โรคจัญไร [12 ธ.ค. 51 - 17:31]
หลังกรุงศรีอยุธยาแตก ใน 5 ก๊กไทย ก๊กเจ้าพิมาย ช่วงที่กรมหมื่นเทพพิพิธ เป็นหัวหน้า ว่ากันโดยพื้นเพเดิม ถือว่าสูงกว่าก๊กไหนๆทั้งหมด
ทรงเป็นโอรสพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ชาวบ้านเรียกท่านว่าพระองค์เจ้าแขก เมื่อการเมืองแบ่งเป็นสองขั้ว กรมหมื่นเทพพิพิธเลือกขั้วเจ้าฟ้าอุทุมพร ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวร
เจ้าฟ้าอุทุมพรถวายราชสมบัติให้พระเชษฐา เจ้าฟ้าเอกทัศน์ เป็นสมเด็จพระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์...แล้วลาผนวช กรมหมื่นเทพพิพิธยังเลือกขั้วเดิม ขอลาผนวชตาม
บวชเป็นพระอยู่ดีๆที่วัดกระโจม ก็ถูกสงสัยว่าจะก่อการกบฏ ขุนนางและพวกพ้องถูกจับขังจับฆ่า (พระ) กรมหมื่นเทพพิพิธหนีไปถึงป่าพระแท่นดงรัง แต่ก็ถูกจับมาสึกจากพระคุมขังไว้
บังเอิญมีเรือกำปั่นส่งพระสงฆ์ไทยจากเมืองลังกาเข้ามาพอดี พระเจ้าเอกทัศน์ทรงส่งพระสงฆ์ชุดใหม่ไปแทน ทรงถือโอกาสนี้ให้เอาตัวกรมหมื่นเทพพิพิธ
ไปปล่อยเสีย ณ เกาะลังกาด้วย
ระหว่างอยู่ลังกามีผู้คนศรัทธา เข้าใจกันว่าเป็นพระอนุชาพระเจ้าแผ่นดินไทย เลื่อมใสพุทธศาสนามาถึงลังกาทวีป รวมหัวกันคิดการใหญ่ จะจับพระเจ้าลังกาถอด แล้วยกกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นแทน
ข่าวรั่ว...กรมหมื่นเทพพิพิธก็ต้องลี้ภัยไปเมืองมะริด จังหวะที่กรุงศรีอยุธยาแตก ก็โดยสารเรือกำปั่นเข้ามาขึ้นฝั่งที่เมืองจันทบุรี เดินทางต่อไปถึงปราจีนบุรี
ความที่มีเชื้อสายกษัตริย์ จับพลัดจับผลูก็ถูกยกเป็นเจ้าพิมาย
ครั้งนั้น พระยาตาก ปราบชุมนุมเจ้าพิษณุโลกไม่สำเร็จ จึงหันมาปราบชุมนุมเจ้าพิมายที่เห็นว่าอ่อนแอกว่า กรมหมื่นเทพพิพิธสู้พระยาตากไม่ได้ หนีไปทางล้านช้าง แต่ก็ถูกตามไปจับตัวไว้
พระยาตากตอนนั้นสถาปนาเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว สั่งให้เบิกตัวมาหน้าพระที่นั่ง กรมหมื่นเทพพิพิธถือองค์ว่าเป็นเชื้อ พระวงศ์กษัตริย์เก่า...ไม่ยอมถวายบังคม
ข้อมูลต่อจากนี้ ผมขอใช้สำนวนพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบลัดเล
พระเจ้ากรุงธนบุรี จึงดำรัสว่า
ตัวเจ้าหาบุญวาสนาบารมีมิได้ ไปอยู่ที่ใดก็พาพวกพ้องผู้คนที่นับถือพลอยพินาศฉิบหายที่นั่น
ครั้นจะเลี้ยงเจ้าไว้ ก็จะพาคนที่หลงเชื่อถือบุญ พลอยล้มตายเสียด้วยอีก เจ้าอย่าอยู่เลย จงตายเสียครั้งนี้ทีเดียวเถิด อย่าให้เกิดจลาจลในแผ่นดิน สืบไปข้างหน้าอีกเลย
แล้วดำรัสสั่งให้เอาตัวกรมหมื่นเทพพิพิธ ไปประหารชีวิตเสียจุดจบของกรมหมื่นเทพพิพิธ หัวหน้าชุมนุมเจ้าพิมาย แตกต่างจากชุมนุมเจ้าพิษณุโลก
เมื่อรบชนะพระเจ้าตากแล้วก็มีน้ำใจกำเริบ ถือตัวว่ามีบุญญาธิการมาก ตั้งตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
รับพระราชโองการอยู่ได้เจ็ดวัน ก็บังเกิดเป็นวัณโรคขึ้นที่คอ ถึงพิราลัยพระอินทอากร ผู้น้อง ปลงศพเสร็จแล้ว ก็ครองเมืองพิษณุโลกสืบไป แต่หาตั้งตัวเป็นเจ้าไม่ ด้วยกลัวเป็นจัญไร (ตาย) เหมือนพี่ชาย
เหตุการณ์เหล่านี้ ผมเชื่อว่า น่าจะเป็นที่มาของคำโบราณ แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แต่แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งกันไม่ได้
ใครที่บังเอิญได้คิวนายกฯ อ่านประวัติศาสตร์ตอนนี้ไว้ หลายๆเที่ยวนะครับ อย่าลืมทีเดียวว่า อิทธิฤทธิ์ของโรคจัญไรนั้น ใครเป็นขึ้นมารักษาก็ไม่หาย เจ็ดวันถึงตายเลยทีเดียว.
http://www.thairath.co.th/news.php?section=politics02&content=114787