หากคนไทยไม่ยอมรับระบบรัฐสภาแล้ว ผมว่าก็ควรเปลี่ยนเป็นระบบสังคมนิยม โดยให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้นำประเทศครับ ผมว่ากลุ่มผู้ชุมนุมสงบแน่ นี่อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้กลุ่มพันธมิตรพอใจ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอีก 60 ล้านคนจะยอมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทำอะไรกันนึกถึงเสียงของประชาชนอีก 60 ล้านคน ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของกลุ่มพันธมิตรบ้างครับ
ไม่ใช่ครับ คุณเข้าใจผิดครับ ค่อยๆศึกษานะครับ...
รัฐสภาเป็นกลไกหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย และประชาชนก็มีสิทธิ์ในการเรียกร้องได้ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ
ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงแค่ระบบการเลือกตั้ง หากต้องประกอบไปด้วยสภาวะความเป็นประชาธิปไตย อย่างน้อย 6 ข้อ คือ
1. การเลือกตั้งผู้แทนจะต้องเป็นอิสระและยุติธรรม ไม่มีการใช้อำนาจหน้าที่ของ เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อโกงการเลือกตั้ง ไม่มีการซื้อเสียงขายเสียง และการที่กลุ่มอภิสิทธิชนใช้อำนาจอิทธิพลระบอบอุปถัมภ์ ให้คนต้องเลือกเฉพาะพวกเขาบางคน
2. จะต้องมีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่ดี เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ องค์กรประชาชนสามารถตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้ และต่างฝ่ายต่างตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน รวมทั้งภาคประชาชนสามารถถอดถอนผู้แทนที่มีพฤติกรรมไม่ชอบธรรมได้
3. การบริหารบ้านเมืองจะต้องโปร่งใส มีเหตุผลอธิบายได้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่มีการคอรัปชั่น การหาผลประโยชน์ทับซ้อน การเล่นพรรคพวก หาประโยชน์ส่วนตัว
4. มีรัฐธรรมนูญและกฏหมาย ขนบธรรมเนียม ที่มุ่งประโยชน์คนส่วนใหญ่ อย่างมี เหตุผล มีความคงเส้นคงวา คนส่วนใหญ่ยอมรับ และรัฐธรรมนูญ กฎหมาย เหล่านั้นมีผลบังคับใช้ด้วย
5. สื่อมวลชนและองค์กรประชาชนมิสิทธิเสรีภาพ, เป็นอิสระ, มีศักดิ์ศรี และเข้มแข็ง ประชาชนมีจิตสำนึกความเป็นพลเมือง และมีส่วนร่วมในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การแสดงความคิดเห็น การสมาคม การชุมนุม การทำประชาพิจารณ์ (เปิดอภิปรายความคิดเห็นประชาชนเรื่องกฏหมายและโครงการต่างๆ) และการลงประชามติว่า ประชาชนจะรับหรือไม่ในเรื่องสำคัญๆ
6. มีการกระจายการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สู่ประชาชน ทำให้เกิดประชาธิปไตยทาง เศรษฐกิจและสังคม และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่มั่นคง สม่ำเสมอ
ดังนั้น แม้จะมีการเลือกตั้งและมีผู้สมัคร สส. จากพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยเสียงข้างมาก แต่ถ้าไม่ได้เกิดสภาวะความเป็นประชาธิปไตยตามแนวทาง 6 ข้อนี้ เช่น เป็นรัฐบาลที่ใช้อำนาจผูกขาดแทรกแซงองค์กรอิสระ ปิดปากสื่อมวลชนและประชาชน คอรัปชั่น หาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง เราก็ควรถือว่าระบอบการปกครองแบบนี้เป็นระบอบประชาธิปไตยเพียงเปลือกนอก หรือเป็นประชาธิปไตยจอมปลอม ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ระบอบประชาธิปไตย อยู่บนรากฐานหลักการที่สำคัญ 5 ประการ คือ
1. หลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ประชาชนแสดงออกซึ่งการเป็นเจ้าของโดยใช้อำนาจที่มีตามกระบวนการเลือกตั้งอย่างอิสระและทั่วถึงในการให้ได้มาซึ่งตัวผู้ปกครองและผู้แทนของตน รวมทั้งประชาชนมีอำนาจในการคัดค้านและถอดถอนผู้ปกครองและผู้แทนที่ประชาชนเห็นว่า มิได้บริหารประเทศในทางที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม เช่น มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ
2. หลักเสรีภาพ ประชาชนทุกคนมีความสามารถในการกระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บุคคลต้องการ ตราบเท่าที่การกระทำของเขานั้น ไม่ไปละเมิดลิดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือละเมิดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและความมั่นคงของประเทศชาติ
3. หลักความเสมอภาค การเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรและคุณค่าต่างๆของสังคมที่มีอยู่จำกัดอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ถูกกีดกันด้วยสาเหตุแห่งความแตกต่างทางชั้นวรรณะทางสังคม ชาติพันธุ์ วัฒนธรรมความเป็นอยู่ ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือด้วยสาเหตุอื่น
4. หลักการปกครองโดยกฏหมายหรือหลักนิติธรรม การให้ความคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทั้งในเรื่องสิทธิเสรีภาพในทรัพย์สิน การแสดงออก การดำรงชีพ ฯลฯ อย่างเสมอหน้ากัน โดยผู้ปกครองไม่สามารถใช้อำนาจใดๆลิดรอนเพิกถอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ และไม่สามารถใช้อภิสิทธิอยู่เหนือกฏหมาย หรือเหนือกว่าประชาชนคนอื่นๆได้
5. หลักการเสียงข้างมาก (Majority rule)ควบคู่ไปกับการเคารพในสิทธิของเสียงข้างน้อย (Minority Rights) การตัดสินใจใดๆที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนหมู่มาก ไม่ว่าจะเป็น การเลือกตั้งผู้แทนของประชาชนเข้าสู่ระบบการเมือง การตัดสินใจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายตุลาการ ย่อมต้องถือเอาเสียงข้างมากที่มีต่อเรื่องนั้นๆ เป็นเกณฑ์ในการตัดสินทางเลือก โดยถือว่าเสียงข้างมากเป็นตัวแทนที่สะท้อนความต้องการ/ข้อเรียกร้องของประชาชนหมู่มาก หลักการนี้ ต้องควบคู่ไปกับการ เคารพและคุ้มครองสิทธิเสียงข้างน้อยด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่า ฝ่ายเสียงข้างมากจะไม่ใช้วิธีการพวกมากลากไปตามผลประโยชน์ความเห็นหรือกระแสความนิยมของพวกตนอย่างสุดโต่ง แต่ต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งหมด เพื่อสร้างสังคมที่ประชาชนเสียงข้างน้อย รวมทั้งชนกลุ่มน้อย ผู้ด้อยโอกาสต่างๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข โดยไม่มีการเอาเปรียบกันและสร้างความขัดแย้งในสังคมมากเกินไป ค่านิยม ทัศนคติ ที่ส่งเสริมประชาธิปไตย ระบอบประชาธิปไตย นอกจากจะเป็นระบอบการเมืองแล้ว ยังเป็นระบอบเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมด้วย ดังนั้นจึงไม่ใช่อยู่ที่รัฐธรรมนูญ กฏหมาย การเลือกตั้ง และการต่อรองทางการเมืองเท่านั้น หากอยู่ที่สมาชิกในสังคมจะต้องช่วยกันหล่อหลอม สร้างค่านิยม วิถีชีวิต ที่เป็นประชาธิปไตย มาตั้งแต่ในครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน ชุมชน เพื่อจะนำไปสู่หรือการปกป้อง ระบอบประชาธิปไตย ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม