ใช่ครับ ผมเคยได้ยินบางคนพูดเรื่องรถยนต์เป็นตุเป็นตะทั้งๆที่ขับไม่เป็น...ฮา
หลาย ๆ เรื่อง พูดต่อ ๆ กันมาจนเป็นตำนาน ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องสมัยใหนก็ไม่รู้
ปัจจุบันเขาพัฒนาไปไกลสุดกู่แล้ว คนก็ยังพูดเรื่องเก่า ๆ ตามความเชื่ออยู่อีก
เชื่อมั้ยครับว่า รถที่ราคาแล้วก็ตลาดเดียวกับเบนซ์ส่วนใหญ่แล้วสมรรถนะจะดีกว่า BMW AUDI OPEL เป็นตัวอย่าง
Mazda ก็เหมือนกัน ทำไมคนไม่นิยมทั้งๆที่ช่วงล่างถ้าเอามาเทียบกับโตโยต้าแล้วอย่าหาว่าผมอคติกับโตโยต้าเลยนะครับ Mazda ช่วงล่างดีกว่าเป็นไหนๆ ผมกล้าพูดเพราะลองมาแล้ว ไม่ใช่ว่าผมอยากให้เปลี่ยนความเชื่อนะครับ แค่อยากให้ไปลองหลายๆยี่ห้อ รถตลาดโตโยต้าไม่นับพวกสปอร์ทนะครับ ที่เคยๆขับมาตัวที่ผมชอบช่วงล่างที่สุดคือ WISH วิ่งทางไกลหนืบดี
...ด้วยความเคารพ ผมเองในฐานะที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์โดยตรงและเคยทำงานเกี่ยวข้องกับการทดสอบรถเพื่อให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์กับฝ่าย R&D ของบริษัท ผมจึงอยากขออนุญาตแชร์ความเห็นส่วนตัวของผมให้ท่านทราบบ้างดังต่อไปนี้
1. ถึงแม้ว่ารถยนต์ในแต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อได้ถูกออกแบบมาด้วยปรัชญา แนวคิด กระบวนการผลิต และวัสดุ เทคโนโลยีที่ใช้ ฯลฯ ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่รถยนต์ทุกคันเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อใด รุ่นใดก็ตาม ก็คือ การเป็นพาหนะที่ถูกใช้ในการเคลื่อนที่ของมนุษย์และหรือสิ่งของ
2. การประเมินว่าสิ่งใดดีกว่าหรือด้อยกว่านั้นมีองค์ประกอบที่หลากหลาย เวลาที่ผมประเมินคุณสมบัติของรถรุ่นต่างๆ นั้น ผมจำเป็นที่จะต้องอาศัย 3 องค์ประกอบหลักเพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการประเมิน ก็คือ ข้อมูลเชิงลึกทางด้านเทคนิค ประสบการณ์ที่สะสมมา และส่วนสุดท้ายก็คือความรู้สึกส่วนตัวว่ารู้สึกอย่างไร แล้วจึงจะสามารถสรุปได้ว่า สิ่งที่ถูกประเมิน (ในสายตาของผู้ประเมินซึ่งในที่นี้ก็คือผม) คิดอย่างไร
3. จากประสบการณ์ของผม ผมมักจะพูดกับทุกคนเสมอว่าจุดเด่น จุดด้อยของรถแต่ละคันคืออะไร แต่ผมมักจะไม่บอกว่าใครดีกว่าใครหากไม่สามารถยืนยันในลักษณะที่สามารถอ้างอิงได้ครับ ผมเชื่อว่ารถยนต์ดีทุกคัน ขึ้นอยู่ว่ารถคันนั้นตอบโจทย์หรือความคาดหวังของเรากับรถคันนั้น รุ่นนั้นได้มากน้อยเพียงไร และที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง จุดหรือองค์ประกอบที่แต่ละบุคคลให้ความสำคัญนั้นอยู่ตรงไหน บางคนต้องการความเร็ว ต้องการแรงม้าสูงๆ แต่ก็อาจจะต้องแลกกับความทนทานของเครื่องยนต์ บางคนอาจจะต้องการรถที่ประหยัดน้ำมัน (เมื่อเทียบกับรถที่มีขนาดความจุกระบอกสูบเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน) แต่ไม่ต้องการใช้ความเร็วในการขับขี่สูงๆ เป็นต้น
...ด้วยความเคารพ ผมขออนุญาตยกตัวอย่าง ตัวอย่างนึงที่เห็นได้ชัด เช่น การ set up ของรถที่ใช้ในการแข่งขัน Formula 1 แม้ว่ารถจะเป็นของทีมแข่งเดียวกัน การ set รถให้เข้าหรือเหมาะสมกับนักแข่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะท้ายที่สุดแล้วรถที่ใช้แข่ง แม้จะเหมือนกันทุกประการ แต่ ทักษะ (skill) ประสบการณ์(Experience) และ faith ของนักแข่งแต่ละคน ทำให้ผลการแข่งขันจบลงต่างกัน...
