เว็บบอร์ดสนทนาภาษาปืน
ตุลาคม 11, 2024, 09:18:31 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: เว็บบอร์ด อวป. สามารถเข้าได้ทั้งสองทาง คือ www.gunsandgames.com และ www.gunsandgames.net ครับ
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ข่าวเก่า แต่กินใจ ครับ  (อ่าน 3381 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Chayanin-We love the king
ฟ้าสว่างสดใสไร้มลทิน เพียงเมฆินบังเบียดเสนียดฟ้า แกว่งยางยูงปัดป้องท้องนภา ผู้แก่กล้าโปรดอย่าว่าตัวข้าเลย
ชาว อวป.
Hero Member
****

คะแนน 62
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2610



« เมื่อ: มิถุนายน 21, 2005, 04:38:23 PM »

สมเด็จพระนเรศวรฯ กับชนกลุ่มน้อย

ขณะที่หลายองค์กร กำลังจัดงาน เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เนื่องในวาระครบรอบ 400 ปีแห่งการสวรรคต อีกฟากหนึ่ง ของชายแดนตะวันตกไทย กำลังคุกรุ่น ด้วยปัญหา การสู้รบ ระหว่างกองกำลังพม่า-ว้าแดง ที่บุกขึ้นโจมตี กองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ ท่ามกลางความเคลื่อนไหว ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกันนั้น นวลแก้ว บูรพวัฒน์ มีรายงานชิ้นสำคัญที่เชื่อมโยง 2 เหตุการณ์ ผ่านมุมมอง ทางประวัติศาสตร์

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จสวรรคตล่วงไปแล้ว 400 ปี ในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ.2548 นี้มีการเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ ในจังหวัดพิษณุโลกนั้นนอกจากการแสดงแสงสีเสียงอันโอฬารในบริเวณวัดวิหารทอง วัดเก่าแก่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และพระราชวังจันทน์ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งศาลของสมเด็จพระนเรศวรฯแล้ว ยังมีการทำพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณของบุรพกษัตริย์ไทยพระองค์นี้ ที่ค่ายนเรศวรฯ ข่าวว่า ผู้นำระดับสูงทั้งทหารและพลเรือนต่างเดินทางเข้าร่วมในพิธีบวงสรวงอันยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์นี้ อย่างพร้อมเพรียงกัน

การบวงสรวงดวงวิญญาณสมเด็จพระนเรศวรฯครั้งนี้ กระทำขึ้นในขณะซึ่งชายแดนตะวันตกของไทย กำลังคุกรุ่นด้วยปัญหารุนแรงของการสู้รบระหว่างกองกำลังพม่า-ว้าแดง ที่บุกขึ้นโจมตีกองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ (SSA-Shan State Army) ซึ่งมีฐานที่มั่นสำคัญประชิดชายแดนไทย ห่างไปไม่ถึง 2 กิโลเมตรในบริเวณยอดดอยไตแลง ตรงข้าม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน

สงครามตัวแทนครั้งนี้ พม่าใช้ยุทธวิธีเดิม คือ ให้ชนกลุ่มน้อยฆ่ากันเอง โดยใช้ว้าแดงบุกขึ้นฐานที่มั่นของไทยใหญ่ การสู้รบอัดกันอย่างหนักผ่านไปแล้วสองรอบ ครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา ตลอดทั้งวันพม่ายิงปืน ค.120, ค.81, ค.82 รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 3,340 ลูก รายงานการสูญเสียของการสู้รบตลอดเดือนเมษายนที่ผ่านมา พันเอกเจ้ายอดศึก ผู้นำกองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ กล่าวว่า ว้าแดงตายไป 337 คน บาดเจ็บ 340 กว่าคน รวมแล้วประมาณ 680 คน ทางไทยใหญ่ซึ่งอยู่ในภูมิประเทศที่ได้เปรียบ เพราะอยู่ในจุดสูงกว่า มีทหารไทยใหญ่ตายไป 5 คน บาดเจ็บ 25 คน และทางไทยใหญ่ยังยึดได้อาวุธอีกจำนวนหนึ่ง มีทั้งปืน อาร์พีจี และระเบิดขว้าง 3 กล่อง ประมาณ 150 ลูก

แต่ในขณะนี้ ช่วงพักรบไปสิบกว่าวัน ว้ายังไม่ถอนกำลังออกไป และพม่าก็ได้เสริมกำลังพลเข้ามาเต็มเมืองสาด เมืองโต๋น ขนทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วยรถโฟร์วีลเข้ามาในพื้นที่รอบดอยไตแลงวันหนึ่งๆ หลายสิบคัน ประมาณว่า ขณะนี้มีทหารพม่าทหารว้าแดงอยู่เป็นหมื่นนาย และการสู้รบรอบที่สามก็กำลังจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงภายในเร็ววันนี้ ก่อนฤดูฝนมาเยือน

