ก่อนอื่นขออภัยไว้ก่อนถ้ามีอะไรผิดพลาด ที่มา
http://www.kapook.com/ เริ่มด้วย พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 1. นายสนธิ ลิ้มทองกุล
นายสนธิ ลิ้มทองกุล ชื่อเดิม ตั๊บ แซ่ลิ้ม เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่จังหวัดสุโขทัย ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนไหหลำ โดยเป็นลูกของนายวิเชียร แซ่ลิ้ม อดีตสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋ง และผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยหว่างผู่ กับนางไชย้ง แซ่ลิ้ม ทั้งคู่มาตั้งรกรากทำกิจการโรงพิมพ์ และออกหนังสือพิมพ์จีน จำหน่ายให้กับชาวจีนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร
สนธิ จบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา จากนั้นได้ถูกส่งไปเรียนภาษาจีนที่ไต้หวัน พร้อมกับเรียนวิชาวิศวกรรมเครื่องกลที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ก่อนที่จะไปเรียนต่อสหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ที่ยูซีแอลเอ เมืองลอสแอนเจลิส และปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ ที่ มหาวิทยาลัยยูทาห์สเตต
นอกจากนี้ยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาอักษรศาสตร์ ที่วิทยาลัยฮาร์ตวิคก์ เมืองโอนีโอนตา รัฐนิวยอร์ก และได้รับปริญญาสาขาประวัติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายหลังจบการศึกษาได้ศึกษาต่อ MBA ที่ประเทศออสเตรเลีย ได้รับปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานิเทศศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต
นายสนธิ เข้าทำงานเป็นบรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย เมื่ออายุได้เพียง 27 ปี จากนั้นได้ร่วมกับพร (หรือ พอล) สิทธิอำนวย ตั้งบริษัท Advance Media ในเครือพีเอสเอกรุ๊ป ออกหนังสือดิฉัน แต่ประสบปัญหาขาดทุน จึงได้ขายกิจการให้กับนายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ต่อมาเมื่อปี 2526 นายสนธิได้ตั้งบริษัท ตะวันออกแมกกาซีน ทำหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายเดือน และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ และเมื่อปี 2533 นายสนธิได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่อมาหุ้น MGR ถูกตลาดหลักทรัพย์แขวนป้ายระงับการซื้อขาย เนื่องจากปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 นายสนธิ ได้ส่งมอบการบริหารธุรกิจในเครือผู้จัดการให้กับ นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล บุตรชาย
นายสนธิ เคยเป็นที่ปรึกษากลุ่มหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และอาจารย์พิเศษคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับฉายาจากสื่อต่างประเทศว่า Media Mogul หรือ Media Tycoon และในช่วงต้นปี พ.ศ.2549 นายสนธิเป็นหนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ ที่ทำการชุมนุมเพื่อขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
2. นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์
นายสมเกียรติ หรือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2493 ที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาการศึกษา (กศ.บ.) จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปริญญาโทศึกษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
นายสมเกียรติ เป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์มติชน และนักวิชาการการเมืองภาคประชาชน เป็นเคยครูโรงเรียนวัดสระแก้ว เคยเป็นเลขาธิการสภาองค์การครูเพื่อสังคม (อคส.) เครือข่ายครูทั่วประเทศ 66 องค์กร และที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ที่สำคัญเป็นหนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ โดยทำงานเกี่ยวกับมวลชนและคนยากจนมากว่า 30 ปี เป็นแกนนำต่อต้านกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ และโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย
ปัจจุบัน ได้ลาออกจากการเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เพื่อลงรับเลือกตั้งในปลายปี พ.ศ. 2550 อย่างเต็มตัว จากนั้นนายสมเกียรติได้ลงเลือกตั้งในระบบสัดส่วนที่พื้นที่เขต 6 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ (อันดับที่ 1) พันเอกวินัย สมพงษ์ (อันดับที่ 3) ด้วย ซึ่งนายสมเกียรติอยู่ที่อันดับที่ 2 และได้รับเลือกตั้งไป
3. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เกิดวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 ที่ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร มีเชื้อสายจีน บิดาชื่อ สมนึก ชุณรัตน์ แต่บิดาเสียชีวิตตั้งแต่ พล.ต.จำลอง ยังเด็ก ส่วนมารดาชื่อ บุญเรือน ประกอบอาชีพแม่ค้าเร่ ต่อมามารดาได้แต่งงานใหม่กับ โชศน์ ศรีเมือง ส่วนชื่อเล่นนั้นแต่เดิม พล.ต.จำลอง มีชื่อเล่นว่า หนู แต่พอเข้าโรงเรียนก็ถูกเพื่อนฝูงตั้งให้ใหม่ว่า "จ๋ำ" ขณะที่ชื่อ "ลอง" นั้น เป็นชื่อเล่นที่คนอื่นๆ ทั่วไปมักใช้เรียกขาน ส่วนที่ใครๆ เรียกกันว่า "มหา" เพราะอดีตนายทหารผู้นี้ใฝ่ทางธรรม เมื่อครั้งอุปสมบทก็ศึกษาทางธรรมอย่างจริงจัง และเพราะเคยออกมาระบุว่าตนเองปฏิบัติตนสมถะ นอนไม้กระดานแผ่นเดียว แม้แต่การอาบน้ำก็จะใช้น้ำเพียง 5 ขัน ก็เลยได้ฉายา "มหา 5 ขัน"
สำหรับการศึกษานั้น หลังเรียนจบชั้น ม.6 พล.ต.จำลอง ได้ตัดสินใจเลือกเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และจบ จปร.รุ่น 7/2 เนื่องจากสมัยเป็นนักเรียนนายร้อย พล.ต.จำลอง กับพวกไปจัดฉายภาพยนตร์หารายได้ซื้ออุปกรณ์กีฬาและดนตรีเข้าสโมสรนักเรียนนายร้อย แต่การกระทำดังกล่าวไปผิดในข้อหาขัดคำสั่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งขณะนั้นคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก จึงถูกปลดจากหัวหน้านักเรียนนายร้อยเป็นนักเรียนลูกแถว และถูกลงโทษให้รับกระบี่ช้าออกไป ไม่จบพร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่นคนอื่นๆ
ขณะที่ด้านการเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2528 พล.ต.จำลอง มีลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนาม " กลุ่มรวมพลัง " โดยชนะได้รับคะแนนเสียง 408,233 คะแนน ซึ่งทำให้ท่านได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนแรกที่เกิดในระบอบประชาธิปไตย หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2531 พล.ต.จำลอง ได้ตั้ง "พรรคพลังธรรม" ขึ้น ต่อมากระแสความนิยมในตัว พล.ต.จำลอง ในฐานะนักการเมืองผู้สมถะ พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นกระแส จำลองฟีเวอร์" และเรียกกันติดปากว่า "มหาจำลอง" และได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกสมัย ในปี พ.ศ. 2533 แต่ก่อนที่จะครบวาระ 4 ปี พล.ต.จำลอง ก็ลาออก และผันตัวเองสู่สนามเลือกตั้งระดับชาติ ตำแหน่งสูงสุดคือ รองนายกรัฐมนตรี ในสมัย นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี
และเมื่อปี พ.ศ.2535 ได้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดย พล.ต.จำลอง ก็เป็นแกนนำคนสำคัญในการประท้วงต่อต้านรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร จนถูกจับกุมตัวกลางที่ชุมนุม และในวันที่ 20 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้บุคคลทั้งสองเข้าเฝ้า หลังจากนั้น พล.ต.จำลอง ก็ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งทางการเมืองตามที่เคยได้ให้สัญญาไว้เมื่อครั้งชุมนุม
จากนั้นเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่วงการการเมืองครั้งแรก ก็ด้วยการสนับสนุนของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง โดยในปี 2537 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสังกัดพรรคพลังธรรมของ พล.ต.จำลอง อีกด้วย และ พล.ต.จำลอง ก็เป็นผู้ที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ เรื่อยมา จากนั้นในปี พ.ศ. 2539 พล.ต.จำลอง ก็ลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกสมัย แต่ไม่ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งก็ทำให้บทบาททางการเมืองของ พล.ต.จำลอง ลดลงเรื่อยๆ จนเข้ามาเป็น 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ
ปัจจุบัน พล.ต.จำลอง สมรสกับ พ.ต.หญิง ศิริลักษณ์ เขียวละออ ภายหลังได้ร่วมกันทำกิจกรรมสังคมหลาย ๆ อย่าง ทั้งด้านการปฏิบัติธรรม เรื่องการกินอาหารมังสวิรัติ ดูแลสุนัขจรจัด รวมถึงจัดตั้งโรงเรียนผู้นำ
