดีย ไม่ยอมกลับมายังสุวรรณภูมิเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี พระโอรสสองพี่น้องของ พระเจ้าจันทรภานุ คือ ขุนอินทรไสเรนทร์ และขุนอินทรเขาเขียว เห็นบ้านเมืองทรุดโทรมลงขาดกษัตริย์ปกครอง จะตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์แทนพระบิดาก็ไม่ได้ จึงร่วมกันย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองช้างค่อมศิริธัมมาราช เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า ศรีวิชัยสุวรรณภูมิ
ในปี พ.ศ. ๑๐๔๐ ตรงตามคำทำนายของพระโสณะมหาเถระ โดยในฐานะที่ท่านเป็นปฐมกษัตริย์ของเมืองศรีวิชัยสุวรรณภูมิได้สร้างขยายเมืองและซ่อมแซมบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ที่เริ่มทรุดโทรมลงเป็นครั้งแรกร่วมกับชาวชวาและชนพื้นเมืองเดิม ด้วยคุณงามความดีของพระโอรสสองพี่น้องหลังจากที่ได้สิ้นพระชนม์ลง ประชาชนทั้งหลายจึงได้ยกย่องให้เป็นเสื้อเมืองและทรงเมือง มีฐานะเป็นเทวดาประจำเมือง และเรียกพระนามของท่านทั้งสองว่า ท้าวจตุคาม และ ท้าวรามเทพ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จตุคามรามเทพ พระเทวราชโพธิสัตว์แห่งอาณาจักรทะเลใต้ ผู้ซึ่ง ตั้งฟ้าตั้งดิน สถาปนากรุงศรีธรรมโศกเป็นศูนย์กลางแห่งศรีวิชัย พระองค์ท่านถึงแล้วซึ่งความแกล้วกล้าสามารถ เจนจบสรรพศาสตร์ทั้งปวง บำเพ็ญบุญญาบารมี บรรลุโพธิญาณ จักรวาลพรหมโพธิสัตว์ ประกอบด้วย บุญฤทธิ์ อภินิหาร สยบฟ้าสยบดินได้ดังใจปรารถนา วาจาเป็นประกาศิตเหนือมวลชีวิตทั้งหลาย ตัดกระแสแสงเดือนดาวได้ตามคัมภีร์ จึงทรงศักดาอานุภาพ ดุจพระอาทิตย์และพระจันทร์ สมญานามตามศาสตร์ว่า จันทรภาณุ ถืออาญาสิทธิ์รูปราหูอมจันทร์ และวัฏจักร ๑๒ นักษัตร เป็นสัญลักษณ์ เพียงมนตราอาคมอันเกิดจากกระแสญาณสมาธิอันแกร่งกล้า สาปแช่งผู้ใดก็จึงกาลพินาศเหมือนดังปาฏิหาริย์ ยิ่งกว่าท้าวกุเวรราชในคัมภีร์พระเวท เลื่องลือกล่าวขานไปทั่วทวีป ได้รับการถวายนามยกย่องว่า พญาพังพระกาฬ
ประกาศชัยชนะเหนือสุวรรณทวีป และหมู่เกาะทะเลใต้ บุญญาบารมียิ่งใหญ่ไพศาล เหนือฟ้า เหนือดิน พญาโหรา บรมครูช่างชาวชวากะ ได้ประติมากรรมจำลองรูปมหาบุรุษลักษณ์ขึ้นเป็นอนุสรณ์ เรียกว่า ร่างแปลงธรรม รูปสมมุติแห่งเทวราช ทรงเครื่องราชขัตติยาภรณ์ สี่กร สองเศียร พรั่งพร้อมด้วยเทพศาสตราวุธเพื่อพิทักษ์ปกป้อง อาณาจักรและพุทธจักร สืบทอดมาอย่างยาวนาน
องค์จตุคามรามเทพ มีบริวารทหารกล้าสี่คน ได้แก่ พญาชิงชัย พญาหลวงเมือง พญาสุขุม และ พญาโหรา เป็นกำลังหลักสำคัญในการสถาปนา เมืองสิบสองนักษัตร หรือ กรุงศรีธรรมโศก ให้ยิ่งใหญ่ไพศาล เป็นศูนย์กลางแห่งอาณาจักรศรีวิชัย
แม้กาลต่อมาจะล่มสลายไปตามกาลเวลาและยุคสมัยเปลี่ยนไป ธ ยังสถิตอยู่ ณ รูปจำหลักที่บานประตูไม้ทั้งสอง ทางขึ้นลานประทักษิณรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราชนั่นเอง ส่วนบริวารทั้ง ๔ เป็นเทวดารักษาเมืองประจำทิศของเมืองเช่นกัน
ส่วนเทวดารักษาเมืองโดยรอบศาลหลักเมืองนั้น อธิบายไว้เป็น สามแนวหรือ สามระดับ คือ
แนวแรก (ระดับล่าง) เป็นเทวดารักษาทิศ
เทวดารักษาทิศเหนือชื่อ ท้าวกุเวร
เทวดารักษาทิศตะวันออก ชื่อ ท้าวธตรฐ
เทวดารักษา ทิศใต้ ชื่อ ท้าววิรุฬหก
เทวดารักษาทิศ ตะวันตก ชื่อ ท้าววิรุฬปักษ์
แนวที่สอง (ระดับกลาง) เป็นจตุโลกเทพ
พระเสื้อเมือง
พระทรงเมือง
พระพรหมเมือง
พระบันดาลเมือง
แนวที่สาม (ระดับสูง ) เป็นไปตามคติพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ในจักรวาลของพุทธศาสนามหายาน
พระธยานิพุทธไวโรจนะพุทธเจ้าอยู่ตรงกลาง
พระธยานิพุทธอักโษภยะพุทธเจ้าอยู่ด้าน ตะวันออก
พระธยานิพุทธอมิตาภะพุทธเจ้าอยู่ด้านตะวันตก
พระธยานิพุทธรัตนสมภวพุทธเจ้าอยู่ด้านทิศใต้
พระธยานิพุทธอโมฆสิทธิพุทธเจ้าอยู่ด้านเหนือ
จตุคามรามเทพ: ทำไมต้องสร้างหลักเมืองนครฯ
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เมืองนครศรีธรรมราชเคยมีชื่อว่า กรุงศรีธรรมโศก หรือกรุงตามพรลิงค์ แต่ตำนานไทยเหนือเรียกว่า เมืองศิริธรรมนคร
กรุงศรีธรรมโศก สร้างขึ้นเมื่อใดไม่มีหลักฐานแน่นอน คงทราบข้อความจากคัมภีย์เก่าแก่ของชาวอินเดียสมัยต้นพุทธกาลเรียกว่า เมืองท่าตมะลีบ้าง เมืองท่ากมะลีบ้าง จนกระทั่งในราว พ.ศ. 1150 จดหมายเหตุจีนกล่าวถึง เซียะโท้วก๊ก แปลว่า ประเทศดินแดง ซึ่งจักรพรรดิจีนส่งราชทูตเดินทางมาติดต่อทางพระราชไมตรี ต่อมาภิกษุจีนผู้คงแก่เรียนมีชื่อว่า หลวงจีนอี้จิง เดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดียใน พ.ศ. 1214 ได้แวะมาศึกษาภาษาสันสกฤตที่เมืองโฟชิ จึงทราบว่าบ้านเมืองทั้งหลายในคาบสมุทรภาคใต้ รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหพันธรัฐที่มีอำนาจทางทะเล หลวงจีนอี้จิง จึงขนานนามว่า ประเทศทั้ง 10 แห่งทะเลใต้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ อาณาจักรศรีวิชัย