http://www.dailynews.co.th/sunday/lifestyle.asp?columnid=12707วิถีชีวิต : ทำไมต้องฆ่าพ่อหนู ?? ลูกกำพร้า เหยื่อบริสุทธิ์ไฟใต้
เสียงปืน-เสียงระเบิดที่ดังขึ้นแต่ละครั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เพียงก่อให้เกิดการเสียเลือดเนื้อ-เสียชีวิตของผู้ใหญ่ แต่ยังหมายถึงการ ทำร้ายเด็กๆ ที่บริสุทธิ์ด้วย...
จากหลายสิบ...เป็นหลายร้อย...ตกเป็น เหยื่อบริสุทธิ์
ต้องกลายเป็น ลูกกำพร้า อนาคตไม่รู้จะเป็นเช่นไร ??
@@@@@
หัวใจหนูแทบสลาย...
...เป็นเสียงของหนึ่งในเด็กที่ต้องกลายเป็น กำพร้า หลังพ่อถูกผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลอบยิงเสียชีวิต ซึ่งเด็กเหล่านี้จำเป็นอย่างที่จะต้องได้รับการ เยียวยาชีวิต
เด็ก ๆ ที่ต้องสูญเสียพ่อ หรือบางรายก็เสียแม่ด้วย ไปกับเหตุการณ์ ไฟใต้ จนต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า นับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเด็กกำพร้าเหล่านี้ถ้าปล่อยทิ้งไว้ อาจเกิดปัญหาตามมาหลายๆอย่าง ดีไม่ดีอาจตกไปอยู่ในวังวนยาเสพติด รวมถึงอาจถูกชักนำให้เข้าเป็นแนวร่วม-เป็นสมาชิกกลุ่มที่หลงผิดได้
ทางฝ่ายทหารก็ตระหนักถึงปัญหาในเรื่องนี้...จึงมีการจัดทำโครงการขึ้นมา โดยหน่วยทหารเฉพาะกิจที่ 2 ได้ร่วมมือกับทางจังหวัดปัตตานี จัดโครงการ โครงการปลอบขวัญเด็กกำพร้า มีการเปิดลงทะเบียนเด็กกำพร้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อง่ายต่อการเข้าไปดูแลให้กำลังใจ เพื่อให้เด็กเหล่านี้มีจิตใจที่เข้มแข็ง ได้มีโอกาสในการเล่าเรียน สามารถช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือสังคม ไม่เป็นปัญหาของสังคม
โครงการดังกล่าวนี้ เป็นโครงการที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าหน้าที่ส่วนราชการกับชาวบ้านประชาชนในพื้นที่ สามารถลดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ลดช่องว่างระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับผู้นำศาสนา-ผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้...
และที่สำคัญคือเป็นการ ช่วยเหลือเด็กๆ
เด็กกำพร้าที่พามาในวันนี้มีประมาณ 20 คน ส่วนใหญ่จะเสียพ่อจากเหตุการณ์ที่ผู้ก่อความไม่สงบเป็นคนทำ ที่พาเด็ก ๆ มาก็เพื่อต้องการที่จะให้เด็กเหล่านี้ได้รับโอกาสที่ดี ๆ ได้เรียนต่อ...
