ผมหาประวัติ "การยุทธ์ที่ช่องบก" มาให้อ่านเรียกน้ำย่อยก่อนนะครับ เดี๋ยวจานหลักจะตามมาโดยท่านสมาชิกอื่นๆอีกที
ช่องบก ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.น้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี. เป็นพื้นที่ชายแดนซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกัน ๓ ประเทศ คือ ไทย,ลาว,กัมพูชา มีทิวเขาพนมดงรัก กั้นเป็นแนวเขตแดน มีเส้นทางติดต่อเดินข้ามไปมาหากันได้ ลักษณะภูมิประเทศเป็นทิวเขาสลับซับซ้อน มีป่าทึบยากแก่การตรวจการณ์ ทั้งทางพื้นดินและทางอากาศ ใช้เป็นแหล่งซ่อนพราง และกำบังเป็นอย่างดี
ปี พ.ศ.๒๕๒๙ กองกำลังสุรนารี ได้ใช้กำลังเข้าผลักดันและขับไล่กองกำลังต่างชาติ ตามแผนยุทธการ ดี-๘ เนื่องจากภูมิประเทศเป็นเขาสูงชันป่ารกทึบ มีทุ่นระเบิด กับระเบิดในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทำให้ฝ่ายไทยประสบความยากลำบากในการเคลื่อนที่ และการดำเนินกลยุทธ์ ฝ่ายไทยสามารถผลักดันฝ่ายเวียดนามให้ถอนตัวออกจากที่มั่นบนเนินดังกล่าว แต่ฝ่ายเวียดนามยังคงควบคุม และยึดพื้นที่บริเวณเนิน ๕๐๐,๔๐๘,๓๘๒ และ ๓๙๖ อยู่
เมื่อ ธ.ค.๒๕๒๙ กองกำลังสุรนารี ได้กำหนดแผนยุทธการ ดี-๙ ใช้กำลังเข้าตีเพื่อผลักดัน และทำลายฝ่ายตรงข้าม ที่ยังยึดพื้นที่อยู่ โดยใช้กำลังจาก กรมทหารราบที่ ๑๖ (กองพันทหารราบที่ ๑๖๒) ปฏิบัติการเข้าตีในห้วง ม.ค.-ก.พ.๒๕๓๐ ถึง ๓ ครั้ง สามารถยึดที่หมาย เนิน ๓๙๖ ได้ ต่อมาได้จัดกำลังเพิ่มเติมจาก กรมทหารราบที่ ๖ (กองพันทหารราบที่ ๖๐๓) วันที่ ๒๕ มี.ค.๒๕๓๐ ฝ่ายไทยได้ปฏิบัติการโดยใช้กำลัง กองพันทหารราบที่ ๑๖๒ กองพันทหารราบที่ ๖๐๓ และกองกำลังทหารพราน เข้าตีต่อที่หมาย เนิน ๔๐๘ และเนิน ๓๘๒ รวมทั้งใช้กำลังจาก ร้อยลาดตระเวณระยะไกล กองกำลังสุรนารี จัดกำลังเป็นชุดปฏิบัติการขนาดเล็ก ทำการโจมตีที่หมาย หลังเนิน ๔๐๘ ของฝ่ายเวียดนาม ฝ่ายไทยสามารถตีที่หมายได้สำเร็จ แต่ไม่สามารถรักษาที่หมายได้ เนื่องจากถูกระดมยิงด้วยปืนใหญ่ เครื่องยิงลูกระเบิด และปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง อย่างหนาแน่น จึงต้องถอนตัวออกจากที่หมาย
