จับตาเวียดนามซื้อ "เอ็กโซเซต์" ติดเรือรบ-เรือดำน้ำ นายกฯเยือนฝรั่งเศส
ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- นายกรัฐมนตรีเวียดนามเหวียนเติ๋นยวุ๋งออกเดินทางไปฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการวันจันทร์ 23 ก.ย.ที่ผ่านมาสำหรับเพื่อเยือนประเทศนี้อย่างเป็นทางการ 3 วัน เป็นการเยือนครั้งแรกภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ตามคำเชิญของนายฌ็อง มาร์ค เอย์โรลต์ นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส แต่เป็นเพียงครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี ถึงแม้ว่าสองประเทศจะมีความสัมพันธ์ร่วมมืออย่างใกล้ชิดในหลายด้านรวมทั้งการค้าและการลงทุนก็ตาม ประเด็นที่ทำให้น่าจับตามองที่สุดน่าจะเป็นด้านกลาโหม
ที่ต้องจับตามองก็เนื่องจากเวียดนามกำลังจะต้องตัดสินใจครั้งสำคัญที่อาจจะนำไปสู่การเจรจาซื้อขายอาวุธยุทโธปกรณ์จากฝรั่งเศสโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือจรวดเอ็กโซเซต์เพื่อใช้ติดตั้งบนเรือคอร์แว็ตชั้นจำนวน 2 ลำที่ซื้อจากเนเธอร์แลนด์ซึ่งทำให้จำเป็นต้องหันเข้าหาระบบอาวุธกับอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์จากโลกตะวันตก
ถ้าหากเวียดนามแสดงเจตจำนงที่จะซื้อจรวดเอ็กโซเซต์จริงก็จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศคอมมิวนิสต์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผันตัวเองออกจากระบบจรวดที่ผลิตโดยโซเวียต/รัสเซียที่คุ้นเคยมานานหลายสิบปี
ปีนี้เวียดนามได้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากค่ายรัสเซียอีกเป็นจำนวนมากในขณะที่รอรับมอบเรือดำน้ำลำแรกในเดือน พ.ย.นี้ จากทั้งหมด 6 ลำที่จะทยอยส่งมอบไปจนถึงปี 2559 รัสเซียมีกำหนดส่งลำที่ 2 ให้ภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า ขณะที่อู่ต่อในนครเซ็นปีเตอร์สเบิร์กได้ทำพิธีปล่อยเรือดำน้ำลำที่ 3 ของเวียดนามลงน้ำเมื่อไม่นานมานี้
การเยือนกรุงมอสโกของนายกฯ เวียดนามในเดือน พ.ค.ปีนี้ ติดตามมาด้วยการซื้อเครื่องบินรบอเนกประสงค์ Su-30K2V ล็อตใหญ่ 12 ลำรวด การเยือนสาธารณรัฐเบลารุสในเที่ยวเดียวกันเวียดนามได้ตกลงซื้อระบบเรดาร์วอสต็อก (Vostok) ทันสมัยล้ำยุคที่ตรวจจับเครื่องบินเทคโนโลยี "สเตลธ์" ได้โดยไม่มีการเปิดเผยจำนวน
นี่คือระบบที่พัฒนาต่อจากเรดาร์ที่เคยตรวจจับเครื่องบินทิ้งระเบิด F-117 ไน้ท์ฮอว์ก สเตลธ์ได้ในสงครามแคว้นโคโซโวทำให้เครื่องบินเทคโนโลยีล้ำยุคของสหรัฐถูกยิงตกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
เดือน ก.ย.2554 นรม.เวียดนามไปเยือนเนเธอร์แลนก์อย่างเป็นการเป็นเวลา 5 วันและข่าวการพันตูเจรจาซื้อเรือคอร์แว็ตชั้นชั้นซิกมา (Sigma Class Corvette) จำนวน 6 ลำ ก็ติดตามมา แต่ในที่สุดก็ลดลงเหลือเพียง 2 ลำ ด้วยงบประมาณที่จำกัด สื่อออนไลน์ในเวียดนามรายงานก่อนหน้านี้
ตามรายงานของสื่อทางการ รัสเซียยินดีที่จะจำหน่ายจรวดยิงเรือและจรวดต่อสู้อากาศยานให้แก่เนเธอร์แลนด์เพื่อนำไปติดตั้งบนเรือซิกมาทั้งสองลำของเวียดนาม แต่ไม่สามารถขายระบบควบคุมการยิงได้ นอกจากนั้นเรือคอร์แว็ตชั้นนี้ก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้กับอาวุธของค่ายโซเวียต/ยุโรปตะวันออก มีความจำเป็นที่เวียดนามต้องหาอาวุธทันสมัยของโลกตะวันตกที่มีในท้องตลาด หนังสือพิมพ์ออนไลน์ "เดิ๊ตเหวียด" ภาษาเวียดนามรายงานก่อนหน้านี้