...เป็นคำบอกเล่าของ รวยฮีส สามะ จาก ต.ยะหา อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ผู้ที่พาเด็กกำพร้ามาลงทะเบียนในโครงการ ปลอบขวัญเด็กกำพร้า ที่ทางทหารจัดขึ้น เมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา
เด็ก 20 คนที่ว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเด็กกำพร้ากลุ่มใหญ่ ซึ่งหากรวมทั้งเด็กและแม่ที่ต้องกลายเป็น แม่หม้าย ที่มากันในวันนั้น...ก็ประมาณ 1,200 คน
ตัวเองก็รู้สึกกลัว รู้สึกว่าไม่มีความปลอดภัยในชีวิต เหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นนั้น...ถ้าเป็นไปได้อยากให้เหตุการณ์นี้ผ่านพ้นไปเสียที ...รวยฮีสกล่าว
แอเสาะ มะแตหะ อายุ 42 ปี จาก อ.บันนังสะตา จ.ยะลา แม่หม้าย ซึ่งมีลูก 2 คนที่ต้องเป็นกำพร้า หลังจากสามีเสียชีวิตไปกับเหตุการณ์ความรุนแรง รายนี้ก็เข้าลงชื่อในโครงการด้วยความหวังต้องการที่จะให้ลูก ๆ ได้รับทุนการศึกษา เพื่อที่จะได้เรียนต่อ เพราะลูก ๆ ขาดพ่อซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวไปเสียแล้ว
เขามีอาชีพขับรถรับจ้าง ทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว อยู่ ๆ ก็ถูกพวกผู้ก่อความไม่สงบจับตัวไป และก็หายสาบสูญ จะเป็นตายร้ายดียังไงก็ไม่รู้ ก็ไม่รู้ว่าสามีไปมีเรื่องราวอะไรกับใคร ทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้เลยว่าด้วยเหตุผลอะไร ...แม่หม้ายแอเสาะกล่าวด้วยแววตาเศร้าหม่น
หลังสะกดความรู้สึกทุกข์โศกอยู่ชั่วครู่ก็บอกต่ออีกว่า... รู้สึกเสียใจ เศร้าใจมาก ลูกอีก 2 คนจะทำยังไงกัน ตอนสามีอยู่ก็เป็นคนที่หารายได้เข้าบ้านเพียงคนเดียว รายได้ก็แค่พอมีพอกิน เมื่อเขามาจากไปครอบครัวก็แย่หนัก ต้องอยู่อย่างอดๆอยากๆ
ลำพังตัวเองก็ยังไม่เท่าไหร่ แต่นี่สงสารก็แต่ลูกๆ ที่มาลงทะเบียนก็เพื่อต้องการความช่วยเหลือจากทางการที่ช่วยเหลือในเรื่องของทุนการศึกษากับลูกๆ เพื่อพวกเขาได้เรียนหนังสือ
เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่ทุกครั้งที่นึกถึงสามีก็จะร้องไห้ออกมาทุกครั้งไป เขาไปทำอะไรให้ ทำไมต้องมาพรากชีวิตสามีไปจากเราและลูก ๆ ด้วย ? ...เป็นคำถามทิ้งท้ายของผู้สูญเสียอย่างแอเสาะ
ขณะที่ในส่วนของผู้ที่ต้องกลายเป็น ลูกกำพร้า อย่าง ซุรัญดา ซาอิ จาก อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เล่าว่า... มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน ตนเองเป็นคนโต กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี ปี 3 มหาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งซุรัญดาก็เป็นอีกหนึ่ง เหยื่อบริสุทธิ์ ที่ต้องเสียพ่อไปกับความโหดร้ายของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
พ่อเป็นประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน พ่อถูกลอบยิงหลังจากพ่อขับรถไปส่งลูกเพื่อไปเรียนหนังสือที่สถานีรถไฟ ขากลับถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบดักยิงเสียชีวิตที่ ต.ตรอกบอน อ.สายบุรี
...ซุรัญดาเล่าย้อนเหตุการณ์ พร้อมทั้งบอกอีกว่า...
ครั้งแรกที่รู้ว่าพ่อต้องมาเสียชีวิต รู้สึกเสียใจมาก หัวใจแทบสลาย หมดกำลังใจที่จะเรียนหนังสือต่อ ไม่รู้ว่าจะทำยังไงดี แต่ก็ต้องฮึดสู้เมื่อมาคิดว่ายังมีแม่และน้องๆที่เราจะต้องดูแล
เมื่อครัวครัวที่เคยอยู่กันอย่างมีความสุขต้องมาเสียบุคคลที่สำคัญและเป็นที่รักไป ทำให้ตอนนี้ครอบครัวของซุรัญดาอยู่ในอาการที่หวาดกลัว และเมื่อหัวหน้าครอบครัวที่เป็นหัวเรือใหญ่ของบ้านต้องมาเสียชีวิตลง ทางครอบครัวของซุรัญดาก็ต้องได้รับผลกระทบด้านปากท้องความเป็นอยู่ เพราะแม่ของซุรัญดาก็ไม่ได้มีอาชีพอะไร
ช่วงนี้ครอบครัวของหนูต้องอยู่กันแบบอดๆ อยากๆ ตัวหนูเองตอนนี้ก็เรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 3 ก็ต้องพยายาม คิดว่าต้องตั้งหน้าตั้งตาเรียนให้จบโดยเร็วที่สุด เพื่อออกมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว และส่งน้อง ๆ ให้ได้เรียน ...ซุรัญดากล่าว
ซาวารี บาโอ๊ะ วัย 12 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้น ป.6 ซาวารีกับพี่อีก 5 คนก็ต้องกลายเป็นลูกกำพร้าจากเหตุการณ์ไฟใต้ พ่อของซาวารีซึ่งทำหน้าที่เป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ต้องจบชีวิตลงจากการลอบยิงของผู้ก่อความไม่สงบ
การเสียชีวิตของพ่อนอกจากจะสร้างความโศกเศร้าให้กับครอบครัวของซาวารีแล้ว ภาระอันหนักอึ้งยังตกอยู่กับแม่ที่ต้องดูแลลูก 6 คน ซึ่งตอนที่พ่อของซาวารียังอยู่ความเป็นอยู่ของครอบครัวก็ไม่ดีเท่าไหร่อยู่แล้ว เมื่อต้องมาขาดเสาหลักของครอบครับไป ความเป็นอยู่ก็ยิ่งแย่ลง...
