บทความดีๆจากดร.วีรพงษ์ รามางกูร ครับ
อ นิ จ จ า อ เ ม ริ ก า แ ล ะ ยุ โ ร ป - ดร.วีรพงษ์ รามางกูร
ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้วเรื่อยมาถึงสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นไทยปรับฐานดัชนีลงมาเรื่อย ๆ ลงจาก 1,100 จุด ลงมาเหลือ 850 จุดแล้ว เล่นเอานักลงทุนในตลาดหุ้นหายใจกันไม่ทั่วท้อง
ยิ่งดูจากรายงานว่าผู้ที่ขายนำรายใหญ่เป็นนักลงทุนต่างประเทศ เป็นผู้ขายนำก่อน ที่แรกนักลงทุนรายย่อยก็รับซื้อไว้ แต่พอดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำกว่า 900 จุด รายย่อยก็เลยเทขายบ้าง เล่นเอาขาดทุนกันย่อยยับ
สาเหตุที่ตลาดหุ้นบ้านเราลงเอา ๆ ในตอนที่เขียนบทความนี้อยู่ ก็เพราะตลาดหุ้นทั่วโลก นำโดยตลาดหุ้น อเมริกาและยุโรป ราคาตกปรับฐานกันถ้วนทั่ว ตลาดเอเชียก็เลยตกตาม
เหตุผลเที่ยวนี้ก็คือ รายงานภาวะเศรษฐกิจของอเมริกาดูจะแย่กว่าที่คิดก็เลยคิดว่าเศรษฐกิจของอเมริกาคง จะซบเซาต่อไปอีกนาน แม้ว่ารัฐบาล อเมริกาจะประกาศว่าจะมีการใช้เงิน เพื่อพยุงฐานะทางเศรษฐกิจหรือที่เรียกกันว่า คิวอีสาม แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า จะทำอย่างไร จะไปตามแนวทางของเศรษฐศาสตร์การเงิน หรือจะลงทุนในภาคเศรษฐกิจแท้จริง เช่น สร้างถนนหนทาง รถใต้ดิน รถไฟความเร็วสูง เขื่อนชลประทาน สนามบิน สร้างบ้านเพื่อคนจน เพื่อสร้างงานให้คนมีรายได้จับจ่ายใช้สอยตามแนวเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ ซึ่งคนอเมริกันไม่ค่อยชอบให้รัฐบาลเข้ามายุ่งกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากนัก
รัฐบาลอเมริกันก็เลยลังเลไม่รู้จะทำอย่างไร ทั้ง ๆ ที่มีนักเศรษฐศาสตร์ระดับ รางวัลโนเบลอยู่มากมาย ข้อจำกัดของสังคมอเมริกันก็คือ อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจของคนอเมริกัน สังคมอเมริกันเป็นสังคมทุนนิยมเสรีสุดกู่ ปกครองโดยมีนายทุนใหญ่ ๆ เชื้อสายยิวอยู่เบื้องหลัง
สื่อมวลชนของอเมริกาไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ทั้งโทรทัศน์ฟรี หรือเสียเงิน ก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของนายทุน ซึ่งรายใหญ่ ๆ ก็เป็นยิว
เป็นธรรมดาที่ชนชั้นนายทุนย่อมไม่ชอบให้รัฐบาลมีบทบาททางเศรษฐกิจมากเกินไป ไม่ชอบอัตราภาษีสูง แต่ชอบให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณมาก ๆ ให้ดูแลทางด้านการเงินอย่างเดียว
เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหา การอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบแทนที่จะนำไปลงทุน จริง ๆ เพื่อสร้างงาน ลดการว่างงาน ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ก็เอาไปช่วยบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีปัญหา เอาไปช่วยธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นของคนอเมริกันเชื้อสายยิว ผลจึงออกมาไม่เป็นเรื่องเป็นราวเสียเงินเสียเวลา ไอเอ็มเอฟก็ไม่เห็นว่าอะไร ถ้าเป็นประเทศเราคงถูกอเมริกาและไอเอ็มเอฟเล่นงานจนแย่ การวางนโยบายมหภาคของอเมริกาจึงแย่ ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาที่ตนสั่งสอน วิชาเศรษฐศาสตร์เราก็เรียนมาจากครูอเมริกัน แต่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายมหภาคอเมริกันมาตลอด
คนอเมริกันเอาอุดมการณ์นำนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อส่วนรวม คนจนในอเมริกานั้นน่าสงสาร เมื่อตกงานก็ไม่มีทางไป ไม่เหมือนบ้านเรา หากตกงานก็กลับบ้านไปช่วยกันทำงานในท้องไร่ท้องนาในสวน มีอาหาร มีเครื่องนุ่งห่ม มีบ้านอยู่ ส่วนคนอเมริกันตกงานจะไม่มีทางไป ห้องพักไม่จ่ายค่าเช่าก็ถูกไล่ออก บ้านผ่อนส่งไม่มีเงินผ่อน ธนาคารก็ ยึดคืนขายทอดตลาด ไม่มีที่อยู่ หน้าหนาวถ้าไม่มีบ้านหรือพักอยู่ไม่มีเครื่องทำความร้อน ก็มีหวังหนาวตาย
เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ โจรผู้ร้าย ในอเมริกาจึงชุกชุม ผู้คนหน้าตาถมึนทึง ไม่น่าอยู่ โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ ๆ ยกเว้นเมืองเล็ก ๆ ในชนบท แถบตอนกลางของประเทศที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ผู้คนฐานะดี เกษตรกรมีคนน้อยแต่มีพื้นที่มากและรัฐบาลใช้ภาษีอากรของคนส่วนใหญ่กว่า 95 เปอร์เซ็นต์มาอุดหนุน โดยนโยบายรับจำนำสินค้าโภคภัณฑ์ ผ่านบรรษัทเครดิตสินค้าโภคภัณฑ์ หรือ Commodity Credit Corporation หรือที่รู้จักกันในนาม CCC ที่ไทยเราพยายามเอาอย่าง ทั้ง ๆ ที่เงื่อนไขไม่เหมือนกัน แต่สังคมอเมริกันก็รับได้ เพราะอุดมการณ์ที่ทุกคนมีเสรีภาพที่ จะจน นั่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ ถ้าฉลาดและขยันจะร่ำรวย หรืออดอยากหนาวตาย ถ้าโง่เกียจคร้านแล้วยากจน ไม่มีใครช่วยได้ รัฐบาลช่วยได้น้อยมาก
ปัญหาเศรษฐกิจของอเมริกาไม่สามารถทำนโยบายที่ถูกต้องมาใช้ได้ ก็เพราะโครงสร้างทางการเมืองและความเชื่อในเรื่องภาพทางเศรษฐกิจของคนอเมริกัน ไมใช่คนอเมริกันไม่รู้วิชาเศรษฐศาสตร์
ส่วนที่ยุโรปเป็นสังคมที่เชื่อในบทบาทของรัฐบาลในทางเศรษฐกิจ และเชื่อในอุดมการณ์ทางสังคมนิยมมากกว่า อยากเห็นความเท่าเทียมกันในเรื่องคุณภาพชีวิตและทรัพย์สินมากกว่าอเมริกา บางทีก็เชื่อมากเกินไป ทำให้ต้องเก็บภาษีในอัตราที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ภาษีมรดก เพื่อนำเอาภาษีมาอุดหนุนบริการของรัฐในเรื่องการศึกษา การสาธารณสุข การรักษาพยาบาล เบี้ยยังชีพสำหรับคนตกงานและคนว่างงานในอัตราที่สูง สนับสนุนให้สหภาพแรงงานเข้มแข็ง สามารถนัดหยุดงานทั่วประเทศได้ง่าย ๆ
ด้วยเหตุดังกล่าวยุโรปจึงไม่สามารถแข่งขันดึงดูดเงินทุนจากภายนอกได้ง่ายนัก ไม่เหมือนอเมริกา
ยุโรปประสบความสำเร็จในการร่วมมือรวมเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน โดยการยกเลิกภาษีระหว่างกัน เพื่อให้ตลาดใหญ่ขึ้น จะได้เป็นฐานรองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ผลิตมาก ๆ ต้นทุนจะได้ถูกลงตามหลักการประหยัด เพราะขนาดหรือปริมาณการผลิต สามารถสร้างโรงงานใหญ่ ๆ ได้ ที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า economy of scale
