ออ ก๊าซ หุ่งต้มที่เติมรถ LPG ราคาคงที่ถึง ก.พ. 54
ตรึงราคาก๊าซ NGV-LPG ต่ออีก 6 เดือน รถไฟ-รถเมล์-ไฟฟ้าฟรี เคาะวันนี้
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 29 มิถุนายน 2553 06:05 น.
มติบอร์ด กพช.ไฟเขียว ตรึงราคาก๊าซ NGV-LPG ต่อไปอีก 6 เดือน เตรียมชง ครม. วันนี้ เคาะต่ออายุ รถไฟ-รถเมล์-ไฟฟ้าฟรี
นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2553 (วานนี้) โดยระบุว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงาน ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ คือตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มทุกภาคส่วนที่ราคา 18.13 บาทต่อกิโลกรัม ออกไปอีก 6 เดือน จนถึงเดือน กุมภาพันธ์ 2554 เช่นเดียวกับราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) และเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(เรกูเลเตอร์) ดำเนินการตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่ระดับ 92.55 สตางค์ต่อหน่วยจนถึงสิ้นปี 2553 นี้
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติ การทบทวนแผนแม่บทจัดหาก๊าซธรรมชาติ โดยให้ ปตท.ลงทุนวางท่อก๊าซเอ็นจีวี เพิ่ม 2 เส้นทางหลัก คือ เส้นจากแก่งคอย-โคราช และโคราช-นครสวรรค์ เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2010) และเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์การรับซื้อพลังงานหมุนเวียน ในระบบใหม่แบบพิจารณาเป็นรายโครงการ(ฟีดอินทรารีฟ) และเห็นชอบแนวทางกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า รวมทั้งเห็นชอบสัญญารับซื้อไฟฟ้าโครงการเซเปียนและเซน้ำน้อย โครงการละ 390 เมกกะวัตต์จะจ่ายไฟเข้าระบบ ปี 2561 โดยจะนำมติทั้งหมดเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนต (ครม.) วันที่ 29 มิถุนายน 2553 นี้
"ส่วนกรณีที่ กระทรวงการคลังเสนอแนวคิดจะลดราคาน้ำมัน 2 บาทต่อลิตรนั้น เรื่องนี้ไม่มีอยู่ในวาระการพิจารณาเป็นเพียงการเสนอความคิดเห็นในวาระอื่นๆ แต่เบื้องต้น นายกฯ ได้ให้ทางกระทรวงการคลังไปหารือกันก่อนเพื่อนำมาเสนอที่ประชุม ครม.ในวันที่29 มิถุนายน 2553 นี้"
นายวีระพล จิระประดิษฐ์กุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า เบื้องต้น สนพ.ได้ประเมินว่าหากโรงแยกแก๊ซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ไม่สามารถเข้าระบบได้ทันภายในสิ้นปีนี้จะต้องมีการนำเข้าก๊าซหุงต้มเดือนละ 1.54 แสนตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 2,200 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนเอ็นจีวี กองทุนน้ำมันจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้ ปตท. กิโลกรัมละ 2 บาท คิดเป็นมูลค่า 300-400 ล้านบาทต่อเดือน รวมระยะเวลา 6 เดือนคิดป็นราคาประมาณ 1,800-2,200 ล้านบาท
ส่วนค่าเอฟที ปัจจุบันหนี้ของ กฟผ.ที่รับภาระแทนกองทุนไปก่อนนั้นเหลืออยู่ 9,024 ล้านบาท คาดว่าถึงสิ้นปีภาระหนี้จะเหลือ 5,996 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สามารถชำหนี้คืน กฟผ.ล่าช้าออกไปเป็นปลายปี 2554 ถึงต้นปี 2555 จากเดิมที่คาดว่าจะชำระหนี้ได้หมดในกลางปี 2554
"ถ้าราคาน้ำมันอยู่ที่ระดับ 75-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาก๊าซหุงต้มอยู่ที่ 725 ดอลลาร์ต่อตัน ก็คาดว่า เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2553 กองทุนน้ำมันฯ จะมีเงินไหลเข้าเดือนละ 100-200 ล้านบาท แต่ถ้าราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็จะทำให้มีเงินไหลเข้ากองทุนน้อยลง แต่เบื้องต้นกองทุนน้ำมันยังสามารถรับภาระได้โดยขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเงินสดสุทธิ 24,000 ล้านบาทโดยมีภาระต้องจ่ายหนี้ชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม ที่ค้างชำระปี 2551 อยู่ที่ 1,237 ล้านบาท และหนี้ค้างชำระของปี 2553 ที่ 4,145 ล้านบาท"
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม กพช.มีมติเห็นชอบเรื่องการต่ออายุมาตรการบรรเทาภาระของประชาชนทั้งเรื่องก๊าซแอลพีจี) ก๊าซเอ็นจีวี ต่อไปอีก 6 เดือน รวมถึงให้ประสานกับคณะกรรมการกำกับค่าเอฟทีด้วย รวมทั้งมีมาตรการช่วยแท็กซี่เรื่องการเปลี่ยนมาใช้เอ็นจีวี โดยจะนำเข้าที่ประชุมครม.ในวันที่ 29 มิถุนายน 2553 นี้ พร้อมกับเรื่องการพิจารณาการต่ออายุมาตรการช่วยเหลือประชาชน คือ รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี และค่าไฟฟ้าด้วย
นายกฯ กล่าวเสริมว่า หลังจาก 6 เดือนไปแล้ว ตนได้ให้คณะกรรมการดูความเป็นไปได้ อาทิ เรื่องปัญหาของก๊าซหุงต้ม เพราะหากดูปริมาณที่ออกมาจากโรงแยกก๊าซ กับที่ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรมใช้ จะอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันมาก โดยเฉพาะเรื่องปิโตรเคมีที่พบว่ามีแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้นมาก จึงขอให้ไปดูว่ามีความเป็นไปได้เพียงใด ที่จะใช้ระบบนโยบายเรื่องราคาเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยอาศัยแหล่งที่ออกมาจากโรงแยกก๊าซ ส่วนในระบบของโรงกลั่นและปิโตรเคมี ก็ต้องพิจารณาตามโครงสร้างกลไกตลาดและราคาตลาดโลก ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ทั้งประชาชนจะสามารถใช้ก๊าซหุงต้มในราคาถูกได้ โดยไม่ต้องกระทบเรื่องภาระการชดเชย