ธีออส (THEOS) ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทยได้ทะยานขึ้นสู่อวกาศ ในวันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2551 เวลาในประเทศไทย 13:37:16 น. หรือ 6:37:16 น. ตามเวลามาตรฐานสากล (UTC) โดยจรวดนำส่ง "เนปเปอร์" (Dnepr) จากฐานส่งจรวดเมืองยาสนี (Yasny) ประเทศรัสเซีย
ดาวเทียม THEOS (THailand Earth Observation Satellite) มีคุณลักษณะและความสามารถดังนี้ สามารถนำภาพจากดาวเทียมไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการหลายด้านเพื่อพัฒนาประเทศ ดาวเทียม THEOS เป็นดวงแรกของภูมิภาคอาเซียน อันจะเป็นการเปลี่ยนบทบาทของประเทศไทยในเวทีอวกาศโลก จากการสั่งซื้อภาพจากดาวเทียมของต่างประเทศ มาเป็นเจ้าของดาวเทียมสำรวจทรัพยากรที่สามารถควบคุมและสั่งถ่ายภาพ ตลอดจนให้บริการข้อมูลดาวเทียม THEOS แก่ผู้ใช้ทั่วโลกอีกด้วย ทั้งนี้ โดยมีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : สทอภ. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานดำเนินโครงการดาวเทียม THEOS และ บริษัท อีเอดีเอส แอสเตรียม (EADS Astrium) ประเทศฝรั่งเศสเป็นผู้สร้างดาวเทียม ซึ่งได้ลงนามในสัญญาการดำเนินโครงการดาวเทียม THEOS ภายใต้ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2547
ตามกำหนดเดิมของการส่งดาวเทียม THEOS เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2551 แต่ต้องเลื่อนการส่งออกไป เนื่องจากการส่งดาวเทียมที่ฐานส่งจรวดเมืองยาสนี (Yasny) ประเทศรัสเซีย เขตพื้นที่ที่จรวดนำส่งท่อนที่ 1 จะตกลง (Drop Zone Agreement) ในประเทศคาซัคสถาน แต่เนื่องจากรัฐบาลคาซัคสถาน ไม่อนุญาตให้ Drop Zone ในเขตประเทศได้ ดังนั้น บริษัท อีเอดีเอส แอสเตรียม ได้แจ้งมายัง สทอภ. ขอเลื่อนส่งดาวเทียม THEOS ออกไป และจะแจ้งกำหนดการส่งดาวเทียมอีกครั้งเมื่อมีความพร้อม สำหรับเขตพื้นที่ที่จรวดนำส่งท่องที่ 1 จะตก ประเทศรัสเซียได้ดำเนินการเจรจากับประเทศคาซัคสถานอีกครั้งหนึ่ง และผลการเจรจาเป็นไปด้วยดี ดังนั้น อีเอดีเอสแอสเตรียม จึงได้แจ้งกำหนดการส่งดาวเทียม เป็นวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2551 มายัง สทอภ. และบริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมของดาวเทียม โดยการตรวจสถานภาพของดาวเทียม THEOS ในด้านต่างๆ การอัดประจุไฟฟ้าของแบตเตอรี่ (Battery Charger) ตลอดจนการเติมเชื้อเพลิงสำหรับดาวเทียม (Propulsion filling) เรียบร้อยแล้ว
บัดนี้ดาวเทียม THEOS ได้ส่งขึ้นสู่วงโคจรในวันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2551 เวลา 13:37 น. (เวลาในประเทศไทย) โดยจรวดนำส่ง เนปเปอร์ (Dnepr) ซึ่งเป็นของบริษัท ISC Kosmotras ประเทศรัสเซีย จากฐานส่งจรวดที่เมืองยาสนี ในการส่งดาวเทียม THEOS ครั้งนี้ ไม่สามารถถ่ายทอดสดได้ เนื่องจากฐานส่งจรวดที่เมืองยาสนี ประเทศรัสเซียเป็นเขตทหาร ดังนั้น จึงเป็นการรายงานสดทางโทรศัพท์จากเมืองยาสนี มายังสถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียม THEOS ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดย ดร.ดาราศรี ดาวเรือง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ซึ่งได้เดินทางไปพร้อมกับผู้บริหารของ สทอภ. เพื่อร่วมกิจกรรมการส่งดาวเทียม THEOS ขึ้นสู่วงโคจร (THEOS Launch Event) เมื่อเวลาในประเทศไทย 13:37 น. หรือ 6:37 น. ตามเวลามาตรฐานสากล (UTC) ณ ฐานส่งจรวดเมืองยาสนี ประเทศรัสเซีย จรวดเนปเปอร์ (Dnepr) พร้อมด้วยดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทยได้ทะยานขึ้น (Lift-off) สู่ท้องฟ้าจากไซโลด้วยแรงขับเคลื่อนของจรวดท่อนที่ 1 ไปทางทิศใต้ตามแนวขั้วโลกมีมุมเอียงไปทางตะวันตก 8.9 องศา จรวดท่อนที่ 1 ขับเคลื่อนจากพื้นดินเป็นเวลา 110 วินาทีขึ้นไปที่ระดับสูง 60 กิโลเมตร แล้วแยกตัวออกและตกลงสู่พื้นโลกที่ประเทศคาซัคสถาน ต่อจากนั้นจรวดท่อนที่ 2 ขับเคลื่อนและนำดาวเทียมขึ้นต่อไปอีกเป็นเวลา 180 วินาที ได้ระดับความสูง 300 กิโลเมตร หรือเมื่อผ่านไป 290 วินาทีจาก Lift-off แล้วจรวดท่อนที่ 2 แยกตัวและตกลงในมหาสมุทรอินเดีย จรวดส่วนสุดท้าย (Upper Stage) พร้อมดาวเทียม วิ่งต่อไปตามวิถีการส่งจนถึงระดับความสูง 690 กิโลเมตร ดาวเทียมแยกตัวออกมาโคจรเป็นอิสระจากจรวดส่วนสุดท้าย ที่เวลาในประเทศไทย 15:09 น. สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมที่เมืองคิรูนา (Kiruna) ประเทศสวีเดน จะเป็นสถานีแรกที่ติดต่อกับดาวเทียมได้ (First Contact) ต่อจากนั้นดาวเทียมโคจรผ่านประเทศไทยครั้งแรก ณ เวลา 21:16 น. ซึ่งสถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียม THEOS อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เริ่มปฏิบัติการควบคุมการโคจรดาวเทียมและตรวจสอบการทำงานต่างๆ เพื่อให้ดาวเทียม THEOS มีความสมบูรณ์พร้อมใช้งาน อันเป็นงานและภารกิจหลักในการให้บริการข้อมูลดาวเทียมแก่หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ
