บีบีซีไทย - BBC Thaiสงครามที่ใช้โดรนเป็นอาวุธการโจมตีโดยใช้โดรนหรืออากาศยานไร้คนขับที่บังคับจากระยะไกล เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาก
ดูเหมือนว่าชาติที่ส่งโดรนออกไปโจมตีในการสู้รบ มีข้อได้เปรียบหลายด้าน ซึ่งรวมถึงไม่ต้องส่งทหาร
ของตนออกไปเสี่ยงตาย แต่โจนาธาน มาร์คัส ผู้สื่อข่าวสายการทูตของบีบีซีรายงานว่า การใช้โดรนได้
ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการบังคับใช้กฎหมาย กับการทำสงครามและปราบปรามการก่อการร้ายคลุมเครือ
ไม่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น กรณีการใช้โดรนของกองทัพอากาศอังกฤษ ซึ่งทำให้พลเมืองอังกฤษ
คนหนึ่ง ที่ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกกลุ่มรัฐอิสลามเสียชีวิตในซีเรียนั้น ได้กลายเป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์
กันอย่างมาก
ผู้สื่อข่าวบีบีซีบอกว่า จริง ๆ แล้วเครื่องบินรบและโดรนของอังกฤษ ไม่ได้เข้าร่วมปฏิบัติการโจมตีเป้าหมาย
ในซีเรีย เนื่องจากอังกฤษไม่ได้เป็นคู่สงครามกับซีเรีย เพียงแต่ว่าผู้เสียชีวิตเป็นคนอังกฤษ ซึ่งส่งผลให้มี
หลายกลุ่มออกมาวิจารณ์รัฐบาลนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ผู้นำอังกฤษ ว่ากำลังดำเนินนโยบายแบบ
เดียวกับสหรัฐฯ เพราะนำโดรนมาใช้เป็นอาวุธในการปราบปรามผู้ก่อการร้าย ขณะที่รัฐบาลอังกฤษยืนยันว่า
บุคคลที่เสียชีวิตกำลังเตรียมก่อเหตุก่อการร้ายโจมตีอังกฤษ และไม่มีทางอื่นในการทำลายแผนการดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวชี้ว่า ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่ามีการใช้โดรนทหาร เพื่อเป้าหมายที่หลากหลายแบบนึกไม่ถึง ขณะเดียว
กันก็มีประเด็นเรื่องข้อกฎหมายและศีลธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องกรณีการขยายขอบข่ายการใช้โดรนออกไป โดย
ขณะนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น ที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีและการสอดแนมจนถึงขั้นที่สามารถใช้โดรน
ในลักษณะแบบนี้ได้ ดูเหมือนว่าสหรัฐฯ กับอิสราเอลเป็นชาติที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ และชาติ
พันธมิตรต่างก็ใช้ระบบโดรนขั้นสูงของสหรัฐฯ กับอิสราเอล
ส่วนในประเทศอื่นนั้น มีรายงานว่าการใช้โดรนทหารมีเพิ่มมากขึ้น โดยเมื่อต้นเดือนนี้ ปากีสถานใช้โดรนที่
ผลิตขึ้นเองเพื่อโจมตีเป้าหมายในวาซิริสถานเหนือ ผู้สื่อข่าวบอกว่าประสิทธิภาพเรื่องความแม่นยำของโดรน
ทำให้ผู้เชี่ยวชาญในโลกตะวันตกหลายคนทึ่ง และต่างวิจารณ์ว่าปากีสถานน่าจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี
มาจากจีน นักวิเคราะห์ประเมินว่า จีนกับอิหร่านต่างนำโดรนทหารของตนออกปฏิบัติงานจริง และมีหลาย
ประเทศได้แสดงความสนใจที่จะซื้อโดรนดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ ผลการศึกษาเมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ของศูนย์
เพื่อความมั่นคงแนวใหม่ของสหรัฐฯ ระบุว่า มีราว 90 ประเทศทั่วโลกใช้โดรนไม่ก็ทางใดทางหนึ่ง และอย่างน้อย
30 ประเทศใช้หรือพัฒนาโดรน หรือซื้อโดรนเพื่อนำมาใช้ในเป้าหมายทางทหาร
ผู้สื่อข่าวบอกว่า โดรนทหารรุ่นต่าง ๆ ที่ใช้กันในขณะนี้มีลักษณะคล้ายกัน ทั้งนี้อาจมาจากการถ่ายทอด
เทคโนโลยีหรือลอกเลียนแบบโดยตรง เช่น โดรนรุ่นเอ็มคิว-9 รีเปอร์ ของสหรัฐฯ เป็นรุ่นที่มีเพดานบินในระดับ
ปานกลางหรือสูงมาก บินได้เร็วและสูงกว่ารุ่นที่ออกมาก่อนหน้านี้ คือรุ่น เอ็มคิว-1 พรีเดเตอร์ ส่วนโดรนเฮอร์เมส