โตขึ้นหนูอยากเป็นหมอ
...เป็นความฝันซาวารี ซึ่งเมื่อครั้งพ่อยังอยู่ก็ใช่ว่าจะสานฝันนี้ได้ง่ายๆ ยิ่งพ่อมาเสียชีวิตลง...ยิ่งไม่ต้องพูดถึง
หนูเสียใจมากที่พอเสียชีวิต ฝันอยากเป็นหมอของหนูก็คงจะเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะครอบครัวคงไม่มีเงินส่งเรียน ต้องนี้หนูขอแค่มีทุนเรียนให้จบ ม.6 ก็พอแล้ว
...เป็นเสียงแผ่วเครือของหนูน้อยซาวารี
@@@@@
โครงการปลอบขวัญเด็กกำพร้า ที่ทางทหารร่วมกับทางจังหวัดจัดทำขึ้น ก็คงจะช่วยสานฝันเรื่องการศึกษา และช่วยเหลือเรื่องความเป็นอยู่ ของ ลูกกำพร้า ในจังหวัดชายแดนใต้ได้ในระดับหนึ่ง...
แต่...ทำไมต้องฆ่าพอหนูด้วย ??
เด็ก ๆ กำพร้ากลุ่มนี้...ร่ำร้องถาม !!
บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ :รายงาน
----------------------------
กว่า 1,400 ชีวิต...รอเยียวยาการช่วยเหลือเด็กกำพร้า รวมทั้งแม่หม้ายนั้น จำเป็นต้องมีการทำอย่างเร่งด่วน และถือว่าเป็นเรื่องที่ปล่อยปละละเลยไม่ได้ ทำเพื่อให้เด็กเหล่านี้รู้ว่าไม่มีใครทอดทิ้งพวกเขา เด็กเหล่านี้จะได้ไม่หลงไปเดินทางผิด
... พ.อ.จำลอง คุณสงค์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 2 ซึ่งจัดทำโครงการ ปลอบขวัญเด็กกำพร้า ระบุพร้อมทั้งบอกอีกว่า... โครงการที่ดำเนินการอยู่นี้ก็มีส่วนช่วยให้พี่น้องประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความเชื่อมั่นในตัวข้าราชการมากขึ้น และให้ความร่วมมือกับหน่วงงานของรัฐมากขึ้น
โครงการดังกล่าวนี้เปิดลงทะเบียนแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกนั้นมีเด็กกำพร้าและแม่หม้ายมาลงทะเบียน ราว 200 คน และในครั้งล่าสุดมีการเข้ามาลงทะเบียนประมาณ 1,200 คน
ถือว่าเป็นการดี เพราะการที่มีเด็กกำพร้ามาลงทะเบียนเยอะ ทางราชการก็จะได้รับรู้ถึงข้อมูลว่ามีจำนวนเด็กกำพร้ามากน้อยเพียงใด มีอยู่ที่ไหนบ้าง อายุเท่าไหร่ถึงเท่าไหร่ จะเป็นการง่ายในการช่วยเหลือ ...พ.อ.จำลองกล่าว
โครงการดีๆ ที่รองรับผลการกระทำของคนบางกลุ่มที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ตอนนี้ถึงยังแก้ต้นเหตุไม่ได้ อย่างน้อย ก็ยังทำให้ประชาชนพออุ่นใจได้บ้างว่าเรายังไม่ทอดทิ้งพวกเขา