ช่วงเวลาราวครึ่งเดือนที่ผ่านนี้ จึงเป็นจังหวะแห่งการ 'พักรบ' ของนักรบไทยใหญ่ นักรบพลทหารซึ่งหลายคนขี้อายขนาดหนัก ยิ้มกะเรี่ยกะราดเดินหนีเอาดื้อๆ เวลาถูกผู้หญิงเดินตาม และตะบอยขอดูสร้อยคอเชือกป่านที่แขวนเหรียญทองแดงรมดำ รูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีจารึกอักษรภาษาไทยใหญ่ระบุพระนามของพระองค์อย่างชัดเจน หนุ่มทหารไทยใหญ่หน้าเหี้ยม หน้าอ่อน หรือเหน็ดเหนื่อยหมดแรง ที่ได้เดินตามไปขอดูเครื่องรางประจำตัว ล้วนมีเหรียญสมเด็จพระนเรศวรฯแขวนไว้เคารพบูชา เป็น 'ของขลัง' ยามออก 'หน้าศึก' กลางสนามรบทั้งสิ้น

จนชวนให้ฉงนและแปลกใจยิ่งนักว่า เหตุใดชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะทหารไทยใหญ่ จึงได้เคารพบูชาสมเด็จพระนเรศวรฯบุรพกษัตริย์ไทยอย่างหนักแน่นมั่นคงเช่นนี้ ถือเป็นขวัญกำลังใจอันสำคัญที่สุดทั่วทั้งกองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ (SSA) ทั้งที่สมเด็จพระนเรศวรฯเป็นกษัตริย์ไทยและเสด็จสวรรคตล่วงผ่านไปแล้วถึง 400 ปี!

สมเด็จพระนเรศวรฯ นั้นเป็นกษัตริย์นักรบ ในปี พ.ศ.2127 พระองค์ได้ประกาศอิสรภาพจากพม่า หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียเอกราชตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าถึง 15 ปี แต่เหตุผลนี้มิใช่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ทหารไทยใหญ่รุ่นปัจจุบันเคารพนับถือสมเด็จพระนเรศวรฯ การค้นหาคำตอบตรงนี้ จึงจำเป็นต้องมองลึกเข้าไปในประวัติศาสตร์ ทั้งในพงศาวดารไทยและหลักฐาน ทางไทยใหญ่ ซึ่งคำตอบที่พบก็สอดคล้องต่อเนื่องซึ่งกันและกันอย่างน่าอัศจรรย์!

และคำตอบของการที่สมเด็จพระนเรศวรฯยังเป็นที่เคารพบูชาต่อเนื่องมาในหัวใจของทหารไทยใหญ่ ก็มีสาเหตุสำคัญมาจากนโยบายอันเต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรมของสมเด็จพระนเรศวรฯต่อชนกลุ่มน้อยนั่นเอง

ประวัติศาสตร์ในอดีตที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะกับมอญ กะเหรี่ยง ไทยใหญ่นั้น มีความสัมพันธ์แนบแน่นลึกซึ้ง มอญ กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ คือ 'ชาวด่าน' ที่คอยป้องกันขอบขัณฑสีมาจากการรุกรานของพม่า จนแม้ไทยใหญ่ที่ถูกกุมตัวเป็นเชลยอยู่กลางเมืองพม่าเอง ก็พร้อมจะแข็งขืนไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจพม่า และฝักใฝ่อยู่กับฝ่ายไทยซึ่งเป็นเชื้อชาติเดียวกันมาตลอดช่วงประวัติศาสตร์ ดังปรากฏอยู่ในหลักฐานทางไทยใหญ่ ที่ครูเคอแสนนักประวัติศาสตร์ชาวไทยใหญ่เขียนไว้ในบทความ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเจ้าคำก่ายน้อยแห่งไทยใหญ่ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม 2545 ว่า ครั้งที่กษัตริย์บุเรงนองยกทัพเข้ามาตีเมืองไทย ลาว เชียงใหม่ เชียงห่ม ในปี พ.ศ.2108 นั้น

“เจ้าฟ้าไทยใหญ่และทหารไทยใหญ่ที่ถูกจับเป็นเชลยอยู่ในเมืองหงสาวดีนั้นถือโอกาสจุดไฟเผาหอ, วังในเมืองหงสาวดีเสียหาย จนกระทั่งพวกอำมาตย์ของพม่าต้องหนีไปอยู่ที่ 'เมืองทละ' การเผาหอ, วัง ในครั้งนี้เจ้าฟ้าไตย (ไทยใหญ่) ให้เหตุผลว่า เพราะพม่าทำการรุกรานนำทัพเข้าตีเมืองพี่เมืองน้องของไตย หลังจากบุเรงนองทราบข่าวจึงรับยกทัพกลับเมืองหงสาวดีทันที และจับเจ้าฟ้าไตยและคนไตยหมื่นกว่าคนทำการเผาทั้งเป็นที่เมืองหงสาวดี”

ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างชนกลุ่มน้อยกับทางฝ่ายไทย จนไทยใหญ่ต้องสังเวยชีวิตไปหมื่นกว่าศพนี้ ยังมีเรื่องราวต่อเนื่องมาอีก ในช่วงที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงทำสงครามประกาศอิสรภาพจากการยึดครองของพม่า ครั้งนั้นทหารไทยใหญ่ได้เป็นกำลังพลสำคัญ เป็นเพื่อนตายร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่มากับทหารไทย ต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติไทย กอบกู้เรียกคืนแผ่นดินจากการยึดครองของพม่า ดังมีหลักฐานทางฝ่ายไทย ปรากฏอยู่ใน พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม กล่าวถึงในสมัยที่ไทยยังเป็นเมืองขึ้นของพม่า กษัตริย์พม่าเห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรฯนั้น “ประกอบไปด้วยปัญญาหลักแหลมลึกซึ้ง ทั้งการสงครามก็องอาจกล้าหาญ นานไปเห็นจะเป็นเสี้ยนศัตรูต่อเมืองหงสาวดีเป็นมั่นคง”

พระเจ้าหงสาวดี จึงอ้างว่า กรุงอังวะเป็นกบฏขอให้พระนเรศวรยกทัพไปช่วยพม่าปราบกบฏ แต่ขณะเดียวกัน ก็ลอบส่งแม่ทัพพม่า คือ 'นันทสุ' กับ 'ราชสังคราม' เข้ามากวาดต้อนผู้คนจากเมืองกำแพงเพชรไปเป็นกำลังทัพ เพื่อตัดกำลังพระนเรศวร ทั้งยังวางแผนลอบสังหารสมเด็จพระนเรศวรฯอย่างแยบยล

ประวัติศาสตร์ช่วงนี้เองที่ระบุไว้ชัดเจนว่า คนไทยใหญ่ที่ถูกนันทสุกับราชสังครามกวาดต้อนครัวไปเป็นกำลังฝ่ายพม่านั้น ไม่ยอมสยบและทำการสู้รบแข็งขืนเต็มสามารถดังที่ปรากฏในพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียมหน้า 151-152 ว่า

“ขณะนั้นพระยากำแพงเพชรส่งข่าวไปถวาย ว่า ไทยใหญ่เวียงเสือ เสือต้าน เกียกกาย ขุนปลัด มังทราง มังนิ่ววายลองกับนายม้าทั้งปวงอันอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชร พาครัวอพยพหนี พม่ามอญตามไปทัน ได้รบพุ่งกันตำบลหนองปลิงเป็นสามารถ พม่ามอญแตกแก่ไทยใหญ่ทั้งปวงๆ ยกไปทางเมืองพระพิษณุโลก สมเด็จพระนเรศวรฯเป็นเจ้าทราบดังนั้น ก็ให้ม้าเร็วไปบอกแก่หลวงโกษา และลูกขุนอันอยู่รักษาเมืองพระพิษณุโลกว่าซึ่งไทยใหญ่หนีมานั้นเกลือกจะไปเมืองอื่นให้แต่งออก (อายัด) ด่านเพชรบูรณ์ เมืองนครไทย ชาตระการ แสเซาให้มั่นคงไว้ อย่าให้ไทยใหญ่ออกไปรอด หลวงโกษาและลูกขุนทั้งปวงทราบดังนั้น ก็แต่งออกไปกำชับด่านทางทั้งปวงตามรับสั่ง ฝ่ายไทยใหญ่ก็พาครอบครัวตรงเข้ามาเมืองพระพิษณุโลก หลวงโกษาและลูกขุนทั้งปวงก็รับพิทักษ์รักษาไว้ นันทสุกับราชสังครามมีหนังสือมาให้ส่งไทยใหญ่ หลวงโกษา และลูกขุนผู้อยู่รักษาเมืองพระพิษณุโลกก็มิได้ส่ง”

และเมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯทราบข่าวเรื่องกษัตริย์พม่า ใช้แผนลวงพระองค์เรียกให้ยกทัพมาปราบกบฏเพื่อลอบสังหาร สมเด็จพระนเรศวรฯเจ้าก็ได้ทรง "ตรัสแก่มุขมาตยาโยธาทั้งปวง ว่า เราหาความผิดมิได้ ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีคิดร้ายแก่เราก่อนนั้น อันแผ่นดินพระมหานครศรีอยุธยากับแผ่นดินหงสาวดี ขาดจากทางพระราชไมตรีกัน เพราะเป็นอกุศลกรรมนิยมสำหรับที่จะให้สมณพราหมณาประชาราษฎรได้ความเดือดร้อน แล้วพระหัตถ์ก็ทรงพระสุวรรณภิงคารหลั่งอุทกธาราลงเหนือพื้นพสุธาดล จึ่งออกพระโอษฐ์ ตรัสประกาศแก่เทพยเจ้าทั้งหลายอันมีมหิทธิฤทธิ์และทิพจักขุทิพโสต ซึ่งสถิตอยู่ทุกทิศานุทิศจงเป็นทิพพยาน ด้วยพระเจ้าหงสาวดีมิได้ตั้งอยู่โดยคลองสุจริตมิตรภาพขัตติยประเพณีเสียสามัคคีรสธรรม ประพฤติพาลทุจริตคิดจะทำภยันตรายแก่เราตั้งแต่วันนี้ไป กรุงพระมหานครศรีอยุธยากับเมืองหงสาวดีมิได้เป็นสุวรรณปัถพีเดียวกันดุจหนึ่งแต่ก่อน ขาดจากกันแต่วันนี้ไปตราบเท่ากัลปาวสาน”

ส่วนทหารและประชาชนไทยใหญ่ที่เข้ามาอยู่ในอารักขาของทางไทยนั้น ทางพม่าได้ขอให้ส่งกลับไป ซึ่งบรรพชนทหารไทย คือ หลวงโกษาและลูกขุนทั้งปวงผู้อยู่รักษาเมืองนั้น