วัน ที่ ๑ เม.ย.๒๕๓๐ กองทัพภาคที่ ๒ ได้จัดตั้งที่บัญชาการทางยุทธวิธีขึ้น เพื่อควบคุม และอำนวยการยุทธ ออกแผนยุทธการเผด็จศึก สั่งใช้กำลังส่วนต่าง ๆ จากกองทัพภาคที่ ๒ ประกอบด้วย ๕ กองพันทหารราบ, ๑ ร้อยลาดตระเวณระยะไกล, ๒๗ ร้อยทหารพราน., ๑ ร้อยรถถัง สนับสนุนด้วย ปืนใหญ่ และกำลังทางอากาศ กองพลทหารราบที่ ๖ ได้รับคำสั่งให้จัดกำลังเพิ่มเติม จากกรมทหารราบที่ ๖ และกรมทหารราบที่ ๒๓ วันที่ ๑๔ เม.ย.๒๕๓๐ กำลังฝ่ายไทยใช้กำลังทุกส่วนทำการเข้าตีที่หมาย เนิน ๕๖๕,๔๐๘,๕๐๐,๓๘๒ และ ๓๗๖ โดยพร้อมกัน ในขั้นต้นฝ่ายไทยสามารถเข้าที่หมายเนินต่างๆ โดยได้รับการต้านทานอย่างเบาบาง ต่อมาฝ่ายเวียดนาม ได้ทำการตีโต้ตอบ ระดมยิงด้วย ปืนใหญ่ เครื่องยิงลูกระเบิด และ ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง ใช้กำลังเข้าตีเป็นละลอก และต่อเนื่อง ฝ่ายไทยซึ่งมีเวลาจำกัดในการดัดแปลงที่มั่น ขาดความหนุนเนื่อง ในการส่งกำลัง เส้นทางยากลำบาก ไม่สามารถต้านทานได้ จึงทำการถอนกำลังออกจากที่หมายเนินต่าง ๆ
ภายหลังจากการเข้าตีใน ครั้งนี้ ฝ่ายไทยได้พัฒนาแนวความคิดทางยุทธวิธี ในการเข้าสู่ที่หมาย ด้วยการใช้กำลังในลักษณะชุดปฏิบัติการขนาดเล็ก เคลื่อนที่แทรกซึมเข้าหลายทิศทาง ทำการ ลาดตระเวณซุ่มโจมตี เจาะเส้นทางเข้าหาที่มั่น และริดรอนกำลังฝ่ายตรงข้ามให้อ่อนกำลังลง ห้วง พ.ค.-มิ.ย.๒๕๓๐ ฝ่ายไทยได้ใช้กำลังเป็นชุดปฏิบัติการขนาดเล็ก ทำการเข้าตีต่อที่หมาย เนินต่าง ๆ ในลักษณะการยุทธแบบป้อมค่าย สามารถยึดฐานที่มั่น ฝ่ายเวียดนามได้บางส่วน ขุดคูติดต่อเจาะเข้าหาฐานที่มั่น กดดันฝ่ายเวียดนามอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งฝ่ายเวียดนามได้ถอนกำลัง ออกจากที่หมายเนินต่างๆ และแนวเขตประเทศไทย ในปลายปี พ.ศ.๒๕๓๐
การปฏิบัติการรบที่ช่องบก ตั้งแต่ ม.ค.๒๕๒๘-ธ.ค.๒๕๓๐ ฝ่ายไทยได้สูญเสีย กำลังพล เสียชีวิต ๑๐๙ นาย บาดเจ็บ ๖๖๔ นาย
สถานการณ์ ในช่วงแรกของการรบ เวียดนามเป็นฝ่ายได้เปรียบ การรุกของฝ่ายไทยทำได้อย่างจำกัดและยากลำบากเพราะเป็นป่าทึบ และเวียดนามได้วางกับระเบิดไว้จำนวนมาก นอกจากนั้นแหล่งน้ำบริเวณดังกล่าวยังถูกเวียดนามใส่สารพิษลงไป ซึ่งสารตัวนี้จะมีฤทธิ์ถึง ๓ ปี ถึงแม้น้ำจะแห้งไปแล้วก็ตาม ซึ่ได้มีการส่งตัวอย่างน้ำไปให้กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ทำการตรวจสอบและผลยืนยันว่าน้ำทุกแหล่งที่ส่งมามีสารพิษเจือปน ปัญหาหนึ่งที่สร้างปัญหาให้กับทางไทยเป็นอย่างมาก็คือเรื่องกับระเบิด ซึ่งเป็นชนิดใหม่ มีขนาดเล็ก ไม่ต้องใช้การฝังแบบปกติ แต่เป็นลูกเล็ก ๆ ซึ่งทางเวียดนามจะส่งกองกำลังแทรกซึมเข้ามาเป็นชุดเล็ก ๆ นำระเบิดมาวางตามแนวป่า และพงหญ้า และถอนกำลังออกไปอย่างรวดเร็ว ระบิดแบบนี้ไม่ทำให้ถึงตาย แต่ทำให้ทหารที่เหยียบขาขาดไปเกือบถึงหัวเข่า ซึ่งทหารที่บาดเจ็บส่วนมาก เนื่องมาจากกับระเบิด