900 ของอิสราเอล มีเพดานบินในระดับปานกลาง บินได้ในระยะไกล ขณะที่โดรนวิง หลุง ของจีน ที่เริ่มผลิต
ออกมาตั้งแต่เมื่อราว 10 ปีที่แล้วนั้น นักวิเคราะห์มองว่ามีลักษณะคล้ายกับรุ่นเอ็มคิว-1 พรีเดเตอร์ของสหรัฐฯ
แม้หลายคนเห็นว่าการใช้โดรนทหารเป็นรูปแบบการต่อสู้ที่ไม่ยุติธรรม เพราะชาติที่ส่งโดรนออกไป ไม่ต้องให้
ทหารของตนออกไปเสี่ยงภัย อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ได้เป็นประเด็นที่ฝ่ายวางแผนเป็นห่วงตั้งแต่ต้นแล้ว
เนื่องจากในการทำสงคราม หากจะยึดถือคำว่า ยุติธรรม ก็มองได้ว่าเป็นเรื่องที่ผิดประเด็น เพราะหลักสำคัญ
ของการทำสงครามคือลดความเสี่ยงของฝ่ายตนให้ได้มากที่สุดและก่อให้เกิดความสูญเสียต่อศัตรูมากที่สุด
ซึ่งโดรนก็ได้กลายเป็นอาวุธที่สั่นคลอนเสถียรภาพและความมั่นคงของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้สื่อข่าวชี้ว่า เนื่องจากโดรนเป็นเครื่องมือที่สามารถนำไปใช้ตอบโต้ได้อย่างรวดเร็ว บินสอดแนมเหนือน่านฟ้า
ได้เป็นเวลานาน ให้ผลแม่นยำในการโจมตีเป้าหมายที่มีขนาดเล็ก ทั้งไม่ต้องเสี่ยงส่งทหารออกไปรบ ทำให้เชื่อ
ได้ว่าจะมีการนำโดรนมาใช้บ่อยขึ้น ทั้งนี้สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชนในสหรัฐฯ
ได้เสนอว่า ควรจัดให้โดรนเป็นอาวุธประเภทหนึ่ง ควรมีการควบคุมและกำหนดบรรทัดฐานการใช้ โดยฝ่าย
วิจารณ์ชี้ว่า การใช้โดรนของรัฐบาลสหรัฐฯ นับตั้งแต่หลังเหตุการณ์โจมตีตึกเวิร์ดเทรดเมื่อปี 2544 เป็นการใช้
ที่ผิดบรรทัดฐานไปมาก
เห็นได้ชัดว่าโดรนไม่ได้เป็นเพียงอาวุธสงครามเท่านั้น เพราะสหรัฐฯ ใช้โดรนโจมตีเป้าหมายมาเป็นร้อย ๆ ครั้ง
โดยเฉพาะในประเทศที่ในทางเทคนิคแล้ว ไม่ได้เป็นคู่สงครามกับสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของโดรน
ที่สหรัฐฯ ใช้ในการโจมตี ก็ยังคงเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายตั้งคำถาม เช่น ได้ทำลายเป้าหมายตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่
และมีพลเรือนบาดเจ็บล้มตายไปเท่าไร
เส้นแบ่งที่ไม่ชัดเจนระหว่างการใช้โดรนเพื่อทำสงครามกับใช้เพื่อการปราบปรามการก่อการร้าย ทำให้ฝ่ายวิจารณ์
บอกว่า การใช้โดรนของรัฐบาลหลายชาติมีลักษณะที่ไม่ต่างไปจากการทำวิสามัญฆาตกรรม ขณะที่รัฐบาลชาติต่าง ๆ
แย้งแบบเดียวกับที่รัฐบาลอังกฤษแย้งในกรณีการใช้โดรนในซีเรียว่า เป็นการใช้ภายใต้กฎหมายและถูกต้องตามหลัก
กฎหมายระหว่างประเทศ
ปัญหาเชิงความมั่นคงที่เกี่ยวกับการใช้โดรนยังพอกพูนมากขึ้น จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโดรนพลเรือน
โดยทุกวันนี้ คนทั่วไปสามารถหาซื้อโดรนที่ทันสมัยได้ตามท้องตลาดทั่วไป และสักวันหนึ่งกลุ่มอาชญากรรมหรือ
ก่อการร้ายจะนำโดรนในลักษณะนี้ไปใช้เป็นอาวุธ ทั้งที่ปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ กฎหมายและจริยธรรมในเรื่องการใช้
โดรนทหารก็มีมากพออยู่แล้ว และนับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น หากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกหันมาใช้โดรนเป็นอาวุธกัน
มากขึ้น มีหลายฝ่ายที่ต้องการให้มีสนธิสัญญาหรือข้อบังคับระหว่างประเทศเรื่องการใช้โดรน รวมถึงเรื่องการถ่ายทอด
เทคโนโลยีโดรนทหาร เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับการใช้โดรนในลักษณะที่จัดเป็นอาวุธพิเศษ
ภาพประกอบ เรียงตามเข็มนาฬิกา จากบนซ้าย เอ็มคิว-9 รีเปอร์, เอ็มคิว-1 พรีเดเตอร์, เฮอร์เมส 900, วิง หลุง