นอนกรนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
นอนกรน อาจมีสาเหตุจากทางเดินหายใจอุดตันในขณะนอนหลับ ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า OBSTRUCTIVE SLEEP APNEA SYNDROME (OSAS)
คนที่เป็นโรคนี้จะนอนกรนเสียงดัง มีอาการคล้ายสำลักหรือสะดุ้งตื่นกลางดึก ต้องลุกไปถ่ายปัสสาวะตอนกลางดึก รู้สึกสมองตื้อ คิดอะไรไม่ออก เพราะง่วงนอน ขี้ลืม ไม่ค่อยมีสมาธิในการทำงาน ตื่นขึ้นมาด้วยอาการอ่อนล้า ไม่สดชื่น หรือปวดศีรษะ และต้องการนอนต่ออีกทั้งที่ไม่ได้นอนดึก บางคนอาจมีอาการร่วมด้วย อาทิเช่น จุกแน่นคอเหมือนมีอะไรติดคอ หูอื้อ หงุดหงิดง่าย ขี้โมโห คนข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงานบ่นว่า คุณอารมณ์เสียบ่อยๆ รวมทั้งมีความรู้สึกทางเพศลดลง
เป็นโรคอันตราย ที่รักษาให้หายได้
- นอนกรนเสียงดัง -------> แฟนหรือเพื่อนร่วมห้อง ลำบากใจ
- ง่วงนอนขณะขับรถ ------> อุบัติเหตุ
- ขี้ลืม ไม่ค่อยมีสมาธิในการทำงาน -----> ประสิทธิภาพการทำงานไม่เต็มที่
- เป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคของหลอดเลือดสมอง ------> สาเหตุตายอันดับหนึ่งของคนไทย
- หลับในห้องเรียน ความจำไม่ดี คิดไม่ออก -------> เรียนหนังสือไม่เก่ง
ถ้าคุณเป็นโรคนี้ คุณจะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคของหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจขาดเลือด ได้มากกว่าคนปกติ เป็นเหตุให้เสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร
อัตราเสี่ยงต่อโรค เทียบกับคนปกติ
โรคความดันโลหิตสูง ---------- > มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนปกติ 1.5 - 2.5 เท่า
โรคหัวใจขาดเลือด ---------- > มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนปกติ 2 -4 เท่า
โรคของหลอดเลือดในสมอง ---------- > มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนปกติ 2 เท่า
การลดปัจจัยเสี่ยงโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Behavioral change) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สำคัญมากในการรักษา โดยเฉพาะในรายที่เป็นยังไม่มากนัก ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประกอบด้วย
1. ลดความอ้วน
- เมื่อน้ำหนักลดลง 10%มีหลักฐานยืนยันว่า อัตราการหยุดหายใจลดลง อาการง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวันลดลงอย่างชัดเจน เหตุผลที่เมื่อลดน้ำหนักแล้วทำให้อาการดีขึ้นนั้น เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความจุของปอดเพิ่มขึ้น ทำให้ช่วยเพิ่มการแลกเปลี่ยนกาซ นอกจากนั้นเมื่อน้ำหนักลดลง จะทำให้ขนาดของช่องคอเพิ่มขึ้น อากาศไหลผ่านลงสู่ปอดได้สะดวกขึ้น ส่งผลให้ความดันในช่องคอเป็นลบลดลง เกิดการยุบตัวลดลง การแลกเปลี่ยนออกซิเจนมีมากขึ้น
- ผู้ป่วยที่อ้วนจะมีความต้องการที่จะลดน้ำหนัก ซึ่งหลายคนใช้วิธีการรับประทานยาลดความอ้วน แต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาเหล่านั้นก็มากมาย เช่น ทำให้เกิดอาการใจสั่น และเมื่อพอหยุดยามักจะกลับมาอ้วนใหม่ การควบคุมอาหารและการออกกำลังกายจึงน่าจะเป็นวิธีที่ดีในการลดความอ้วน