4. นายพิภพ ธงไชย
พิภพ ธงไชย เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 ที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ชื่อเล่น เปี๊ยก จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนนันทศึกษา จากนั้นไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ระหว่างศึกษาทำกิจกรรมจนได้รับคัดเลือกให้เป็นนายกองค์การนักศึกษาในปี พ.ศ.2510 จากนั้นเข้าศึกษาต่อจนเรียนจบประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) และไปเป็นครูระยะหนึ่ง ต่อมาได้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิโกมลคีมทอง ทำหนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ในปี พ.ศ. 2517 ได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ชาวบ้าน ของมูลนิธิโกมลคีมทอง และทำวารสาร ปาจารยสาร เพื่อวิพากษณ์วิจารณ์ระบบการศึกษาไทย ทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายสัปดาห์ และร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์จัตุรัสรายสัปดาห์ กับ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ และเพื่อน ๆ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์
หลังจากนั้นก็มีบทบาทในการเคลื่อนไหวการเมือง คือ เป็น 1 ใน 100 ผู้ร่วมลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และเป็นกรรมการองค์กรประชาธิปไตยเพื่อประชาชน (ปช.ปช.) กับ นายธีรยุทธ บุญมี และร่วมเดินขบวนรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ต่อต้านฐานทัพอเมริกา ต่อต้านสงครามเวียดนาม และต่อต้านเผด็จการทหาร จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อ พ.ศ. 2516
ในปี พ.ศ. 2520 ได้เดินทางไปประเทศอังกฤษ ร่วมก่อตั้งมูลนิธิมิตรไทย กับ อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์, อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์, นิวัติ กองเพียร และจอน อึ๊งภากรณ์ (ลูกชายอาจารย์ป๋วย) เมื่อกลับจากประเทศอังกฤษในปี พ.ศ.2521 ได้ก่อตั้ง โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ตามแนวคิดหนังสือชื่อ ซัมเมอร์ฮิล ที่ รังสรรค์ ธนะพระพันธุ์ แนะนำ และในปี 2522 ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเด็ก โดยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการมูลนิธิเด็ก หลังจากนั้น ร่วมเป็นกรรมการมูลนิธิหมอชาวบ้าน และยังเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสารข่าวครูไทย ของสมาพันธ์ครูประถมศึกษาแห่งประเทศไทยอีกด้วย
ปี พ.ศ. 2527 ได้รับทุนบีบีซี ไปดูงานการศึกษาทางเลือกในประเทศอังกฤษ และรับเป็นเลขานุการมูลนิธิเด็ก ในปี พ.ศ. 2529 หลังจากนั้นก็เข้าร่วมการสัมมนาการศึกษาทางเลือก และการเมืองทางเลือกในประเทศต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้น ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 พิภย ธงไชย ได้เคลื่อนไหวในนามมูลนิธิเด็ก ร่วมกับ น.พ.เสม พริ้งพวงแก้ว ต่อมาได้รับเป็นรองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองตามแนวทางอุดมคติของตนเองและของคณะกรรมการ โดยใช้วิธีวิพากษ์วิจารณ์ร่วมชุมนุม ร่วมเดินขบวน ร่วมดื้อแพ่ง และจัดสัมมนาวิพากษ์วิจารณ์การเมือง การพัฒนา และการศึกษา และเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการประชาชนกลุ่มต่างๆ กับทำงานอาสาสมัครในฐานะเลขาธิการและประธานของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และร่วมก่อตั้ง คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) เพื่อต่อสู้ความเป็นอิสระของสื่อและวิทยุชุมชน
5. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข
สมศักดิ์ โกศัยสุข เกิดที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเลขาธิการสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เมื่อ พ.ศ.2548 มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และเคยยื่นหนังสือคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และเป็นหนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
6. นายสุริยะใส กตะศิลา
