แหม.... ปีนี้คนไทยโชคดีรับปีใหม่ ตั้งแต่ต้นปีเลย.........
http://www.manager.co.th/Business/ViewNews.aspx?NewsID=9510000151252มึน! น้ำมันลง-ค่าไฟเตรียมขยับขึ้น เรกกูเลเตอร์ ดับฝันกู้ ศก. โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 ธันวาคม 2551 17:32 น.
ประชาชนมึนหนัก! น้ำมันลดวูบ แต่ค่าไฟฟ้าเตรียมขยับขึ้น สวนทางนโยบายกู้ ศก.ของรัฐบาล เรกกูเลเตอร์ ยอมรับค่าเอฟทีงวดใหม่ ม.ค.-เม.ย.52 ขยับขึ้นแน่ 14.85 สตางค์/หน่วย ทั้งที่ต้นทุนราคาก๊าซต่ำลงตามราคาน้ำมัน แต่ดันไปเอาราคาย้อนหลัง 6 เดือน ที่เป็นจุดสูงสุดของปี 150 ดอลลาร์/บาเรล มาคำนวณ ขณะที่ราคาปัจจุบันเหลือแค่ 36 ดอลลาร์/บาร์เรล
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกกูเลเตอร์) แถลงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงาน โดยมุ่งเน้นการกำกับดูแลและปกป้องผลประโยชน์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้ใช้ไฟฟ้า ผู้ผลิตไฟฟ้า และภาครัฐ โดยยอมรับว่า ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ เริ่มเดือนมกราคม-เมษายน 2552 จะต้องปรับขึ้นอีกตามค่าก๊าซธรรมชาติ (แอลพีจี) ที่ปรับสูงขึ้น
นายดิเรก ระบุว่า ค่าก๊าซแอลพีจีที่ใช้ผลิตไฟฟ้า จะปรับผันแปรตามราคาน้ำมัน แต่นำไปคิดสูตรโดยใช้ราคาย้อนหลัง 6-12 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันพุ่งถึง 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงที่สุดในรอบหลายสิบปี หลังจากนั้น ราคาน้ำมันก็ร่วงลงต่อเนื่องมาตลอด โดยในเดือนธันวาคม 2551 ราคาน้ำมันลดลงเหลือประมาณ 36-37 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งการนำตัวเลขย้อนหลัง 6 เดือนมาคำนวณ ส่งผลให้ราคาก๊าซในงวดนี้ปรับสูงขึ้น ขัดแย้งกับความเป็นจริง
นายดิเรก ระบุว่า ตัวเลขล่าสุดปรับขึ้นจาก 240 บาทต่อล้านบีทียู เป็นประมาณ 260 บาทต่อล้านบีทียู ทางเรกกูเลเตอร์กำลังเกลี่ยความเหมาะสม ว่า อัตราการปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดใหม่ ควรจะเป็นเท่าใด
อย่างไรก็ตาม นายดิเรก กล่าวว่า งวดที่ผ่านมา ยังเหลือค่าไฟฟ้าที่ยังไม่ปรับขึ้นประมาณ 57 สตางค์ ดังนั้น ต้องนำอัตราดังกล่าวมาเกลี่ย ซึ่งหมายความว่า ค่าไฟงวดนี้จะปรับเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 14.85 สตางค์ต่อหน่วย แต่จะปรับเพิ่มมากน้อยขนาดไหน ก็คงจะดูว่าสามารถเกลี่ยได้มากน้อยเพียงใด เพื่อประโยชน์ของประชาชน
ส่วนอัตราค่าผ่านท่อก๊าซ คาดว่า จะมีการประกาศใหม่ในเดือนมกราคม 2552 หลังจากพิจารณาล่าช้ามานาน โดยอัตราใหม่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 บาทต่อล้านบีทียู และจะให้อัตราย้อนหลังถึงเดือนพฤศจิกายน 2551 เท่านั้น เพราะบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพิ่งจะมีการส่งก๊าซแอลพีจี จากแหล่งเจดีเอ และแหล่งอาทิตย์ ภายในเดือนดังกล่าว แม้ท่อก๊าซแอลพีจี ก่อสร้างเสร็จสิ้นกลางปีที่ผ่านมาก็ตาม
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตุว่า ทำไมผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ และผูกขาดตลาดเพียงรายเดียวอย่าง ปตท.จึงต้องนำเข้าก๊าซราคาแพงจากต่างประเทศ ทั้งที่มีการส่งออกเป็นจำนวนมาก ขณะที่ราคาก๊าซก็ได้ปรับลดลงตามราคาน้ำมันตลาดโลก แต่คนไทยยังต้องใช้ไฟแพง เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ต้องไปซื้อก๊าซจาก ปตท.ช่วงที่ราคาสูงสุด 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยไม่รวมค่าขนส่ง