จากรายงานของทหาร บางหน่วยแจ้งมาว่าทางเวียดนามมีความสามารถในการรบกวนการติดต่อสื่อสารและ เลียนเสียงระบบการสื่อสารของไทย ทันทีที่ทหารไทยติดต่อสั่งการกันทางวิทยุ ทหารเวียดนามจะยิงปืนใหญ่ใส่แหล่งกำลังเนิดเสียงทันที ทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างลำบาก ซึ่งระบบนี้ เวียดนามน่าจะได้มาจากโซเวียต ทำให้ทางไทยปรับกลยุทธใหม่ ให้การติดต่อสื่อสารเป็นความลับมากขึ้น และลดการใช้วิทยุสื่อสารลง
ทาง เวียดนามยังรุกกลับด้วยการส่งกำลังเข้าตีฐานทหารไทยอย่างหนัก โดยใช้ฐานปืนใหญ่ในลาวและกัมพูชายิงสนับสนุน ซึ่งทำให้การรบที่ช่องบกนี้มีความรุนแรงมาก กำลังส่วนต่าง ๆ จากกองทัพภาคที่ ๒ ของไทยถูกส่งเข้ามาในพื้นที่สู้รบอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนด้วยกองกำลังทหารพรานจากค่ายปักธงชัย และหน่วยรบพิเศษจากลพบุรี ถูกส่งเข้าไปในลาวและกัมพูชา เพื่อค้นหาฐานที่ตั้งปืนใหญ่ และทำลายระบบการส่งกำลังบำรุง ในช่วงแรกของการรบฝ่ายไทยเสียเปรียบในการรบมาก แนวคิดการรบแบบเดิม ๆ ที่ทุ่มกำลังทหารจำนวนมาก การยิงถล่มด้วยปืนใหญ่ และเครื่องบินทิ้งระเบิดใส่ข้าศึก ไม่ได้ผล เพราะทางฝ่ายเวียดนามมีการตั้งรับอย่างดี และโต้ตอบกลับอย่างหนัก ถึงแม้ทางไทยจะสามารถตีฐานของเวียดนามแตก แต่ก็ไม่สามารถที่จะยึดฐานได้ ทำให้แนวคิดการรบแบบป้อมค่าย ที่เคยใช้ได้ผลจากการรบที่เขาค้อ ถูกนำมาใช้กับการรบที่ช่องบก โดยฝ่ายไทยใช้การวางกำลังและระบบส่งกำลังสนับสนุนในแนวหลังให้มั่นคง และต่อเนื่อง จากนั้นใช้ทหารพราน ลาดตระเวณซุ่มโจมตีและแทรกซึมเข้าหาฐานข้าศึกอย่างช้าๆ โดยขุดบังเกอร์เข้าเกาะติดข้าศึกรวมถึงการซุ่มโจมตีฝ่ายเวียดนาม จากวีดีโอที่ทหารไทยบันทึกไว้ในการเข้าตีฐานของทหารเวียดนามแห่งหนึ่งนั้น ซึ่งมีทหารเวียดนามประมาณ 1 กองพันครอบครองอยู่และเป็นทหารภูเขา ทหารพรานจะขุดบังเกอร์รุกเข้าหาฐานทหารเวียดนามอย่างต่อเนื่องและไม่ยิงปะทะ โดยไม่จำเป็น เมื่อเข้าไกล้ในระดับหนึ่งจะหยุด แล้วส่งกำลังและอาวุธเข้ามา ตรึงกำลังแบบเผชิญหน้าไว้ แบบมองเห็นหน้ากันได้เลย ทำให้ฝ่ายเวียดนามสับสนและพะว้าพะวง เพราะไม่ทราบว่าทหารไทยจะเอายังไง อีกทั้งยังอยู่ในระยะไกล้ฐาน