ตั้งอู่ตะเภาเป็น"มหานครอากาศยาน"แบ่งเค้กเอกชน1.5หมื่นล้าน เป้าโกยรายได้ 2.4แสนล้าน
ภาพจาก asean-focus.com
คมนาคม สรุปผลศึกษาตั้ง อู่ตะเภา เป็นนิคมอุตสาหกรรมการบินของไทย งบลงทุน 1.5 หมื่นล้าน สร้างรายได้ 2.4 แสนล้าน แผนพัฒนา 3 ระยะ ดึงเอกชนร่วมลงทุน 30 ปี
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมสรุปผลการศึกษาเร่งรัดตั้งอุตสาหกรรมการบินของไทยว่า ที่ประชุมมีผลสรุปให้ใช้พื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานและผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ภายใต้ชื่อ มหานครอากาศยานครบวงจร หรือ แอโรโพลิส (Aeropolis) กำหนดแผนการพัฒนาออกเป็น 15 ปี รวม 3 ระยะ
ระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี 2559-2561 เป็นขั้นตอนการก่อสร้างโรงซ่อม 2 โรงซ่อม โดยจะเปิดให้บริการนำร่องกับสายการบินต้นทุนต่ำก่อน มีเป้าหมายคือการดึงส่วนแบ่งการตลาดให้ได้ 40% ของตลาดรวมในอาเซียน
ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2564-2566 จะก่อสร้างเพิ่มอีก 2 โรงซ่อม
ระยะที่ 3 ตั้งแต่ปี 2569-2571 จะทำการก่อสร้างเพิ่มอีก 2 โรงซ่อม โดยมีเป้าหมายคือการดึงส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มเป็น 60% ของตลาดรวมในอาเซียน
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวคาดว่าจะใช้เงินที่ใช้ลงทุนทั้งหมดประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้กว่า 2.4 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 30 ปี
ขณะเดียวกันจะเดินหน้าในส่วนของอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนควบคู่ไปด้วย เนื่องจากผลการศึกษาระบุว่ายังมีส่วนแบ่งกำไรอยู่ 9.5% ของตลาดอาเซียน ส่วนอุตสาหกรรมบริการซ่อมบำรุงอากาศยานมีกำไรอยู่ประมาณ 17% ซึ่งจะทำให้มีกำไรได้ตามเป้าหมาย ทั้งยังสามารถช่วยป้องกันเงินรั่วไหลออกนอกประเทศได้มากกว่า 6.5 พันล้านบาท
นอกจากนี้ จะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (พีพีพี) เนื่องจากผลการศึกษาสามารถระบุว่า การลงทุนดังกล่าวมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 22% และมีผลตอบแทนทางการเงินเฉลี่ย 30 ปี อยู่ที่ 6.3% จึงมั่นใจว่าจะสามารถเชิญชวนเอกชนเข้ามาลงทุนได้ และเมื่อพัฒนาโครงการจนครบทั้ง 3 ระยะแล้ว จะมีการพิจารณาหาพื้นที่อื่นที่มีความเหมาะสมเพื่อขยายการซ่อมบำรุงอากาศยานให้เพียงพอต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินต่อไป
นายอาคม กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันเครื่องบินที่ให้บริการของไทยนั้นใช้งบประมาณซ่อมบำรุงประมาณ 2.32 หมื่นล้านบาท และกว่า 60% เป็นการนำไปซ่อมบำรุงยังต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.39 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากมีการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น จะสามารถดึงเครื่องบินที่ไปซ่อมในต่างประเทศให้ซ่อมบำรุงในไทยได้จำนวนไม่น้อย ยิ่งไปกว่านั้น หากโครงการพัฒนาโครงการ "มหานครอากาศยานครบวงจร" สำเร็จจะช่วยพัฒนาบุคลากรด้านการบินให้ไทยได้มากขึ้น โดยอาจสามารถพัฒนาบุคลากรเพิ่มเติมอีก 7,615 คน เช่น วิศวกรช่างอากาศยาน และแรงงาน เป็นต้น
โดยขั้นตอนหลังจากนี้ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เสนอข้อมูลให้กองทัพเรือในฐานะเจ้าของพื้นที่พิจารณา ก่อนเสนอขออนุมัติ ครม. และคณะกรรมการพีพีพีต่อไป
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1444779989