“ก็นำบรรดานายไทยใหญ่เข้าเฝ้า จึ่งบังคมทูลว่า มีหนังสือนันทสุราชสังคราม ซึ่งมาตั้งอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชร มาให้ส่งไทยใหญ่และครัวซึ่งหนีมาอยู่ $ 03; เมืองพระพิษณุโลก ข้าพเจ้าตอบไปว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จฯอยู่ ซึ่งจะส่งไปนั้นยังมิได้ สมเด็จพระนเรศวรฯเป็นเจ้าทราบดังนั้นก็ตรัสให้มีหนังสือตอบไปว่าธรรมดาพระมหากษัตราธิราชผู้ดำรงทศพิธราชธรรมนั้น อุปมาดังร่มพระมหาโพธิ์อันใหญ่ และมีผู้มาพึ่งพระราชสมภาร หวังจะให้พ้นจากภัยอันตรายต่างๆ ซึ่งนันทสุกับราชสังครามจะให้ส่งไทยใหญ่ไปนั้น ไม่ควรด้วยคลองขัตติยราชประเพณีธรรม”

พระเมตตาอันหาที่สุดมิได้ของพระนเรศวรต่อประชาชนไทยใหญ่เช่นนี้เองที่ยังจารึกอยู่ในจิตใจของทหารไทยใหญ่ ทำให้ทหาร SSA เคารพบูชาสมเด็จพระนเรศวรฯในฐานะประดุจศูนย์รวมแห่งความเชื่อ ความศรัทธาในความกล้าหาญและเมตตาธรรมของพระองค์มาถึงปัจจุบัน

ในประวัติศาสตร์ของฝ่ายไทยใหญ่นั้น ยังมีเพิ่มเติมอีกด้วยว่า สมเด็จพระนเรศวรฯ คือ บุรพกษัตริย์ที่ทำการรวบรวมก่อตั้งอาณาจักรไทยใหญ่ โดยที่สมเด็จพระนเรศวรฯทรงปรึกษากับเจ้าคำก่ายน้อย เจ้าฟ้าไทยใหญ่ เพื่อจะสร้างกองทัพราชอาณาจักรไทย-ไทยใหญ่ ให้เข้มแข็งถาวรต่อไปในวันข้างหน้า โดยทางไทยใหญ่นั้นเจ้าคำก่ายน้อยรับอาสาที่จะเจรจากับเจ้าฟ้าไทยใหญ่ทุกเมือง

ในปี พ.ศ.2143 สมเด็จพระนเรศวรฯทรงมีรับสั่งให้เจ้าคำก่ายน้อยนำกำลังทหารส่วนหนึ่งเข้าไปเมืองปั่น เมืองนาย ยองห้วย ไปจนถึงภาคกลาง และเจ้าฟ้าไทยใหญ่ทุกเมืองพร้อมกันจัดตั้งเป็นพระราชอาณาจักรขึ้น โดยมีสมเด็จพระนเรศวรฯเป็นผู้นำ ส่วนช่วงที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จฯขึ้นไปสวรรคตที่เมืองหางหลวง ในแผ่นดินรัฐฉาน ประวัติศาสตร์ไทยใหญ่ ระบุว่า ในครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรฯได้ทรงยกทัพขึ้นไปช่วยเจ้าคำก่ายน้อย ที่กำลังทำศึกกับทหารจีนและทหารพม่าซึ่งรุกรานเมืองไทยใหญ่ แต่สมเด็จพระนเรศวรฯสวรรคตเสียก่อน เจ้าคำก่ายน้อยจึงทำการสู้รบต่อไปเพียงลำพัง และสิ้นพระชนม์กลางสนามรบที่เมืองแสนหวี ในปี พ.ศ.2148 หลังการสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรฯไม่นานนัก

นโยบายอันเต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตาและมนุษยธรรมต่อชนกลุ่มน้อย ทั้งมอญ กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ 'ชาวด่าน' ชายแดนตะวันตกที่เคยร่วมรบร่วมตายมากับทหารไทยในอดีตนั้น ยังสืบทอดอยู่ในจิตใจทหารไทยมาถึงรุ่นสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2485 ครั้งที่กองทัพไทยยาตราทัพขึ้นไปยึดเมืองเชียงตุง รัฐฉาน แม่ทัพยุคนั้น คือ จอมพลผิน ชุณหะวัณ (พ่อของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี) ได้บันทึกความทรงจำถึงการกระทำของทหารไทยต่อประชาชนเชียงตุงเอาไว้ ซึ่งได้มีการนำมาตีพิมพ์ในหนังสืองานศพของท่าน จอมพลผินกล่าวถึงเมืองเชียงตุงไว้ว่า

“กองทัพอังกฤษเข้ามาปกครองเป็นครั้งแรก และต่อมามีกองทัพจีนเข้ามาปกครอง มีแต่รีดนาทาเร้นให้พี่น้องเราได้รับความเดือดร้อน ด้วยการกระทำต่างๆ รีดไถทรัพย์สินราษฎร กดขี่ล่อลวงผู้หญิงเอาเป็นเมียชั่วคราวด้วยวิธีการต่างๆ จนปรากฏว่าราษฎรเป็นกามโรคตั้ง 70% ครั้นไทยมาปกครองเป็นลำดับที่ 3 เขาเหล่านั้นเข้าใจว่าจะได้รับความสุขเสียที กลับได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกับคนต่างชาติเช่นนี้”

