http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9560000091624ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- กองกำลังป้องกันตนเองแห่งชาติแอฟริกาใต้ (South African National Defense Force) กำลังพิจารณานำเครื่องบินขับไล่ JAS-39 กริพเพน (Gripen) ที่มีประจำการทั้งหมด 26 ลำออกขาย พร้อมกับเฮลิคอปเตอร์เอนกประสงค์แบบออกุสตา เอ109 (Augusta A109) เนื่องจากไม่มีงบประมาณพอที่จะให้อากาศยานเหล่านี้ปฏิบัติการต่อไป หนังสือพิมพ์ในท้องถิ่นรายงานเรื่องนี้ โดยยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับกรอบเวลาในการดำเนินการ
อย่างไรก็ตามการเปิดเผยเรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นภาพรวมเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดกับกองทัพอากาศของประเทศนี้ รวมทั้งช่วยให้คำตอบว่า เพราะเหตุใดกองทัพแอฟริกาจึงไม่สนับสนุนความริเริ่มของกลุ่มซาบแห่งสวีเดน ที่เสนอตั้งโรงเรียนฝึกและสอนการใช้อาวุธของเครื่องบินรบกริพเพนในแอฟริกาใต้ และ ทำให้ต้องมองมายังประเทศไทยเป็นที่ตั้งแห่งใหม่
หนังสือพิมพ์บีลด์ (Beeld) รายงานเมื่อวันที่ 24 ก.ค.2556 ระบุว่า สำหรับเฮลิคอปเตอร์ A109 ที่มีใช้ในกองทัพอากาศจำนวน 18 ลำนั้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้งานคือ "บินได้บ้าง บินไม่ได้บ้าง" ส่วนกริพเพนทั้ง 26 ลำ เป็นปัญหาจากการตัดงบประมาณของกองทัพทำให้ไม่สามารถบำรุงรักษาหรือแม้กระทั่งให้นักบินขึ้นบินฝึกและบินลาดตระเวนได้ตามปรกติ ทำให้ต้องพิจารณาหาทางจำหน่าย
แอฟริกาใต้ได้พยายามปกปิดเรื่องนี้เป็นความลับมาตลอด จนกระทั่งมีการอภิปรายในรัฐสภาเมื่อเร็วๆ นี้ จึงทำให้สาธารณชนได้รับทราบว่า ปัจจุบันมีการนำ JAS-39 ออกปฏิบัติการตามปรกติเพียง 14 ลำเท่านั้นซึ่งได้ "บินบ้าง ไม่ได้บินบ้าง" อีก 12 ลำที่เหลือ "เก็บเอาไว้ในโรงเก็บระยะยาว"
เมื่อข่าวนี้เผยแพร่ออกไปเพียงข้ามวันได้มีผู้อ่านนับร้อยๆ คนเข้าไปแสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ และเสียงส่วนใหญ่สนับสนุนให้รัฐบาลขายกริพเพนทั้งฝูงหรือครึ่งหนึ่งของทั้งหมด เพื่อนำเงินค่าดูแลรักษา ค่าปฏิบัติการ และนำรายได้จากการขยาย ไปใช้ในโครงการพัฒนาต่างๆ ในขณะที่เหตุการณ์กับประเทศเพื่อนบ้านกลับคืนสู่ภาวะปรกติมาร่วม 20 ปีแล้ว
บางคนเขียนว่า ในทศวรรษนี้คงจะไม่มีกองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่นไปรุกรานอีก เช่นเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2
มีเพียงผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมจำนวนหนึ่งที่เห็นว่า เครื่องบินรบยังมีความจำเป็นในการป้องกันประเทศ
"กองทัพอากาศที่ไม่มีเครื่องบินขับไล่ ไม่ต่างกับเป็ดตายในความหมายของกองทัพในแอฟริกา และกองทัพบกที่ไม่มีเฮลิคอปเตอร์กับเครื่องบินลำเลียงขนส่งไม่ต่างจากไดโนเสาในบึง" นายเฮลโหมด-โรเมอร์ ไฮต์แมน (Helmoed-Romer Heitman) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารกล่าวกับบีลด์
"กองทัพที่ไม่มีเฮลิคอปเตอร์โจมตีและเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงขนส่งคือเป็ดง่อยดีๆ นี่เอง กองทัพเรือที่ไม่มีเฮลิคอปเตอร์กับเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลไม่ต่างกับคนตาบอด" นายไฮต์แทนกล่าว
ปัจจุบันแอฟริกาใต้เป็น 1 ใน 6 ประเทศที่มี JAS-39 ประจำการโดยจัดซื้อเป็น 2 ล็อต ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากบรรดานักการเมืองที่มองไม่เห็นความจำเป็น กลุ่มซาบแห่งสวีเดนทยอยส่งมอบจนครบทั้ง 26 ลำปลายปีที่แล้ว
ในยุคแห่งสันติภาพ และผ่านพ้นยุคของรัฐบาลเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ แอฟริกาใต้ที่เคยร่ำรวยด้วยแร่ธาตุโลหะล้ำค่าต่างๆ กลับเผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลถึงกองทัพที่ขาดการปรับปรุงให้ทันสมัย
เพิ่งมีการเปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้เช่นกันว่า นับตั้งได้รับมอบล็อตแรกๆ เครื่องบินขับไล่ JAS-39 ถูกใช้งานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การถูกตัดงบประมาณทำให้ต้องลดชั่วโมงบินลง ขณะเดียวกันกองทัพอากาศได้มอบหมายให้ฝูงบินฮอว์ค MK120 ซึ่งเป็นเครื่องบินฝึกสำหรับนักบินขับไล่ผลิตในอังกฤษที่มีอยู่ 24 ลำ ออกบินลาดตระเวนเป้าหมายต่างๆ แทนกริพเพน
นอกจากนั้นยังมีสัญญาณอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นปัญหาด้านการเงินที่ส่งผลกระทบต่อกองทัพ รวมทั้งข่าวชิ้นหนึ่งที่ระบุว่า ปี 2556 นี้ แอฟริกาใต้เป็นหุ้นส่วนกริพเพนเพียงประเทศเดียว ที่ไม่ต่อสัญญาการดูแลรักษาเครื่องบินรบกับซาบ หลังจากสัญญาฉบับแรกหมดอายุลงสิ้นปี 2555
กริพเพนทั้ง 2 ฝูงเป็นเครื่องบินขับไล่เพียงแบบเดียวที่ประจำการในกองทัพแอฟริกาใต้ปัจจุบัน นอกจากนั้นเป็นเครื่องบินขนาดเล็ก สำหรับบินฝึกและบินตรวจการณ์ทั่วไป มีเครื่องบินขนส่งแบบซี-130 เฮอร์คิวลีส อีก 7 ลำ เป็นกำลังหลักในการลำเลียงขนส่ง ที่เหลือเป็นเครื่องบินขนส่งใบพัดขนาดเล็กทั้งสิ้น
แอฟริกาใต้ยังมีเฮลิคอปเตอร์ที่ผลิตในยุโรปอีกหลายสิบลำ แต่ส่วนใหญ่เป็น ฮ.ขนส่งลำเลียงขนาดเล็ก กับ ฮ.โจมตีอีก 11 ลำ ซึ่งผลิตเอง สำหรับ A109 ที่ต้องการกำลังพิจารณานำออกขายนี้ เป็น ฮ.เอนกประสงค์ขนาดเบา ซื้อจากผู้ผลิตในประเทศอิตาลี.
.