แต่ผมเชื่ออยู่อย่างว่า ศาลปกครองจะวินิจฉัยไปในทางคุ้มครองประชาชนมากกว่าครับ จะไม่เคร่งครัดเหมือนศาลยุติธรรม
ประเด็นคือ ข้อความที่ระบุไว้ใน ป. ๑ ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครองหรือไม่ หรือเป็นเพียงคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาสั่งการให้เจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานเท่านั้น
มาตรา ๓๔ คำสั่งทางปกครองอาจทำเป็นหนังสือหรือวาจาหรือโดยการสื่อความหมายในรูปแบบอื่นก็ได้ แต่ต้อง มีข้อความหรือความหมายที่ชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้
มาตรา ๓๕ ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองเป็นคำสั่งด้วยวาจา ถ้าผู้รับคำสั่งนั้นร้องขอและการร้องขอได้กระทำโดย มีเหตุอันสมควรภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีคำสั่งดังกล่าวเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งต้องยืนยันคำสั่งนั้นเป็นหนังสือ จากสองมาตราดังกล่าว หากตีความในทางเป็นคุณแล้ว จะเห็นว่าเมื่อข้อความที่ระบุไว้ใน ป. ๑ กับคำสั่งไม่อนุญาตในหนังสือ ฉบับลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ นั้นคำสั่งทั้งสองอย่างมีผลเดียวกันคือ ไม่อนุญาตนั้นเอง ไม่ว่าจะมาในรูปแบบของหนังสือหรือไม่ ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครองแล้ว สิทธิในการอุทธรณ์ย่อมเกิดขึ้นตามกฎหมายทันทีโดยไม่ต้องรอคำสั่งเป็นหนังสืออีกครั้งหนึ่ง เพียงเราอาจจะร้องขอให้ยืนยันคำสั่งทางปกครองนั้นเป็นหนังสืออีกครั้งหนึ่งเท่านั้น
แต่หากศาลมองว่า ข้อความที่ระบุไว้ใน ป.๑ เป็นถ้อยคำที่เป็นคำสั่งภายในงานธุรการเท่านั้นยังมิใช่คำสั่งทางปกครอง ก็เหนื่อยละครับ แต่ผมยังมีความเห็นไปในทางเป็นคุณข้างต้นครับ
แต่ประเด็นต่อมาที่ต้องมานั่งคิด คือ ถ้อยคำของตัวบทมาตรา ๔๔ ที่ว่าต้องอุทธรณ์ภายใน ๑๕ นับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งนั้น เราจะเริ่มนับระยะเวลา ๑๕ วันเมื่อใด...... วันใดคือวันรับแจ้ง
ในเมื่อตัวบทมิได้ระบุด้วยว่านับแต่วันได้รู้ ทราบคำสั่งหรือถือว่าได้รู้หรือทราบคำสั่งทางปกครองทางปกครอง มาตรา ๖๙ การแจ้งคำสั่งทางปกครอง การนัดพิจารณา หรือการอย่างอื่นที่เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบอาจกระทำด้วยวาจาก็ได้ แต่ถ้าผู้นั้นประสงค์จะให้กระทำเป็นหนังสือก็ให้แจ้งเป็นหนังสือ
การแจ้งเป็นหนังสือให้ส่งหนังสือแจ้งต่อผู้นั้น หรือถ้าได้ส่งไปยังภูมิลำเนาของผู้นั้นก็ให้ถือว่าได้รับแจ้งตั้งแต่ใน ขณะที่ไปถึง
ในการดำเนินการเรื่องใดที่มีการให้ที่อยู่ไว้กับเจ้าหน้าที่ไว้แล้ว การแจ้งไปยังที่อยู่ดังกล่าวให้ถือว่าเป็นการแจ้งไป ยังภูมิลำเนาของผู้นั้นแล้วดังนั้นจะเห็นว่า วิธีการแจ้งคำสั่งทางปกครองอาจกระทำด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ ทีนี้จึงขึ้นอยู่ที่ว่าอย่างไรถือเป็นการแจ้งคำสั่ง เรารู้ข้อความนั้นได้อย่างไร ๑. เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งดังกล่าวเรียกมาให้เรารับทราบคำสั่ง หรือว่า ๒ .เราติดตามเรื่องจากเจ้าหน้าที่และได้รับแจ้งหรือทราบเองว่ามีคำสั่งไม่อนุญาต หรือ ๓.แอบดู (มีบ่อยครับคือการขอดูสารบบภายในล่วงหน้า ก่อนมีคำสั่งอย่างเป็นทางการ)
ซึ่งจะส่งผลไปถึงสิทธิในการอุทธรณ์คำสั่ง ซึ่งหากศาลตีความว่าสิทธินั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งหรือถือว่าได้รับแจ้งคำสั่งทางปกครองแล้ว ไม่ว่าจะด้วยวาจาหรือหนังสือก็ตาม แต่จะต้องได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้นจึงจะถือว่าเป็นการแจ้งตามกฎหมาย เราจะไปรู้เองไม่ได้ และจะยื่นอุทธรณ์ก่อนได้รับแจ้งหรือถือว่าได้รับแจ้งคำสั่งทางปกครองนั้นก็ไม่ได้ งานนี้เฮไม่ออกครับ
แต่ ในกรณีนี้ถ้าการที่เรารู้ทราบคำสั่งทางปกครองก่อนมีหนังสือ เพราะสาเหตุได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผมเห็นโดยส่วนตัวว่า สิทธิในการอุทธรณ์ย่อมเกิดขึ้นตามกฎหมายทันทีโดยไม่ต้องรอคำสั่งเป็นหนังสืออีกครั้งหนึ่งข้างต้น จึงต้องถือว่าพี่แก้วจุกเดียว ได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตในวันที่ ๒ พฤศจิกายน มิใช่วันที่ ๙ พฤศจิกายนครับ
และอย่างไรก็ดี ผมเชื่ออยู่อย่างว่า ศาลปกครองจะวินิจฉัยไปในทางคุ้มครองประชาชนมากกว่าครับ จะไม่เคร่งครัดเหมือนศาลยุติธรรม
เป็นกำลังใจให้ครับ