และความเดือดร้อนที่ราษฎรเชียงตุงได้รับจากข้าราชการไทยตามที่จอมพลผินได้รับรายงาน ก็คือ ราษฎรถูกฆ่าตาย ถูกปล้น ผู้หญิงถูกฉุดคร่าข่มขืนชำเราไม่เว้นแต่ละวัน จนในที่สุดคณะผู้ปกครองเชียงตุง ต้องตั้งศาลทหารเพื่อลงโทษผู้ผิด พลเอกสมาน วีระไวทยะ ผบ.มว.ส.พล 3 ได้บันทึกเรื่องการลงโทษของศาลทหารต่อนายสิบ 2 นาย และพลทหาร 1 นายในข้อหาที่ “ยิงเจ้าทรัพย์ตายทั้งสามีภรรยา ขณะก้มกราบขอชีวิต และยังใช้ปืนยิงหัวขมองลูกเล็กๆ ของเจ้าทรัพย์ ซึ่งวิ่งหนีเข้าไปอยู่ในกอไผ่ตายอีก 2 คน” คดีนี้ศาลทหารตัดสินยิงเป้าภายใน 72 ชั่วโมง

แต่ในปี พ.ศ.2548 นี้ สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ทุกฝ่ายตั้งหน้าตั้งตาหาแต่เงิน หาแต่ 'ฐานอำนาจ' เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ 'เงิน' ได้เข้าแทรกแซงอุดปากของคนมีอำนาจ จนชวนให้ตั้งคำถามอย่างยิ่งว่า นโยบายของรัฐไทย และนโยบายทางด้านความมั่นคงของไทยต่อชนกลุ่มน้อยในยุคนี้ ยังคงสืบทอดเจตนารมณ์ของสมเด็จพระนเรศวรฯอยู่หรือไม่ ?

คำตอบที่เห็นกันจะจะ-เมื่อกลางปี 2547 ที่ผ่านมา ทางกองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ SSA ได้มีความตั้งใจที่จะสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไว้เป็นศูนย์รวมจิตใจให้ทหารและประชาชนไทยใหญ่สักการะบูชาที่บนยอดดอยไตแลง ฝั่งรัฐฉาน ประเทศพม่า แต่ทางทหารไทยที่รักของเราและท่าน ซึ่งเดินทางไปบวงสรวงดวงวิญญาณของสมเด็จพระนเรศวรฯอย่างพร้อมเพรียงกันที่ค่ายนเรศวรนี้แหละ ได้สั่งระงับไม่ให้กองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่สร้างอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวรฯบนยอดดอยไตแลง ทั้งที่ไทยใหญ่ขึ้นไปสร้างอนุสาวรีย์พระนเรศวรไว้ในแผ่นดินรัฐฉาน เพื่อประกาศเกียรติคุณของสมเด็จพระนเรศวรฯ และไว้เพื่อเคารพบูชา ไม่ได้ทำการลบหลู่เจตนารมณ์ใดๆ ของสมเด็จพระนเรศวรฯเลยสักกระผีก แต่ลูกหลานกองทัพไทยยุคนี้กลับยอมไม่ได้ที่จะให้อนุสาวรีย์ของพระนเรศวรตระหง่านสง่าอยู่บนฐานทัพไทยใหญ่ ด้วยเหตุผลที่รู้ๆ กันอยู่ว่า เพราะ 'เกรงใจพม่า'

เมื่อ 400 ปีก่อน สมเด็จพระนเรศวรฯ ได้เคยพิทักษ์ปกป้องทหารและพลเรือนทั้งไทยกับไทยใหญ่ พระองค์กอบกู้ไม่เพียงเอกราชของชาติไทยเท่านั้น แต่พระเมตตาธรรมและความเหนื่อยยาก ยังเผื่อแผ่ไปถึงแผ่นดินและประชาชนไทยใหญ่ เพื่อจุดหมายสูงสุดคือความมั่นคงปลอดภัยของอาณาจักรไทย หากปัจจุบันขณะที่การสู้รบรอบ 3 อันรุนแรงที่สุดในรอบหลายๆ ปีระหว่างพม่าและไทยใหญ่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ก็เริ่มมีข่าวว่าทางทหารไทยกำลังจะกดดันให้ชาวบ้านไทยใหญ่ที่อยู่บนสันเขาชายแดนไทยตีนดอยไตแลง ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกองทัพ SSA ออกจากพื้นที่ไป

เป็นที่แน่นอนว่า วันหนึ่งเด็ก คนแก่ ผู้หญิงหลายร้อยคนเหล่านั้น ต้องออกไปจากพื้นที่ชายแดนนี้แน่ๆ แต่ไม่ควรเป็นเวลานี้ซึ่งรัฐฉานกำลังเป็นสนามรบ และบนสันเขาชายแดนยังเต็มไปด้วยพม่า ว้าแดง ซึ่งเป็นทั้งพ่อค้ายาเสพติดและกองกำลังคุ้มกันยาเสพติด ซึ่งขณะนี้เข้ามาเต็มพื้นที่สันเขาชายแดนไทยแล้ว แต่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง ว่า ทหารว้ายังสามารถลอยนวลเดินไปเดินมาบนถนนในเขตประเทศไทยอย่างหน้าตาเฉย โดยไม่ถูกผลักดันออกไป แต่กับชาวบ้านไทยใหญ่ที่ไม่อาจตอบโต้หรือป้องกันตัวเองได้ กลับกำลังจะถูกกดดันทุกทางให้ออกไปตายข้างหน้า

