กองทัพไทยเคลื่อนกำลังเข้ายึดดินแดน
การเตรียมกำลังตามแผนยุทธศาสตร์ ได้ดำเนินไปตามลำดับ ฝ่ายฝรั่งเศสได้เคลื่อนกำลังเข้าประชิดแดนไทย ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2483 ในที่สุดกองทัพไทย เคลื่อนกำลังเข้าสู่ดินแดนเดิมของเราเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2483 ทางด้านอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีณบุรี
การเจรจากับรัฐบาลเยอรมัน
ในการนี้ ทางรัฐบาลไทยได้ส่งทูตไปเจรจากับรัฐบาลเยอรมัน เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2483 เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง และความจำเป็น ที่ประเทศไทยต้องทำสงครามกับฝรั่งเศส ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในความยึดครองของประเทศเยอรมัน โดยคณะทูตที่ไปเป็นนายทหารบก 2 นาย กับนายทหารเรือ 1 นาย คณะทูตได้เข้าพบ จอมพล เกอริง โดยการประสานงานของพระยาพหล ฯ ซึ่งเป็นนักเรียนร่วมรุ่นกับ จอมพล เกอริง ในโรงเรียนนายร้อยเยอรมัน จึงได้รับความสะดวก และความร่วมมืออย่างดีทุกประการ จอมพล เกอริง มีความกังวลว่า การพิพาทกับฝรั่งเศสในอินโดจีน จะบานปลาย เป็นการเปิดแนวรบที่สองขึ้นในตะวันออก และรับรองยินดีสนับสนุน การเรียกร้องดินแดนคืนของประเทศไทย แต่ขอให้เป็นดินแดนเดิมของไทย จะได้ไม่เป็นปัญหาสู้รบกันต่อไปไม่จบสิ้น จากนั้น ได้ติดต่อให้ไปเจรจากับรัฐมนตรีต่างประเทศ การเจรจาเป็นไปด้วยดี โดยทางเยอรมัน ยินดีช่วยเหลือเรื่องการคืนดินแดนที่สูญเสียไปโดยไม่เป็นธรรม ไม่เฉพาะแต่ด้านอินโดจีนฝรั่งเศส แม้ทางด้านพม่า และมลายู ของอังกฤษ มีเมืองมะริด ทวาย ก็ยินดีสนับสนุน
จากนั้นได้จัดเป็นคณะทูตพิเศษ ประกอบด้วยนายทหารบก 3 นาย และนายทหารเรือ 3 นาย ออกเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส เข้าพบผู้บัญชาการทหารที่ยึดครองกรุงปารีส ซึ่งก็ได้สั่งการไปยังรัฐบาลวิซี่ของฝรั่งเศส ให้ยับยั้งการสู้รบ คณะทูตไทยได้ถือโอกาสเยี่ยมชมป้อมมายิโนต์ อันมีชื่อเสียงของฝรั่งเศส ที่ถูกเยอรมันตีแตกในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ และได้พบกับคณะนายทหารญี่ปุ่น ที่มาชมป้อมนี้เหมือนกัน จึงได้ทราบว่าญี่ปุ่นมีแผนที่จะบุกอาเซียอาคเนย์ ในอนาคตอันใกล้
ผลของการสู้รบ
ไทยได้ประกาศสถานสงครามกับอินโดจีน เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2484
กองทัพไทย มีชัยชนะกองทัพฝรั่งเศสในทุกด้าน ดังนี้
กองพลพายัพ ยึดได้แคว้นหลวงพระบาง ฝั่งขวาห้วยทราย ตรงข้ามเชียงแสน มีเมืองปากลาย หงสา และเชียงฮ่อน
กองทัพอิสาน กองพลอุบลยึดได้แคว้นนครจัมปาศักดิ์ กองพลสุรินทร์ ยึดได้เมืองสำโรงจงกัล ทางจังหวัดเสียมราฐ
กองทัพบูรพา ยึดได้พื้นที่ทางทิศตะวันตกของศรีโสภณ กองพลจันทบุรี ยึดได้บ้านกุบเรียง และบ้านห้วยเขมร ทางด้านทิศตะวันตกของบ่อไพลิน และพระตะบอง
กองทัพเรือ ได้มีการรบที่เกาะช้าง เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2484 ซึ่งมีรายละเอียดอยู่แล้วโดยเฉพาะ
กองทัพอากาศ ได้ทำการรบจนมีชัยทางอากาศ และได้ไปทำลายสถานที่สำคัญทางทหาร ในอินโดจีนอีกหลายแห่ง
ในช่วงแรกของการรบ ญี่ปุ่นซึ่งมีฐานทัพอยู่ในอินโดจีนได้เฝ้าดูอยู่ โดยยังมิได้มีปฏิกิริยาใด ๆ
