ย้อนรอยวิกฤติการเงินสหรัฐฯ [3 ต.ค. 51 - 19:48]
ไหนๆก็เขียนเรื่องวิกฤติการเงินสหรัฐฯมาหลายวันแล้ว วันนี้ผมขอ ย้อนรอยวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ให้เห็นกันตั้งแต่จุดเริ่มต้นว่า วิกฤตินี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ข้อมูลนี้ผมไปค้นมาจากวารสาร การเงินธนาคาร ฉบับเก่าของปีที่แล้ว ซึ่ง ดร.สุธี โมกขะเวส ผู้เชี่ยวชาญการบริหารความเสี่ยง ได้บรรยายไว้เป็นฉากๆอย่างละเอียดเลยทีเดียว
เมื่อหยิบขึ้นมาอ่านใหม่ แล้วเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ก็ยิ่งขนลุก นึกไม่ถึงว่าตลาดเงินในโลกทุนนิยมตะวันตกจะชั่วร้ายขนาดนี้
จุดเริ่มต้นของปัญหา
ซับไพร์ม ที่เป็นต้นตอวิกฤติการเงินยุคใหม่ เกิดจากคนอเมริกัน 6 ล้านคน ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีเงินได้ แต่ไปขอกู้เงินซื้อบ้านจากสถาบันการเงิน ด้วยวิธีการกู้ที่เรียกว่า Loan to Value สินเชื่อตามมูลค่าบ้าน โดยกู้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ของราคาบ้าน แถมยังไม่ต้องมีเงินดาวน์อีกต่างหากเงินกู้แบบนี้เรียกว่า No Doc Loan หรือ No Document Loan เป็นการกู้เงินที่ไม่ต้องมีเอกสาร ไม่ต้องบอกว่ามีเงินเดือนเท่าไร สามารถผ่อนส่งบ้านได้หรือไม่ ที่สำคัญคือสามารถกู้ได้เท่ากับมูลค่าบ้าน
ไม่น่าเชื่อว่าระบบสินเชื่อบ้านในสหรัฐฯจะเหลวแหลกขนาดนี้
ฝ่ายสถาบันการเงินผู้ให้กู้ ก็มีรายได้จากค่าธรรมเนียมการปล่อยกู้ และไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยงของลูกหนี้เหล่านี้จะเบี้ยวหนี้ เพราะเมื่อปล่อยกู้ออกไปแล้ว ก็นำสินเชื่อบ้านพวกนี้ไปทำ Securitization เป็นตราสารหนี้ที่เรียกว่า Mortgage Back Securities หรือ MBS ตราสารนี้ที่มีบ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
จากนั้นก็ขายสินเชื่อพวกนี้ออกไปจากบัญชี ความเสี่ยงจากการถูกเบี้ยวหนี้ก็ถูกขายออกไปให้กับสถาบันการเงินที่รับซื้อตราสารหนี้เหล่านี้ไปด้วยวิธีนี้ทำให้การปล่อยสินเชื่อบ้านในสหรัฐฯ เป็นไปอย่างไร้ความรับผิดชอบ
เพราะสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ก็ไม่มีความเสี่ยง เนื่องจากขายออกไปแล้วสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้ ซับไพร์ม จะเร่งขาย MBS ออกไป เพื่อให้ได้เงินสดก้อนใหม่มาปล่อยกู้ต่ออีกรอบ หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ
ทีนี้ก็มาถึง Investment Bank หรือ วานิจธนกิจ หรือ ธนาคารเพื่อการลงทุน แล้วแต่จะเรียก เป็นสถาบันการเงินที่ทำธุรกิจแบบซื้อมาขายไป มีความเชี่ยวชาญในการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อทำกำไรจากส่วนต่างมากกว่าการปล่อยกู้
เมื่อเห็นว่าตราสารหนี้ MBS มีกำไรดี ก็ไปซื้อมา แล้วแบ่งออกเป็นกองๆ ตั้งชื่อเสียใหม่อย่างโก้หรูว่า Collateral Debt Obligations หรือ CDOs ที่คนไทยเรารู้จักกันดี เพราะมีแบงก์ไทยเจอไปหลายแบงก์ซีดีโอเหล่านี้มีทั้งความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงปานกลาง และความเสี่ยงต่ำ ดังนี้
1. Equity กลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูง แต่ถ้าตลาดบ้านตก กลุ่มนี้จะถูกเทขายก่อน แต่สภาพคล่องไม่มีเงินลงทุนในก้อนนี้ก็จะหายไปทันที
2. Mezzanine เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลาง จะถูกเทขายตามมา
3. Investment Grade Bond เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ มีสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของตราสาร MBS ถ้าเกิดวิกฤติตลาดบ้านตก ก็ยังขายได้เงินคืนบ้าง ซีดีโอกลุ่มนี้แหละที่วานิจธนกิจนำไปให้สถาบันจัดอันดับอย่าง มูดี้ส์ หรือ เอส แอนด์ พี จัดเรตติ้งให้สูงในระดับ AAA ทำให้ธนาคารแห่ไปซื้อลงทุนกันมากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ราคาบ้านในสหรัฐฯขึ้นอย่างต่อเนื่อง ลูกหนี้จึงไม่มีการผิดนัดชำระหนี้
ซีดีโอเหล่านี้ก็ขายดิบขายดี จนมีมากถึง 62 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยิ่งได้ Hedge Fund กองทุนความเสี่ยงเข้ามาปั่นด้วย ราคาและวงเงินก็ยิ่งบานไปใหญ่
ธนาคารที่ปล่อยกู้ให้เฮดจ์ฟันด์ เมื่อเห็นราคาหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ก็ยิ่งปล่อยกู้ให้มากขึ้น เฮดจ์ฟันด์ก็ได้เงินไปซื้อ CDOs จากวานิจธนกิจมากขึ้น สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ ซับไพร์ม ก็เร่งปล่อยกู้มากขึ้น เพื่อนำสินเชื่อบ้านมาขายเป็นซีดีโอได้มากขึ้น เพื่อนำเงินมาปล่อยกู้ให้มากขึ้น กลายเป็นวงจรวิบัติอย่างนี้ สุดท้ายก็พังพินาศอย่างที่เห็น. http://www.thairath.co.th/news.php?section=society03&content=10627662 ล้านล้าน us$ หรือ 2100 ล้านล้านบาทที่กระจายอยู่ในตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก ใครบอกว่าไม่กระทบไทยโกหกแล้วครับหนักยิ่งกว่าต้มยำกุ้งปี 40 อีกครับ