ส่วนกองทัพกู้ชาติของชนกลุ่มน้อยต่างๆ ตลอดแนวตะวันตกของไทย ทั้งมอญ กะเหรี่ยง คะเรนนี ไทยใหญ่ ฐานะในปัจจุบัน ก็คือ 'อุปสรรคของการลงทุน' ล้วนเป็นหอกทิ่มอก ขวางทางหาเงินหาทองของนักธุรกิจการเมืองไทยทั้งสิ้น ดังนั้น นอกจากจะโดน 'โดดเดี่ยว' จากทางไทยแล้ว ยังถูกกดดันบีบคั้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ในปัจจุบันที่นักธุรกิจการเมืองไทยมีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ในอภิมหาโครงการโทรคมนาคมในพม่า ยิ่งไปกว่านี้นายทหารระดับสูงของไทย ก็กำลังดำเนินธุรกิจก่อสร้างการวางระบบโทรคมนาคมในพม่า ทหาร-นักธุรกิจการเมืองไทย-รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า จับมือกันหาประโยชน์อย่างเหนียวแน่นเช่นนี้ นโยบายกดดันและโดดเดี่ยวชนกลุ่มน้อย จึงทำให้ปัญหาความมั่นคงชายแดนไทย ดูจะออกอาการ 'ลูกผีลูกคน' และเป็นที่น่าหวาดวิตก ว่า หากมอญ กะเหรี่ยง คะเรนนี ไทยใหญ่ อดีต 'ชาวด่าน' ที่เคยเป็นด่านแรกในการป้องกันแผ่นดินไทย ซึ่งหลายกลุ่มก็ถูกทำลายให้อ่อนกำลัง หรือบางกลุ่มที่ยังพอมีความแข็งแกร่งอยู่ดังเช่นกองทัพกู้ชาติไทใหญ่ หากถูกตีแตกไปจากแนวตะวันตกนี้หมดสิ้น สงครามในรูปแบบใหม่ ที่รุกล้ำเข้ามาด้วยความรุนแรงชายแดน การปล้นฆ่าประชาชนไทย และโรงงานยาเสพติดของพม่า-ว้าแดง ซึ่งมีโอกาสจะผุดขึ้นเต็มแนวชายแดนในอนาคตอันใกล้นี้อย่างไม่ยากเย็นอะไรนัก อีกทั้งปัญหายาเสพติดที่จะเข้ามาทำลายเยาวชนและประชาชนไทย ก็จะทวีความหนักหน่วง ผูกปมซับซ้อน จนหาหนทางแก้ไขได้ยากมากยิ่งขึ้นไปอีก

สิ่งใดเล่าที่สร้างความ 'ผันแปร' ไปจากเจตนารมณ์ของสมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ไกลสุดขั้วถึงขนาดนี้ ตั้งแต่พระชนมายุ 16 พรรษา จนสวรรคตเมื่อพระชนมายุ 50 พรรษา สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงเหนื่อยยากกับการทำสงครามรักษาอธิปไตยของชาติอย่างต่อเนื่อง ฟาดฟันขับไล่ศัตรูของชาติ พระองค์ทำสงครามอยู่บนพื้นฐานของเมตตาธรรม ความยุติธรรม และความถูกต้องทางศีลธรรม พระองค์ทำสงครามอย่างเต็มเปี่ยมด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี วีรภาพของพระองค์จึงเลื่องลือขจรไกลทั้งในหมู่ประชาชนไทย และชนกลุ่มน้อย ดังที่ทหารไทยใหญ่ต่างเคารพกราบไหว้เชื่อมั่นในอานุภาพที่สมเด็จพระนเรศวรฯจะทรงปกป้องกองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ อดีตมิตรร่วมรบร่วมตายเคียงคู่มากับทหารไทยในกองทัพของบุรพกษัตริย์พระองค์นี้

ส่วนการบวงสรวงกราบไหว้ดวงวิญญาณของสมเด็จพระนเรศวรฯที่ค่ายนเรศวรฯ ในโอกาสสวรรคตครบ 400 ปีนี้ ใครทำอะไรไว้กับชนกลุ่มน้อยซึ่งเดือดร้อนแสนสาหัสอยู่แล้วบ้าง ทั้งกะเหรี่ยง มอญ คะเรนนี ไทยใหญ่ และนโยบายหรือการกระทำใดๆ ซึ่งบิดเบือนไปจากเจตนารมณ์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น วันหนึ่งแน่นอนอย่างยิ่งที่จะถูกจารึกลงในประวัติศาสตร์ ส่วนจะเป็นประวัติศาสตร์แห่งความอัปยศในชีวิตราชการของใครบ้างนั้น คงรู้อยู่แก่ใจดี

ส่วนการไปกราบไหว้บวงสรวงดวงวิญญาณของสมเด็จพระนเรศวรฯในวาระครบรอบ 400 ปีของการสวรรคตครั้งนี้ ฯพณฯ ผู้มีอำนาจคนใดที่มีจิตเจตนาและการกระทำอันสวนทางกับสิ่งที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ได้เคยประกาศเจตนารมณ์ไว้ อุตสาหะเดินทางไปกันถึงที่เช่นนั้น เผลอๆ จะมิใช่ไปชุมนุมเพื่อบวงสรวงกราบไหว้กันเท่านั้น แต่เป็นการพาตัวไปให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์สาปแช่งถึงที่เสียล่ะมากกว่า

เรื่องอย่างนี้--ไม่เชื่อก็ลบหลู่ต่อไปเถอะ แต่ประวัติศาสตร์จะจดจารึกความอัปยศทั้งหมดเอาไว้อย่างสัตย์ซื่อ และแน่นอน!
บันทึกการเข้า

ไม่อยากเป็นมะเร็ง   ก็ใช่ว่าต้องเป็นโรคหัวใจ
สุขภาพดีเป็นเรื่องไม่ยาก
สุขภาพที่ดีของประเทศไทย   อยู่ที่สภาวะปราศจากโรคร้าย
ไม่ใช่อยู่ที่ต้องเลือกระหว่าง  มะเร็ง  กับ โรคหัวใจ
เทพอสูรสองร่าง:รักในหลวง
HECKLER & KOCH P2000 V4
ชาว อวป.
Sr. Member
****

คะแนน 7
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 799



เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: มิถุนายน 21, 2005, 05:04:05 PM »

ขยันพิมพ์จัง......อ่านได้ครึ่งหนึ่งแล้วเดียวพรุ่งนี้กลับมาอ่านต่อ หัวเราะร่าน้ำตาริน
บันทึกการเข้า

เงินทองใช้ไม่ทันแก่ก็หมด แต่เพื่อนซิครับแก่แล้วยังมานั่งเล่าความหลังให้กันฟัง
.....HECKLER & KOCH P2000 V4....
ออด
Hero Member
*****

คะแนน 17
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2870


« ตอบ #2 เมื่อ: มิถุนายน 21, 2005, 05:14:00 PM »

ประวัติศาสตร์ที่น่าคิด
บันทึกการเข้า

"..รักปืน ชอบปืน หมั่นฝึกซ้อมและดูแลรักษาให้ดี.."
                    "..มีปืน ต้องมีสติ.."
มะเอ็ม
Hero Member
*****

คะแนน 348
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 4749


"ปักษ์ใต้บ้านเรามันเหงาจังไม่มีคนนั่งแลหนังโนราห์"


« ตอบ #3 เมื่อ: มิถุนายน 21, 2005, 06:20:19 PM »

อ่านมึนเลยครับ...ขอบคุณครับทได้เรียนประว้ติศาสตร์เพิ่ม Grin Grin
บันทึกการเข้า
PU45™
ชาว อวป.
Hero Member
****

คะแนน 3692
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 62457



« ตอบ #4 เมื่อ: มิถุนายน 21, 2005, 07:55:28 PM »

ข้อความยาวอย่างแรง  Huh Huh
บันทึกการเข้า

                
vuttichai
บุคคลทั่วไป
« ตอบ #5 เมื่อ: มิถุนายน 21, 2005, 08:16:26 PM »

ยอมรับในความขยัน กว่าจะอ่านจบมึนตืบ ใด้อะใรดีๆอีกแล้ว ผมอยู่ที่บ้านก็สอนลูกในเรื่องของพระเจ้าตากด้วยเหมือนกัน ยังไม่หายมืนนอนดีกว่า. ตกใจ
บันทึกการเข้า
โทน73 -รักในหลวง-
มือปืนกาวช้าง
Hero Member
*****

คะแนน 586
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 8574


« ตอบ #6 เมื่อ: มิถุนายน 21, 2005, 08:21:51 PM »

เรื่องเหรียญ สมเด็จพระนเรศวร  ที่แจก นักรบชนกลุ่มน้อย  เริ่มมีทำมาตั้งแต่ กลุ่ม "หนุ่มศึกหาญ" ประกาศกู้เอกราช จากพม่า หลังพม่าไม่ดำเนินการตามสนธิสัญญา "ปางโหล่ง"  (2496)  เริ่มจัดทำประมาณปี 2502 ครับ

ที่ทำออกมาคงเป็นกุศโลบาย ทางการเมืองที่หวังจะอิงกับ "ไทย"  พอเริ่มทำก็ทำออกมาเรื่อยๆ เป็นขวัญกำลังใจแก่ พลพรรค ครับ

บทความข้างต้น อ่านแล้ว ต้องดูแยกส่วน ด้วยนะครับ
ยุคนั้น ความเป็นรัฐ ไทย รัฐพม่า  รัฐไทยใหญ่ ยังไม่มี  เป็นแบบ แลนด์ลอด์จ มากกว่า การปกครองก็ต้องมีการ ประนีประนอมทั้งสองฝ่าย ถ้าฝ่ายได้อ่อนแอ  หรือมีกรณีพิพาท ก็มีสงครามเป็นธรรมดา
อย่างกรุงศรีอยุธยา ยังมีเมืองหลวงสองแห่ง แสดงว่าต้องมีกลุ่มอำนาจ ตั้งแต่ 2กลุ่ม  กรณีชนชาติ มอญ ก็มีความสัมพันธ์ กับ กรุงศรีอยุธยา (ไม่ใช้คำว่าไทย นะครับ) ทั้งคู่ศึก และสหายร่วมรบ  และบางตระกูลยังรับราชการ จนเป็นใหญ่เป็นโตถึงทุกวันนี้
แม้แต่ หลาน บุเรงนองเอง (ไม่ใช้คนล้านนา) ทางกรุงศรีอยุธยา ก็ยังยอมให้ปกครอง เมือง เชียงใหม่ ตามเดิมครับ หลังจากเสร็จศึก และทางเชียงใหม่ ก็ยอมขึ้น กลับกรุงศรีอยุธยา