แต่เมื่อรบกันไปได้ไม่นาน ก็เห็นว่ากองทัพไทยมีทีท่าว่า จะตีกองทัพฝรั่งเศสตกทะเลในไม่ช้า ถ้าไม่มีชาติใดมาหยุดยั้งเสียก่อน ญี่ปุ่นเห็นว่าชัยชนะของกองทัพไทย กำลังจะเป็นอันตรายต่อแผนการของตน ที่จะรุกรานลงทางใต้ จึงได้เสนอตนต่อรัฐบาลไทย และรัฐบาลฝรั่งเศสขอเป็นคนกลาง เพื่อไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทนี้ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2484 ทั้งสองฝ่ายจึงได้ตั้งคณะผู้แทนขึ้นสองคณะ คณะหนึ่งไปเจรจาทำความตกลงพักรบที่ไซ่ง่อน อีกคณะหนึ่งไปเจรจาสันติภาพ ณ กรุงโตเกียว ไทย และฝรั่งเศส ได้หยุดยิงตั้งแต่ เวลา 10.00 น เป็นต้นไป
ประเทศไทยได้ส่งคณะผู้แทนไปเจรจาพักรบที่ไซ่ง่อน มีทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนร่วมกัน เดินทางจากพระนคร เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2484 การเจรจาใช้เวลา 3 วัน ก็ได้ลงนามพักรบบนเรือลาดตระเวณญี่ปุ่น ชื่อ นาโตริ ซึ่งจอดอยู่หน้าเมืองไซ่ง่อน เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2484 ข้อกำหนดพักรบมีกำหนด 15 วัน
ต่อจากนั้นรัฐบาลได้ส่งคณะผู้แทนอีกคณะหนึ่ง มีพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็นประธาน พร้อมด้วยข้าราชการทหารและพลเรือน เดินทางไปยังกรุงโตเกียว เพื่อเจรจาสันติภาพและปรับปรุงเขตแดน การประชุมเริ่มเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2484 โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น เป็นประธานฝ่ายญี่ปุ่น เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำกรุงโตเกียว เป็นประธานฝ่ายฝรั่งเศส
การเจรจาตกลงกันได้ในสาระสำคัญ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2484 ฝ่ายไทย และฝ่ายฝรั่งเศส ตกลงยอมรับแผนการไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2484 โดยฝ่ายฝรั่งเศส ยอมยกดินแดนแขวงหลวงพระบางฝั่งขวาแม่น้ำโขง แคว้นจัมปาศักดิ์ และแคว้นเขมร ให้แก่ไทย ความตกลงข้อนี้เป็นที่พอใจของฝ่ายไทยทุกประการ ในการนี้รัฐบาลไทยได้ประกาศให้หยุดราชการในวันที่ 12 มีนาคม 2484 และได้ประดับธงชาติไทยคู่กับธงชาติญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกมีกำหนด 3 วัน กับได้มีการสวนสนามฉลองชัยชนะที่พระนคร เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2484
การรับมอบดินแดนคืน
ได้มีพิธีรับมอบดินแดนที่จังหวัดพระตะบอง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2484 มีการสวนสนาม โดยมีแม่ทัพบูรพาเป็นประธาน มีผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี 3 นาย และผู้แทนฝ่ายทหาร 3 นาย ไปรับมอบดินแดน
ต่อมาผู้แทนฝ่ายไทย ฝ่ายฝรั่งเศส และฝ่ายญี่ปุ่น ได้ร่วมกันร่างอนุสัญญาในเรื่องนี้ขึ้น และได้ลงนามเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2484 โดยสนธิสัญญานี้ประเทศไทยได้ดินแดนคืนมาประมาณ 90,000 ตารางกิโลเมตร และได้จัดตั้งเป็นจังหวัดใหม่ขึ้น 4 จังหวัด คือ พระตะบอง พิบูลสงคราม นครจัมปาศักดิ์ และลานช้าง และเพื่อเป็นการถ้อยทีถ้อยตอบแทนกันโดยไมตรี ฝ่ายไทยให้เงินทดแทนค่าก่อสร้างทางรถไฟ ของอินโดจีนฝรั่งเศส เป็นเงิน 6 ล้าน เปียสตร์อินโดจีน โดยแบ่งใช้มีกำหนด 6 ปี อนุสัญญาสันติภาพฉบับนี้ ได้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2484 สภาผู้แทนได้ให้ความเห็นชอบ ให้สัตยาบันอนุสัญญานี้ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2484 พร้อมทั้งมีมติขอบคุณรัฐบาลและผู้ที่ได้ไปทำงานให้แก่ประเทศชาติจนบรรลุผล ควรจารึกเกียรติคุณไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติชั่วกาลปาวสาน
การปักปันดินแดน
ในพิธีสารภาคผนวกของอนุสัญญาสันติภาพ ลงวันที่ 5 กรฎาคม 2484