ยากต่อการยิงปืนใหญ่ การเกาะติดฐานของทหารไทยโดยไม่เข้าโจมตี ทำให้ฝ่ายเวียดนามกดดันเป็นอย่างมาก ทางไทยได้ตั้งฐานปืนใหญ่สนับสนุนการเข้าตีซึ่งได้รับการพรางเป็นอย่างดี และปืนใหญ่สำหรับการยิงถล่มตอบกลับฐานปืนใหญ่ของเวียดนาม เมื่อทางไทยพร้อม กลางดึก ได้ส่งยิงปืนใหญ่และเครื่องบินรบแบบเอฟ ๕ เอฟ เข้าทิ้งระเบิดอย่างหนัก และได้เข้าตีฐานในตอนไกล้รุ่งเช้า การสู้รบเป็นไปอย่างหนักหน่วง ฐานของทหารเวียดนามในเขตลาวถูกทางไทยตรวจพบ และถูกระดมยิงปืนใหญ่ถล่มอย่างหนัก ทำให้ฐานปืนใหญ่ของเวียดนามและคลังกระสุนถูกถล่มราบทั้งฐาน เปลวไฟจากการระเบิดของคลังกระสุนของเวียดนาม มองเห็นได้จากระยะไกล ซึ่งการยิงถล่มครั้งนี้ทางไทยใช้เครื่อง แอล ๑๙ ในการลาดตระเวณและรายงานการยิง ซึ่งเป็นไปได้อย่างแม่นยำ จากการตีฐานครั้งนี้ ยึดศพทหารเวียดนามได้ 4๔๕ ศพ จับได้อีก ๑๒ คน ยึดอาวุธ ยุทโธปกรณ์จำนวนมาก รวมทั้งจรวดแซมแบบยิงประทับบ่าด้วย ทหารเวียดนามแตกถอยกลับเข้าไปในกัมพูชา
หลังจากสูญเสียฐานหลายแห่ง ทหารเวียดนามเริ่มถอนทหารออกไปจากพื้นที่กลับเข้าไปตั้งในกัมพูชา เนื่องจากการสูญเสีย และการส่งกำลังบำรุงที่ถูกรบกวนจากในเขตกัมพูชาเอง จากเขมรแดง และกองกำลังไม่ทราบฝ่าย กองกำลังเขมรแดงได้เข้าตีฐานของทหารเวียดนามที่ตั้งในเขตกัมพูชาอย่างต่อ เนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนการยิงปืนใหญ่จากฝั่งไทย ทำให้เวียดนามถูกตีขนาบ จึงต้องถอนกำลังกลับเข้ามาในเขตกัมพูชาเหมือนเดิม หลังจากนั้นทางไทยได้เข้ามายึดและตั้งแนวป้องกัน เนินต่างๆ อย่างแน่นหนา เป็นอันสิ้นสุดของการรบอันดุเดือดที่สุด
การที่เวียดนามอาจหาญเข้ามา ยึดเขตแดนไทยในบริเวณช่องบกนี้ มีนายทหารเวียดนามบางส่วนก็ไม่เห็นด้วย เพราะถึงแม้ตำแหน่งที่ตั้งได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ยากต่อการเข้าตีของไทย แต่ด้านการส่งกำลังบำรุงด้านกัมพูชานั้น ยังไม่สามารถปราบกองกำลังเขมรแดงได้อย่างสิ้นเชิง ซึ่งจะถูกเขมรแดงรบกวนการส่งกำลังบำรุงได้ อีกทั้งในเขตลาวนั้น ก็ยังมีการเคลื่อนไหวของกองกำลังลาวเสรีอยู่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติการของเวียดนามในลาวด้วย แต่ผู้นำทางการทหารของเวียดนาม มั่นใจในความเข้มแข็งทางการทหาร และประสบการณ์รบของตน ข้อขัดค้านนี้จึงไม่เป็นผล แต่ก็เป็นจริงและเป็นที่ประจักษ์จากการรบในเวลาต่อมา...