"ขอบคุณ-ขอโทษ" กุญแจสร้างความเข้าใจในครอบครัว และสังคม
- หลายครอบครัวยากที่จะกล่าวคำว่าขอบคุณ และคำว่าขอโทษ แต่รู้ไหมว่าคำ 2 คำนี้เป็นกุญแจสำคัญในการดำเนินชีวิตครอบครัว
เพราะเหตุนี้ทางชุมชนเชียงยืน ต.สวก อ.เมือง จ.น่าน ที่อยากให้ทุกครอบครัวในชุมชนมีความรัก ความเข้าใจกันมากขึ้น จึงได้จัดเวทีเรื่อง
"สายสัมพันธ์ในครอบครัว" และนำกิจกรรมขอบคุณ-ขอโทษ เข้ามาจัดเวทีเรียนรู้ซึ่งสิ่งดีๆ ก็เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับครอบครัว "กันทรกาลัง"
นางสาวมายรินทร์ กันทรกาลัง หรือ "มาย" อายุ 31 ปี ยึดอาชีพขายลอตเตอรี่ โดยแม่จะเป็นผู้อุ้มไปส่งในเมืองเพื่อไปนั่งขายลอตเตอรี่เป็นประจำ เล่าว่า ได้เข้าร่วมเวทีเรียนรู้ของครอบครัวเข้มแข็ง โดยเฉพาะในเรื่อง "สายสัมพันธ์ในครอบครัว" ที่สอนให้รู้จักคำว่าขอบคุณ-ขอโทษ เรื่องนี้ทำให้ได้ข้อคิดที่จะนำกลับมาใช้กับตนเอง และกล้าที่จะพูดคำ 2 คำนี้มากขึ้น
"จริงๆ แล้วมายนิสัยไม่ค่อยดี ชอบเอาแต่ใจ ขี้โมโห อาจเป็นเพราะสภาพร่างกายที่เกิดมาไม่เหมือนคนทั่วไป เวลาไปไหนแม่ต้องอุ้มขึ้นลงรถ ทำให้รู้สึกหงุดหงิด ต้องเอาอารมณ์มาเกี่ยวข้องทุกครั้ง แต่ทุกครั้งที่ทำไปก็ไม่เคยที่จะขอโทษผู้เป็นแม่เลย"
มายรินทร์ยังบอกอีกว่า หลังจากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครอบครัวเข้มแข็งก็เริ่มคิดได้ พอกลับมาบ้านก็ตั้งใจที่จะไม่แสดงพฤติกรรมไม่ดีออกมาอีก และเธอก็เข้าใจความหมายของคำว่าขอบคุณและขอโทษมากขึ้น
นางแก้ว กันทรกาลัง อายุ 56 ปี แม่ของมายรินทร์เล่าถึงลูกสาวว่า ปกติแล้วลูกเป็นคนอารมณ์ร้อนเวลาไม่พอใจก็จะตะคอกใส่ แต่แม่ไม่เคยโกรธ คิดเสียแต่ว่าเขาคือลูกเราต้องดูแลเขาให้ดีที่สุด แต่หลังจากที่มีโครงการครอบครัวเข้มแข็งเข้ามาในให้ความรู้กับคนในชุมชนเมื่อลูกได้ไปเรียนรู้ พฤติกรรมเขาก็เปลี่ยนไป
"ไม่คิดว่าลูกจะเปลี่ยนไปได้ แม่จำได้วันที่อบรมลูกกล้าที่จะแสดงออกหน้าเวที กล้าที่จะพูดขอโทษแม่ต่อหน้าคนอื่นมากมาย หลังจากที่ลูกพูดกลางผู้คนแล้ว ฉันก็บอกลูกว่าแม่ขอบคุณที่ลูกกล้าที่จะขอโทษแม่ หลังจากวันนั้นครอบครัวเราก็มีความสุขมากขึ้น เวลาที่ใครทำผิดก็รู้จักพูดขอโทษและกล้าที่จะพูดคำว่าขอบคุณกันมากขึ้น"
ที่มา : หนังสือพิมพ์ "มติชน"
นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่การันตีให้เห็นว่า คำว่า "ขอบคุณ-ขอโทษ" มีความหมายจริงๆ วันนี้เราเข้าใจและใช้คำนี้บ้างหรือยังครับ