ข่าวทางทหารครับ จาก Defence Technology Analysis: ฝ่ายวิเคราะห์เทคโนโลยีป้องกันประเทศ
๏ ไต้หวันตอบรับโปรแกรมการอัพเกรด F-16 A/B แต่ยังต้องการซื้อ F-16 C/D/ไต้หวัน ในวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา รัฐบาลของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้พิจารณาเสนอแผนการอัพเกรดสมรรถนะการป้องกันทางอากาศให้แก่ไต้หวันจำนวน มาก ได้แก่ โปรแกรมอัพเกรดเครื่องบินรบ F-16 A/B จำนวน 145 ลำ มูลค่า 5.3 พันล้านเหรียญฯ (ราว 1.6 แสนล้านบาท) โปรแกรมต่อเนื่องสำหรับการฝึกซ้อมในฐานทัพอากาศ Luke มูลค่า 500 ล้านเหรียญฯ (ราว 15.5 พันล้านบาท) และโปรแกรมจัดหาอะไหล่ให้แก่ Northrop F-5 AIDC Indigenous Defence Fighter (IDF) รวมถึงเครื่องบินลำเลียง Lockheed Martin C-130H มูลค่า 52 ล้านเหรียญฯ (ราว 1.6 พันล้านบาท) โดยข้อเสนอที่ได้รับการจับตามองอย่างมากในครั้งนี้คือโปรแกรมอัพเกรด F-16 A/B ซึ่งประกอบด้วย เรดาร์แบบ active electronically scanned array (AESA) และระบบหาเป้าและระบบอาวุธใหม่ ได้แก่ ระบบ GPS-guided Joint Direct Attack Munitions และจรวดอากาศสู่อากาศใหม่แบบ Raytheon AIM-9X Sidewinder ทั้งนี้รัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม นาย Kao Hua-chu ได้ออกมากล่าวแสดงความยินดีต่อข้อเสนอนี้ อย่างไรก็ตามรัฐบาลไต้หวันยังคงหวังที่จะซื้อเครื่องบิน F-16 C/D จำนวน 66 ลำ และเรือดำน้ำเครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้า ตามที่เคยขอเสนอซื้อไปก่อนหน้านี้
๏ รัฐบาลไทยล้มแผนซื้อเรือดำน้ำแต่กองทัพเรือยังคงหวัง/ประเทศไทย แผนการซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยต้องหยุดชะงักอีกครั้ง หลังจากพลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา ได้ปฏิเสธข้อเสนอขอจัดซื้อเรือดำน้ำมือสองเครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้าแบบ Type 206A จากเยอรมันจำนวน 6 ลำ ที่กองทัพเรือเสนอเข้าที่ประชุม โดยพลเอกยุทธศักดิ์ ขอให้ทางกองทัพเรือกลับไปเพิ่มเติมรายละเอียด โดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุน และความโปร่งใส ซึ่งกองทัพเรือเองก็พร้อมที่จะยื่นเสนอขอจัดซื้อไปอีกครั้ง ซึ่งอาจจะเป็นข้อเสนอขอจัดซื้อเรือดำน้ำ Type 206A หรืออาจจะเปลี่ยนข้อเสนอเป็นการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน รัสเซีย หรือเกาหลีใต้ โดยทางกองทัพเรือต้องนำกลับไปหารือกันอีกครั้ง ทั้งนี้ กองทัพเรือเองได้แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความต้องการซื้อเรือดำน้ำ Type 206A จากประเทศเยอรมัน เนื่องจากเยอรมันเป็นประเทศเดียวที่ยอมขายเรือดำน้ำพร้อมกับระบบของเรือดำน้ำทั้งระบบ ต่างจากของประเทศอื่นๆ ซึ่งขายแต่ตัวเรือดำน้ำเพียงอย่างเดียว
๏ อินโดนิเซียใกล้บรรลุข้อตกลงความสัมพันธ์ทางการทหารกับรัสเซีย/อินโดนิเซีย อินโดนิเซียและรัสเซียเตรียมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ด้านความร่วมมือด้านการทหาร โดยทางบริษัทด้านการป้องกันประเทศของรัสเซียจะทำการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) ให้กับบริษัทด้านการป้องกันประเทศภายใต้รัฐบาลอินโดนิเซีย ในรูปของการผลิตยานยนต์ทางการทหารร่วม การซ่อมดูแลบำรุงรักษาเฮลิคอปเตอร์จากรัสเซีย และงานการพัฒนาระบบป้องกันทางทะเลและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งนี้ หากการลงนามบันทึกความเข้าใจสามารถลุล่วงไปได้ด้วยดี จะทำให้รัสเซียกลายเป็นผู้นำในการจัดซื้อจัดหาสินค้าและวัตถุดิบด้านการป้องกันประเทศรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
๏ อินโดนีเซียระงับการซื้อเครื่องบิน F-16 จากสหรัฐอเมริกา/อินโดนิเซีย รัฐสภาของประเทศอินโดนีเซีย ประกาศระงับการจัดซื้อเครื่องบินรบ F-16 มือสองจำนวน 30 ลำจากสหรัฐอเมริกา เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับเรื่องบประมาณ อีกทั้งยังต้องการลดการพึ่งพาวัสดุอุปกรณ์ทางทหารจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2010 สหรัฐอเมริกาได้เสนอขายเครื่องบินรบ F-16 มือสองให้แก่รัฐบาลอินโดนิเซียผ่าน Foreign Military Sale ซึ่งรัฐบาลอินโดนิเซียมีกำหนดจะลงนามเพื่อสั่งซื้อเครื่องบิน F-16 ดังกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ 2012 และจะได้รับมอบภายในปี 2014 อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา รัฐสภาได้สั่งทบทวนแผนการดังกล่าว ซึ่งทางกระทรวงกลาโหมก็ไม่ได้ขัดข้องแต่อย่างใด ทั้งนี้ทั้งรัฐสภาและกระทรวงกลามโหมไม่ได้ชี้แจงเหตุผลถึงการตัดสินใจในครั้งนี้ แต่คาดกันว่าน่าจะเป็นการตอบโต้รัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่องของนโยบายห้ามขายอาวุธให้อินโดนิเซียในช่วงยุคทศวรรษที่ 1990 และการที่รัฐบาลสหรัฐฯ โจมตีอินโดนิเซียเรื่องสิทธิมนุษยชนจากกรณีติมอร์ตะวันออก
๏ สหราชอาณาจักรเริ่มสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่อย่างเป็นทางการ/สหราชอาณาจักร สหราชอาณาจักรได้เริ่มการสร้างเรือบรรทุกเครื่อบินชั้น Queen Elizabeth-class ลำใหม่อย่างเป็นทางการในวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ณ อู่ต่อเรือ Babcock เมือง Rosyth ในประเทศสกอตแลนด์ โดยมีนาย Peter Luff รัฐมนตรีกระทวงเทคโนโลยี การสนับสนุน และอุปกรณ์ทางการทหาร (Minister for Defence Equipment, Support and Technology) เข้าร่วมงาน โดยได้ Peter Luff ได้กล่าวเสริมว่า งานการก่อสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินนั้น ถือเป็นงานที่ยากมากและท้าทาย แต่โชคดีที่ประเทศสหราชอาณาจักรเองก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้อยู่จำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินที่ดีที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน