คุณวินัย พันธุรักษ์ หรือเปล่าครับ............
สุเทพ วงศ์กำแหง ครับ คริ คริ
ครับ...ทีแรกผมก็นึกว่าหลายท่านที่เคยได้ยินมาเป็นคนร้อง คาดไม่ถึงว่า "สุรพล สมบัติเจริญ" เป็นต้นฉบับร้องคนแรก (ฟังเสียงคลิ๊กที่ชื่อเพลงด้านบนครับ)
โดยส่วนตัว ผมเองก็เกิดไม่ทัน ได้แค่ถามแฟนเพลงรุ่นเก่าๆ เท่านั้น..ว่าความดังของสุรพลในยุคนั้นขนาดไหน...
"คืนวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๑.. ราชาเพลงลูกทุ่งดวงดับ ถูกคนร้ายใช้ปืน ๑๑ มม. ยิงเข้าที่บริเวณศีรษะ หลังจากเปิดการแสดงครั้งสุดท้าย ณ.วิกแสงจันทร์ วัดหนองปลาไหล ถ.มาลัยแมน จ.นครปฐม..."
เป็นพาดหัวข่าวของ หนังสือพิมพ์ "สยามรัฐ" ลงวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๑
"สุรพล สมบัติเจริญ" หรือที่ชาวไทยขนานนามให้แก่เขาว่า "ราชาเพลงลูกทุ่ง" โด่งดังถึงขีดสุดในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๙ - ๒๕๑๑ ซึ่งก่อนหน้านั้น เพลงของเขาก็เป็นที่ติดใจแฟนเพลงทั่วบ้านทั่วเมืองกันมาแล้ว...
สุรพล สมบัติเจริญ (เดิมชื่อลำดวน) เกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2473 เป็นคนสุพรรณบุรีโดยกำเนิด เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่ง เจ้าของเพลงดัง "16 ปีแห่งความหลัง" สุรพล สมบัติเจริญถูกยิงเสียชีวิต หลังจากการแสดงบนเวทีที่นครปฐม เสียชีวิต เมื่อ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2511 เมื่ออายุเพียง 37 ปี 10 เดือน 23 วัน
ลำดวน สมบัติเจริญ อาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 125 ถนนนางพิม อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ฐานะทางครอบครัวแต่เดิมค่อนข้างจะดีด้วย คุณพ่อรับราชการอยู่แผนกสรรพากรจังหวัด ชื่อ เปลื้อง สมบัติเจริญ ส่วนคุณแม่ชื่อ วงศ์ นอกจากเป็นแม่บ้านแล้วยังค้าขายเล็กๆน้อยๆ ภายในบ้านกลางใจเมืองสุพรรณ สุรพลเป็นบุตรชาย คนที่ 2 ในบรรดาพี่น้องท้องเดียวกัน 6 คน
หลังจบชั้นประถมจาก โรงเรียนประสาทวิทย์ ก็มาเรียนที่โรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัยจนจบมัธยมปีที่ 6 เมื่อเรียน จบที่สุพรรณบุรีคุณพ่อก็จัดส่งสุรพลเข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย แต่สุรพลก็เรียนได้เพียงปีครึ่งก็ต้องลาออกเพราะใจไม่รักแต่ด้วยไม่อยากขัดใจคุณพ่อ การเรียนก็เลยไม่ดี เขาไปสมัครเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนสุพรรณกงลิเสีย เสี้ยว เป็นโรงเรียนจีน แต่สอนอยู่ได้แค่ครึ่งปีก็ลาออก ด้วยใจไม่ได้รักอาชีพนี้อย่างจริงจัง
เขาได้สมัครเข้าไปเป็นทหารอยู่ที่โรงเรียนนักเรียนจ่าทหารเรือ แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อชะตาเขาพลิกผกผัน หลังจากเขาได้หนีราชการทหารเรือ จนได้รับโทษถูกคุมขัง เขาได้กลายเป็นขวัญใจของนักโทษ ด้วยการร้องเพลงกล่อมก่อนนอน เมื่อได้รับอิสรภาพ สุรพลได้ทิ้งเส้นทางทหารเรือ สุรพลมีโอกาสได้ร้องเพลงในงานสังสรรค์กองทัพอากาศ น้ำเสียงของเขาได้โดนใจหัวหน้าคณะนักมวยเลือดชาวฟ้า อย่างเรืออากาศศรีปราโมทย์ วรรณพงษ์ จึงเรียกตัวเขาไปพบในวันรุ่งขึ้น และยื่นโอกาสให้สุรพลย้ายไปเป็นนักร้องประจำกองดุริยางค์ทหารอากาศ
ในปี พ.ศ. 2496 เพลง 'น้ำตาสาวเวียง' เป็นเพลงแรกที่ได้บันทึกเสียง แต่เพลงที่ทำให้เป็นที่รู้จักทั่วไปคือเพลง 'ชูชกสองกุมาร' หลังจากนั้นชื่อเสียงของสุรพล ก็เป็นที่นิยมมากขึ้น และมีผลงานชุดใหม่ออกมาเรื่อยๆ เช่น 'สาวสวนแตง' 'เป็นโสดทำไม' 'ของปลอม' 'หนาวจะตายอยู่แล้ว' 'หัวใจผมว่าง' 'สาวจริงน้อง' 'ขันหมากมาแล้ว' 'น้ำตาจ่าโท' 'มอง' และ อีกหลายเพลง
และทำให้คนรู้จักความเป็น "สุรพล สมบัติเจริญ" อย่างแท้จริงในเวลาต่อมาก็คือเพลง "ลืมไม่ลง" และเมื่อชื่อเสียงเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป สุรพลจึงมีงานร้องเพลง นอกสังกัดถี่ขึ้นเป็นลำดับ อาทิ ร่วมร้องกับวง "แมมโบ้ร็อค" ของ เจือ รังแรงจิตร วง "บางกอกช่ะช่ะช่ะ" ของ ชุติมา สุวรรณรัตน์ และ สมพงษ์ วงษ์รักไทย ส่วนวงดนตรีที่สุรพลร้องด้วยมากที่สุดคือ วง " ชุมนุมศิลปิน " ของ จำรัส วิภาตะวัตร
ตลอดชีวิตของการเป็นนักร้อง สาเหตุที่ทำให้ "สุรพล" ได้รับการยอมรับว่าเป็นราชาเพลงลูกทุ่ง เพราะความอัจฉริยะในตัวเองที่สามารถแต่งเพลง และยังคงเป็นที่จดจำจนทุกวันนี้ก็มี อาทิ ลืมไม่ลง, ดำเนินจ๋า, แซ่ซี้อ้ายลื้อเจ็กนั้ง, หัวใจเดาะ, สาวสวนแตง, น้ำตาจ่าโท, สนุกเกอร์, นุ่งสั้น, จราจรหญิง, เสน่ห์บางกอก และ16 ปีแห่งความหลัง เป็นต้น
นอกจากจะแต่งเอง ร้องเอง "สุรพล" ยังทำหน้าที่ครูแต่งเพลงให้คนอื่นร้องจนโด่งดังอีกด้วย อย่างเช่น ผ่องศรี วรนุช, ไพรวัลย์ ลูกเพชร, ละอองดาว สกาวเดือน, ยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย, เมืองมนต์ สมบัติเจริญ เป็นต้น
