http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9550000112255ผู้เชี่ยวชาญเตือนสหรัฐฯ เสี่ยงถูกโจมตีด้วย ขีปนาวุธพิสัยไกล
ผลการศึกษาโดยสภาวิจัยแห่งชาติ (เอ็นอาร์ซี) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลาง ได้ตำหนิยุทธศาสตร์ด้านขีปนาวุธของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ที่เน้นป้องกันยุโรปจากขีปนาวุธพิสัยใกล้ของอิหร่านเท่านั้น พร้อมแนะให้รัฐบาลหันมาใส่ใจการปกป้องแผ่นดินสหรัฐฯ จากภัยคุกคามของขีปนาวุธพิสัยไกล เช่นเดียวกับที่อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เคยทำมา
รายงานฉบับนี้เสนอให้กองทัพสหรัฐฯ คิดค้นเทคโนโลยีที่สามารถสกัดกั้นขีปนาวุธของศัตรูในระยะกลาง (midcourse) แทนที่จะสูญงบประมาณจำนวนมากไปกับความพยายามทำลายขีปนาวุธในขั้นขับเคลื่อนชั้นต้น (boost phase) ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากในทางเทคนิค และสิ้นเปลืองเกินเหตุด้วย
คณะวิจัยย้ำว่า สหรัฐฯ ไม่ควรทุ่มงบประมาณหรือทรัพยากรใดๆ เพื่อสกัดกั้นขีปนาวุธในขั้น boost phase อีกแล้ว
นานเหลือเกินแล้วที่สหรัฐฯ มุ่งเน้นยุทธศาสตร์การป้องกันขีปนาวุธที่ต้นทุนสูง โดยไม่พิจารณาถึงค่าใช้จ่าย และความคุ้มค่าของมัน แอล. เดวิด มอนเตกู อดีตหัวหน้าฝ่ายขีปนาวุธประจำสถาบันวิจัยขีปนาวุธและอวกาศ ล็อกฮีด มาร์ติน และหนึ่งในประธานคณะนักวิจัยผู้เขียนรายงานฉบับนี้ ระบุ
ระบบสกัดกั้นขีปนาวุธภาคพื้นดิน 30 จุดของเพนตากอน ซึ่งถูกออกแบบให้สามารถทำลายขีปนาวุธในระยะกลางนั้น แม้จะมีประสิทธิภาพพอยับยั้งขีปนาวุธของเกาหลีเหนือที่ไม่มีความซับซ้อนได้ แต่ก็ยัง เปราะบาง เกินไป และจากความเป็นไปได้ที่อิหร่านจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลในอีก 10 ปีข้างหน้า สหรัฐฯ ก็ยิ่งควรเสริมความแข็งแกร่งของตนเอง โดยติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธแห่งที่สามไว้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย
รายงานระบุว่า การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เช่นนี้จะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า และสอดคล้องกับงบประมาณด้านขีปนาวุธที่เพนตากอนจัดสรรไว้ราว 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
โอบามานำเสนอระบบป้องกันขีปนาวุธรูปแบบใหม่เมื่อปี 2009 โดยอ้างว่าจะใช้การได้เร็วกว่าแผนเดิมของบุช และลดการกระทบกระทั่งกับรัสเซียได้ด้วย ทว่าแนวทางของเขาก็ถูก ส.ส.รีพับลิกันบางคนวิจารณ์อย่างหนักสภาวิจัยแห่งชาติเป็นส่วนหนึ่งของ National Academies ซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ต่อรัฐบาลสหรัฐฯ