ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ และขอตอบคำถามตามความเข้าใจของผมนะครับ
1. ตายแล้วไปไหน
ตายแล้วก็ไปเกิด แต่จะเกิดเป็นอะไรขึ้นอยู่กับว่าวินาทีก่อนตาย จิตเป็นอย่างไร ในชาดกมีคนที่อิจฉาสุนัขของเศรษฐีที่ไม่ต้องลำบากอดยาก วินาทีที่อิจฉานั้นได้กินอาหารติดคอตาย แล้วไปเกิดเป็นสุนัขของเศรษฐีทันที
หรือคนที่ทำกรรมชั่วมามากจิตก็มีแต่อกุศลก็ไปจุติในนรกทันที หรือคนที่ยึดติดผูกพันกับสิ่งใดก็จะวนเวียนอยู่กับเรื่องนั้นๆ สถานที่นั้นๆ
ด้วยความเชื่อทำนองนี้ คนสมัยก่อนญาติคนป่วยใกล้ตายก็มักจะมาเฝ้า แล้วบอกคนป่วยให้นึกถึงพระบ้าง ถึงกุศลที่ทำไว้บ้าง เพื่อหวังให้ปลายทางเป็นที่สุข แต่ในพุทธศาสนายกให้การเกิดเป็นมนุษย์ดีกว่าการเกิดอื่นใด เพราะบางอย่างก็มีแต่สัญชาติญาณเรียนรู้ธรรมได้ยาก บางอย่างก็สุขจนมองไม่เห็นสภาวะทุกข์ แต่ก็มีที่ตายแล้วไม่เกิดใหม่ คือ พระอรหันต์
2. ตายแล้วสูญไหม
เป็นได้ทั้งสูญและไม่สูญ ลองหาอ่านใน ทิฐิ ๖๒ กับ ปฏิจจสมุปบาท ครับ
5. ทำไมคนเราถึงไม่มีอายุขัยที่ตายตัว เช่น ทุกคนอายุขัยที่ 100 ปี เท่ากันหมด
ก่อนเกิดขึ้นอยู่กับเหตุกรรมเป็นพื้นฐานของแต่ละคน พอเกิดเป็นคนแล้วก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่ทำด้วย บางคนด้วยกรรมทำให้เกิดในสกุลที่ร่างกายอ่อนแอจนหมอดูทายว่าอายุจะสั้น แต่เจ้าตัวดูแลตัวเองเป็นอย่างดีก็ทำให้ร่างกายแข็งแรงอายุยืนกว่าใครในสกุล กรรมเก่าใหม่ไม่เหมือนกัน
6. การที่เราทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้คนทีล่วงลับไปแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาได้รับแล้ว
คิดว่าอย่างเราๆท่านๆคงไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่า ได้รับจริงหรือไม่ คิดไปก็ไม่สิ้นสงสัยทำให้ทุกข์เปล่าๆ ทำไปเถิดครับ ทำด้วยความศรัทธา ทำด้วยความปรารถนาดี การทำบุญมีถึงสิบวิธีเลือกได้ตามโอกาสต่างๆครับ ไม่ต้องรอตักบาตรตอนเช้าเท่านั้น และพุทธศาสนาก็มุ่งให้ทำเอง(ได้รับเองแน่นอน)มากกว่ารอรับ(ซึ่งไม่แน่นอนเพราะมีเหตุปัจจัยสารพัด)
7. อีกหลายปีถัดมา เมื่อผมตายไป ผมจะได้พบคนที่ล่วงหน้าไปก่อนแล้วหรือไม่
เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้อยู่กับเหตุปัจจัย บางทีพบก็เหมือนไม่ได้พบ และอาจจะไม่ใช่ชาติถัดไปก็ได้ ชีวิตไม่เหมือนในหนังที่ชาติถัดไปก็เจอกันได้ง่ายๆ เจอกันแล้วจำกันได้อีก ในพุทธศาสนากล่าวถึงความสัมพันธ์ในชาติก่อน(ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นชาติที่แล้ว แต่เป็นชาติก่อนโน้น)ส่งผลต่อความรู้สึกถึงชาติปัจจุบันให้ชอบไม่ชอบ แต่เราก็ไม่รู้ว่าชาติก่อนเรามีฐานะต่อกันแบบไหน และเวรกรรมทำให้วนเวียนสลับศักดิ์กันหาจุดเริ่มจุดจบไม่เจอ และเรื่องชาติภพ เรื่องกรรม นั้นปุถุชนไม่สามารถรู้และจบด้วยการ พูด คุย คิด กันเองครับ(คิดมากก็ทำให้บ้าได้) แต่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า มีชาติภพ มีเวรกรรม จริง
ถ้าเราคิดว่าการตายเป็นสุขจริงๆ หมายถึงหมดทุกข์ หมดโศก หมดกรรม ทำไมเราไม่จัดงานฉลองครับ ทำไมจัดงานไว้อาลัยให้เศร้าศร้อย
ทุกข์สุขคืออะไร ในพุทธศาสนาคำว่าทุกข์มีเป็นสิบๆความหมาย ตามแต่บริบท วาระ ความสุขก็มีหลายแบบ แต่ความสุขแบบปุถุชนพระท่านว่าไม่ใช่สุข ท่านว่าเป็นแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ทุกข์มีไว้ให้กำหนดรู้ไม่ได้มีไว้ให้เป็นทุกข์ แต่คนที่ไม่เคยฝึกมาจะให้หายทุกข์ทันใจคงยาก เรื่องทางโลกนั้นสับสน หาความจริงได้ยาก เพราะแตกต่างทั้ง มารยาท วัฒนธรรม ชนชาติ ต่างกรรมต่างวาระ ศัพท์ที่บรรยัติ ที่เคลือบความรู้สึกเอาไว้ ทุกข์ของคนหนึ่งอาจเป็นธรรมดาของอีกคนก็ได้ ยิ่งคิดก็ยิ่งปวดหัวถ้าจะหาเหตุผลของแต่ละคน แต่ถ้าคิดแบบพุทธศาสนาก็จบตั้งแต่เรื่องทุกข์แล้วครับ แต่จะทำใจยอมรับได้ไหม ส่วนแผลในใจผมเชื่อว่าทุกคนมี ทุกคนที่มีมโนธรรมแม้เพียงเล็กน้อยสามารถรู้สึกได้เมื่อย้อนคิดถึง แต่ขอให้มันเป็นแค่เครื่องเตือนความจำเท่านั้น อย่าเอามาเป็นอารมณ์คิดฟุ้งนานๆบันทอนจิตใจเลยครับ วัฏสงสารนี้อีกยาวไกล มีโอกาสอีกมากที่จะให้เราแก้ไขด้วยการชดเชยเริ่มใหม่ไม่ทำอีก แต่ไม่ใช่แก้ไขเรื่องที่เกิดผ่านไปแล้วไม่ให้เกิดแบบย้อนเวลา แม้ในพระไตรฯก็ไม่มีกล่าวถึงการย้อนเวลาไปแก้ไขอดีตได้ มีเร่งให้มุ่งทำปัจจุบันเท่านั้น