ได้กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการปักปันดินแดนขึ้น เพื่อดำเนินงานให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 1 ปี กรรมการดังกล่าวประกอบด้วยฝ่ายไทย ฝ่ายฝรั่งเศส และฝ่ายญี่ปุ่น โดยมีฝ่ายญี่ปุ่นเป็นประธานกรรมการ
การปักปันดินแดนได้ดำเนินการอย่างเร่งรีบ ตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2484
งานได้เสร็จสิ้นลงตามกำหนดเวลา ได้มีการลงนามในพิธีสาร เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2485 ณ เมืองไซ่ง่อน และไทยได้เริ่มเข้าครอบครองดินแดนที่ได้ ตั้งแต่ วันที่ 12 กรกฎาคม 2485
สรุปผลที่ได้รับ
ไทยได้รับดินแดนบางส่วนที่เสียให้แก่ฝรั่งเศษกลับคืนมารวมประมาณ 69,000 ตารางกิโลเมตร จากดินแดนลาวและเขมรที่ไทยเสียให้แก่ฝรั่งเศษในเหตุการณ์หลายครั้ง รวมทั้งสิ้นประมาณ 467,800 ตารางกิโลเมตร
ดินแดนที่ไทยได้คืนจากฝรั่งเศษได้จัดตั้งเป็นอำเภอและจังหวัด เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่แม่ทัพนายกองของไทย และผู้ที่เป็นหลักในการดำเนินการต่อกรณีพิพาทอินโดจีน ดังนี้คือ
อำเภอไพรีระย่อเดช อำเภอเกรียงศักดิ์พิชิต อำเภอพรหมโยธี อำเภออธึกเทวเดช อำเภอสินธุสงครามชัย อำเภอวรรณไวทยากร อำเภออดุลย์เดชจรัส อำเภอหาญสงคราม และจังหวัดพิบูลสงคราม และได้จัดการปกครองดังนี้
1. เมืองเสียมราฐ (เขมร) ได้ยกฐานะท้องที่เมืองนี้ขึ้นเป็นจังหวัดพิบูลสงครามปกครองด้วยอำเภอไพรีระย่อเดช อำเภอกลันทบุรี อำเภอพรหมขันธ์ อำเภอเกรียงศักดิ์พิชิต อำเภอวารีแสน และอำเภอจอมกระสานต์
2. เมืองพระตะบอง (เขมร) ยอท้องที่เมืองนี้ขึ้นเป็นจังหวัดพระตะบอง ประกอบด้วยอำเภอเมืองพระตระบอง อำเภอพรหมโยธี อำเภออธึกเทวเดช อำเภอมงคลบุรี อำเภอไพลิน อำเภอศรีโสภณ และอำเภอสินธุสงครามชัย
3. นครจัมปาศักดิ์ (ลาว อยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง) ยกท้องที่แขวงนี้ขึ้นเป็นจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ ประกอบด้วยอำเภอเมืองนครจัมปาศักดิ์ อำเภอวรรณไวทยากร อำเภอธาราบริวัติ อำเภอมโนไพร และอำเภอโพนทอง
4. หลวงพระบาง (ลาว อยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง) ยกท้องที่แขวงนี้ขึ้นเป็นจังหวัดลานช้าง ประกอบด้วยอำเภอสะมาบุรี อำเภออดุลย์เดชจรัส อำเภอแก่นท้าว อำเภอเชียงฮ่อน และอำเภอหาญสงคราม
ได้มีการเปลี่ยนแปลงใช้ร่องน้ำลึกในแม่น้ำโขงเส้นเขตแดน บรรดาเกาะที่อยู่ฝั่งขวาของเส้นเขตแดน (ด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำโขง) เป็นของไทย ยกเว้นเกาะโขง และเกาะโดน ให้ไทยและฝรั่งเศษปกครองร่วมกัน
สร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ผู้ซึ่งเสียชีวิตไปในการรบ เรียกร้องการปรับปรุงเส้นเขตแดนกับอินโดจีนฝรั่งเศสครั้งนั้น ได้ถูกจารึกไว้
ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ประชาชนและรัฐบาลร่วมกันจัดสร้างขึ้นที่พระนคร ตรงต้นทางหลวงประชาธิปัตย์
(ถนนพหลโยธิน) ตอนถนนพญาไท ร่วมถนนราชวิถี โดยได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484
และได้ทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485
บรรดาผู้กล้าหาญของชาติจำนวนทั้งสิ้น 160 คน เป็นทหารบก 94 นาย ทหารเรือ 41 นาย ทหารอากาศ 13 นาย และตำรวจสนาม 12 นาย ได้จารึกชื่อไว้ ณ อนุสาวรีย์แห่งนี้ในครั้งนั้น
ที่มา หอมรดกไทย
http://www.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/military/indochina/index1.htm