ดาวเทียม THEOS มีน้ำหนัก 750 กิโลกรัม ถ่ายภาพโดยใช้แหล่งพลังงานจากดวงอาทิตย์ มีวงโคจรสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (Sun-synchronous) สูงจากพื้นโลก 822 กิโลเมตร โดยจะถ่ายภาพในเวลาประมาณ 10.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น ใช้ระยะเวลาในการโคจรรอบโลก (Period) 101.46 นาทีต่อรอบ ใช้เวลาสร้าง 3 ปี และออกแบบให้มีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 5 ปี ดาวเทียม THEOS มีกล้องถ่ายภาพ 2 กล้อง คือ กล้องถ่ายภาพขาวดำรายละเอียดสูง ( Panchromatic telescope) มีรายละเอียดภาพ 2 เมตร ความกว้างแนวถ่ายภาพ ( Swath width) 22 กิโลเมตร สามารถถ่ายภาพได้รอบโลกภายในเวลา 130 วัน ส่วนกล้องถ่ายภาพสี (Multispectral camera) มีรายละเอียดภาพ 15 เมตร ความกว้างแนวถ่ายภาพ 90 กิโลเมตร สามารถถ่ายภาพได้รอบโลกภายใน 35 วัน นอกจากนี้ ดาวเทียมยังสามารถปรับเอียงเพื่อถ่ายภาพซ้ำตรงตำแหน่งเดิมได้ทุก 1-5 วัน ดาวเทียม THEOS มีหน่วยความจำอยู่บนดาวเทียม จึงทำให้สามารถเก็บข้อมูลได้ทั่วโลก
ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากดาวเทียม THEOS หลายด้าน นับตั้งแต่การวางรากฐานการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาบุคลากรของไทยให้มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีอวกาศ และการมีดาวเทียมของตนเองสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ และสร้างการเรียนรู้และองค์ความรู้ด้านภูมิสารสนเทศเพื่อ การพัฒนาประเทศ ตลอดจนให้บริการข้อมูลแก่ผู้ใช้ทั่วโลก รวมทั้งข้อมูลดาวเทียม THEOS จะเป็นเครื่องมือใหม่ในการบริหารจัดการทรัพยากรในด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์ ทั้งด้านการเกษตร, การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง, การตรวจสอบมลพิษทางทะเล เช่นการหาคราบน้ำมันที่เรือเดินทะเลปล่อยทิ้งไว้, การใช้ประโยชน์ที่ดิน, การวางแผนการสร้างเขื่อน, การทำแผนที่, การวางผังเมือง, ป่าไม้, ความมั่นคง, การเก็บภาษี, อุทกภัย, การสำรวจหาพื้นที่ที่เกิดไฟป่า และการสำรวจหาพื้นที่ที่เกิดภัยแล้ง ตลอดจนการสร้างธุรกิจใหม่แก่ภาคเอกชนในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และการบริการใหม่ให้แก่หน่วยงานในภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงระดับภูมิภาค ทั้งนี้เพราะดาวเทียม THEOS เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน และสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั่วโลก
THEOS ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทย นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยในอันที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ทำให้บุคลากรไทยมีความรู้ความสามารถและถ่ายทอดเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อเป็นพื้นฐานและสร้างความต่อเนื่องในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของไทย อีกทั้งยัง เป็นการเพิ่มบทบาทของไทยในเวทีอวกาศโลก จากการสั่งซื้อภาพจากดาวเทียมมาเป็นเจ้าของดาวเทียมที่สามารถควบคุมและสั่งถ่ายภาพ ตลอดจนให้บริการข้อมูลดาวเทียมแก่ผู้ใช้ในประเทศ ซึ่งสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้แก่ ป่าไม้, การเกษตร, การทำแผนที่, ผังเมือง, การจัดการแหล่งน้ำ, ความมั่นคง และภัยพิบัติ นอกจากนี้ ยังให้บริการข้อมูลดาวเทียม THEOS แก่ผู้ใช้ทั่วโลก ตลอดจน เป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ
ค่าตำแหน่งที่สามารถนำไปคำนวณบนโปรแกรมติดตามการเคลื่อนทีของดาวเทียม
THEOS
1 33396U 08049A 08276.55293811 -.00000055 00000-0 51000-9 0 89
2 33396 098.7976 339.9618 0014182 287.4738 072.4916 14.63188886 198