สื่อญี่ปุ่นสัมภาษณ์ "บิ๊กป้อม" ทัพฟ้าไทยสนใจ US2 เครื่องบินครึ่งบกครึ่งน้ำพันธุ์ปลาดิบ
ไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ให้ความสนใจเครื่องบินทะเล (Seaplane) แบบ US2 "ชินเมวะ" (Shinmaywa) ที่ผลิตในญี่ปุ่น และ มีประจำการในกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นปัจจุบัน สื่อในประเทศนี้อ้างคำพูดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ให้สัมภาษณ์พิเศษแก่ สำนักข่าวเกียวโด ในกรุงเทพฯ เมื่อไม่นานมานี้
ไทยได้ก]ายเป็นประเทศที่สามที่ให้ความสนใจเครื่องบินที่ขึ้นลงในทะเลหรือกระทั่งในแม่น้ำได้ และ สามารถใช้งานได้อเนกประสงค์ ทั้งเพื่อการทหาร เช่น การลำเลียงพล ยกพลขึ้นบก การขนส่งสัมภาระทางทะเล และ ใช้ในกิจการพลเรือนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการช่วยค้นหา และ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ หรือ นำความช่วยเหลือเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยที่ประสบอุทกภัย เป็นต้น
ตามรายงานของสื่อในญี่ปุ่น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า กองทัพอากาศไทยจะนำเครื่องบิน US2 ไปในกิจการที่ไม่เกี่ยวกับการทหาร และ อยู่ระหว่างการศึกษาหาข้อมูลรายละเอียดต่างๆ
"จำเป็นที่จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดในหลายด้าน เช่น ราคาและประโยชน์ในการใช้สอยต่างๆ" ซึ่งเครื่องบินรุ่นนี้อยู่ในความสนใจของกองทัพอากาศไทย และ ถ้าหากเงื่อนไขต่างๆ สามารถตกลงกันได้ ไทยก็จะทำการศึกษาเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดหาต่อไป สื่อญี่ปุ่นอ้างคำพูด รมว.กลาโหมของไทย
ปลายปี 2556 อินเดียได้เป็นลูกค้านอกประเทศรายแรก ที่แสดงความสนใจเครื่องบินรุ่นนี้ และ จะซื้อจำนวนมากเพื่อใช้ในภารกิจของกองทัพ อาจจะถึง 16-18 ลำ แต่มีเงื่อนว่าจะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และ จำนวนหนึ่งจะต้องผลิตในอินเดีย ซึ่งยังไม่มีรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้จากฝ่ายใดอีก
หนังสือพิมพ์แจแปนไทม์ส รายงานในสัปดาห์ต้นเดือน เม.ย.ปีนี้ว่า อินโดนีเซียกำลังเจรจาขอซื้อ เครื่องบิน US-2 เรื่องนี้มีขึ้นระหว่างการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ โดยประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซีย นายโจโก วิโดโด (Joko Widodo) ซึ่งสองฝ่ายได้ลงนามในความตกลงหลายฉบับ ครอบคลุมถึงความร่วมมือด้านกลาโหมด้วย
แจแปนไทม์สรายงานเรื่องนี้ โดยอ้างการสัมภาษณ์พิเศษรัฐมนตรีกลาโหมอินโดนีเซีย ริอามิซาร์ด รีอาคูดู (Ryamizard Ryacudu) ที่กล่าวว่า อินโดนีเซียกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ ก่อนที่กระทรวงฯ จะนำเสนอเรื่องนี้ต่อประธานาธิบดีวิโดโด
รัฐบาลญี่ปุ่นยินดีที่จะขายเครื่องบิน US-2 ให้แก่มิตรประเทศที่ต้องการ เนื่องจากอากาศยานที่ผลิตโดยกลุ่มชินเมวะอินดัสตรี (ShinMaywa Industry) เหมาะยิ่งสำหรับประเทศที่เป็นหมู่เกาะใหญ่ หรือ มีเขตน่านน้ำที่กว้างไกล หรือ ประชาชนประสบภัยธรรมชาติอยู่บ่อยๆ เครื่องบินทะเล US2 สามารถนำไปใช้ในหน่วยบินลาดตระเวณ และ หน่วยค้นหากู้ภัยทางน้ำ ปัจจุบันกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นมีประจำการจำนวน 3 ลำ
ในท่ามกลางความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หลายประเทศในอาเซียต่างแสวงหาอาวุธยุทธภัณฑ์ในการป้องกัน และป้องปราม ไทยกับอินโดนีเซียก็รวมอยู่ในนั้น ถึงแม้จะไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง แต่ก็ได้พัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันตนเองมาเป็นระยะ
อาวุธยุทธปัจจัยที่มีคุณภาพดีจากญี่ปุ่น ได้กลายเป็นความหวังของหลายประเทศ แทนอาวุธที่ผลิตในรัสเซียและจีน นอกจากอินโดนีเซียกับอินเดีย ก็ยังมีออสเตรเลียอีกประเทศหนึ่ง ที่อยู่ระหว่างเจรจาขอซื้อเรือดำน้ำชั้นโซรียู (Soryu-class) ของญี่ปุ่น ซึ่งจะมีทั้งซื้อ และร่วมผลิต แต่ญี่ปุ่นเองอาจจะยังติดปัญหาทางข้อกฎหมายตาม "รัฐธรรมนูญแนวสันติ" ที่ใช้มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีบัญญัติห้ามส่งออกอาวุธโจมตีหลายชนิด
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ถ้าหากญี่ปุ่นสามารถขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่มิตรประเทศได้ โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในภูมิภาค.
http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9580000063532 ไอ้เครื่องแบบนี้ของ ทร.ไทย ปลดประจำการไปหรือยัง