สหรัฐยังติดปัญหาข้อกฎหมายยังไม่สามารถจำหน่ายอาวุธใดๆ ให้แก่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่วอชิงตันกล่าวหาว่าทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างสูง แต่สำหรับฝรั่งเศสพร้อมเสมอที่จะร่วมมือช่วยเหลือติดอาวุธให้กองทัพเวียดนาม จรวดเอ็กโซเซต์ที่มีชื่อเสียงและใช้กันแพร่หลายอีกรุ่นหนึ่งก็จึงเป็นทางเลือกไม่เพียงแต่ติดตั้งบนเรือรบเท่านั้น มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเวียดนามอาจกำลังมองไปยังเรือดำน้ำชั้นคิโล (Kilo-Class) ทั้ง 6 ลำที่ซื้อจากรัสเซียซึ่งอาจจะติดจรวดเอ็กโซเซต์ SM-39 แบบเดียวกับที่ใช้ในเรือดำน้ำชั้นอาโกสตา (Agosta-class) ของปากีสถานและเรือดำน้ำชั้นสกอร์ปีน (Scorpene-class) กองทัพเรือมาเลเซียในปัจจุบัน จรวดรุ่นนี้สามารถยิงทางท่อตอร์ปิโดได้
ไม่กี่ปีมานี้เอกชนเวียดนามได้ซื้อเฮลิคอปเตอร์ที่ผลิตในยุโรปไปหลายลำเพื่อการโดยสารและขนส่ง ขณะที่กองทัพประชาชนซื้ออีกจำนวนหนึ่งเพื่อใช้ในภารกิจตรวจชายฝั่งและน่านน้ำซึ่งถือเป็นการแหวกวงออกไปจากเฮลิคอปเตอร์ตระกูล Mil Mi ที่ใช้งานมานานตั้งยุคสงครามเย็น จึงมีความเป็นไปได้เช่นกันที่เวียดนามอาจจะต้องมองหาเฮลิคอปเตอร์จากฝรั่งเศสเพื่อประจำเรือคอร์แว็ตทั้ง 2 ลำสำหรับภารกิจสงครามใต้น้ำและการลำเลียงขนส่ง
เวียดนามอาจจะสนใจศูนย์อำนวยการ/บัญชาการแบบเสากระโดง iMast ซึ่งติดตั้งอุปกรณ์นำร่อง/นำทางและอุปกรณ์ควบคุม/อำนวยการเทคโนโลยีสูงและเรดาร์ เป็นการรวมระบบที่สมบูรณ์แบบเสร็จสรรพผลิตโดยทาเลส (Thales) กลุ่มบริษัทฝรั่งเศส-เนเธอร์แลนด์เพื่อใช้กับเรือรบลำใหม่ แบบเดียวกับที่กองทัพเรือมาเลเซียกำลังพิจารณาเพื่อใช้ติดตั้งบนเรือโจมตีชายฝั่ง (Littoral Combat Ship) ชั้นโกวินด์ (Gowind- Class) ที่จะเป็นกองเรือรบแห่งอนาคตและใช้ในเรือคอร์แ็ว็ตชั้นดิโปเนโกโร (Diponegoro) ซึ่งก็คือเรือซิกม่า 9113 ทั้ง 4 ลำของกองทัพเรืออินโดนีเซียปัจจุบัน
รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสลอรองด์ ฟาบิอุส ไปเยือนเวียดนามเมื่อเดือนที่แล้ว รัฐมนตรีการค่าต่างประเทศนางนิโคล บิกค์ (Nicole Bricq) ไปเยือนในเดือน เม.ย. ขณะที่การค้าขายสองทางระหว่างสองฝ่ายมีมูลค่า 3,000 ดอลลาร์ต่อปีและเวียดนามเป็นลูกค้ารายใหญ่อีกรายหนึ่งของเครื่องบินตระกูลแอร์บัสในย่านนี้
เมื่อหลายปีก่อนอดีตรัฐมนตรีกลาโหมฝรั่งเศสคนหนึ่งได้ไปเยือนเวียดนามและมีการเปิดเผยในเวลาต่อมาว่าฝ่ายเจ้าภาพแสดงความสนใจขอซื้อทั้งเฮลิคอปเตอร์ เรือรบและระบบจรวดนำวิถี จึงอาจจะถึงเวลาที่สิ่งทั้งหมดนี้เป็นความจริงขึ้นมา.
http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9560000120693 ****ภูมิภาคนี้ได้ถึงเวลาสะสมกำลังอาวุธกันอย่างเต็มรูปแบบแล้ว น่าแปลกนะสงครามเย็นหมดไปแล้ว บอกเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจแบบไร้พรมแดน จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เป็นมิตรไม่เป็นศัตรูกับใคร แต่ดูจากการสะสม และการซื้ออาวุธแล้ว แต่ละประเทศซื้อไว้รบกับใคร ถ้าไม่ใช่ประเทศเพื่อนใกล้เรือนเคียงกัน สิงคโปร์ ซื้ออาวุธเพียบ ทั้งที่เกาะกระจิ๋วหลิว มาเลเซียซื้อเรือรบ เครื่องบิน ไว้รบกับใคร สิงคโปร์เหรอ เวียดนาม สั่งสมกำลังอาวุธอาจมีเหตุเพราะติดกับมหาอำนาจอย่างจีน ไทยเราเห็นแบบนั้นก็ต้องถ่วงดุล สรุปถ่วงดุลไปถ่วงดุลมา กลายเป็นแข่งขันกันสะสมอาวุธ ประเทศผู้ขายอาวุธรวยอย่างเดียว เราส่งออกข้าวนะ ไม่ใช่น้ำมัน *******