ขอบคุณพี่น้องชาวลูกซองมากครับ แต่ผมไม่สะดวกในการไปอบรมไกลๆจริงๆ เสียดายเหมือนกัน เอาไว้มีการอบรมใกล้ ๆเมื่อไหร่อบรมแน่ครับ แต่ผมก็คำนึงถึงความปลอดภัยในการใช่ปืนอย่างดีกับตนเองและคนรอบข้างอย่างดี แต่คงไม่เพียงพอหรือครับหากไม่ได้ผ่านการอบรมลูกซองรณยุทธ ชมรมลูกซองอบอุ่นมากครับ
ถ้าไม่สะดวกในการเข้าร่วมอบรมก็ไม่เป็นไรค่ะ ศึกษากฏ กติกาของระบบรณยุทธได้ที่เวปไซด์
www.thpsa.com เป็น guideline ที่ดีทีเดียว
ในความเห็นส่วนตัววรรณนะคะ เส้นระดับความปลอดภัยของแต่ละคนกับที่ใช้ในการแข่งขันอาจจะแตกต่างกัน การรู้กฏ กติกาให้เข้าใจเพียงพอจะทำให้เรายิงได้ครบทุกสนามโดยไม่โดนตัดสิทธิ์ในการแข่งขัน วรรณยกตัวอย่างนะคะ เช่น
-ใน Safety area นักกีฬาคิดว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับดูความเรียบร้อยของปืนและอุปกรณ์ การจะทำอะไรกับปืนหรืออุปกรณ์ใน Safety area คงไม่ผิด แต่ถ้านักกีฬาเผลอไปลองบรรจุกระสุน อาจจะเพื่อดูความเรียบร้อยของกลไกปืนหรือเหตุผลใด ๆ ก็แล้วแต่ หรือปลดกระสุนแม้แต่นัดเดียวในบริเวณ Safety Area ก็จะโดน DQ ทันที เราคิดว่าปลอดภัยเพราะแนวปืนก็อยู่ใน Safety area และกดเซฟปืนไว้แล้ว แต่ในแมทซ์แข่งถือว่าไม่ปลอดภัย โดน DQ ในประเด็น Unsafe Gun Handling
-หรือระหว่างการแข่งขัน นักกีฬาเจตนาทำให้อุปกรณ์ป้องกันตา และหูหลุด (แว่นและที่ครอบหูหรือ Ear Plug) อาจจะด้วยความไม่สมบูรณ์ของอุปกรณ์ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นอุปสรรคในการยิง เลยดึงทิ้งด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ระหว่างทำการยิงในสนามนั้น ๆ ก็โดน DQ เหมือนกันในประเด็น Unsportsmanlike Conduct
-หรือการทำปืนลั่นในระหว่างโหลดกระสุนหรือแก้ไขปืน Jam ก็โดน DQ ในประเด็น Accidental Discharge
นี่เป็นเพียงบางส่วนของกฎความปลอดภัยในการแข่งรณยุทธ นักกีฬาอาจคิดว่าเราใช้ปืนอย่างปลอดภัยจริง แต่ในการแข่งขันซึ่งต้องการความปลอดภัยสูงสุดทั้งกับตัวนักกีฬา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ผู้ชม ความปลอดภัยในระดับที่เราคิดว่าดีเพียงพอแล้วอาจจะยังไม่พอสำหรับแมทซ์แข่ง
การยิงรณยุทธไม่ว่าจะเป็นปืนสั้นหรือลูกซองมีทั้งสนามที่ต้องยิงอยู่กับที่, สนามที่ผู้ยิงต้องเคลื่อนที่ไปยิงทั้งเป้านิ่ง และเป้าเคลื่อนไหว ถ้าผู้ยิงมีทักษะในการควบคุมร่างกาย, จิตใจและปืนไม่ดีเพียงพอ การเคลื่อนที่ไปพร้อมกับปืนที่มีกระสุนพร้อมยิงอยู่ในรังเพลิงเป็นสิ่งอันตรายมาก
สำหรับวรรณการอบรมคงไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นที่สุด เพราะนักกีฬาลูกซองรณยุทธหลาย ๆ ท่านทุกวันนี้ ฝึกฝนทักษะการยิงจากประสบการณ์ที่แข่งขันของตัวเอง และเพื่อนนักกีฬาด้วยกัน มีการถ่ายทอดเทคนิค วิธีการต่างๆ ระหว่างพี่กับน้อง เพื่อนกับเพื่อน เรียนรู้ข้อผิดพลาดในการแข่งขันของกันและกัน ใครเกิดข้อผิดพลาดตรงไหน ก็ถามไถ่ขอความรู้กัน ทักษะที่เกิดจากการเรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเอง ทำให้พื้นฐานเราแน่น แต่ก็ต้องใช้เวลากว่าจะพัฒนาตัวเองให้เป็นนักกีฬาลูกซองรณยุทธได้ การอบรมมีส่วนช่วยให้เราย่นระยะเวลาการเรียนรู้ เพราะในแต่ละหลักสูตรก็จะมีส่วนแข็งที่จะช่วยให้ผู้เรียนไม่ต้องเสียเวลาไปลองผิดลองถูก จะเป็นการเรียนจากประสบการณ์ของผู้สอนบนพื้นฐานกฎ กติกาจริงที่ใช้ในการแข่งขัน ซึ่งมีส่วนช่วยมากในการพัฒนาฝีมือของเรา
วรรณคงไม่ฟันธงว่าตกลงแล้วควรจะเข้าอบรมดีหรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ยิงเองว่าประสบการณ์ของผู้ที่ถ่ายทอดตรงกับวัตถุประสงค์ที่เราต้องการเรียนรู้ไหม จะได้อะไรมากน้อยแค่ไหนจากการเข้าอบรม เก็บเป็นการบ้านให้คิดหาข้อสรุปเองแล้วกันค่ะ
กรณีตัวอย่างเรื่อง DQ ที่วรรณยกมา เป็นบทความของพี่วีระชัย วัฒนสมบัติ (Stat Director - NROI Thailand) ที่เขียนไว้ใน "ทำอย่างไรไม่ให้โดน DQ" ซึ่งเป็นกฎสำหรับปืนสั้นรณยุทธ แต่ก็ปรับใช้กับลูกซองรณยุทธได้ค่ะ หาอ่านเพิ่มเติมได้ใน
www.thpsa.com เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ที่อ่านกระทู้ จะเพิ่มเติมส่วนไหน ยินดีเลยนะคะ แบ่งปันประสบการณ์กัน