'สยามแก๊ส' รุกตั้งปั๊มLPGทั่วปท. ฉวยจังหวะน้ำมันแพงรถแห่ติดก๊าซคว้าแชร์สูงสุด
Credit : ประชาชาติธุรกิจ
http://www.matichon.co.th/prachachat/news_detail.php?id=1396&catid=2-----------------------------------------------------------
สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์เร่งขยายปั๊มก๊าซยกใหญ่ รับขาขึ้นรถยนต์ใหม่/เก่าแห่ติดตั้งก๊าซ LPG เดือนละ 100,000 คัน ปีนี้ตั้งเป้าไปให้ถึง 200 ปั๊มทั่วประเทศ
ท่ามกลางภาวะก๊าซหุงต้ม (LPG) ในประเทศตึงตัวจนผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายต่างปักใจเชื่อกันว่าเกิดจากปริมาณรถยนต์เก่า/ใหม่หันมาติดตั้งก๊าซ LPG กันมากขึ้น จนไม่สามารถประมาณการความต้องการใช้ก๊าซได้ ในอีกด้านหนึ่งบริษัทผู้ค้าก๊าซตามมาตรา 7 เองก็เร่งขยายจำนวนสถานีบริการก๊าซสำหรับรถยนต์ หรือ "ปั๊มก๊าซ LPG" เพื่อรองรับรถยนต์ที่ปรับเปลี่ยนมาใช้ก๊าซ โดยตัวเลขล่าสุดของ กรมธุรกิจพลังงาน พบว่าในไตรมาสแรกของปี 2551 ประเทศไทยมีจำนวนปั๊มก๊าซทั้งหมดถึง 512 แห่ง จากปี 2550 ที่มีจำนวนปั๊ม 402 แห่ง หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 100 แห่งในเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานจากสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้ามาว่า เฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลตั้งแต่ช่วงกลางปี 2550 ถึงเดือนเมษายน 2551 มีผู้ประกอบการยื่นขออนุญาตก่อสร้างปั๊มก๊าซ LPG ตามมาตรา 39 ทวิ และ กทม.ได้ออก "ใบอนุญาตก่อสร้าง" ไปแล้วจำนวน 19 ราย ได้แก่ นายศุภรัตน์ เมณฑกูล เขตประเวศ, บริษัทภัทรชัย แก๊ส จำกัด เขตบางคอแหลม, บริษัทสยามแก๊ส จำกัด เขตบางคอแหลม, นายสรนันท์ เลาวาริณิชกุล เขตสายไหม, บริษัทสยามมีดี จำกัด เขตคันนายาว, บริษัท อึ้ง กิม เฮงแก๊ส (ปิโตรเลียม) 2007 เขตพญาไท, บริษัท พี.เอส.เค ปิโตรเลียม เขตบึงกุ่ม
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอ เอส เอ แก๊ส แอลพีจี เขตดอนเมือง, บริษัทมักกะสันอาเขต เขตราชเทวี, บริษัทสนามธูปเตมีย์ เขตสายไหม, บริษัททรัพย์สมบูรณ์เพิ่มพูน เขตหนองจอก, บริษัท เค.เอส.รามอินทรา แก๊ส เขตคันนายาว, บริษัทซัมโก เซอร์วิส เขตสะพานสูง, บริษัทสยาม เอ็น.เอส ปิโตรเลียม เขตบางขุนเทียน, บริษัทเหรียญทองอุตสาหกรรม จำกัด เขตภาษีเจริญ, บริษัทกรุงธนแก๊ส แอนด์ ออยส์ จำกัด เขตบางพลัด, บริษัทเคโอเอส ชัยคม จำกัด เขตหนองแขม, บริษัทเอ็ม บี พี ปิโตรเลียม จำกัด เขตหนองแขม และบริษัทบุญถนอมปิโตรเลียม จำกัด เขตตลิ่งชัน
อย่างไรก็ตามการออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างปั๊ม LPG ใน กทม.ที่มีจำนวนน้อยลงนั้น เป็นเพราะ มติ ครม.ได้บังคับไว้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 อนุมัติ กทม.แก้ไขผังเมืองรวม กทม. ให้บริษัท ปตท.สามารถตั้งสถานีบริการ NGV ในพื้นที่ริมถนนสาธารณะที่มีเขตทางน้อยกว่า 16 เมตรได้ เพื่อส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพราะมีความปลอดภัยมากกว่าสถานีบริการ LPG นอกจากนี้ยังระบุให้ กทม.ควบคุมมิให้มีการเปิดสถานีบริการ LPG เพิ่มขึ้น และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาแนวทางให้สถานีบริการ LPG ปรับเปลี่ยนไปให้บริการ NGV