ในหนังสือไทยลูกทุ่งของ "เลิศชาย คชยุทธ" เล่าถึงเหตุการณ์ที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์ของวงการเพลงลูกทุ่งของคู่นักร้องขวัญใจชาวไทยไว้ว่า ครั้งหนึ่ง เมื่อ "ผ่องศรี วรนุช" ได้รับเชิญให้ไปร้องเพลงร่วมกันกับวงดนตรีของครู "สุรพล สมบัติเจริญ" ที่จังหวัดนครราชสีมา ครูสุรพล สมบัติเจริญ ไม่เต็มใจต้อนรับ ทั้งยังบอกลูกวงไม่ให้ไหว้ผ่องศรี วรนุช อีกด้วย
เลิศชาย คชยุทธ เขียนเล่าเหตุการณ์ในวันนั้นว่า
"...การแสดงบนเวทีวันนั้น หลังจากปล่อยนักร้องไปได้ครึ่งชั่วโมง พิธีกรบนเวทีก็ประกาศว่า ต่อไปนี้ พบกับ ผ่องศรี วรนุช ราชินีลูกทุ่ง และสุรพล สมบัติเจริญ ราชาเพลงลูกทุ่ง ผู้เป็นคู่รักคู่แค้นจะมาเจอกันในวันนี้ วันนี้จึงเป็นวันสำคัญ แห่งประวัติศาสตร์ของวงการเพลงที่เขาและเธอจะได้เผชิญหน้ากัน"
ซึ่งผ่องศรี วรนุช ก็ให้รายละเอียดของเหตุการณ์อันน่าระทึกใจในวันนั้นไว้อีกว่า
"คนมันก็ ฮือ ซิ โอ้โห...ตานี้ไม่นั่งดูแล้วคนดู มันยืนกันแทบโรงหนังจะแตก คนอยากรู้ว่าเราสองคนจะเผชิญหน้ากันอย่างไร พี่พลเขาร้อง เพลงไม่ลืมก่อน ร้องจบไปปุ๊บ เขาก็เดินข้างๆ แต่ยังไม่เข้าโรง ดนตรีก็ขึ้นเพลงไหนว่าไม่ลืม เราเดินไป ขณะที่ร้อง คนดูก็พูดกันใหญ่ แซดเลย บอกว่าเข้าหากัน เข้าหากัน ให้ดีกันซะ ให้ดีกัน อะไรอย่างนี้ โอ๊ย เจี๊ยวเลย หูเราไม่ได้ยินเสียงดนตรีได้ยินแต่เสียงประชาชนคนดู พูดอยู่ตลอดเวลาว่าให้ดีกันซะ อย่าโกรธกัน อย่าแสนงอน เขาว่าสุรพลนี่แสนงอน ผ่องศรีเขามาง้อแล้ว"
"ร้องเพลงยังไม่ทันจบเพลง คนฮือขึ้นมาบนเวทีเลย หมายจะจับให้เราดีกัน เพราะพี่พลเขาเดินหนีตลอด เราก็เดินเข้าหา พอเราเดินตาม แกก็หนี คือเดินหนีตลอดเวลา จะไม่ยอมดีด้วย คนก็ไปฮือบนเวที มีคนเอาน้ำแข็งปาไปบนเวที โป๊ะๆๆๆ ขึ้นไป มีเสียงคนพูด เดี๋ยวเถอะๆ เดี๋ยวน่าดู อะไรอย่างนี้ พี่พลเขาก็ยักคิ้วหลิ่วตาเล่นกับคนดู แต่เขารู้ว่าคนดูไม่โกรธ ต้องการให้เราคืนดีกัน ให้กลับมาร่วมหัวจมท้ายอะไรอย่างนี้ พี่พลก็ไม่ยอม"
"ทีนี้คนขึ้นมามาก เราก็กลัวซิ กลัวจะมารุมสกรัม เพราะไม่รู้เขาจะเกลียดเราหรือเปล่า เขาจะเกลียดพี่พลหรือเปล่า ร้องเพลงเกือบจบเพลง เห็นท่าไม่ดี จึงทิ้งไมค์มุดออกรั้วไปเลย วันนั้นไม่ได้ร้องเลย แจ้นกลับกรุงเทพฯ เก็บเสื้อผ้ากลับเลย เล่นไม่ได้เลย วันนั้นน่ะวงดนตรีต้องเลิก เวทงเวทีแทบจะพัง...ที่จะเล่นรอบสองเล่นไม่ได้ โรงแตกเลย"
อยากทราบว่าใน อวป. ใครเป็นแฟนเพลงครูสุรพล บ้างครับ....