บทความข้างต้น เป็นการ ยำ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์  เพื่อให้คนอ่านรู้สึกลำเอียง เห็นใจ 
ในทางกลับกันลองนึกถึง เอกสาร "การกู้เอกราชรัฐปัตตานี"  ให้คนมาเลย์อ่าน  ถ้าคนอ่านไม่รู้จักพื้นฐานประวัติศาสตร์ดีพอ ย่อมจะหลงกลโดยง่าย 


ไม่มีความจริงใจ บนเวที การเมือง มาเป็น พันๆปีแล้วครับ




บันทึกการเข้า

....ตามล่า...อีตอแหล
visith
ชาว อวป.
Hero Member
****

คะแนน 474
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 9438



« ตอบ #7 เมื่อ: มิถุนายน 21, 2005, 10:38:01 PM »

 Wink ขอบคุณ ในความตั้งใจที่ถ่ายทอดความรู้สึกดีๆ มาให้ครับ... Wink
บันทึกการเข้า



"ร่วมส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิการใช้อาวุธปืนของประชาชน"
rute - รักในหลวง
Forgive , But not Forget .
ชาว อวป.
Hero Member
****

คะแนน 1960
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 22591


"ผลิดอกงามแตกกิ่งใบ..."


« ตอบ #8 เมื่อ: มิถุนายน 22, 2005, 01:13:51 AM »

 Smiley อ่านแล้วต้องคิดคับ... Smiley
บันทึกการเข้า
Ro@d - รักในหลวง
รักเธอ.. ประเทศไทย
ชาว อวป.
Hero Member
****

คะแนน 4088
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 20186


1 คัน 1 ชีวิตที่อิสระ มี G23 กาแฟอีก 1 เป็นเพื่อน


« ตอบ #9 เมื่อ: มิถุนายน 22, 2005, 06:53:42 AM »

 Smiley..ขอบคุณมากครับ คุณ chayanin และคุณโทน 73 .. Cheesy
บันทึกการเข้า

APACHE _ Love The King
ชาว อวป.
Sr. Member
****

คะแนน 21
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 833



« ตอบ #10 เมื่อ: มิถุนายน 22, 2005, 07:53:59 AM »

รอคนที่เกิดทันช่วงนั้นมาเล่าต่อ.... Grin ประวัติศาสตร์ผมมึนตึ๊บ...แต่มีแนวคิดคล้ายกับพี่โทน 73 ครับ ...อยู่ที่ผู้บันทึกครับ...
บันทึกการเข้า
Chayanin-We love the king
ฟ้าสว่างสดใสไร้มลทิน เพียงเมฆินบังเบียดเสนียดฟ้า แกว่งยางยูงปัดป้องท้องนภา ผู้แก่กล้าโปรดอย่าว่าตัวข้าเลย
ชาว อวป.
Hero Member
****

คะแนน 62
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2610



« ตอบ #11 เมื่อ: มิถุนายน 22, 2005, 12:03:27 PM »

คุณ โทนกล่าวได้ลึกซึ้ง และน่าคิดครับ  ส่วนเรื่องหลานของ บุเรงนอง ที่เคยปกครองเชียงใหมน่าจะเป็นบุตรของ มังนรธา หรือเปล่าไม่แน่ใจ  (ตอนนี้กำลังบ้าศึกษาประวัติศาสตร์ พม่า ล้านนา ไทยใหญ่อยู่ครับ จะได้มีแรงบันดาลใจในการไปเที่ยว พระธาตุอินทร์แขวน และเมืองเชียงตุง)
บันทึกการเข้า

ไม่อยากเป็นมะเร็ง   ก็ใช่ว่าต้องเป็นโรคหัวใจ
สุขภาพดีเป็นเรื่องไม่ยาก
สุขภาพที่ดีของประเทศไทย   อยู่ที่สภาวะปราศจากโรคร้าย
ไม่ใช่อยู่ที่ต้องเลือกระหว่าง  มะเร็ง  กับ โรคหัวใจ
Zeus-รักในหลวง
อะฮู้.....ไฮยีน่าก็เป็นแมวนะคราบบบ
ชาว อวป.
Hero Member
****

คะแนน 817
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 10983


I'm going to make him an offer that he can't refus


« ตอบ #12 เมื่อ: มิถุนายน 22, 2005, 07:28:16 PM »

ไม่มีความจริงใจ บนเวที การเมือง มาเป็น พันๆปีแล้วครับ
ประโยคนี้ชัดเจนและเป็นจริงที่สุดครับ......เห็นด้วยกับพี่โทนครับ
บันทึกการเข้า

“A fear of weapons is a sign of retarded sexual and
emotional maturity.”
- Sigmund Freud

“ความกลัวอาวุธคือสัญญาณของความถดถอยทางเพศและวุฒิภาวะทางอารมณ์”
- ซิกมุนด์ ฟรอยด์
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.4 | SMF © 2011, Simple Machines Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.101 วินาที กับ 22 คำสั่ง