เมื่อประสบความสำเร็จมาก ๆ ก็ฝันจะไปไกลกว่านั้น คือใช้เงินตราสกุลเดียวกัน เป็นเงินที่สร้างขึ้นมาใหม่ เรียกว่าเงินยูโร ดอกเบี้ยจึงเป็นอัตราเดียวกันทั้งหมดทุกประเทศ แต่ทางด้านการคลังแยกกัน
การที่ประเทศแยกกัน ภาษีอากร ต่างคนต่างเก็บของแต่ละประเทศ รายจ่ายจากงบประมาณแผ่นดินก็ แยกกัน การออกพันธบัตรกู้ยืมเงินจากประชาชนก็แยกกัน
ธนาคารกลางของสหภาพยุโรปเป็น ผู้ดำเนินการใต้กฎบัตรหรือรัฐธรรมนูญของสหภาพ ประเทศสมาชิกในเขตยูโร ธนาคารกลางจึงดำเนินนโยบายทางการเงินไม่ได้ ทำได้แต่นโยบายการคลัง เช่น นโยบายรายรับ รายจ่าย การชดเชยการขาดดุลงบประมาณเท่านั้น แต่ก็มีกฎเกณฑ์ว่าจะขาดดุลได้ไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ ยอดหนี้สาธารณะต้องเป็นเท่าไร
เหมือนเอาคนหลาย ๆ คนมาต่อเส้นโลหิตถึงกัน แต่ร่างกาย อวัยวะอื่น ๆ แยกกัน ต่างคนต่างรับประทาน ต่างขับถ่ายเอง นาน ๆ ไป คนที่อ่อนแอกว่าหัวใจสูบฉีดโลหิตได้น้อยกว่า ก็จะ ค่อย ๆ อ่อนเพลียลงทุกที ต้องขอร้องให้คนที่รูปร่างใหญ่กว่า มีเลือดมากกว่า หัวใจขนาดใหญ่กว่าช่วยฉีดเลือดมาให้คนที่อ่อนแอกว่า มิฉะนั้นจะพลอยสิ้นชีวิตไป เช่น กรีซ สเปน โปรตุเกส ไอร์แลนด์ และอิตาลี ต้องขอให้เยอรมนี ฝรั่งเศส สแกนดิเนเวีย เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ชวย
แต่เนื่องจากการเมืองไม่ได้รวมเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างอเมริกา ที่ผู้คนในอเมริกาไม่ค่อยสนใจเรื่องใครจะมาจากมลรัฐไหน คนอเมริกันจากมลรัฐไหนก็มีรัฐบาลกลางที่ใหญ่โต เข้มแข็งอยู่ที่วอชิงตัน ดี.ซี. เหมือนกันหมดทั้งสหรัฐ แต่ยุโรปมิได้เป็นเช่นนั้น ถ้ารัฐบาลเยอรมันและฝรั่งเศส จะให้ประเทศอ่อนแอกว่ากู้ยืมเงินยูโรจากทุนสำรองของตน ผู้คนชาวเยอรมันและฝรั่งเศสก็มักจะขัดเคืองขัดขวางไม่ค่อยเอื้อเฟื้อกัน ยิ่งฝรั่งเศสยิ่งแล้วใหญ่ เพราะคนฝรั่งเศสเห็นแก่ตัวมากที่สุด
ด้วยเหตุนี้หลายคนคิดว่าเงินยูโรคงไปไม่รอด การใช้เงินตราสกุลเดียวของยุโรป หรือ Single Currency Europe คงจะพัง ธนาคารกลางยุโรปคงไปไม่รอดในวันใดวันหนึ่ง คงมีประเทศที่จะแยกตนออกมาหรือถูกไล่ออก เพราะปฏิบัติตามเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟและธนาคารกลางยุโรปไม่ได้ เรื่องขึ้นภาษีเพิ่มรายได้ซึ่งก็ทำได้ยาก เพราะเป็นภาษีในอัตราเดียวกัน เหลือแต่การตัดงบประมาณรายจ่าย ซึ่งก็เป็นเรื่องสวัสดิการ การชดเชยรายได้คนว่างงาน การลดข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ
ความเดือดร้อนดังกล่าว คนยุโรปทนไม่ได้ รับไม่ได้ เพราะอุดมการณ์ทางสังคมนิยมรุนแรงกว่าอเมริกา เมื่อรัฐบาลจะทำจึงเกิดการเดินขบวนต่อต้านกันอย่างรุนแรงจนรัฐบาลก็อาจจะอยู่ไม่ได้
ขณะเดียวกันคนฝรั่งเศสก็ดี เยอรมันก็ดี หากธนาคารกลางของตนจะเอาทุนสำรองออกไปซื้อพันธบัตรของรัฐบาลที่อ่อนแอเพื่อจะช่วยเหลือประชาชนฝรั่งเศสกับเยอรมันก็ต่อต้าน ถามว่าช่วยทำไม ใกล้จะเลือกตั้งรัฐบาลก็ไม่กล้า
การมีปัญหาเสถียรภาพทางการเงิน เพราะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการขาดเสถียรภาพทางการคลัง ซึ่งทั้งสองอย่างเกี่ยวข้องกัน จึงเป็นปัญหาทางการเมืองทั้งภายในประเทศ และการเมืองระหว่างประเทศภายในสหภาพยุโรปนั่นเอง ไม่ใช่ชาวยุโรปไม่รู้วิชาเศรษฐศาสตร์
