27/7/2553 |
เครื่องบินกริพเพนสามลำแรกของกองทัพอากาศไทยจะมาถึงประเทศไทยในเดือนมกราคม 2011 และอีกสามลำจะมาถึงในเดือนมีนาคม 2011
การฝึกนักบิน ช่างอากาศ และเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอันหนึ่งของการเตรียมรับกริพเพนของกองทัพอากาศไทย และการฝึกส่วนมากจะกระทำในประเทศสวีเดน
ช่างอากาศและช่างอิเล็กทรอนิกส์การบินซึ่งจะรับผิดชอบในการดูแลรักษาและให้การสนับสนุนเครื่องบินนั้นเดินทางไปยังโรงเรียนเทคนิคของกองทัพสวีเดน (Armed Force Technical School, Air Force) ในเมือง Halmstad หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้จะเข้ารับการฝึกภายใต้การปฏิบัติการจริงที่กองบิน F7 ใน Såtenäs และกองบิน F17 ใน Ronneby ในอีกด้านหนึ่ง กองบิน F7 ที่ Såtenäs ยังเป็นศูนย์ฝึกนักบินกริพเพนให้กับกองทัพอากาศสวีเดนและกองทัพอากาศต่างประเทศ
กองทัพอากาศไทยเลือกนักบินจำนวน 10 นายสำหรับเข้ารับการฝึกที่สวีเดน นักบินกลุ่มแรกจำนวน 4 คนคือ นาวาอากาศโทจักรกฤษณ์ ธรรมวิชัย ซึ่งเป็นผู้บังคับฝูงบินกริพเพน, นาวาอากาศโทเจริญ วัฒนศรีมงคล, นาวาอากาศโทณัฏฐวุธ ดวงสูงเนิน, และนาวาอากาศโทพุทธพงศ์ ผลชีวิน นั้นเข้ารับการฝึกในประเทศสวีเดนระหว่างเดือนมีนาคม 2010 จนถึงเดือนธันวาคม 2010 ในหลักสูตรครูการบิน ส่วนกลุ่มที่สองซึ่งประกอบด้วยนักบินอีก 6 คนจะเข้ารับการฝึกที่สวีเดนเป็นเวลาราว 5 เดือน
นักบินกลุ่มหลังจำนวน 6 คนจะเข้ารับการฝึกในประเทศไทยหลังจากที่นักบินทั้งหมดได้เดินทางกลับสู่ประเทศไทยในเดือนมกราคม 2011 พร้อมกับเครื่องบินกริพเพนสามลำแรก
ในระยะเริ่มแรก ครูการบินของกองทัพอากาศไทยทั้งสี่นายจะเข้าเรียนในภาคทฤษฎี ซึ่งที่นี่นักบินจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยของกริพเพน การสร้างตัวเครื่องบินและเครื่องยนต์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์การบิน ระบบสื่อสารและระบบอื่น ๆ
สำหรับการเป็นครูการบินนั้น นักบินทั้งสี่คนของกองทัพอากาศไทยจะต้องเข้าใจระบบต่าง ๆ ที่ใช้ในระหว่างการบินหลายระบบ การควบคุมเครื่องบิน การบินขึ้นและการบินทางยุทธวิธี รวมทั้งหมดแล้วนักบินจะต้องเข้ารับการฝึกในเครื่องฝึกจำลองการบินจำนวน 20 ชั่วโมง และตามมาด้วยการฝึกบินจริงอีก 4 เที่ยวบินก่อนที่จะสามารถทำการปล่อยเดี่ยวได้ ทั้งนี้ นักบินทั้งสี่คนได้ทำการบินเดี่ยวในวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากเที่ยวบินนั้พลตรีAnders Silwer ผู้บัญชาการของกองทัพอากาศสวีเดนได้มาร่วมแสดงความยินดีด้วยที่กองบิน F7 ใน Såtenäs
การฝึกนั้นจะดำเนินต่อไปด้วยการฝึกการต่อสู้ทางอากาศ การโจมตีภาคพื้นดิน การลาดตระเวน การบินหลายภารกิจในเที่ยวบินเดียว (Multirole training) และการฝึกเป็นครูการบิน
นักบินที่เข้ารับการฝึกในหลักสูตรครูการบินนั้นจะต้องมีประสบการณ์ในการทำการบินกับเครื่องบินแบบนั้น ๆ มากพอ โดยปกติแล้วครูการบิน F-16 ของกองทัพอากาศไทยนั้นจะต้องมีชั่วโมงบินราว 600 700 ชั่วโมงและต้องเป็นผู้นำหมู่บินก่อนที่จะได้รับพิจารณาให้เป็นครูการบิน สำหรับนักบินกริพเพนนั้น พวกเขาได้เป็นผู้นำหมู่บินในระดับสองและบางส่วนยังเป็นครูการบินในเครื่องบิน F-16 และ F-5 ด้วยเช่นกัน ดังนั้นมันจึงง่ายที่จะเรียนรู้ที่จะเป็นครูการบินในเครื่องบินกริพเพน ซึ่งนอกจากความรู้ที่สามารถใช้ในการบินด้วยตัวเองนั้น พวกเขาต้องสามารถที่จะถ่ายทอดความรู้และเทคนิคเหล่านั้นให้กับศิษย์การบินอีกด้วย
ในช่วงสองปีแรกของการปฏิบัติการด้วยกริพเพนที่กองบิน 7 สุราษฎร์ธานี ครูการบินและช่างอากาศชาวสวีเดนจะมาประจำการที่ประเทศไทยเพื่อช่วยเหลือและให้คำแนะนำนักบินและช่างอากาศชาวไทย คาดว่ากริพเพน 6 ลำแรกนั้นจะสามารถประกาศความพร้อมรบได้ในเดือนกันยายน 2011
กริพเพนจะเป็นเครื่องบินขับไล่ที่ใหม่ที่สุดและทันสมัยที่สุดในเอเชียเมื่อกองทัพอากาศไทยนำมันเข้าประจำการเป็นประเทศแรกของทวีป
(บทความนี้เรียบเรียงมาจากนิตยสารสมรภูมิซึ่งตีพิมพ์ในเดือนกรกฏาคม 2010)
เอามาจากเวป gripen อีกทีครับ