- โดยทั่วไปผู้ป่วยส่วนใหญ่จะลดน้ำหนักได้ยาก เมื่อลดน้ำหนักได้สักระยะหนึ่งน้ำหนักจะกลับเพิ่มขึ้นมาอีก ดังนั้นการอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยและบุคลากรในทีมสุขภาพ ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วย การสนับสนุนให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย อธิบายถึงประโยชน์ของการลดน้ำหนักจะทำให้การลดน้ำหนักได้ผล และควบคุมไม่ให้น้ำหนักกลับเพิ่มขึ้นมาอีกครั้ง
2. หลีกเลี่ยงการนอนหงาย
- ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยจะสังเกตได้เสมอว่า ในท่านอนตะแคง ผู้ป่วยที่มีอาการหยุดหายใจขณะหลับมีอาการลดลง เพราะว่าท่านอนหงายจะทำให้ลิ้นตกไปด้านหลังชิดกับผนังช่องคอด้านหลังทำให้เกิดการอุดตันได้มาก แต่ถ้าผู้ป่วยอ้วนมากๆ แล้ว ไม่ว่าท่านอนใดก็ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก วิธีการหนึ่งในการทำให้ผู้ป่วยนอนตะแคงคือ การเย็บลูกบอลหรือลูกเทนนิสใส่ไว้บริเวณกระเป๋าที่เย็บกับเสื้อนอนไว้กลางหลัง เรียกว่า sleep ball หรือ sleep sock เมื่อผู้ป่วยนอนหงายจะรู้สึกไม่สบายหรือปวดหลังจากการนอนหงายทับลูกบอล ก็จะพลิกตัวกลับมานอนตะแคง แต่วิธีนี้จะใช้ได้ผลดีในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการนอนกรนในระดับน้อย คือมีการกรนมากในท่านอนหงาย เวลานอนตะแคงอาการดีขึ้น เนื่องจากลิ้นไม่ตกไปที่คอด้านหลังมากเกินไป การใช้หมอนหนุนใต้คอเพื่อบังคับไม่ให้ศีรษะเงยมากเกินไป ป้องกันไม่ให้ลิ้นตกไปด้านหลัง จะสามารถช่วยลดอาการกรนได้บ้าง
3. งดการดื่มสุรา
- ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยจะสังเกตว่า ถ้าผู้ป่วยดื่มสุราก่อนเข้านอน จะมีอาการนอนกรนและการหยุดหายใจมากขึ้นกว่าเดิมเนื่องจากแอลกอฮอล์ทำให้เกิดการยุบตัวของทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น และกดสมองทำให้การตื่น (arousal) ซึ่งร่างกายเคยใช้ตอบสนองต่อการขาดออกซิเจนในเลือดช้ากว่าเดิม เมื่อหลีกเลี่ยงการดื่มสุราจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ทางเดินหายใจยุบตัวได้ยาก การหยุดหายใจจากการอุดตันลดลง ผู้ป่วยนอนกรนลดลง
4. งดยา
- ยาบางชนิดทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการหยุดหายใจในขณะหลับมีอาการมากขึ้น หรือในบางคนที่ไม่มีอาการหยุดหายใจขณะหลับมีอาการขึ้นมาได้ ได้แก่ยากล่อมประสาท ยานอนหลับ มีรายงานว่า ยากลุ่มนี้เกือบทุกชนิด มีผลต่อการหายใจขณะหลับ โดยมีการกดการตื่นของสมอง (arousal) ได้ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจขณะหลับนานขึ้นกว่าเดิม
- นอกจากนี้ ยาแก้แพ้ในกลุ่มแอนตี้ฮีสตามีนที่ทำให้ผู้ป่วยง่วงนอนและหลับลึกเป็นยาอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำให้อาการมากขึ้นได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มที่มีผลข้างเคียงดังกล่าวไปใช้กลุ่มที่มีฤทธิ์ข้างเคียงน้อย
5. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านอื่นๆ
- การสูบบุหรี่ทำให้ผนังคออักเสบหนาและมีเสมหะมาก ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง จึงควรหลีกเลี่ยงหรือเลิกสูบบุหรี่
- ในผู้ป่วยที่ออกกำลังหรือทำงานหนักจนร่างกายอ่อนเพลียมาก เวลาหลับกล้ามเนื้อของทางเดินหายใจจะมีความตึงตัวน้อย เกิดการยุบตัวได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ร่างกายอ่อนเพลียมากเกินไป
แต่หากอาการนอนกรนยังมีมากอยู่ และสร้างปัญหาให้กับสุขภาพตัวเองอย่างมาก ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางดีที่สุดค่ะ