ล่าสุดผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้ตรวจสอบจำนวนสถานีบริการก๊าซทั้ง 512 แห่ง พบว่าบริษัทสยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) มีจำนวนสถานีบริการสูงสุดถึง 191 แห่ง โดยนายศุภชัย วีรบวรพงศ์ กรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริษัทสยามแก๊สฯเตรียมที่จะขยายจำนวนสถานีบริการก๊าซ LPG มากขึ้น จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 190 กว่าแห่ง (ทั้งที่สยามแก๊สเป็นเจ้าของและดีลเลอร์) จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 200 แห่ง ภายในปี 2551 หรือจะขยายเพิ่มอีกประมาณ 10 แห่ง ในเขตภูมิภาค เนื่องจากขณะนี้ในเขตกรุงเทพฯมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ห้ามขยายสถานีบริการก๊าซ LPG ฉะนั้นจึงต้องขยายเพิ่มเติมในต่างจังหวัดแทน ซึ่งสถานีบริการก๊าซ LPG จะใช้เงินลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท/แห่ง
ทั้งนี้บริษัทสยามแก๊สฯรับก๊าซ LPG มาจาก บริษัท ปตท., บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน), บริษัทเชฟรอน, บริษัทเชลล์ในประเทศไทย จำกัด, บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) รวม 100,000 ตัน/เดือน ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ก๊าซที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนรถยนต์ที่เปลี่ยนมาใช้ก๊าซในอัตราเพิ่มขึ้นมากกว่า 100,000 คัน/เดือน
"ผมคิดว่าโรงกลั่นควรที่จะต้องเพิ่มกำลังผลิตก๊าซ LPG เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อประโยชน์รองรับการใช้ในประเทศ อีกส่วนหนึ่งเพื่อลดการนำเข้าก๊าซ LPG จากต่างประเทศที่มีราคาสูง โดยเฉพาะบริษัท ปตท. ควรเร่งขยายโรงแยกก๊าซแห่งใหม่เพิ่มเติมด้วย ในขณะที่ผู้ค้าก๊าซหลายอื่นไม่มีศักยภาพเพียงพอในการนำเข้าก๊าซอย่าง ปตท. ยกตัวอย่างบริษัทสยามแก๊สฯเองมีเรือขนส่งก๊าซเต็มที่ไม่เกิน 1,200-1,500 ตัน/ลำ แต่ ปตท.ใช้เรือขนถึง 20,000 ตัน/ลำ ในแง่ต้นทุนเรือขนส่งขนาดเล็กมีต้นทุนที่สูงกว่ามาก และเรายังไม่มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับภาระที่เกิดจากการตรึงราคาก๊าซภายในประเทศด้วย หรือพูดง่ายๆ ต้องซื้อมาในราคา 900 กว่าเหรียญ แต่ขายได้ไม่เกิน 330 เหรียญ/ตัน" นายศุภชัยกล่าว
ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมสถานีบริการก๊าซ LPG ไม่เปลี่ยนเป็นสถานีบริการก๊าซ NGV นั้นเป็นเพราะ "มาร์จิ้น" หรือค่าการตลาดของก๊าซ NGV ปัจจุบันอยู่ที่ 1.40 บาท/กิโลกรัม บริษัท ปตท.การันตียอดขายขั้นต่ำอยู่ที่ 2,000-4,000 กิโลกรัม/แห่ง ในขณะที่ค่าการตลาดก๊าซ LPG อยู่ในระดับ 1 บาทกว่า/กิโลกรัม ซึ่งถือว่าค่าการตลาดมีความใกล้เคียงกัน แต่ปริมาณการขายก๊าซ LPG มีมากกว่าก๊าซ NGV
"รถยนต์ 1 คันใช้เวลาในการเติมก๊าซ NGV ไม่ต่ำกว่า 10-15 นาที/คัน ในขณะที่ก๊าซ LPG ใช้เวลาเติมเพียง 3 นาทีเท่านั้น หากบริษัท ปตท.ต้องการที่จะจูงใจให้ผู้ค้าก๊าซรายอื่นๆ หันมาจำหน่ายก๊าซ NGV มากขึ้น อาจจะต้องปรับเพิ่มค่าการตลาดและสร้างความเชื่อมั่นด้วยว่า ในอนาคตจะมีปริมาณก๊าซธรรมชาติรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นได้" นายศุภชัยกล่าว
ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมการลงทุนต่อปั๊มที่ก๊าซ NGV ลงทุนอยู่ที่ 40 ล้านบาท/แห่ง ในขณะที่ก๊าซ LPG ลงทุนอยู่ที่ 10 ล้านบาท การลงทุนต่ำกว่ามาก จึงไม่แปลกที่ไม่มีใครเลือกที่จะเป็นดีลเลอร์ร่วมขายก๊าซ NGV กับ ปตท. และต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า การเร่งลงทุนขยายสถานีบริการ NGV ของบริษัท ปตท.ในขณะนี้ "มันได้กำไรหรือไม่ มองระยะยาวอาจจะใช่ ปั๊ม NGV มีกำไร แต่ในฐานะผู้ค้าก๊าซรายเล็ก รอเวลานานขณะนั้นไม่ได้ เราต้องมองเห็นกำไรในระยะสั้นๆ ด้วย หากทำปั๊ม NGV แล้วกำไรดีจริงๆ ป่านนี้เขาก็ไปขายกันแล้ว"
ล่าสุดราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกได้ปรับราคาขึ้นไปถึง 950 เหรียญ/ตันแล้ว และมีแนวโน้มที่ราคาก๊าซจะทะลุ 1,000 เหรียญ/ตัน ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้
เครดิตคุณบอย@สาธร