น่าจะพอมีประโยชน์...กรณีเพื่อนยืมปืนไปเที่ยวป่า....
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2677/2521 ป.อ. มาตรา 33, 36
พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 29 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 มาตรา 47ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 228 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2515 ข้อ 18 บัญญัติในทำนองเดียวกันว่า "บรรดาอาวุธเครื่องมือ เครื่องใช้ ฯลฯ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด ฯลฯ ให้ริบเสียทั้งสิ้นโดยมิต้องคำนึงว่าเป็นของผู้กระทำความผิด และมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือไม่" นั้น แม้จะบัญญัติให้ริบทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ด้วยก็ตาม แต่มิได้บัญญัติมีข้อความระบุถึงกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด จะตีความว่าบทบัญญัติดังกล่าวมีความมุ่งหมายให้ริบทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่มิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดด้วยหาได้ไม่ กรณีจึงตกอยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของแท้จริงมีสิทธิร้องขออาวุธปืนของกลางคืนได้
______________________________
คดีนี้สืบเนื่องจากศาลพิพากษาลงโทษจำเลยและริบอาวุธปืนของกลางในความผิดฐานนำอาวุธปืนเข้าไปภายในเขตอุทยานแห่งชาติ แล้วใช้อาวุธปืนนั้นล่าสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลว่าอาวุธปืนเดี่ยวลูกซองยาวขนาด 12 หมายเลขทะเบียน 1980951 ของกลางที่ศาลสั่งริบเป็นของผู้ร้องตามภาพถ่ายใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนท้ายคำร้องผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการที่จำเลยกระทำความผิดจึงขอคืน
โจทก์คัดค้านว่า อาวุธปืนของกลางดังกล่าวเป็นของต้องริบตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 29 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 47 แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 228 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2515 ข้อ 18 แม้จะเป็นของผู้ร้องและผู้ร้องไม่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดก็ตาม
ผู้ร้องและโจทก์ต่างไม่สืบพยาน โดยโจทก์แถลงยอมรับข้อเท็จจริงว่าอาวุธปืนของกลางที่ผู้ร้องขอคืนเป็นของผู้ร้อง และผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลย แต่ขอต่อสู้ในข้อกฎหมายตามที่กล่าวข้างต้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งคืนอาวุธปืนของกลางให้แก่ผู้ร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504มาตรา 29 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 47แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 228 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2515 ข้อ 18บัญญัติในเรื่องริบทรัพย์สินในทำนองเดียวกันว่า "บรรดาอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด ฯลฯ ให้ริบเสียทั้งสิ้น โดยมิต้องคำนึงว่าเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือไม่" พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับนี้แม้จะบัญญัติให้ริบทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ด้วยก็ตาม แต่มิได้บัญญัติมีข้อความระบุถึงกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ฉะนั้น จะตีความว่าบทบัญญัติให้ริบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมีความมุ่งหมายให้ริบทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่มิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดด้วยหาได้ไม่ กรณีจึงตกอยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของแท้จริงมีสิทธิร้องขออาวุธปืนของกลางคืนได้
พิพากษายืน