ในเวทีการเงินระหว่างประเทศ เมื่อเงินยูโรอ่อนค่าลงเทียบกับเงินดอลลาร์และเงินเยน ธนาคารกลางสหภาพยุโรปก็เลือกใช้นโยบายขึ้นดอกเบี้ยให้สูงกว่าอเมริกา เพื่อพยุงค่าเงินยูโรไม่ให้อ่อนเกินไป การขึ้นดอกเบี้ยยิ่งทำให้ประเทศที่อ่อนแอยิ่งแย่ลง แต่ถ้าปล่อยให้เงิน ยูโรอ่อนเกินไป ภาวะเงินเฟ้อก็จะเกิด ชาวบ้านก็จะยิ่งแย่ เพราะตกงานในขณะที่ของแพงขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยของยุโรปจึงทำให้ภาวะการลงทุนในกิจการต่าง ๆ ในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงไม่กระเตื้อง ก็เป็นงูกินหางอยู่อย่างนี้ เงิน ยูโรจึงไม่หยุดอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ทั้งที่ขึ้นดอกเบี้ยไปหลายหน
การเอาขาคนหลายคนผูกติดกันแล้วให้เดินไปด้วยกัน ในระยะยาวย่อมเป็นไปไม่ได้ คนตัวเล็กกว่าอ่อนแอกว่าก็จะอ่อนเพลียลง คนแข็งแรงกว่าก็ไม่ค่อยมีน้ำใจจะคอยพยุง คอยผลักดัน นานไปก็คงจะทะเลาะกัน แต่ก็ไม่รู้จะแยกกันอย่างไร ตอนรวมกันว่ายากแล้วตอนแยกกันยิ่งยากกว่า
ข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมเป็นอย่างหนึ่ง ของยุโรปเป็นอีกอย่างหนึ่ง มองดูแล้วสติไม่ดีทั้งคู่ เพราะไม่เป็นธรรมชาติ ทั้งอเมริกาและยุโรป เราอย่าเอามาเป็นตัวอย่าง เพราะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีทั้งคู่ เพราะไม่มีข้อจำกัดอย่างอเมริกาและยุโรป ข้อจำกัดของเราคือสติปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย
เมื่อจีน อินเดีย รัสเซีย และบราซิล เศรษฐกิจก้าวกระโดดติดต่อกันมา หลายปี ราคาพลังงาน วัตถุดิบ แร่ธาตุ อาหารก็แพงขึ้น เศรษฐกิจอเมริกาจึงไปก่อน ยุโรปตามมาที่สอง เศรษฐกิจโลกจึงชะลอตัวลง ยังดีที่มีจีน อินเดีย รัสเซีย และบราซิลช่วยดึงเอาไว้ แต่ไม่น่าจะพอ โดยส่วนรวมเศรษฐกิจของโลกคงเป็นขาลง
ราคาน้ำมัน ราคาพลังงาน ธัญญา หาร ยางพารา จึงน่าจะผ่านจุดสูงสุด มาแล้ว เหมือนราคาหุ้นต่อไปคงจะ ซึมยาว แต่ไม่น่าจะแย่ไปกว่าตอน วิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่สอง แต่ก็ไม่แน่
จริงอย่างที่ ดร.วรากรณ สามโกเศศ ท่านว่า "ในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี"
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1318167014 บทความนี้เยี่ยมมาก อธิบายเรื่องการรวมหลายประเทศเข้าเป็นแพคเดียวกันได้ดี โดยทำให้เห็นภาพรวมในเวลาอันสั้น... ประเทศไทยได้เข้าร่วมก่อตั้ง Asian เพื่อหวังผลแบบเดียวกันนี้ โดยมอง EU คือโมเดล, ดังนั้นในการนี้ EU จึงเป็นที่จับตามองในฐานะ Case Study ที่มีค่ามากครับ...
หวังว่ากระทรวงการต่างประเทศ ที่ท่องเรื่องนี้เอาไว้ในใจตลอดเสียจนกระทั่งละเลยเรื่อง"เขตแดนประเทศไทย"ในหลายกรณี(โดยเฉพาะเรื่องเขาพระวิหาร)จะได้ตระหนักเอาไว้ว่าเมื่อเกิดกรณี"พิเศษ"ทำให้ Asian เดินไปได้ไม่สุดทาง จะได้เตรียมทางแก้เอาไว้ครับ... ไม่ใช่ตั้งหน้าแต่จะ"รักษาความรู้สึก"ของประเทศเพื่อนบ้านจนในที่สุดต้องเสีย"ผลประโยชน์แห่งชาติในปัจจุบัน", แต่ไม่ได้อะไรกลับมาในอนาคต เพราะ"โมเดลมีรูรั่ว"ครับ...