...ผมเคยไปขับทดสอบรถที่ Paul Richard Circuit ที่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสซึ่ง Circuit นี้เป็นหนึ่งในสนามที่ทาง Toyota ใช้เป็นสนามทดสอบรถ Formula 1 ของเค้า โดยคนที่ขับนำหน้าเป็นแชมป์เก่า DTM ตามด้วยผู้สื่อข่าวจากสหรัฐฯ ซึ่งมาจากหนังสือรถดังๆ ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น Car & Driver, Automobile, ฯลฯ และมีคนไทยร่วมในการทดสอบครั้งนั้นอยู่สามคน รถถูก set up มาจากโรงงานเหมือนกันหมด การทดสอบจะถูกทดสอบบน Track โดยให้วิ่งรอบ Circuit เป็นระยะทาง 3 รอบก่อนจะเปิดให้วิ่ง free run อีก 3 รอบ เชื่อมั้ยครับว่า รถรุ่นเดียวกัน เมื่อผ่านไป 5 รอบ กลุ่มคนไทยเรา เกือบถูกน็อครอบ แม้ว่าเราทั้งสามคนจะมีประสบการณ์การแข่งขันมาบ้างในเมืองไทย แต่ทักษะการขับขี่สู้ผู้สื่อข่าวจากสหรัฐฯ ไม่ได้เลย...
...หลังจากที่ทดสอบในช่วงแรกเสร็จ พวกเราได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้สื่อข่าวจากสหรัฐฯ สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือเค้าพยามหาข้อมูลทางเทคนิคจากเจ้าหน้าที่บริษัทฯ แล้วถึงเปรียบเทียบ เช่น ความถี่ในการจับของคาร์ลิบเปอร์กับจานเบรค ถามข้อมูลเกี่ยวกับระบบการทรงตัว ฯลฯ แล้วตั้งคำถามเช่นว่าต่างกับของคู่แข่งของรถรุ่นนั้นอย่างไร หลังจากนั้นเค้าก็แสดงความคิดเห็นว่าที่เค้าได้ทดสอบมามันต่างกับที่เจ้าหน้าของบริษัทบอกอย่างไร ก่อนที่จะลงไปทดสอบอีกครั้งนึง เค้าลงรายละเอียดมากจริงๆ ครับ เอาประสบการณ์ ข้อมูลมาประกอบกันให้มากที่สุด เพื่อจะได้เขียน article ได้...
...ผมว่าผู้บริโภคจะต้องประเมินให้ดีว่าถ้าต้องการซื้อรถคันนึง เราต้องการอะไรจากรถคันนั้น พฤติกรรมในการใช้ (ขับขี่) รถอย่างไร และท้ายที่สุดเลือกรถให้เหมาะกับความจำเป็นและเหมาะสมกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ เท่านั้นท่านก็จะมีความสุข เพราะอะไรหรอครับ "ถ้าท่านคิดว่ารถคันนั้นดีสำหรับท่าน รถคันนั้นก็จะเป็นรถที่ดีที่สุด" ครับ