สุริยะใส กตะศิลา เกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2515 ที่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา สุริยะใสได้เดินทางเข้ากรุงเทพมหานครเพื่อศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ สาขาสาธารณสุข ปัจจุบันศึกษาในระดับปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ยังเรียนไม่จบ เนื่องจากไม่ยอมทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งสมัยเป็นนิสิตสุริยะใสเป็นนักกิจกรรมตัวยง และเข้าคลุกคลีกับรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัย และยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นเลขาสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) อีกด้วย
ในสมัยเรียนหนังสือ สุริยะใส ยังมีบทบาทสำคัญในการคัดค้านการก่อสร้างสะพานกลับรถหน้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมีบทบาทในการเคลื่อนไหว กรณี สปก.4-01 และการเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญปี 2540 จนทำให้เขาได้รับการชักชวนเข้ามาทำงาน ในตำแหน่งรองเลขาธิการ ครป. ก่อนจะขยับขึ้นมาเลขาธิการ ครป. ซึ่งความเป็นนักเคลื่อนไหวของสุริยะใส ทำให้เขาเคยต้องคดีตกเป็นจำเลยที่ 9 กรณีพล.ต.ท.เสรี เตมียะเวช ยื่นฟ้องหนังสือพิมพ์ข่าวสด และพวกจำนวน 9 คน ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาเสนอข่าว แต่แล้วบทบาทการเป็นนักเคลื่อนไหวของสุริยะใส เริ่มแปรเปลี่ยนกลายเป็นนักต่อต้านและล้มล้างระบอบประชาธิปไตย เมื่อเข้าร่วมเป็นหนึ่งในแกนนำ "พันธมิตรกู้ชาติ" เพื่อขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับนายสนธิ ลิ้มทอง จนถึงปัจจุบัน
7. นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์
ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ที่ จังหวัดบุรีรัมย์ บิดาชื่อ ตงง้วน มารดาชื่อ เล็ก จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคนร่วมรุ่นเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นผู้ก่อตั้งพรรคพลังธรรม และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในช่วงวิกฤติพรรคพลังธรรม ต่อจากพล.ต.จำลอง ศรีเมือง โดยหลังจากต้านเผด็จการทหารในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 พรรคพลังธรรมได้เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ไชยวัฒน์ ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ต่อมาเมื่อปี 2548 ไชยวัฒน์ ยังเป็นบุคคลที่มีบทบาททางการเมือง หลังออกมาเรียกร้องขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ้นจากนายกรัฐมนตรี ร่วมกับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นอกจากนี้ ไชยวัฒน์ ยังเป็นแกนนำสมัชชาประชาชนอีสาน 19 จังหวัด ยื่นหนังสือให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ปลด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2550
จากนั้นเมื่อมีการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ไชยวัฒน์ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบสัดส่วนที่พื้นที่เขต 6 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ทำให้เขาได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) พรรคพลังประชาชน รวมถึงนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน และผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชาชน ขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 15 และ 16 ธันวาคม รวมทั้งการนับนำคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 15 และ 16 ธันวาคม ไปนับรวมการลงคะแนนในวันที่ 23 ธันวาคม เป็นโมฆะ แต่ต่อมาศาลได้ตัดสินยกฟ้องในคดีนี้ และนายไชยวัฒน์ได้ยื่นลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากเขาไม่ยินยอมถอนคำฟ้องออกตามคำขอของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
8. นายอมร อมรวัฒนานนท์
อมร อมรรัตนานนท์ เป็นคนในยุค 16 ตุลา และเป็นรองเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร แต่ถูกเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ เซ็นคำสั่งพักงาน อมร อมรรัตนานนท์ ภายหลังถูกร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมมิชอบส่อไปในทางทุจริต...
9. นายเทิดภูมิ ใจดี
นายเทิดภูมิ ใจดี อดีตผู้นำแรงงาน ชีวิตพลิกผันจากคอมมิวนิสต์เป็นประธานกลุ่มสหภาพกรรมกรโรงแรม